ไม่แน่
แพทย์หญิง - ปุจฉา, หลวงพ่อซา - วิสัชนา
ถาม : วันหนึ่ง ลูกได้ไปอ่านหนังสือที่ฝรั่งเขาเขียน เรื่องพุทธศาสนา เขาเขียนอยู่ตอนหนึ่งว่า ศาสนาฮินดูเขาเชื่อว่า มีการเกิดใหม่ขึ้น โดยที่ว่าวิญญาณเดิมหรือว่าจิตเดิม เพียงแต่ว่าเปลี่ยนร่างกายใหม่เท่านั้น ส่วนในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น คือชีวิตที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ท่านให้เรียกว่า เป็นสภาวะ.....การเปลี่ยนชีวิตนี้ ไม่ใช่เปลี่ยนร่างใหม่ แต่ว่าเปลี่ยนจากสภาวะหนึ่ง เป็นอีกสภาวะหนึ่ง ส่วนจะนั้นก็ยังเป็นจิตเดิม แล้วเขาให้คำในวงเล็บไว้ว่า (อนัตตา).......เขาบอกว่า การที่เปลี่ยนจากสภาวะหนึ่ง เป็นอีกสภาวะหนึ่ง ที่เราเรียกกันว่าชีวิตใหม่นี้ กรรม.....ทำไว้อย่างไร ก็จะส่งผลให้เป็นอย่างนั้น เหมือนกับว่าลูกบิลเลียดลูกที่หนึ่ง ที่วิ่งไปถูกลูกที่สอง จะทำให้ลูกที่สองวิ่งไป แล้วก็วิ่งไปในทิศทางที่ลูกแรกไปกระทบถูกค่ะ ทำให้ลูกมาคิดว่า ถ้าอย่างนั้น.....ถ้าเราหยุดกรรมได้.....ก็แสดงว่าสภาวะต่อไป จะไม่เกิดขึ้น แต่ว่าไม่เข้าใจว่า จิตที่ว่าเป็นจิตเดิมนี่น่ะ เป็นยังไงค๊ะ ? และก็อนัตตานี่ เป็นสภาวะอย่างไร ? ขอกราบเรียนอธิบายค่ะ.....ถ้าว่า ไม่ต้องสนใจเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง.....อะไรทั้งนั้นถ้าเรารู้อย่างเดียวว่า เราสามารถจะหยุดกรรมได้ ก็จะไม่มีสภาพต่อไปเกิดขึ้น อันนี้ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือผิด
ตอบ : ปัญหานี้ต้องแยกตอบ ปัญหานี้มันก็มีสองแง่ แง่หนึ่ง.....เรื่องมันจบแล้ว แง่หนึ่ง.....ก็เรื่องมันไม่จบ เรื่องที่มันจบไปแล้ว ก็ไม่ต้องถามถึงมันหรอก มันจบไปแล้ว มันจะไปอะไรที่ไหน.....ก็คือเรื่องทุกอย่าง.....มันจบ เรื่องเปลวของไฟที่ดับไป มันจะไปที่ไหนนั้น ก็ไม่เป็นปัญหา ที่จะต้องถามแล้ว.....มันเป็นอย่างนี้.......อันนั้นเรียกว่า เรื่องที่มันจบไป และมันคงเหลือแต่เรื่องที่ไม่จบเรียกว่า “สภาวะ” สภาวะเรื่องมันไม่จบนี้ ก็จะพูดว่าเป็น “กรรม” ก็ได้ แต่ว่าไอ้ที่มันไม่จบนี่เรียกว่า “วิบาก” มันเกิดขึ้นจากกรรมที่กระทำนั้น เป็นสภาวะอันหนึ่ง ถ้าหากว่าเรื่องวิบาก มันจบไปแล้วนั้น ก็ไม่มีปัญหา ท่านพูดย้อนกลับมา ถึงวิบากที่มันเป็นปัจจัย เทียบง่าย ๆ ว่า มีความรู้สึกนึกคิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ที่มันมีความรู้สึกนึกคิดขึ้นเดี๋ยวนี้ เช่นว่า คุณหมด อยากจะถามให้รู้เรื่อง ทำไมมันถึงมีความรู้สึก ออกปากมาถามอย่างนี้ ก็เพราะมันมีปัจจัย มันจึงเกิดความรู้สึกขึ้นอย่างนี้ นี่เรียกว่า.......เรื่องมันยังไม่จบ.......เรียกว่าปัจจัย เหตุปัจจัย.....เป็นสภาวะอันหนึ่ง ถ้าหากว่าคุณหมอเข้าใจ ในเรื่องเหล่านี้ดีแล้ว ก็หมดปัจจัย ไม่มีปัจจัยที่จะต้องถาม ที่จะสงสัย อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น
เรื่องที่เป็นอนัตตาอันนั้น อนัตตานี้พูดศัพท์ง่าย ๆ ก็เรียกว่า ของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่ว่ามันอาศัยอาการตัวตนอยู่ อาศัยอาการของอัตตาอยู่ อนัตตานั้นจึงมี เป็นอนัตตาที่ถูกต้องด้วยถ้าอัตตานี้ไม่มีแล้ว อนัตตาก็ไม่ปรากฎขึ้นมา เช่นว่าคุณหมอ ไม่มีกระโถนใบนี้อยู่ในบ้าน เรื่องของกระโถนใบนี้ ก็ไม่กวนกับคุณหมอเลย มันจะแตก มันจะร้าว หรือขโมยมันจะขโมยไป.....อย่างนี้ก็ไม่มากวนจิตใจของคุณหมอเลย เพราะมันไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย คืออะไร ?.....ก็คือว่า.....กระโถน ไม่มีในบ้านเรา
ถ้าหากมีกระโถนขึ้นมาในบ้านเรา มันก็เป็นตัวอัตตาขึ้นมาแล้ว เมื่อกระโถนมันแตก มันก็กระทบเมื่อกระโถนมันหาย.....มันก็กระทบ เพราะกระโถนนี้.....มีเจ้าของแล้ว อันนี้เรียกว่า “อัตตา” มันมีสภาวะอยู่อย่างนี้ ส่วนสภาวะที่ว่า “อนัตตา” นั้น คือสภาวะที่ว่า กระโถนในบ้านเราไม่มี จิตใจจะคอยพิทักษ์รักษากระโถนนั้นก็ไม่มี จะกลัวขโมย มันจะขโมยไป มันก็ไม่มี อันนั้นมันหมดสภาวะแล้ว เรียกว่า “ สภาวะธรรม” มันมีสภาวะ.....มีเหตุ มีปัจจัย แต่เพียงมันยังเหลืออยู่เท่านั้น
ฉะนั้น อนัตตา นี้ อันที่ไม่ใช่ตัวใช่คนนี้ อะไรบอกมัน มันถึงรู้จักว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็คือตัวตนนี้แหละ มันบอกขึ้นมา อันนี้ธรรมมีหลักเปรียบเทียบ ธรรมะที่ไม่มีตัวตน มีหลักเปรียบเทียบ เช่นว่าอนิจจัง.....มันของไม่เที่ยง อย่างนี้เป็นต้น ไม่เที่ยงไปทุกอย่างรึ.....ของเที่ยงมีไม๊ ?.....ของเที่ยงมันก็มีเหมือนกัน มันมาจากไหน ?.....ตัวอนิจจังนี้แหละ.....มันคลอดออกมาเป็นนิจจัง มันเป็นจริงอยู่อย่างนั้น มันเที่ยง.....เที่ยงยังไง ?.....ไอ้ความเที่ยงมันคลอดออกมา จากสิ่งที่ไม่เที่ยง ไอ้ความไม่เที่ยงนั่นแหละ เรียกว่า มันเป็นนิจจัง นิจจังนี่ออกมาจากอนิจจัง อนิจจังมีที่ไหน นิจจังมีที่นั้น นิจจังมีที่ไหน อนิจจังมันก็มีอยู่ที่นั้น อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นของคู่เคียงกันอย่างนี้ ฉะนั้นอัตตาหรืออนัตตานี่ ก็เหมือนกันฉันนั้น อนัตตาจะมีขึ้นมา จะปรากฏขึ้นมา ก็เพราะมีอัตตา อัตตาจะปรากฎขึ้นมา ก็เพราะมีอนัตตา
อันหนึ่งมันเป็นสภาวะที่หยาบ อันหนึ่งมันเป็นสภาวะที่ละเอียด แต่มันติดกันอยู่อย่างนี้ จะพูดง่าย ๆก็เรียกว่า ไอ้ตัวเรานี้มันมีสองคน ตัวรูปร่างอันนี้ มันเป็นตัววัตถุ แต่เงาของเรามันเป็นสิ่งละเอียดเข้าไปอีก มันแฝงอยู่อย่างนี้.....อันนี้เป็นสภาวะ ความเป็นจริงแล้วก็ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นอุบายเท่านั้น ที่จะให้เรามองเห็นอย่างนั้น.....เท่านั้น อันนี้ก็ไม่ต้องสงสัยอะไรมันแล้ว
ถ้า อนัตตา ไม่มีตัวมีตนแล้ว จะไปอยู่ยังไง ก็คือทุกข์เราหมดไปแล้ว มันจะไปอยู่ยังไง ของเราไม่มีแล้ว จะไปอยู่ยังไง ไอ้ความคิดในเวลาต่อไป มันยังไม่เกิดขึ้น จะไปอยู่ที่ไหน ? ก็เพราะมันเกิดความคิดขึ้น เราถึงรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนเรายังไม่คิด ไอ้ความคิดเช่นนี้ มันไปอยู่ที่ไหน ? เป็นต้น มันอยู่ที่เหตุปัจจัย มากระทบขึ้นมา อย่างแก้วใบนี้กับพื้นนี้ มันจะมีเสียงเกิดขึ้น ก็เพราะมีการกระทบเกิดขึ้นมาเดี๋ยวนี้ มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ แต่มันมีเหตุมีปัจจัยอยู่เฉย ๆ แต่เสียงนั้นมันยังไม่มี แต่เหตุจะใหเกิดเสียงนั้น มันมีอยู่ แต่บัดนี้มันยังไม่ปรากฎ อันนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถาม : หมายความว่า ถ้าเราจะวางเหตุทั้งหลายได้ ไม่ให้มันมีเหตุขึ้นมา ตัวสภาวะอันนี้ มันก็จะแตกดับไปเลยใช่ ไหมค๊ะ ?
ตอบ : คือไม่ใช่ว่าไม่ให้มีเหตุ แต่ว่าให้รู้จักเหตุ คือเรื่องเหล่านี้ มันจะเป็นไปอยู่อย่างนั้น มันมีเหตุอยู่อย่างนี้ ห้ามไม่ได้เหตุนี้ แต่ว่าเมื่อเราเกิด “ความรู้” เหตุอันนั้น เหตุอันนั้น......มันก็หมดเหตุหมดปัจจัย เพราะความที่ “รู้” เหตุอันนั้น อย่างเหตุที่เกิดทุกข์ มันมีอยู่ทุกขณะ แต่เรารู้เหตุทุกข์จะเกิดขึ้น ทุกข์มันก็หายสลายไป เรารู้จักเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยยังมีอยู่ แต่เรารู้เหตุปัจจัยเราก็ปล่อย มันก็หมดไปอย่างนั้น
ถาม : ถ้าหากว่าเรารู้ว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะอะไรแล้ว เรายังไปยึดเหนี่ยวมันอยู่ อย่างนี้เราก็จะไม่พ้นทุกข์ใช่ไหมค๊ะ ?
ตอบ : ใช่.....แต่ให้รู้น๊ะ.....รู้ไม่ยึด พูดง่าย ๆ ซ๊ะ.....รู้ไม่ยึด มันก็เกี่ยวกับภพชาติ อย่างแก้วใบนี้มันมีอยู่แต่ว่าไม่ใช่ภพ ถ้าแก้วใบนี้มันแตก เราก็เกิดทุกข์.....เกิดชาติ ไม่สบายใจ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ เรียกว่า.....ชาติ มันไปเกิดในภพ ภพนั้นคืออุปาทาน.....มั่นหมายในแก้วใบนั้น ถ้าเราไม่มั่นหมายในแก้วใบนั้น เมื่อมันแตก.....ความทุกข์ก็ไม่มี ๆ ก็คือชาติไม่เกิดในที่นั้น อย่างนี้เป็นต้น คือมันหมดเหตุ หมดปัจจัย เพราะว่าอะไร ? เพราะเรารู้แล้วว่า แก้วใบนี้แตก มันจะเป็นทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่เรารู้ว่าสภาวะของแก้วใบนี้ เป็นของไม่แน่นอนอยู่แล้ว เราชัดเจนแล้ว เราก็ดับเหตุอันนี้ ทุกข์มันก็เกิดขึ้นไม่ได้.....อย่างนี้ เหตุผลมันก็มีอยู่เรื่อย ๆ ไป แต่ไอ้ความรู้แจ้งนี้น่ะ สำคัญมากเรื่องนี้
ถาม : ถ้าเรายังมีชีวิตเป็นฆราวาสอยู่ และต้องผูกพันอยู่กับการงาน ซึ่งทำให้เราต้องบังเกิด ความพัวพันกับการงาน การหวังผลประโยชน์แบบนี้น๊ะค๊ะ แต่ว่าใจของเรารู้อยู่ว่า อันเหตุเหล่านี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว แต่โดยหน้าที่แล้ว จำเป็นจะต้องปฏิบัติต่อไปอย่างนี้เราควรจะทำอย่างไรดีค๊ะ ?
ตอบ : เราจะต้องรู้จักภาษา.....คำพูดอันนี้ คำที่ว่า “ยึด” นี้ ยึดเพื่อไม่ยึด ถ้าคนไม่ยึดแล้ว ก็พูดไม่รู้เรื่องกัน ไม่รู้จักทำงานอะไรทั้งนั้น “เหมือนกับมีสมมติ มันก็มีวิมุติ ถ้าไม่มีเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะทำกันจึงให้รู้จัก“สมมติ” และ “วิมุตติ” คำที่ว่า “ยึดมั่น” หรือ “ถือมั่น” นี่น่ะ เราถอนตัวออก อันนี้เป็นภาษาที่พูดกัน เป็นคำที่พูดกัน แต่ตัวอุปทาน.....คือสิ่งทั้งหลาย เช่นว่า เรามีแก้วอยู่ใบหนึ่งน๊ะ เราก็รู้อยู่แล้วว่า จำเป็น เราจะต้องใช้แก้วใบนี้ อยู่ตลอดชีวิต แต่ให้เรามาเรียนรู้ว่า แก้วใบนี้น่ะ ให้มันชัดเจนซ๊ะ สำหรับแก้วใบนี้จนจบเรื่องของแก้ว จบยังไง....ก็คือเห็นว่า แก้วใบนี้ “มันแตกแล้ว” ถึงแก้วที่ไม่แตกเดี๋ยวนี้ เราก็เห็นว่า “มันแตกแล้ว” เมื่อปัญญาเห็นว่ามันแตกแล้ว เราก็ใช้แก้วใบนี้ไป ใส่น้ำร้อน น้ำเย็น แต่ว่าเมื่อแก้วใบนี้ มันแตกเมื่อไรเป็นต้น ทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้....ทำไม? .....เพราะว่าเราเห็นความแตกของแก้วใบนี้ก่อนแตกแล้ว ไอ้ที่มันแตกเดี๋ยวนี้มัน “ของทีหลัง” เพราะปัญญาเรารู้ว่ามันแตกแล้ว แตกปัจจุบันนี้ เป็นของแตกทีหลัง เราเห็นแตกก่อนแตกเสียแล้ว แก้วใบนี้มันก็แตกไป ปัญหาอะไรก็ไม่มีเกิดขึ้นเลย ทั้ง ๆเราใช้แก้วใบนี้อยู่......อย่างนี้ เข้าใจอย่างนั้นไม๊ ?
ถาม : ค่ะ
ตอบ : นี่..... มันเป็นอย่างนี้ มันหลบกันใกล้ ๆ เลย ทุกอย่างที่เราใช้ของอยู่ ก็ให้มีความรู้อย่างนี้ไว้ มันก็เป็นประโยชน์ เรามีไว้มันก็สบาย ที่มันจะหายไป มันก็ไม่เป็นทุกข์ คือไม่ลืมตัวของเรา เพราะรู้ท่านสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ นี่เรียกว่า ไอ้ความรู้ที่มันเกิดขึ้นในที่นี้ มันคุมสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ อยู่ในกำมือของมัน เราก็ทำไปอย่างนี้แหละ ถ้าว่าความดีใจ หรือความเสียใจ มากระทบอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้ เราก็รู้อารมณ์ว่า ไอ้ความดี.....มันไปถึงแค่ไหน มันก็ “ไปถึง” เรื่องอนิจจังเท่านั้นแหละ.....เรื่องไม่แน่นอน ถ้าเราเห็นเรื่องไม่แน่นอนอันนี้ เรื่องสุข.....เรื่องทุกข์นี้ มันก็เป็นเพียง เศษ.....เป็นกากอันหนึ่งเท่านั้น ในความรู้สึกนึกคิดของเรา เป็นธรรมดาของมันเสียแล้ว เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นมา มันก็จักว่า มันก็ “อย่างนั้นเอง” เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมา หรือสุขเกิดขึ้นมา มันก็ “อย่างนั้นเอง” ไอ้ความที่ว่า....อย่างนั้นเอง มันกันตัวอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่คนไม่รู้น๊ะ ไม่ใช่คนเผลอน๊ะ เพราะว่าเรามีสติรอบคอบอยู่เสมอ ในการงานทุกประเภท.....ทุกอย่างบางแห่ง เคยเข้าใจว่า มันเป็นฆราวาสอยู ฉันได้ทำงานอยู่ ประกอบกิจการงาน เป็นพ่อบ้าน แม่บ้านอยู่อย่างนี้ ฉันไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นคำที่เข้าใจผิด ของบุคคลที่ยังไม่รู้ชัด ความเป็นจริงนั้น ถ้าหากว่าเราปฏิบัติหน้าที่การงานอยู่ มีสติอยู่ มีสัมปชัญญะอยู่มีความรู้ตัวอยู่......อย่างนี้กาารงานมันยิ่งจะเลิศ ยิ่งจะประเสริฐ ทำการงาน จะไม่ขัดข้องจะมีความสงบ มีความจริญงอกงาม ในการงานอันนั้นดีขึ้น
เพราะว่า.......การปฏิบัตินี้ อาตมาเคยเทียบให้ฟังว่า เหมือนกับลมหายใจเรา ทีนี้เราทำงานทุกแขนงอยู่ เราเคยบ่นไหมว่า เราไม่ได้หายใจ มันจะยุ่งยากสักเท่าไร ก็ต้องพยายามหายใจอยู่เสมอ เพราะมันเป็นของจำเป็นอยู่อย่างนี้ การประพฤติปฏิบัตินี่ก็เหมือนกัน เมื่อเรามีโอกาสหายใจอยู่ ในเวลาที่เราทำงาน เราก็มีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติ อยู่ทั้งนั้น ในชีวิตฆราวาสของเรา ก็เพราะว่าการประพฤติปฏิบัตินั้น คือความรู้สึกในใจของเรา ความรู้ในใจของเรา ไม่ต้องไปแยกที่ไหน ทำอยู่เดี๋ยวนี้ ก็รู้เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น มันก็เหมือนกันฉันนั้น ลมหายใจกับชีวิต กับคุณค่าการปฏิบัตินี้มันเท่ากัน ถ้าเราไปคิดว่า เราทำงานอยู่เราไม่ได้ปฏิบัติ ก็เรียกว่า.....เราขาดไป ก็เพราะว่าการปฏิบัตินั้น อยู่ที่จิด ไม่ใช่อยู่ที่การงาน ไม่ใช่อยู่ที่อื่น เราลอดทำความรู้สึกเข้าแล้วเป็นต้น มันก็มีไปทางตา หู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางจิตหมด เป็นฆราวาสอยู่ก็ได้ แต่ว่าทำปัญญาให้รู้เรื่องของมัน.....รู้เหตุทุกข์จะเกิด
ดูเหมือนว่า ในครั้งพุทธกาลนั้น ฆราวาสที่ประพฤติธรรม ก็ไม่ใช่น้อย.....เยอะเหมือนกันน๊ะ อย่างนางวิสาขา ประวัติของท่านน่ะ เป็นโสดาบันบุคคล มีครอบมีครัวอยู่น๊ะ.....นี่เป็นต้น มันคนละตอนกันอย่างนี้ อันนี้ก็ไม่ต้องสงสัย แต่ว่ากิจการงานของเรานั้น ต้องเป็นสัมมนาอาชีวะ นางวิสาขานั้น อยู่ในบ้าน ก็ไม่เหมือนเพื่อนเค๊า ความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนเพื่อน มันเป็นสัมมาอาชีวะ มีความเห็นที่ถูกต้องอยู่ การงานมันก็ถูกต้องเท่านั้น
ถ้าจะเอาแต่พระจะได้หรือ พระมีกี่องค์ในเมืองไทยนี้ ถ้าโยมไม่เห็นบุญ.......ไม่เห็นกุศล เห็นเหตุ.....เห็นปัจจัยแล้ว มันก็ไปไม่ได้ ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติของพระ และฆราวาสนั้น มันจึงรวมกันได้ แต่ว่ามันยากสักนิดหนึ่ง กับบุคคลที่ยังไม่เข้าใจ เป็นฆราวาสก็คือ มันไม่เป็นทางที่จะปฏิบัติโดยตรง แต่ว่าพระออกบวชมาแล้วน่ะ มุ่งโดยตรง ไม่มีอะไรมาขัดข้องหลายอย่าง แต่ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ก็เท่ากันน่ะแหละ ถึงไปอยู่ในที่สงบ มันก็ทำตัวเราให้สงบไม่ได้ ถึงอยู่ในที่คนหมู่มาก ว่ามันไม่สงบ ผู้มีปัญญาก็ทำความสงบก็ได้ มันเป็นอย่างนี้
ถาม : ถ้าอย่างนั้นตลอดชีวิต เราปฏิบัติตัวอย่างที่หลวงพ่อให้ธรรมะ มีสติอยู่ตลอดไป ว่าของทุกอย่างมันเกิดได้ และก็ดับได้ เตรียมใจไว้ เมื่อถึงเวลาที่ชีวิตเราสิ้นสุดลง เราก็สามารถที่จะผ่อนคลาย สภาวะใหม่ที่จะเกิดขึ้น ใช่ไหมค๊ะ ?
ตอบ : ใช่.....ยังงั้น การปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นเรื่องบรรเทากิเลส บรรเทาความหลงทั้งนั้น คือบรรเทาให้มันน้อยลง มันน้อยลงก็เรียกว่า มันไม่มาก ไอ้ผลที่ว่ากิเลสทั้งหลาย มันน้อยลงมันก็จะปรากฎแก่เราอยู่เสมอ อันนั้นเป็นวิบาก
ถาม : ในบางขณะที่จิตของเรา บังเกิดบังหมองขึ้น แต่เราก็รู้ตัวของเราเอง เช่นบางครั้งเราเกิดโทสะ.....โมฆะ และโลภะค้น เราก็รู้ว่ามันเป็นของที่น่ารังเกียจ แต่มันบังเกิดขึ้น โดยที่เราห้ามไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เรารู้อย่างนี้จะเรียกว่า เป็นเครื่องให้เรายึดเหนี่ยวมากขึ้น หรือดึงกลับไปสู่ที่เดิมมากขึ้น
ตอบ : นั่นแหละ.....ต้องรู้มันไว้ ตรงนั้นแหละ.....คือข้อปฏิบัติ ละ
ถาม: คือทั้ง ๆ ที่รู้แล้ว และก็รังเกียจด้วยค่ะ แต่ไม่สามารถจะหักห้าม มันพลุ่งออกมาเสียแล้ว
ตอบ : อันนั้น มันเหลือวิสัยของมันแล้ว ตรงนั้นต้องปรับพิจารณาอีกต่อไป อย่าไปทิ้งมันตรงนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นบางคนก็เสียใจ ไม่สบายใจ เมื่อเห็นขึ้นมาเช่นนั้น ก็เรียกว่า.....อันนี้มันก็ไม่แน่ เพราะว่าเราเห็นความผิดมันอยู่ แต่เรายังไม่พร้อม คือมันเป็นของมัน คือกรรมที่มันเหลือเศษอยู่มันปรุงแต่งขึ้นมา เราไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนั้น อันนี้เรียกว่า “ความรู้” เรายังไม่พอ.....ไม่ทัน จะต้องทำสตินี้ให้มาก ให้รู้ยิ่งขึ้น มันจะเศร้าหมองก็ช่างมัน เมื่อมันเกิดขึ้นมา เราก็พิจารณาว่า อันนี้มันก็เป็นของไม่เที่ยง.....ไม่แน่นอน พิจารณาอยู่ทุกขณะที่มันเกิดขึ้นนานไป ๆ เราก็เห็นของไม่เที่ยง ในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น อันนั้นมันจะค่อย ๆ หมดราคาเรื่อยไป เพราะมันเป็นอย่างนั้น ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นในความเศร้าหมดงอันนั้น มันก็น้อยลง ๆ ทุกข์เกิดขึ้นมา ก็ปรับปรุงได้อีก แต่อย่าทิ้งมัน ต้องให้ติดต่อ พยายามให้รู้เท่าทันมัน ก็เรียกว่ามรรคของเรา มันยังมีกำลังไม่พอ มันสู้กิเลสไม่ได้ เมื่อทุกข์ขึ้นมาก็ขุ่นมัว ไอ้ความรู้เรื่องขุ่นมัว เราก็พิจารณามันอยู่อย่างนี้
ฉะนั้น เราก็จับเอาอันนั้น มาพิจารณาอีกต่อไปว่า เรื่องทุกข์.....เรื่องไม่สบายใจนี่ มันก็ไม่แน่หรอกน๊ะ มันเป็นของไม่เที่ยง....เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งสิ้น เราจับจุดนี้ไว้ เมื่อหาว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นมาอีก
ที่เรารู้มันเดี๋ยวนี้ก็เพราะ.....เราได้ผ่านมันมาแล้ว กำลังอันนี้เราจะค่อย ๆ เห็นทีละน้อย ๆ เข้าไป ต่อไป....เรื่องอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมา ก็หมดราคาเหมือนกันจิตเราก็รู้ ก็วาง ที่เรารู้.....มันวางได้ง่าย ๆ ก็เรียกว่า “มรรค” มันกล้าขึ้นมาแล้ว มันจึงข่มกิเลสได้เร็วมากที่สุด ต่อไปก็.....ตรงนี้มันเกิดขึ้นมา.....ตรงนี้ก็รับ เหมือนกันกับน้ำทะเลที่กระทบฝั่ง เมื่อขึ้นมาถึงแค่ฝั่ง มันก็ละลายเท่านั้น คลื่นใหม่มาอีก ก็ต่อไปอีก มันจะเลยฝั่งไปไม่ได้ อันนี้มันจะเลยความรู้เราไปไม่ได้เหมือนกัน เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะพบกันที่ตรงนั้น มันจะแตกร้าวอยู่ที่ตรงนั้น มันจะหายก็อยู่ที่ตรงนั้น เห็นว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาคือฝั่งทะเล อารมณ์ทั้งหลายผ่านเข้ามา มันก็เป็นอย่างนั้น ไอ้ความสุขมันก็ไม่แน่ มันเกิดาหลายครั้งแล้ว ไอ้ความทุกข์มันก็ไม่แน่ มันเกิดมาหลายทีแล้ว มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ในใจเรารู้ว่า เออ.....มันก็อย่างนั้นแหละ มันก็เท่านั้นแหละ อย่างนี้มันจะมีอาการอยู่ในใจของเราอันนั้นก็ค่อย ๆ หมดราคาไปเรื่อย ๆ มันจะเป็นอย่างนี้ อันนี้พูดเรื่องอาการจิต มันจะเป็นอย่างนั้นทุกคนแม้พระพุทธเจ้า และสาวกทั้งหลาย ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้ามรรคมันกล้าขึ้นมา มันก็ไม่ต้องการอะไร มันเป็นอัตโนมัติ เมื่อเกิดขึ้นมา มันก็รู้ทัน มันทำลายไปเลย อันนั้นเรียกว่ามรรคมันยังไม่กล้า และก็ข่มกิเลสยังไมได้รวดเร็ว.....อย่างนี้มันต้องเป็น ใครก็ต้องเป็นทุกคน แต่ว่าเอาเหตุผลที่ตรงนั้นน่ะ อย่าได้ไปคว้าอย่างอื่นเลยอย่าไปแก้ตรงอื่น แก้ตรงนี้แหละ แก้ตรงที่มันเกิด และมันก็ดับ สุขเกิดแล้วมันดับไปไม๊ ? ทุกข์เกิดแล้วมันดับไปไม๊ ? มันก็เห็นเรื่องเกิด-ดับ ความดี ความชั่วอยู่เสมอ อันนี้เป็นสภาวะที่เป็นอยู่อย่างนี้ของมันเอง อย่าไปยึดมั่น หมายมั่นมันเลย ถ้าเรามีความรู้อันนี้ มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ แม้กระทบกันอยู่ แต่ว่าไม่มีเสียง.....มันหมดเสียง เรียกว่าเรามาเห็นธรรมดาเกิดแล้วดับเห็นมันเกิดแล้วมันก็ดับ เห็นความเกิดดับในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องธรรมะมันจะเป็นของมันอยู่อย่างนี้ เมื่อเราเห็นของแค่นี้ มันก็อยู่แค่นั้น ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่มี อุปาทานทั้งหลายพอจะรู้สึก มันก็หายไป เกิดแล้วก็ดับไปเท่านั้น อันนี้มันก็สงบ ไอ้ที่มันสงบไม่ใช่ว่า ไม่ได้ยินอะไรน๊ะ.....ได้ยินอยู่ แต่ว่ามันรู้เรื่อง ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องเหล่านั้น เรียกว่า....มันสงบ เรื่องอารมณ์ทั้งหลาย ก็มีอยู่ในใจเรานี่แหละ แต่ว่ามันไม่ตามอารมณ์นั้น เรื่องจิตก็เป็นอย่างหนึ่ง เรื่องอารมณ์มันเป็นอย่างหนึ่ง เรื่องกิเลสนี้มันก็เป็นอย่างหนึ่ง เมื่ออารมณ์มากระทบเราไปชอบมัน ๆ ก็เกิดกิเลสขึ้นมา เมื่อไม่ชอบมันก็เกิดกิเลสขึ้นมา ถ้าหากเราเห็นความเกิด-ดับ ของมันอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นมาแล้ว มันหมดแค่นั้น
ถาม : ในการพิจารณาธรรม เบื้องต้นจะต้องฝึกสมาธิให้ได้เสียก่อนใช่ไหมค๊ะ ?
ตอบ : อันนี้เราจะพูดอย่างนั้นก็ถูกไปแง่หนึ่ง ถ้าพูดถึงด้านปฏิบัติจริง ๆ แล้ว ปัญญามันมาก่อนน๊ะ.....ปัญญามาก่อน แค่ตามแบบ ต้องศีล......ต้องสมาธิ.....ต้องปัญญา ถ้านักปฏิบัติธรรมะจริง ๆ แลัว ปัญญามาก่อน ถ้าปัญญามาก่อน รู้จักผิด รู้จักถูก รู้จักความสงบ รู้จักความวุ่นวาย แต่พูดตามหลักปริยัติแล้ว ก็ต้องเรียกว่า การสังวร สำรวมนี้ ให้เกิดความละอาย ให้เกิดความกลัวความผิดทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นมา เมื่อกลัวความผิด ไม่ทำความผิดแล้ว ไอ้ความผิดก็ไม่มี เมื่อความผิดไม่มี ก็เกิดอาการความสงบขึ้นมาในที่นั้น ความสงบอันนั้น เป็นสมาธิไปพลาง ๆ.......เป็นฐาน
เมื่อจิตสงบขึ้นมาแล้ว ไอ้ความรู้ทั้งหลาย ที่มันเกิดมาจากความสงบนั่นแหละ ท่านเรียกว่า “วิปัสสนา” ความรู้เท่าตามความเป็นจริงอย่างนี้ มันมีอาการอยู่ในนี้ ถ้าหากพูดให้มันลงอันเดียวกันซ๊ะ มันจะเป็นศีล จะเป็นสมาธิ มันจะเป็นปัญญา ถ้าพูดให้มันรวม ก็ว่าธรรมสามอย่างนี้ เป็นก้อนเดียวกัน ไม่แยกกัน แต่ว่าพูดถึงลักษณะของมัน มันเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาอย่างนี้ถูกแล้ว แต่ว่าคนเรา ถ้ามีการกระทำผิดอยู่ จิตใจก็สงบไปไม่ได้ ถ้าหากว่าดูไปแน่นอนแล้ว มันจะไปพร้อม ๆ กัน จะว่าจิตสงบ.......อย่างนี้ มันก็ถูก การทำสมาธิ......ถ้าพูดตามเรื่องมันก็รักษาศีล รักษากาย วาจา ไม่ให้มีความเดือนร้อน ไม่ให้มีความผิดเกิดขึ้นมาในวงนี้ อันนี้เป็นฐานความสงบ.....แต่มันเกิดขึ้นตรงนั้นนี่ เมื่อฐานความสงบมีอยู่ ก็จะเป็นฐานรองรับให้ปัญญา.....คือความรู้ให้เกิดในที่นั้น
ถ้าหากว่าสอนไปตามแบบของท่านแล้ว ก็เรียกว่า ศีล.....ศีลนี้น่ะสำคัญมาก อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาณัง ให้งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด มันเป็นอย่างนี้ เคยทำแล้วยังล่ะสมาธิ.......เคยทำแล้วยัง ?
ถาม : กำลังเรียนอยู่ค่ะ
ตอบ : เออ.....กำลังเรียน
ถาม : วันนั้นไปหาหลวงพ่อ ๆ ที่เขื่อน (วัดเขื่อนสิรินธร สาขาวันป่าพงที่ ๘) พอวันรุ่งขึ้นคุณน้า เอาหนังสือโอวางของหลวงพ่อไปให้ที่บ้าน ตอนเช้านั่งทำงานอยู่ในร้าน ก็หยิบขึ้นมาอ่าน มีคำถามของพระที่ถามหลวงพ่อปัญหาต่าง ๆ หลวงพ่อบอกว่า ข้อสำคัญให้จิตเฝ้าดูอยู่ว่า อะไรจะเกิด อะไรต่าง เฝ้าดูอยู่เฉย ๆให้รู้ไว้ ตอนบ่ายได้ไปเรียนสมาธิ ก็ปรากฏว่า มีอาการว่านั่งแล้วรู้สึกว่า ตัวมันหายไปเฉย ๆ มือ.....มันก็ไม่รู้สึก ขา.....ก็ไม่รู้สึก รู้สึกว่ามันไม่มีตัว แต่รู้ว่าเรายังมีตัวอยู่ แต่ว่ามันไม่รู้สึกค่ะ ตอนเย็นได้มีโอกาส ไปกราบนมัสการ ท่านอาจารย์เทสก (หลวงปู่เทสก์)และเล่าอาการให้ท่านฟัง ท่านบอกว่าทำต่อไป อันนั้นเรียกว่า “จิตรวมค่ะ” แต่ก็เป็นอยู่หนหนึ่ง หนหลัง ๆ บางครั้งก็เหมือนกับว่า เราไม่รู้สึกมือของเรา แต่ก็ยังรู้สึกส่วนอื่น ๆ บางทีมานั่งนึกว่า.....ถ้าเรามานั่งอยู่อย่างนี้ ให้จิตปล่อยวางเฉย ๆ....ถูกหรือ หรือเรามานั่งครุ่นคิดถึงปัญหาธรรม ที่เรากำลังข้องใจอยู่.....อะไรคือที่ถูก ?
ตอบ : อันนั้นไม่ต้องไปซ้ำเติมมันน๊ะ ที่ท่านอาจารย์เทสก์ท่านบอกน่ะ.....อย่าไปซ้ำเติมมัน ไอ้ความรู้คือความสงบนั้น ให้ดูความสงบนั้นอยู่ แต่ความรู้สึกของเรา มันจะรู้สึกไม่มีตัว ไม่มีตนอะไร ก็ช่างมันเถอะ.....อันนี้ ให้มันอยู่ในนี้......ความรู้สึก นี่เรียกว่า.....ความสงบจิตที่มันรวม เมื่อมันรวมอยู่นาน ๆ ครั้งหรือสองครั้งนั่นน่ะ แล้วมันจะมีอาการเปลี่ยนแปลงคือ เรียกว่า.....มันถอนออกมามันเป็นอัปปนาสมาธิ แล้วมันจะถอนออกมา คือ.....ไม่ใช่ถอน.....จะพูดถอนก็ถูก เรียกว่า มันพลิกก็ได้มันเปลี่ยนแปลงก็ได้ แต่ในลักษณะครูบาอาจารย์ท่านสอน ก็ว่า.....เมื่อมันสงบแล้ว มันจะถอนออกมา ถ้าหากพูดภาษาไม่ถูกกันนี้ มันก็ยากเหมือนกันน๊ะ เอ.....จะไปถอนมันยังไงน้อ.....ไอ้เรื่องถอนนี่ มันก็ไปงมงายในภาษานี้ลึก แต่ว่าให้เข้าใจว่า ให้ดูอาการนั้นอยุ่ ด้วยมีสติสัมปชัญญะ ลักษณะที่จิตที่มันไม่แน่นี่ มันก็พลิกออกมา มันเป็นอุปจาระ.....ถอนออกมา ถ้ามันถอนออกมาอยู่ตรงนี้......ตรงนั้น มันไม่รู้เรื่อง.....ถอนมาตรงนี้.....มันจะรู้เรื่อง ถ้ามันรู้เรื่องตรงนี้ มันก็คล้าย ๆสังขาร หรือจะเหมือนกับเป็นคนสองคน ปรึกษาสนทนากัน อันนี้คนไม่เข้าใจ ก็เสียใจว่า จิตเราไม่สงบ เมื่อความเป็นจริงแล้ว มันจะสนทนาปราศรัยกันอยู่ ในความสงบระงับอันนั้นอันนี้มันเป็นลักษณะที่มันถอนออกมาแล้ว เป็นอุปาจาระ รู้เรื่องอะไรต่าง ๆ เมื่อระบบนี้อยู่ซักพักหนึ่ง มันจะเข้าของมันไป คือมันจะพลิกกลับ เข้าไปในสถานที่เดิม.....สงบอย่างเก่า หรือมันจะมีกำลังที่ใสสะอาด สงบยิ่งกว่าเก่าก็มี ถึงกำลังอันนั้นเราก็กำหนดไว้เท่านั้น ถึงเวลามันจะถอนออกมาอีก ถอนออกมาแล้ว มันจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมา ตรงนี้รู้เรื่องต่าง ๆตรงนี้คือมาสอบถาม มาสอบสวนเรื่องคดีต่าง ๆ ให้รู้เรื่อง เมื่อจบเรื่องแล้ว มันค่อยเข้าไปตรงนั้นอีก เข้าไปบ่มไว้ ไม่มีอะไร......มีความรู้อย่างเดียวเท่านั้นแหละ ให้เรามีสติเต็มที่ไว้ เมื่อถึงเวลามันก็จะออกมาอีก
มันจะมีอาการออก หรือเข้าอย่างนี้ อยู่ในจิตของเรานี่น่ะ แต่เราพูดยากอันนี้ อันนี้ไม่เสียหายนานไป ๆ ไอ้ตรงที่มันมาปรึกษาข้างนอกน่ะ มันจะเป็นสังขารปรุงแต่ง ถ้าคนไม่รู้จักอันนี้ว่าเป็นสังขาร ก็นึกว่า มันเป็นปัญญา นึกว่าปัญญามันเกิด ถ้าเราเห็นว่า ไอ้ความปรุงแต่งนี้น่ะให้เห็นความสำคัญของความปรุงแต่งนี้ว่า อันนี้ก็ของไม่เที่ยง.....นี่....บังคับไว้เสมอ อย่าไปปล่อยใจมันว่า มันปรุงไปอย่างไร ก็เชื่อไปอย่างนั้น อันนั้นมันเป็นสังขารนี่ มันไม่เกิดปัญญา อารมณ์ที่จะให้เกิดปัญญานี่ มันจะปรุงไปที่ไหน เราก็ฟังมัน รู้มันเถอะ.....เอ้อ.....อันนี้มันก็ไม่แน่นอน....อันนี้ก็ไม่เที่ยง จึงเป็นเหตุที่จะให้จิตเรา ปล่อยตรงนี้ได้ เมื่อจิตปล่อยวางตรงนี้ จิตก็สงบเข้าไป ทำอย่างนี้เรื่อย ๆ ไปเถอะ มันเข้าไป.....แล้วก็ถอนออก นี่.....ปัญญาจะเกิดขึ้นมาในที่นั้น มันจะแก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ ทุกอย่างในสกลโลกอันนี้ ปัญญามันจะตามตอบคำถาม จะนั่งที่ไหน คิดที่ไหน อะไรที่ไหนน่ะ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้นมา ถ้ามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ก็อย่าไปหลงมันว่า อันนี้มันเป็นสังขารน๊ะ เมื่อพวกว่าเราเอาอารมณ์ไปเข้ากันซ๊ะว่า.....อันนี้มันก็ไม่เที่ยง มันก็ไม่แน่นอน อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันเลย สภาวะอันนี้น่ะ ถ้าเราแทนเข้าไป จิตมันจะยิ้มขึ้นมาอยู่ตรงกลางอันนี้ รู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จิตของเราจะเดินไปได้ถูกต้อง ตามทางการภาวนาของเรา มันจะไม่หลงมันจะเป็นอย่างนี้
ถาม : ถ้าสมมติว่าจิตมันนิ่งอย่างนี้น่ะ แต่เรายังได้ยินอยู่.....นี่จะเรียกว่าอะไรค๊ะ ? ตอบ : มันจิตก็เป็นจิต เสียงก็เป็นเสียง มันก็ได้ยินซี่. ถาม : เรียกว่า สงบใช่ไม๊ค๊ะ ? ตอบ: สงบ ๆ ได้ยิน....แต่ไม่ฟุ้ง. ถาม : มันลบมันละเอียด. ตอบ : ใช่.....มันก็ได้ยิน มันไม่ได้ยิน ก็เสียคนเท่านั้นแหละ มันก็ไม่รู้เรื่องอะไร มันทิ้งความรู้แล้วจะเกิดอะไร. ถาม : แต่ในใจมันหยุดล่ะฮ่ะ.....แต่ว่าไอ้เลียง มันเข้าไปอยู่เรื่อย ๆ. ตอบ : ก็ช่างมันเถอะ. ถาม : แต่มันไม่ปนกันล่ะฮ่ะ. ตอบ : ใช่.....แต่เราไม่ยึด. ถาม : แต่ว่าพอมันนิ่งแล้ว มันก็ไม่เกิดปัญญาซีน๊ะ มันเฉย ๆ ....... ตอบ : เออ.....อย่าเพิ่งไปบังคับ ให้มันเกิดปัญญาเถอะ มันจะหล่อเลี้ยงของมันเองหรอก. ถาม : แต่มันก็หยุดล่ะฮ่ะ.....ลมมันก็ละเอียด มันนิ่งเฉย ๆ. ตอบ : เออ....ช่างมันเถอะ นิ่งเฉย ๆอย่างนี้ก่อน. ถาม : และก็......สงสัย..... ตอบ : นี่แหละคนเรา.....มันเป็นอย่างนี้ ไอ้ความหลงของคนน่ะ คือคนอยากจะรู้ ที่ครั้งแรกจิตเราไม่เคยสงบ ก็มาถามอาจารย์เรื่องจะให้มันสงบ จะทำยังไง.....อยากให้มันสงบ......แน่ะเราว่า เออ.....ทำๆไปเถอะ พยายามไป ก็ยังไม่อยู่
ที่มา : http://www.ajahnchah.org
0 comments: