อยู่นิ่งๆ กันไว้มั่ง จะดีไหม
เมื่อเกิดเหตุ หรือเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาสักอย่างในสังคม หรือแม้แต่ในระหว่างคนสองคนขึ้นไป คนส่วนมากมักจะใช้วิธีตำหนิติเตียนฝ่ายหรือคนที่ตนเข้าใจว่าเป็นผู้สร้างปัญหา
ต่อจากนั้นก็คุ้ยเขี่ยเปิดแผลให้กว้างขึ้น สนุกกับการวิพากษ์วิจารณ์ หรือชำแหละเหมือนกับจะให้ฝ่ายนั้นหรือคนนั้นแหลกลาญกันไปข้างหนึ่ง
แทบไม่มีใครเลยที่จะคิดหาทางแก้ปัญหาก่อน หรือลงมือช่วยกันแก้ปัญหาก่อน
อุปมาเหมือนคนป่วย ที่ต้องทำเร่งด่วนคือช่วยกันหาทางเยียวยารักษาให้ทุเลาหรือให้หายเป็นปกติ ไม่ใช่รุมกระหน่ำทำให้ป่วยหนักขึ้น
การตำหนิหรือบ่นว่าไม่ได้ช่วยอะไร
ไม่ได้สร้างสรรค์อะไร
มีแต่จะซ้ำเติมให้ปัญหานั้นยังคงเป็นปัญหาอยู่ และเป็นปัญหาหนักขึ้นไปอีก
สำหรับสื่อ วิธีที่ควรทำก็คือ ใช้ศักยภาพสืบหาข้อเท็จจริงในเชิงลึกให้ได้มากที่สุด และอะไรก็ตามที่ยังไม่ชัวร์ อย่าเพิ่งแชร์ แม้ชัวร์แล้วก็ควรชั่งดูผลดีผลเสียให้ถี่ถ้วน และเมื่อเสนอข่าว ก็คือเสนอเฉพาะเนื้อข่าวบริสุทธิ์ คือข่าวล้วนๆ อย่าใส่ความเห็นลงไปในเนื้อข่าว
หลักการนี้ เวลานี้สื่อของเราเสื่อมลงไปมาก เนื้อข่าวจริงๆ มีแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๙๐ เป็นความเห็น คนเสพก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังเสพข่าวหรือเสพความเห็นของสื่อกันแน่
ถ้าประสงค์จะแสดงความเห็น แยกออกไปแสดงอีกมุมหนึ่ง อย่าเอามาปนในเนื้อข่าว
สำหรับประชาชน สงบและสะกดรอยอย่างกระชั้นชิด ศึกษา ดูวิธีแก้ปัญหาของผู้รับผิดชอบ ฝึกคิดไปด้วยว่า ถ้าเป็นเรา เราจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร-ที่คิดว่าดีกว่า ได้ผลแน่นอนกว่า เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
เมื่อปัญหาสงบแล้ว หายป่วยแล้ว ตอนนั้นแหละจะชำระสะสางสอบสวนหาสาเหตุ หรือจะรุมกระทืบ เอาผิดเอาโทษใครอย่างไร ก็ว่ากันให้เต็มที่ พร้อมกันนั้นก็ช่วยกันคิดอ่านหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบนั้นหรือแบบอื่นทำนองนั้นขึ้นอีกในอนาคต
เรามาเริ่มฝึกการจัดระเบียบว่าด้วยการแสดงออกของตนๆ ให้เป็นไปตามลำดับที่ควรจะเป็น น่าจะดีกว่านะครับ เมื่อมีเหตุที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เรื่องหนักก็จะเบาลง
วิพากษ์วิจารณ์ให้น้อยลง
ช่วยกันคิดหาหนทางแก้ปัญหาให้มากขึ้น
และถ้ายังไม่คิดจะช่วยอะไร ก็อยู่นิ่งๆ
นิ่งได้มากเท่าใด
สติที่จะใช้ในการช่วยกันแก้ปัญหาก็จะเกิดได้มากเท่านั้น
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๔, ๑๓:๐๗
ภาพ : นักรบตะวันออก
“วัดพรหมรังษี” จังหวัดลพบุรี
เหตุที่วัดนี้มีชื่อว่าวัดพรหมรังษี สืบเนื่องมาจากในอดีตสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้เดินธุดงค์และได้หยุดพักปักกลด ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาผู้ที่มีศรัทธาในพุทธศาสนาจึงได้ร่วมใจกันสร้างวัดและศาสนสถานต่างๆ อย่างมากมายและใหญ่โต นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ปฏิบัติซึ่งเป็นที่นิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติถวายนามนี้เป็นอนุสรณ์ วัดนี้มีพระอุโบสถทรงจตุรมุข พระเจดีย์ทรงระฆังคล้ายพระบรมธาตุที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และสิ่งก่อสร้างอื่นที่มีความสวยงาม รอบๆ บริเวณมีความร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยและสะอาด
0 comments: