วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“มองดูปริทัศน์แห่งชีวิตในทุกแง่ทุกมุม”

พึงมองดูชีวิตโดย “ปริทัศน์” (อย่างรอบด้าน) มองให้เห็น “ความเป็นเช่นนั้นเอง” เพื่อชีวิตไม่ต้องทรมาน

..“ธรรมะหรือชีวิตนั้นมันก็เป็นสิ่งเดียวกัน หรือถ้าเราจะแยกออกจากกันก็โดยมุ่งหมายเฉพาะส่วนๆ ถ้ามองดูทีเดียวกันใน ฐานะที่ว่าเป็นธรรมะหรือธรรมชาติแล้ว มันก็เป็นสิ่งเดียวกันได้ ซึ่งเราอาจจะมองได้หลายแง่หลายมุม

..ดังนั้น ขออย่าเพิ่งรังเกียจหรือรําคาญ ด้วยคําว่า “ปริทัศน์” ซึ่งเป็นคําใหม่ๆ ประดิดประดอย, คล้ายๆกับประดิดประดอยขึ้นมาพูด เพื่อให้เป็นคู่กับคําต่างประเทศ. แต่เราจะถือเอาประโยชน์ของคําว่า ปริทัศน์ : ปริ แปลว่า รอบๆ ทัศน์ แปลว่า เห็นหรือดู ดูแล้วเห็น, ปริทัศน์ ก็คือ ดูกันอย่างรอบด้าน ; ไม่เท่าไรคําพูดชนิดนี้มันก็จะกลมกลืนกันไปในภาษาธรรมดา แล้วก็ชินไปเอง เราเอาแต่ความสะดวกในการพูดจา , เช่นคําว่า ปริทัศน์ นี้ มันมีความหมายว่า ดูชนิดที่รอบด้าน ทั่วถึง ทั้งในส่วนลึก ซึ่งดูด้วยตาธรรมดาไม่เห็นก็ดูได้ด้วยตาแห่งปัญญา ข้างบน ข้างล่าง ด้านข้าง โดยรอบ ดูเห็นเป็นสิ่งที่เนื่องกัน

..เหมือนอย่างว่า จะดูโลกนี้ทั้งโลก ถ้าดูเห็นหมดมันก็เนื่องกันเป็นหนึ่งโลก หรือโลกเดียว แต่การมองนั้นมันก็ยาก, ไม่รู้ว่าจะไปยืนมองที่ตรงไหน เราต้องเลือกหาที่ที่มันจะเห็นได้มากที่สุด อย่างว่าเราจะดูวิวให้ได้มากที่สุด เราก็ขึ้นไปมองดูบนยอดภูเขา เราก็เห็นวิวนั้นได้มากกว่าที่จะมองดูที่ตีนเขา ; ขึ้นไปดูบนยอดเขาสุด มองเห็นไปถึงทะเล, ถ้าน้ำใสดีก็มองเห็นถึงก้นทะเล, หรืออาจจะคํานวณถึงก้นทะเลได้ดีกว่าที่จะยืนมองดูที่ตีนเขา

..ดังนั้น เรามีวิธีที่จะมองดูอะไรให้เห็นโดยรอบด้านอย่างนี้ ก็ควรพยายาม แต่ที่กล่าวนี้ มันเป็นเรื่องธรรมะชนิดที่ไม่มีตัวตน.  ที่จะมองด้วยตาธรรมดาไม่ได้ แต่จะต้องมองด้วยตาแห่งจิตใจ หรือที่เรียกว่า “ตาของปัญญา”, ปัญญาจักษุ คือ ตาของปัญญา แล้วมองเห็นธรรม; ดังนั้นจึงเรียกว่า “ธรรมจักษุ” คือตาสําหรับจะมองเห็นธรรม. ชีวิตนี้เป็นสิ่งเดียวกับธรรม เราจึงต้องใช้ตาที่เรียกว่า ปัญญาจักษุ หรือ ธรรมจักษุ มองดูให้รู้ให้เห็นมากเท่าที่จะทําได้, เราก็จะรู้จักสิ่งทั้งปวงดีขึ้น รวมทั้งตัวเองด้วย

..การที่ไม่มองเห็นสิ่งทั้งปวง ก็คือไม่รู้จักสิ่งทั้งปวง, ความไม่รู้จักก็ทําให้เข้าใจผิดต่อสิ่งเหล่านั้น จึงเกิดการแบ่งแยกไปตามความเข้าใจผิด คือไป หลงรัก บางอย่าง หลงเกลียด บางอย่าง หลงชอบใจ บางอย่าง ไม่ชอบใจ บางอย่าง กลัว บางอย่าง กล้าในบางอย่าง, เรียกว่าเป็นความโง่เสมอกัน.   ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา กระทั่งทําลายล้าง เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นความโง่ชนิดหนึ่งๆ มาจากการที่ไม่มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ตามที่เป็นจริง เพราะว่าถ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง มันก็จะมองเห็น “ความเป็นเช่นนั้นเอง” ของสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นมีความเป็นเช่นนั้นเองของมัน แต่ละอย่างๆ ทุกสิ่ง

..การมองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งทุกสิ่งนั่นแหละ คือหัวใจของพระพุทธศาสนา; บางคนไปยึดติดตําราหนังสือหนังหามากเกินไป จนไม่รู้ว่าหัวใจของพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน พูดสําหรับคนทั่วไป ที่ไม่ประสีประสาต่อธรรมะ ก็อยากจะพูดว่า “จงมองให้เห็นสิ่งทั้งปวงตามที่มันเป็ฌนจริง” ก็คือมองเห็น “ความเป็นเช่นนั้นเอง” ของสิ่งทั้งปวง.  อย่างไรเรียกว่ามองเห็น, อย่างไรเรียกว่ามองไม่เห็น? ก็ตอบได้อย่างกําปั้นทุบดิน อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ถ้ายังมองเห็นเป็นของน่ารัก น่าโกรธ น่าเกลียด น่ากลัว เป็นต้น, แยกกันอยู่เป็นอย่างๆแล้ว ก็เรียกว่า “ยังมีความโง่อยู่” ยังมองไม่เห็น. ถ้ามองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของมันตามธรรมชาติ ไม่อาจจะเกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว เป็นต้นแล้ว นั่นแหละเรียกว่ามองเห็น, ไม่ต้องมีใครมาบอกว่าเห็นหรือไม่เห็น เราจะรู้สึก รู้จักได้เองว่า มองเห็นหรือมองไม่เห็น

..ถ้ามองไม่เห็น มันก็กลุ้มอยู่ด้วยความโง่ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงอาการออกมาว่า เป็นเรื่องความยินดียินร้าย จนเกิดกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่ง, อยู่อย่างคนมีกิเลสตลอดเวลา, มีชีวิตชนิดที่ทนทรมาน นับตั้งแต่ทนทรมานด้วยความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ความสงสัย ความมืดมนต่อสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเองอยู่ เป็นอย่างน้อย, จนกระทั่งความรู้สึกเป็นกิเลสชนิดที่รุนแรง เป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือเป็นราคะ โกธะ โทสะ โมหะ แล้วแต่จะเรียก ก็เรียกว่าเป็นกิเลสด้วยกันทั้งนั้น, เกิดมาจากความไม่เห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง. มันโง่ที่จะเอา ก็เรียกว่า โลภะ หรือราคะ, มันโง่ที่จะทําลายเสีย ก็เรียกว่า โทสะ หรือ โกธะ, มัน โง่จนไม่รู้จะทําอย่างไร ได้แต่วนเวียนอยู่รอบๆ ก็เรียกว่ามันมี โมหะ

..เราลําบากอยู่ด้วยเรื่อง โลภะ โทสะ โมหะ กันอย่างนี้ ขอให้ดูให้ดี คําว่าดูให้ดีก็คือดูอย่างมี “ปริทัศน์” คือการเห็นโดยรอบด้าน, โลภะ โทสะ โมหะ เกิดอยู่กับใจก็ไม่มองเห็น มีแต่ความโง่ทําให้เดือดร้อนไปตามแบบของคนมีโลภะ โทสะ โมหะ, งุ่นง่านอยู่เหมือนกับคนบ้า นี่เรียกว่าลําบากอยู่ด้วย โลภะ โทสะ โมหะ เป็นชีวิตชนิดที่ทรมาน, ไม่เป็นชีวิตที่น่าพอใจ น่าชื่นอกชื่นใจ”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคมาฆบูชา ครั้งที่ ๗ หัวข้อเรื่อง “มองดูปริทัศน์แห่งชีวิตในทุกแง่ทุกมุม” เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ธรรมะเล่มน้อย” หน้า ๒๐๐-๒๐๒ , ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: