ต้อนรับพระพุทธเจ้าเพราะกลัวโดนญาติว่า
[จากอาปณนิคม พระพุทธเจ้าพร้อมกับภิกษุอีก 1,250 รูปได้เดินทางถึงกรุงกุสินารา พวกมัลลกษัตริย์ของชาวกุสินาราซึ่งทราบถึงการเดินทางมาของคณะพระพุทธเจ้าจึงร่วมกันตั้งกฎว่า]
ม: ผู้ใดไม่ต้อนรับพระพุทธเจ้า จะต้องถูกปรับเป็นเงิน 500 กหาปณะ (2,000 บาท)
[หลังจากโรชะมัลลกษัตริย์ซึ่งเป็นเพื่อนกับพระอานนท์ด้วยให้การต้อนรับคณะเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เข้าไปหาพระอานนท์ถึงที่พัก]
อ: ท่านโรชะ การต้อนรับพระพุทธเจ้าครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก
ร: พระอานนท์ ที่ข้าต้อนรับใหญ่โตนี่ไม่ใช่เพราะข้าเลื่อมใสในตัวพระพุทธเจ้า คำสอน หรือพระสงฆ์ของท่านนะ แต่เพราะพวกญาติต่างหากที่ตั้งกติกาไว้ว่า ใครไม่ต้อนรับพระพุทธเจ้า จะต้องถูกปรับเป็นเงิน 500 กหาปณะ ถ้าไม่ต้อนรับอย่างนี้ก็กลัวจะถูกปรับเงินเอา
อ: ทำไมท่านพูดแบบนี้ (กล่าวด้วยความไม่พอใจ)
[พระอานนท์จึงไปแจ้งให้พระพุทธเจ้าทราบ]
อ: โรชะมัลลกษัตริย์คนนี้มีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก ถ้าคนแบบนี้เลื่อมใสในพระธรรมคำสอน ก็จะมีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก ขอท่านโปรดทำให้โรชะมัลลกษัตริย์ผู้นี้เกิดความเลื่อมใสด้วยเถิด
พ: อานนท์ ตถาคตทำได้ไม่ยากเลย
[พระพุทธเจ้าได้แผ่เมตตาจิตไปยังโรชะมัลลกษัตริย์ แล้วลุกเดินเข้าวิหารไป ฝ่ายโรชะฯเมื่อถูกเมตตาจิตของพระพุทธเจ้าส่งมาถึงแล้ว ก็เที่ยวเดินถามหาพระพุทธเจ้า]
ร: ท่านภิกษุ ตอนนี้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นอยู่ที่ไหน ข้าอยากจะพบ
ภ: ท่านโรชะ ประตูวิหารปิดอยู่ ขอให้ท่านเงียบเสียง ค่อยๆเดินไปหน้าประตู กระแอมเบาๆและเคาะประตู พระพุทธเจ้าท่านจะเปิดประตูรับ
[โรชะฯเคาะประตูและได้พบกับพระพุทธเจ้า โดยพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมตามลำดับตั้งแต่ขั้นต้นขึ้นไป 5 ข้อ (อนุปุพพิกถา) คือ เรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกามคือความใคร่ความอยาก และประโยชน์ของการออกบวช ออกจากกิเลสทั้งปวง ละเว้นจากกาม ซึ่งเมื่อท่านเห็นว่า ท่านโรชะฯมีจิตใจที่พร้อมจะฟังธรรมที่ยากขึ้นแล้ว ก็ได้สอนเรื่องอริยสัจ 4 (ความจริงแท้ 4 ข้อ คือ ทุกข์ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์) หลังจากฟังแล้ว ท่านโรชะฯเกิดดวงตาเห็นธรรม คือ เห็นว่าสิ่งต่างๆมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา และรู้สึกเลื่อมใสในคำสอนนี้]
ร: ขอท่านและภิกษุทั้งหลายโปรดรับจีวร บิณฑบาต และปัจจัยต่างๆจากข้าพระองค์แต่ผู้เดียวได้ไหม อย่ารับจากคนอื่นอีก
พ: โรชะ คนอื่นๆก็อาจจะคิดแบบท่านว่าขอให้รับจากเราคนเดียว แต่เพราะอย่างนั้น เหล่าภิกษุจึงต้องรับปัจจัยของท่านด้วย และของคนอื่นด้วย
[ต่อมา ประชาชนในเมืองได้ตั้งแถวถวายภัตตาหาร ซึ่งยังไม่ถึงคิวของโรชะมัลลกษัตริย์ ระหว่างนั้นโรชะฯก็คิดว่า มีอะไรที่คนยังไม่ได้ถวายอีกไหม เราจะได้ถวายสิ่งนั้น เมื่อคิดแล้วก็เดินเข้าไปถามพระอานนท์]
ร: พระอานนท์ ข้าเห็นว่ามีของสองอย่างที่คนยังไม่ได้ถวายคือ ผักสดกับของขบฉันที่ทำจากแป้ง ถ้าข้าถวาย พระพุทธเจ้าจะรับไหม
อ: เดี๋ยวจะลองถามท่านดู
[เมื่อพระอานนท์ถาม พระพุทธเจ้าก็อนุญาตให้ถวาย แต่เหล่าภิกษุยังไม่กล้ารับ พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า]
พ: เธอจงรับประเคนเถิด
[หลังจากเดินทางกลับแล้ว พระพุทธเจ้าได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า]
พ: เราอนุญาตผักสดทุกชนิดและของขบฉันที่ทำจากแป้งทุกชนิด
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 7 (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 เภสัชชขันธกะ พุทธานุญาตผักและแป้ง), 2559, น.145-149
ไม่คิดแพ้ชนะ, ทำเขาไว้อย่างไร ก็โดนคืนอย่างนั้น, บาปและบุญคือเงาตามตัวไปโลกหน้า, วิธีดึงให้หันมาหาแก่นแท้, ไม่ตึงไม่หย่อนไป, เมื่อรู้แจ้งอริยสัจ 4 แล้ว จะไม่มีการเกิดอีก, คนพาลที่ไปเกิดเป็นสัตว์แล้วจะกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้งนั้นยากแค่ไหน, รับนิมนต์และสวนที่ถวายโดยหญิงงามเมือง, การกล่าวไตรสรณคมน์ (การถึงที่พึ่งทั้งสาม) 3 ครั้ง, ฉันเนื้อได้ด้วยเงื่อนไข 3 ข้อ, อนุญาตน้ำปานะ
0 comments: