“อย่าปล่อยให้หวั่นไหวจนกลายเป็นอื่น เพราะพระรัตนตรัยมีคุณอย่างสูงสุด”
เพราะความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม และในพระสงฆ์ แม้ธาตุ ๔ อาจกลายเป็นอย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในในพระพุทธ ในพระธรรม และในพระสงฆ์แล้ว จักไม่แปรเป็นอย่างอื่น คือจักไม่ถือกำเนิดในนรก ในสัตว์เดรัจฉาน หรือในแดนเปรตเลย
สมดังเนื้อความในนิเวสกสูตร (พระสูตรว่าด้วยการชักชวนให้ตั้งมั่นในฐานะ) ว่า
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคนเหล่าใดจะเป็นมิตรอำมาตย์ ญาติ สาโลหิตก็ตาม ให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง เธอทั้งหลายพึงชักชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในฐานะ ๓ ประการ
ฐานะ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พึงชักชวนให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”
๒. พึงชักชวนให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
๓. พึงชักชวนให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”
มหาภูต ๔ คือ ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) และวาโยธาตุ(ธาตุลม) อาจกลายเป็นอย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ไม่พึงแปรเป็นอย่างอื่นได้เลย ในเรื่องนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแปรเป็นอย่างอื่น คือพระอริยสาวกนั้นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ จักถือกำเนิดในนรก สัตว์เดรัจฉาน หรือแดนเปรต
อานนท์ เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคนเหล่าใดจะเป็นมิตรอำมาตย์ ญาติ สาโลหิตก็ตาม ให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง เธอทั้งหลายพึงชักชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในฐานะ ๓ ประการนี้แล ดังนี้ ฯ
ในอรรถกถาอธิบายไว้ว่า
๑. ปฐวีธาตุ ที่เป็นธาตุมีอาการเข้มแข็ง ในโกฏฐาส ๒๐ อย่าง พึงมีความเป็นอย่างอื่นไปได้
๒.อาโปธาตุ ที่เป็นน้ำ เป็นธาตุเกาะกุม ในโกฏฐาส ๑๒ อย่าง พึงมีความเป็นอย่างอื่นไปได้
๓. เตโชธาตุที่เป็นธาตุแผดเผาในโกฏฐาส ๔ อย่าง พึงมีความเป็นอย่างอื่นไปได้
๔. วาโยธาตุที่เป็นธาตุพัดผัน ในโกฏฐาส ๖ อย่าง พึงมีความเป็นอย่างอื่นไปได้
พระอานนทเถระเจ้าแสดงว่า “จริงอยู่ มหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้พึงมีความเป็นอย่างอื่นไปได้ เพราะเข้าถึงความเป็นอัญญมัญญปัจจัย แต่สำหรับพระอริยสาวกไม่มีความเป็นอย่างอื่นไปได้เลย
ก็ในพระสูตรนี้ บทว่า อญฺญถตฺตํ ได้แก่ ความเป็นอย่างอื่นโดยความเลื่อมใส และความเป็นอย่างอื่นโดยคติ เพราะว่าทั้ง ๒ อย่างนั้นไม่มีแก่พระอริยสาวก มีแต่ความเป็นอย่างอื่นโดยสภาพ (มีตายแล้วเกิดใหม่ได้ แต่ความเลื่อมใสและการได้เกิดในสุคติภูมิไม่เปลี่ยนเลย)
พระอริยสาวกที่เป็นมนุษย์ไปเป็นเทวดาก็มี ไปเป็นพรหมก็มี แต่ความเลื่อมใสของพระอริยสาวกนั้นจะไม่ขาดตอน (เปลี่ยนแปลง) ในระหว่างภพ ทั้งจะไม่ถึงความเป็นอย่างอื่นโดยคติ กล่าวคือไม่ไปสู่อบายคติเลย ดังนี้แล ฯ
สาระธรรมจากนิเวสกสูตร ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ 20/2/65
ภาพ : นักรบตะวันออก
Wat Tham Krabok is a beautiful Buddhist temple in the Phra Phutthabat District of Saraburi Province, Thailand.
"พระหินลาวา" วัดถ้ำกระบอก ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยหิน แล้วนำมาหล่อด้วยความร้อนสูง จนละลายกลายเป็นลาวา และขึ้นรูปเป็นพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่กลางเทือกเขา มีพระอิริยาบถต่างๆ มากมายหลายองค์ให้กราบสักการะ
0 comments: