วิมังสา - อิทธิบาท ข้อ 4
ใจตรอง
อ่านว่า วิ-มัง-สา
“วิมังสา” เขียนแบบบาลีเป็น “วีมํสา” อ่านว่า วี-มัง-สา (โปรดสังเกต บาลีเป็น วี- ไม่ใช่ วิ-) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มานฺ (ธาตุ = พิจารณา, ทดลอง) + ส ปัจจัย, แปลง มานฺ เป็น มํ, ทีฆะ อิ ที่ วิ เป็น อี + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ : วิ + มานฺ = วิมานฺ + ส = วิมานส > วิมํส > วีมํส + อา = วีมํสา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่พิจารณาโดยพิเศษ” หมายถึง การพิจารณา, การตรวจสอบ, การทดสอบ, การสอบสวน (consideration, examination, test, investigation)
“วีมํสา” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิมังสา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“วิมังสา : (คำนาม) การสอบสวน, ความไตร่ตรอง, ความพิจารณา. (ป. วีมํสา; ส. มีมําสา).” พจนานุกรมฯ บอกว่า “วิมังสา” สันสกฤตเป็น “มีมำสา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “มีมำสา” บอกไว้ดังนี้ -
“มีมำสา : (คำนาม) วิทยาอันหนึ่งของชาวฮินดู; one of the philosophical systems of the Hindus.”
ขยายความ : “วิมังสา” เป็นคุณธรรมข้อที่ 4 ในอิทธิบาท-คุณเครื่องทำสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จ 4 ข้อ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [213] “อิทธิบาท 4” แสดงความหมายของ “วิมังสา” ไว้ดังนี้ -
4. วิมังสา (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น — Vīmaṁsā: investigation; examination; reasoning; testing)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “วิมังสา” ไว้ดังนี้ -
วิมังสา : การสอบสวนทดลอง, การตรวจสอบ, การหมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น (ข้อ ๔ ในอิทธิบาท ๔)
ดูเพิ่มเติม: “อิทธิบาท” บาลีวันละคำ (3,386)
ข้อคิด : คำว่า “วิมังสา” โดยองค์ธรรมคือความหมายที่แท้จริง ท่านหมายถึงปัญญา
นักอธิบายธรรมะอธิบายลักษณะของ “ปญฺญา” โดยอาศัยความหมายตามรากศัพท์ (ป = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก + ญา รู้ = ปญฺญา) ว่า “ปัญญา” มีความหมายว่า -
(1) “รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง”
(2) “รู้ล่วงหน้า” (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร)
(3) “รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด”
(4) “รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้”
หน้าที่ของ “วิมังสา” ตามที่บรรยายไว้ก็คือ “พิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น”
“วิมังสา” จึงเป็นตัวกำกับ ดูแล ตรวจสอบ วางแผน แก้ไข ปรับปรุง เป็นต้นว่า -
เมื่อมีฉันทะ-ใจรัก ก็พิจารณาว่าสิ่งที่ใจรักนั้นมีคุณมีค่าดีงาม เหมาะสมหรือไม่
วิริยะ-ใจสู้ ที่ทุ่มเทลงไปหนักเบามากน้อยแค่ไหน เมื่อไรควรเร่ง เมื่อไรควรผ่อน
จิตตะ-เอาใจใส่ตรงเรื่องตรงจุดสำคัญแล้วหรือยัง มากน้อยถี่ห่างแค่ไหน
กล่าวได้ว่า ถ้าขาด “วิมังสา” ทั้งฉันทะ วิริยะ และจิตตะ ก็จะขาดประสิทธิภาพ และอาจแล่นไปผิดทิศทางและพลาดเป้าหมายที่ถูกต้อง
ธรรมทั้ง 4 ข้อในอิทธิบาท คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา จึงเป็นธรรมที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันไปให้ครบชุด ขาดข้อใดข้อหนึ่ง ความสำเร็จที่สมบูรณ์ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้
ดูก่อนภราดา!
: แค่รู้ตัวว่าโง่เด็ดขาด
: ประตูฉลาดก็เปิดทันที
ทองย้อย แสงสินชัย
อิทธิบาท-หนทางสู่ความสำเร็จ, ข้อ 1 ใจรัก, ข้อ 2 ใจสู้, ข้อ 3 ใจใส่-ใส่ใจ, ข้อ 4 ใจตรอง
ภาพ : นักรบตะวันออก
เที่ยววัดแก่งคอย สักการะพระมหาธาตุเจดีย์ศรีป่าสัก ไหว้พระนอน องค์ใหญ่ กราบหลวงพ่อลา ชมลูกระเบิดสงครามโลก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
0 comments: