การกล่าวไตรสรณคมน์ (การถึงที่พึ่งทั้งสาม) 3 ครั้ง
[ณ กรุงเวสาลี สีหเสนาบดี (ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่) ของเจ้าลิจฉวีซึ่งเป็นลูกศิษย์ของนิครนถ์นาฏบุตร (พระมหาวีระที่เป็นศาสดาของศาสนาเชน) ได้ฟังเจ้าลิจฉวีที่พากันสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรมของท่าน และพระสงฆ์ในศาสนาของท่าน ก็คิดว่าพระพุทธเจ้าคงจะตรัสรู้พบทางดับทุกข์แล้วจริงๆ ถ้าอย่างไร เราควรไปหาท่านดีกว่า เมื่อตัดสินใจเช่นนี้จึงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตร แล้วพูดว่า]
ส: ท่าน ข้าอยากไปพบพระสมณโคดม
น: ท่านสีหะ ท่านเป็นคนนิยมการปฏิบัติ (การทำ) แล้วทำไมจึงอยากไปพบพระสมณโคดมที่สอนคนให้ไม่ปฏิบัติเล่า (สอนการไม่ทำ)
[เมื่อถูกท้วง ท่านสีหะจึงไม่ได้ไป แต่หลังจากนั้นก็ได้ยินเจ้าลิจฉวีพูดถึงพุทธศาสนาอีก จึงได้เข้าไปขอนิครนถ์นาฏบุตรอีกครั้งแต่ก็ถูกท้วงไว้เช่นเคย ต่อมาท่านสีหะมานั่งคิดว่าถ้าเราไม่บอกแล้ว พวกนิครนถ์จะทำอะไรเราได้ ครั้งนี้ไม่ต้องบอกแล้ว เมื่อตัดสินใจเช่นนี้จึงออกจากกรุงเวสาลีไปหาพระพุทธเจ้าที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน]
ส: ข้าได้ยินมาว่า พระสมณโคดมสอนให้คนไม่ปฏิบัติ ไม่ทำ ที่คนเขาพูดกันแบบนี้นี่ถูกต้องไหม?
พ: จริง สีหะ ที่เขากล่าวหาเราว่าพูดแบบนี้นั้นถูกต้องแล้ว แล้วที่มีการกล่าวหาว่าพระสมณโคดมสอนเรื่องขาดสูญ...ให้รังเกียจ...ให้กำจัด...ให้เผาผลาญ...เป็นคนไม่ผุดเกิด...เป็นคนเบาใจ เขาก็กล่าวถูกเช่นกัน
สีหะ ที่บอกว่าถูกนั้นเพราะอะไร
เพราะเราสอนให้ไม่ทำทุจริตทั้งกาย วาจา ใจ ให้ทำแต่ความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ...ขาดสูญจากราคะ โทสะ โมหะ...รังเกียจความทุจริตทั้งกาย วาจา ใจ...กำจัดราคะ โทสะ โมหะ...เผาผลาญบาปอกุศล
เราเป็นคนไม่ผุดเกิด เพราะตถาคต (ผู้มาและไปเช่นนั้นเอง) ละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว เหมือนยอดตาลด้วน ก็ไม่แปลกที่จะไม่เกิดอีก และเราเป็นผู้เบาใจ เพราะธรรมที่ปฏิบัติทำให้เกิดความโล่งใจ เป็นไปเพื่อความเบาใจ
ส: คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ข้าพระองค์ขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง (สรณะ) ขอท่านโปรดจำข้าฯว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจากวันนี้เป็นต้นไป
พ: สีหะ เธอจงคิดให้ดีก่อน สำหรับคนมีชื่อเสียงอย่างเธอควรใคร่ครวญให้ดีค่อยตัดสินใจ
ส: ยิ่งข้าฯได้ยินท่านพูดแบบนี้ ข้าฯยิ่งเชื่อว่าคิดถูกแล้ว เทียบกับพวกลัทธิอื่นๆ (อัญญเดียรถีย์) ที่พอได้ข้าฯเป็นลูกศิษย์ ก็เที่ยวประกาศไปทั่วกรุงเวสาลีว่าสีหเสนาบดีเป็นพวกเราแล้ว แต่ท่านกลับบอกให้ข้าฯคิดดูดีๆก่อน ข้าฯขอกล่าวถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง เป็นครั้งที่ 2 ขอท่านโปรดจำข้าฯว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจากวันนี้เป็นต้นไป
พ: นานนักแลสีหะที่ตระกูลเธอดูแลรับรองพวกนิครนถ์ (นักบวชในศาสนาเชน) มา เธอควรให้ทานแก่นิครนถ์เหล่านั้นต่อไปด้วย
ส: ข้าฯดีใจมากที่ท่านพูดเช่นนี้ ก่อนนี้ข้าฯเคยได้ยินคนพูดกันว่า พระสมณโคดมบอกว่าควรให้ทานแก่พระสมณโคดมและลูกศิษย์ตัวเองเท่านั้นเพราะจะได้บุญมาก ไม่ควรให้ทานคนอื่นหรือนักบวชศาสนาอื่นเพราะจะได้บุญน้อย แต่นี่ท่านกลับชวนให้ข้าฯให้ทานกับพวกนิครนถ์ด้วยตัวเอง เพราะอย่างนี้ ข้าฯขอกล่าวถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง เป็นครั้งที่ 3 ขอท่านโปรดจำข้าฯว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจากวันนี้เป็นต้นไป
[พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมตามลำดับตั้งแต่ขั้นต้นขึ้นไป 5 ข้อ (อนุปุพพิกถา) คือ เรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกามคือความใคร่ความอยาก และประโยชน์ของการออกบวช ออกจากกิเลสทั้งปวง ละเว้นจากกาม ซึ่งเมื่อท่านเห็นว่า สีหะมีจิตใจที่พร้อมจะฟังธรรมที่ยากขึ้นแล้ว ก็ได้สอนเรื่องอริยสัจ 4 (ความจริงแท้ 4 ข้อ คือ ทุกข์ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์) หลังจากฟังแล้ว สีหะเกิดดวงตาเห็นธรรม คือ เห็นว่าสิ่งต่างๆมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา]
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 7 (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 เภสัชชขันธกะ พุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อที่เขาทำจำเพาะ), 2559, น.118-125
ที่มาของการเข้าพรรษา, ที่มาของการกำหนดวินัยสงฆ์ข้อแรก, ที่มาของการห้ามรับเงินทอง, ไม่คิดแพ้ชนะ, ทำเขาไว้อย่างไร ก็โดนคืนอย่างนั้น, บาปและบุญคือเงาตามตัวไปโลกหน้า, วิธีดึงให้หันมาหาแก่นแท้, ไม่ตึงไม่หย่อนไป, เมื่อรู้แจ้งอริยสัจ 4 แล้ว จะไม่มีการเกิดอีก, คนพาลที่ไปเกิดเป็นสัตว์แล้วจะกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้งนั้นยากแค่ไหน, รับนิมนต์และสวนที่ถวายโดยหญิงงามเมือง
0 comments: