วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564

วินิจฉัยเรื่องการปฏิบัติตามสิกขาบทบัญญัติจัดเป็นสีลัพพตปรามาสหรือไม่?

วินิจฉัยเรื่องการปฏิบัติตามสิกขาบทบัญญัติจัดเป็นสีลัพพตปรามาสหรือไม่?

มีคนบางกลุ่มเข้าใจว่า ภิกษุสามเณรควรเลือกปฏิบัติตามสิกขาบทแค่พอประมาณ ไม่ต้องประพฤติบางข้อบ้างก็ได้เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เข้ากับสังคมได้ จึงจะเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) ส่วนถ้าไปปฏิบัติตามสิกขาบทเคร่งครัด นั้นจัดเป็นสีลัพพตปรามาส (การยึดมั่นในศีลและพรต) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง,    ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ?

ก่อนอื่น ทางสายกลาง…หมายถึงอะไร ?

คำในพระพุทธศาสนาคำหนึ่งที่คนไทยในปัจจุบันใช้กันมาก คือคำว่า ทางสายกลาง โดยมักจะอธิบายกันว่า หมายถึงจะทำอะไรก็ให้พอดี อย่าให้มากเกินหรือน้อยเกินเป็นต้น,    แต่คำนี้จริงๆ แล้ว ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงอะไรกันแน่ ?

ทางสายกลาง ภาษาบาฬีเรียกว่า มชฺฌิมา ปฏิปทา หมายถึง อริยมรรคมีองค์แปด ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ   เห็นชอบ   หมายถึง เห็นอริยสัจ ๔ เห็นไตรลักษณ์ หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท

๒. สัมมาสังกัปปะ  ดำริชอบ    หมายถึง กุศลวิตก ๓ (คือความนึกคิดในทางสละกาม, ไม่พยาบาท และไม่เบียดเบียน)

๓. สัมมาวาจา  เจรจาชอบ   หมายถึง พูดคำจริง ไม่ส่อเสียด อ่อนหวาน และมีสาระ (สิกขาบททางวจีทวาร)

๔. สัมมากัมมันตะ  กระทำชอบ   หมายถึง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม  (สิกขาบททางกายทวาร)

๕. สัมมาอาชีวะ  เลี้ยงชีพชอบ   หมายถึง เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ  (สิกขาบทที่เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ)

๖. สัมมาวายามะ   เพียรชอบ    หมายถึง สัมมัปปธาน ๔   (คือ เพียรระวังอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น,   เพียรกำจัดอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว,   เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น,  เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว)

๗. สัมมาสติ   ระลึกชอบ   หมายถึง สติปัฏฐาน ๔  (คือพิจารณาเห็นกายในกาย,  พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา,   พิจารณาเห็นจิตในจิต   พิจารณาเห็นธรรมในธรรม)

๘. สัมมาสมาธิ   ตั้งจิตมั่นชอบ    หมายถึง ฌาน ๔

(ดูความพิสดารใน ที.ม.๑๐/๓๒๙, ม.อุ.๑๔/๓๒๕,  อภิ.วิ.๓๕/๒๐๕,๓๗๑,๔๘๘-๔๙๒,๓๗๗-๘)

จะเห็นว่า การปฏิบัติตามสิกขาบทบัญญัติ ก็จัดอยู่ในหมวดสัมมาวจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะนั่นเอง ดังนั้น การปฏิบัติตามสิกขาบทนั่นแหละ จึงจะชื่อว่าปฏิบัติตามทางสายกลาง หรือถ้าไปอธิบายโดยประการอื่นก็จะกลายเป็นกล่าวว่าสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้เป็นข้อปฏิบัติเพื่ออัตตกิลมถานุโยคไป

อีกคำหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจคือคำว่า  สีลพพตปรามาส

ถามว่า การปฏิบัติตามสิกขาบทบัญญัติ จัดเป็นสีลัพพตปรามาสหรือไม่ ?

ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา (ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค) ท่านอธิบายเรื่องสีลัพพตปรามาสไว้ดังนี้ :-

มิจฉาทิฏฐิที่เป็นไปโดยเกี่ยวกับเป็นการยึดถือโดยประการอื่น[จากความเป็นจริง]ว่า “ความหมดจดจากสังสารวัฏย่อมมีได้เพราะศีลมีโคศีลเป็นต้น ความหมดจดจากสังสารวัฏย่อมมีได้เพราะพรตมีโคพรตเป็นต้น ความหมดจดจากสังสารวัฏย่อมมีได้เพราะศีลและพรต” ดังนี้  แห่งพวกสมณพราหมณ์ทั้งหลายภายนอกพระศาสนา ชื่อว่า  สีลัพพตปรามาส

ก็คำว่า  โคศีล  ได้แก่ ปกติของโคที่มีการกินแต่หญ้า การเคี้ยวเอื้อง การใช้ลิ้นวักน้ำเข้าปาก เป็นต้น.   ส่วนคำว่า  โคพรต  ได้แก่ ความประพฤติอย่างโคมีการกินไปถ่ายไปเป็นต้น.   ด้วยคำว่า  เป็นต้น  พึงสงเคราะห์เอาสุนัขศีล สุนัขพรต เป็นต้น ตามสมควร

ส่วนคำว่า ความหมดจดจากสังสารวัฏ เป็นคำกล่าวถึงพระนิพพาน เพราะฉะนั้น ว่าโดยใจความ  ความยึดถือปฏิปทาอย่างอื่นที่มิได้เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพานว่าเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน ชื่อว่า สีลัพพตปรามาส

จากหลักฐานที่ยกมาข้างต้น จะเห็นว่า สีลัพพตปรามาส หาได้เกี่ยวกับการที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติตามสิกขาบทบัญญัติไม่   ก็เป็นอันได้วินิจฉัยตอบคำถามที่ตั้งกระทู้ไว้ข้างต้นแล้วด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในคราวใกล้ปรินิพพานว่า

"ยาวกีวญฺจ  ภิกฺขเว  ภิกฺขู  อปญฺญตฺตํ  น  ปญฺญเปสฺสนฺติ,  ปญฺญตฺตํ  น  สมุจฺฉินฺทิสฺสนฺติ,  ยถาปญฺญตฺเตสุ  สิกฺขาปเทสุ  สมาทาย  วตฺติสฺสนฺติ,  วุฑฺฒิเยว  ภิกฺขเว  ภิกฺขูนํ  ปาฏิกงฺขา,  โน  ปริหานิ. 

ภิกษุทั้งหลาย  ตราบใดที่พวกภิกษุยังไม่บัญญัติสิ่งที่เรามิได้บัญญัติไว้  ยังไม่เพิกถอนสิ่งที่เราได้บัญญัติไว้แล้ว   ยังสมาทานประพฤติตามสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แล้ว  ภิกษุทั้งหลาย   พวกภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว  ไม่มีความเสื่อมเลยตราบนั้น"

(ที.มหา.๑๐/๑๓๖/๖๙ มหาปรินิพพานสูตร)

จริงๆ พุทธพจน์บทนี้ ก็น่าจะเพียงพอในการตอบคำถามข้างต้นแล้วด้วยซ้ำ

จิรํ  ติฏฺฐตุ  สทฺธมฺโม.   ขอพระสัทธรรมจงดำรงมั่นตลอดกาลนาน

ธมฺเม  โหนฺตุ  สคารวา.    ขอชนทั้งหลายจงมีความเคารพในพระธรรม

นานาวินิจฉัย โดยพระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท

ที่มา : http://dhamma.serichon.us




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: