อนุญาตน้ำปานะ
[ณ อาปณนิคม เกณิยชฎิล (ฤาษีบูชาไฟชื่อเกณิยะ) ได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าเดินทางมาที่นี่ ก็คิดว่าคงจะดีถ้าได้มีโอกาสเห็นพระพุทธเจ้าที่มีชื่อเสียงร่ำลือว่าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้แจ้งได้ด้วยตัวเอง ฝึกสอนธรรมะแก่ผู้คนรวมถึงเหล่าเทพต่างๆ]
ก: (คิด) เราจะเอาอะไรไปถวายพระสมณโคดมดีนะ เหล่าฤาษีที่เป็นอาจารย์ของพวกพราหมณ์ซึ่งสอนกันมาว่าไม่ให้ฉันในเวลากลางคืนนั้น เขาฉันน้ำปานะกัน (เครื่องดื่มที่คั้นจากลูกไม้) พระสมณโคดมที่ไม่ฉันตอนกลางคืนเหมือนกัน ก็น่าจะฉันน้ำปานะได้
[ว่าแล้วจึงให้คนหาบน้ำปานะจำนวนมากไปหาพระพุทธเจ้า เมื่อสนทนากันพักหนึ่งแล้ว เกณิยชฎิลจึงกล่าวว่า]
ก: ขอท่านพระโคดมโปรดรับน้ำปานะของข้าด้วย
พ: เกณิยะ ถ้าอย่างนั้นก็จงถวายแก่ภิกษุทั้งหลายด้วย
[แต่เหล่าภิกษุไม่ยอมรับประเคน]
พ: ภิกษุทั้งหลาย จงรับประเคนเถิด
[หลังจากฉันน้ำปานะกันและพระพุทธเจ้าได้สนทนาธรรมกับเกณิยะจบแล้ว เกณิยะก็กล่าวว่า]
ก: ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าในวันพรุ่งนี้เพื่อบุญกุศลด้วยเถิด
พ: เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง 1,250 รูปนะ อีกอย่าง ท่านเองก็เป็นผู้นับถือเลื่อมใสหมู่พราหมณ์อยู่
ก: แม้จะมีถึง 1,250 รูป และข้ายังนับถือพราหมณ์อยู่ก็จริง แต่ถึงอย่างนั้นก็ขอให้ท่านและเหล่าภิกษุสงฆ์ได้โปรดรับภัตตาหารจากข้าเถิด
[พระพุทธเจ้าได้เตือนเกณิยะอีกสองครั้ง แต่เกณิยะก็ยังยืนยัน ท่านจึงรับนิมนต์โดยดุษณี (การนิ่ง) เมื่อลุกกลับออกไปแล้ว ท่านได้พูดกับภิกษุทั้งหลายว่า]
พ: เราอนุญาตน้ำปานะ 8 ชนิด คือ น้ำปานะที่ทำจากผลมะม่วง ผลหว้า ผลกล้วยมีเมล็ด ผลกล้วยไม่มีเมล็ด ผลมะซาง ผลจันทน์หรือองุ่น เหง้าบัว และผลมะปรางหรือลิ้นจี่
เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด ยกเว้นน้ำต้มเมล็ดข้าว
เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด ยกเว้นน้ำผัก
เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด ยกเว้นน้ำดอกมะซาง
เราอนุญาตน้ำอ้อยสด
[วันรุ่งขึ้น หลังจากพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ได้ฉันภัตตาหารที่บ้านของเกณิยชฎิลแล้ว พระพุทธเจ้าได้กล่าวกับเกณิยชฎิลว่า]
พ: ไฟเป็นใหญ่ในการบูชายัญทั้งหลาย
สาวิตติฉันท์ (บางแหล่งเชื่อว่าคัมภีร์นี้เป็นต้นกำเนิดของคัมภีร์พระเวท) เป็นยอดของฉันทศาสตร์ (การแต่งคัมภีร์ด้วยฉันท์ซึ่งเป็นร้อยกรองแบบหนึ่งที่บังคับเสียงหนักเบาของพยางค์)
กษัตริย์เป็นประมุขของหมู่คน
มหาสมุทรเป็นประธานของแม่น้ำ
ดวงจันทร์ใหญ่กว่าดวงดาวในอากาศ
ดวงอาทิตย์ใหญ่กว่าสิ่งที่มีแสงร้อน
ฉันใดฉันนั้น พระสงฆ์ย่อมเป็นใหญ่สำหรับผู้ต้องการทำบุญบำเพ็ญทาน
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 7 (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 เภสัชชขันธกะ พุทธานุญาตน้ำปานะ 8 ชนิด), 2559, น.141-144
ที่มาของการห้ามรับเงินทอง, ไม่คิดแพ้ชนะ, ทำเขาไว้อย่างไร ก็โดนคืนอย่างนั้น, บาปและบุญคือเงาตามตัวไปโลกหน้า, วิธีดึงให้หันมาหาแก่นแท้, ไม่ตึงไม่หย่อนไป, เมื่อรู้แจ้งอริยสัจ 4 แล้ว จะไม่มีการเกิดอีก, คนพาลที่ไปเกิดเป็นสัตว์แล้วจะกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้งนั้นยากแค่ไหน, รับนิมนต์และสวนที่ถวายโดยหญิงงามเมือง, การกล่าวไตรสรณคมน์ (การถึงที่พึ่งทั้งสาม) 3 ครั้ง, ฉันเนื้อได้ด้วยเงื่อนไข 3 ข้อ
0 comments: