ประเพณีพระราชปุจฉา
ในหนังสือประชุมพระราชปุจฉาซึ่งหอพระสมุดวชิรญาณพิมพ์เผยแพร่ มีคำอธิบายประเพณีพระราชปุจฉากล่าวไว้ดังนี้
ประเพณีพระราชปุจฉา คือ ที่พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งถามข้ออรรถธรรมซึ่งทรงสงสัย ให้พระราชาคณะแต่บางรูป ฤๅประชุมกันถวายวิสัชนานี้ เข้าใจว่าจะมีมาแต่โบราณทีเดียว ส่วนประเทศอื่นยังไม่ได้พบหนังสือพระราชปุจฉา นอกจากความที่ปรากฎในพระสูตร ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ไปทูลถามข้ออรรถธรรมแก่สมเด็จพระภูมีพระภาคเจ้า กับหนังสือเรื่องมิลินทปัญหาซึ่งปรากฎว่าพระเจ้ามิลินท์ทรงซักไซร้พระนาคเสนด้วยข้ออรรถธรรมต่างๆ เปนอย่างวิจิตรพิสดาร
ว่าในส่วนสยามประเทศนี้ ประเพณีพระราชปุจฉามีปรากฎมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเปนราชธานี ยังมีหนังสือพระราชปุจฉาแลข้อความที่พระสงฆ์ถวายวิสัชนาอยู่หลายเรื่อง มาถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฎว่าพระราชปุจฉามีเมื่อรัชกาลที่ ๑ มากกว่ารัชกาลอื่นๆ แต่ที่หอพระสมุด ฯ รวบรวมหาฉบับได้ถึง ๓๙ เรื่อง
บัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลปัจจุบันทรงมีพระราชปุจฉาไปยังสมเด็จพระสังฆราชและพระเถรานุเถระทั้งหลายแล้ว ขอความในพระราชปุจฉาตามสำเนาในภาพถ่ายที่นำมาประกอบเรื่อง
ผมเข้าใจว่านี่เป็นพระราชปุจฉาครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน
ญาติมิตรทั้งปวงลองจินตนาการดูว่า กระบวนการตอบพระราชปุจฉาของคณะสงฆ์จะทำกันเป็นการใด
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๒๒ เมษายน ๒๕๖๔, ๑๔:๓๓
ที่มา :
ประเพณีพระราชปุจฉา ------------------------ ในหนังสือประชุมพระราชปุจฉาซึ่งหอพระสมุดวชิรญาณพิมพ์เผยแพร่...
โพสต์โดย ทองย้อย แสงสินชัย เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2021
0 comments: