วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564

อีกด้านหนึ่งของชีวิต..ที่คนเราลืมไป


อีกด้านหนึ่งของชีวิต..ที่คนเราลืมไป

..“อีกด้านหนึ่งของชีวิตที่ลืมไป คือการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ถ้าเราไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข หรือแม้แต่ไม่รักษามันไว้ เราก็สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข ..อาการของคนที่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข ก็คือ ยิ่งอยู่ในโลกนานไป ก็ยิ่งกลายเป็นคนที่สุขยากขึ้น คนจำนวนมาก สมัยนี้ มีลักษณะอย่างนี้ คืออยู่ในโลกนานไป เติบโตขึ้น กลายเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น ต่างจากคนที่รักษาดุลยภาพของชีวิตไว้ได้ โดยพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขควบคู่ไปด้วย จะเป็นคนที่มีมีลักษณะตรงข้าม คือ ยิ่งอยู่ในโลกนานไป ก็ยิ่งเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น” -สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) ที่มา : จากธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “ความสุข ๕ ชั้น” 

มนุษย์ “เป็นทุกข์” เพราะไม่รู้ธรรม.

.. “ ปัญหาของมนุษย์นั้น เกิดจากการที่ไม่รู้เท่าทันความจริงของกฎธรรมชาติ แล้วก็วางใจต่อสิ่งทั้งหลายอย่างไม่ถูกต้อง จึงทำให้ถูกกฎธรรมชาติเบียดเบียนบีบคั้นและครอบงำอยู่ตลอดเวลา ..ความทุกข์ของมนุษย์ รวมแล้วอยู่ที่..การถูกกระทบกระทั่งบีบคั้นจากการเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่คงทนถาวร เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ..สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป เราอยากให้เปลี่ยนไปอย่างหนึ่งมันกลับเปลี่ยนไปเสียอีกอย่างหนึ่ง เราอยากจะให้มันคงอยู่ แต่มันกลับเกิดแตกดับไป อะไรทำนองนี้ มันก็ฝืนใจเรา บีบคั้นใจเรา เราก็มีความทุกข์”

การก้าวเข้าไปหาธรรมเป็นเรื่องถูกตรงแล้ว

..“ มนุษย์ทุกคนต้องการชีวิตที่ดี และมีความสุขที่แท้จริง และเราก็ดำเนินชีวิตเพียรพยายามทำทุกอย่างเพื่อหาสิ่งนี้  แต่แล้ว..มนุษย์ก็ประสบปัญหากันอย่างนี้แหละ เพราะเพียรพยายามไปโดยไม่รู้ ไม่เข้าใจ ว่าชีวิตที่ดีและความสุขที่แท้จริงนั้น คืออะไร? ..ขอรวบรัดว่า หลักในการสร้างชีวิตที่ดีและมีความสุขนี้ ไม่มีอะไรมาก ก็คือการเข้าถึงธรรมนั่นเอง เป็นอันเดียวกัน เมื่อใดเราเข้าถึงชีวิตที่ดี มีความสุขที่แท้จริง ก็คือ..เข้าถึงธรรม พูดสั้นๆว่า “เมื่อสุขแท้ ก็ถึงธรรม” ..เมื่อพูดอย่างนี้แล้ว ทุกท่านจะได้ไม่หนักใจ คือ จะได้เห็นการก้าวเข้าไปหาธรรมเป็นเรื่องที่ตรงกับ “จุดหมายของชีวิต”เราอยู่แล้ว”-สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากหนังสือ “ธรรมะฉบับเรียนลัด”, ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: