วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564

วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน

วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน

"อกิลาสุโน  วณฺณุปเถ [1]  ขณนฺตา,     อุทงฺคเณ  ตตฺถ  ปปํ  อวินฺทุํ;

เอวํ  มุนี  วีริย [2] พลูปปนฺโน,         อกิลาสุ  วินฺเท  หทยสฺส  สนฺตินฺติฯ

ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย ได้พบน้ำในทางนั้น ณ ที่ราบ ฉันใด, มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจ ฉันนั้น."

1) [วณฺณปเถ (ก.)]   2) [มุนิ วิริย (ปี.), มุนิ วีริย (สฺยา. ก.)]

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า  อกิลาสุโน  ดังนี้. ถามว่า ทรงปรารภใคร ? ตอบว่า ทรงปรารภภิกษุผู้สละความเพียรรูปหนึ่ง. 

ดังได้สดับมา เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในนครสาวัตถี มีกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ไปพระเชตวันวิหาร สดับพระธรรมเทศนาในสำนักของพระศาสดามีจิตเลื่อมใส เห็นโทษในกามและอานิสงส์ในการออกจากกามจึงบวช อุปสมบทได้ ๕ พรรษา เรียนได้มาติกา ๒ บท ศึกษาการประพฤติวิปัสสนา รับพระกรรมฐานที่จิตของตนชอบ ในสำนักของพระศาสดาเข้าไปยังป่าแห่งหนึ่ง จำพรรษา พยายามอยู่ตลอดไตรมาสไม่อาจทำสักว่า โอภาสหรือนิมิตให้เกิดขึ้น. 

ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า พระศาสดาตรัสบุคคล๔ จำพวก ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น เราคงจะเป็นปทปรมะ เราเห็นจะไม่มีมรรคหรือผลในอัตภาพนี้ เราจักกระทำอะไรด้วยการอยู่ป่า เราจักไปยังสำนักของพระศาสดาแลดูพระรูปของพระพุทธเจ้าอันถึงความงามแห่งพระรูปอย่างยิ่ง ฟังพระธรรมเทศนาอันไพเราะอยู่ (จะดีกว่า ) ครั้นคิดแล้วก็กลับมายังพระเชตวันวิหารนั่นแลอีก. 

ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนเห็นและคบกัน กล่าวกะภิกษุนั้นว่า „ดูก่อนอาวุโสท่านเรียนกรรมฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปด้วยหวังใจว่า, „จักกระทำสมณธรรม แต่บัดนี้ มาเที่ยวรื่นรมย์ด้วยการคลุกคลีอยู่, กิจแห่งบรรพชิตของท่านถึงที่สุดแล้วหรือหนอ?ท่านจะเป็นผู้ไม่มีปฏิสนธิแลหรือ?“ 

ภิกษุนั้นกล่าวว่า „ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราไม่ได้มรรคหรือผล จึงคิดว่า เราน่าจะเป็นอภัพพบุคคล จึงได้สละความเพียรแล้วมาเสีย“. 

ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า „ดูก่อนอาวุโสท่านบวชในพระศาสนาพองพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรมั่นแล้วละความเพียรเสีย กระทำสิ่งอันมิใช่เหตุแล้ว, มาเถิด ท่านพวกเราจักแสดงท่านแด่พระตถาคต“. ครั้นกล่าวแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงได้พาภิกษุนั้นไปยังสำนักของพระศาสดา.

พระศาสดาพอทรงเห็นภิกษุนั้น จึงตรัสอย่างนี้ว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพวกเธอเป็นผู้พาภิกษุผู้ไม่ปรารถนารูปนี้มาแล้ว ภิกษุนี้ทำอะไร?“. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุนี้บวชในพระศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ไม่อาจกระทำสมณธรรมละความเพียรเสียมาแล้ว“. 

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า „ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอละความเพียรจริงหรือ?“. ภิกษุนั้น กราบทูลว่า „จริงพระเจ้าข้า“.

พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ ทำไม? จึงไม่ให้เขารู้จักตนอย่างนี้ว่า „เป็นผู้มักน้อย หรือว่า เป็นผู้สันโดษ หรือว่า เป็นผู้สงัด หรือว่า เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้อง หรือว่า เป็นผู้ปรารภความเพียร,  ให้เขารู้จักว่า เป็นภิกษุผู้ละความเพียร, 

เมื่อครั้งก่อนเธอได้เป็นผู้มีความเพียรมิใช่หรือ? เมื่อเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปในทางกันดารเพราะทราย พวกมนุษย์และโคทั้งหลายได้น้ำดื่มมีความสุข เพราะอาศัยความเพียรซึ่งเธอผู้เดียวกระทำแล้ว, เพราะเหตุไร? บัดนี้ เธอจึงละความเพียรเสีย“. 

ภิกษุนั้น ได้กำลังใจด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้. ฝ่ายภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ความที่ความเพียรอันภิกษุนี้สละแล้ว ปรากฏแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในบัดนี้แล้ว, ก็ในกาลก่อน ความที่โคและมนุษย์ทั้งหลายได้น้ำดื่มมีความสุขในทางกันดารเพราะทราย เหตุอาศัยความเพียรที่ภิกษุนี้กระทำ มีภพอันปกปิดไว้สำหรับข้าพระองค์ทั้งหลาย, แต่ปรากฏแก่พระองค์ผู้ทรงบรรลุพระสัพพัญญตญาณเท่านั้น, ขอพระองค์จงตรัสเหตุนี้แม้แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด“. 

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังการเกิดสติให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นด้วยพระดำรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง“ แล้วได้ทรงกระทำเหตุการณ์อันระหว่างแห่งภพปกปิดไว้ให้ปรากฏ. 

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี  พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในตระกูลพ่อค้าเกวียน.  พระโพธิสัตว์นั้นเจริญวัยแล้ว เที่ยวกระทำการค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม.

พระโพธิสัตว์นั้นเดินทางกันดารเพราะทรายแห่งหนึ่งมีระยะประมาณ ๖๐ โยชน์. ก็ในทางกันดารนั้นทรายละเอียดกำมือไว้ยังติดอยู่ในมือ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นมีความร้อน เหมือนกองถ่านเพลิง ไม่อาจข้ามไปได้ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์นั้นเมื่อดำเนินทางกันดารนั้นจึงเอาเกวียนบรรทุกฟืน น้ำ น้ำมันและข้าวสารเป็นต้น ไปเฉพาะกลางคืน 

ในเวลาอรุณขึ้นกระทำเกวียนให้เป็นวงแล้ว ให้ทำปะรำไว้เบื้องบนทำกิจในเรื่องอาหารให้เสร็จแต่เช้าตรู่แล้วนั่งในร่มเงาจนหมดวัน 

เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้ว บริโภคอาหารเย็น เมื่อพื้นดินเกิดความเย็น จึงเทียมเกวียนเดินทางไป การไปเหมือนกับการไปในทะเลนั่นแหละ ยอมจะมีในทางกันดารนั้น. 

ธรรมดาผู้กำหนดทางบก ควรจะมี, เพราะเหตุนั้น พระโพธิสัตว์นั้นจึงให้กระทำการประกอบการไปของหมู่เกวียนตามสัญญาของดวงดาว. 

ในกาลนั้นพ่อค้าเกวียนแม้นั้น เมื่อจะไปยังทางกันดารนั้น ตามทำนองนี้นั้นแล จึงไปได้ ๕๙ โยชน์ คิดว่า บัดนี้ โดยราตรีเดียวเท่านั้น จักออกจากทางกันดารเพราะทรายจึงบริโภคอาหารเย็น ใช้ฟืนและน้ำทั้งปวงให้หมดสิ้นแล้วจึงเทียมเกวียน. 

คนนำทาง เช่นเดียวกับคนนำร่องในทางน้ำ ไป คนนำทางให้ลาดอาสนะในเกวียนเล่มแรกนอนดูดาวในท้องฟ้าบอกว่า „จงขับไปข้างนี้ จงขับไปข้างโน้น“, คนนำทางนั้นเหน็ดเหนื่อยเพราะไม่ได้หลับเป็นระยะกาลนาน จึงหลับไป เมื่อโคหวนกลับเข้าเส้นทางที่มาเดิม ก็ไม่รู้สึกโคทั้งหลายได้เดินทางไปตลอดคืนยังรุ่ง. 

คนนำทางตื่นขึ้นในเวลาอรุณขึ้นมองดูดาวนักษัตรแล้วกล่าวว่า „จงกลับเกวียน จงกลับเกวียน“, และเมื่อคนทั้งหลายพากันกลับเกวียนทำไว้ตามลำดับ ๆนั่นแล อรุณในรูปแล้ว มนุษย์ทั้งหลายพากันกล่าวว่า „นี่เป็นที่ตั้งค่ายที่พวกเราอยู่เมื่อวานนี้ แม้ฟืนและน้ำของพวกเราก็หมดแล้ว บัดนี้พวกเราฉิบหายแล้ว“ จึงปลดเกวียนพักไว้โดยเป็นวงกลมแล้วทำปะรำไว้เบื้องบนนอนเศร้าโศกอยู่ภายใต้เกวียนของตน ๆ, 

พระโพธิสัตว์คิดว่า เมื่อเราละความเพียรเสีย คนทั้งหมดนั้น จักพากันฉิบหาย พอเวลาเช้า จึงเที่ยวไปในเวลาที่ยังมีความเย็น เห็นกอหญ้าแทรกกอหนึ่งจึงคิดว่า หญ้าเหล่านั้นจักเกิดขึ้น เพราะความเย็นของน้ำข้างล่าง จึงให้คนถือจอบมา ให้ขุดลงยังที่นั้น คนเหล่านั้นขุดที่ (ลึกลงไป)ได้ ๖๐ ศอก. 

เมื่อคนทั้งหลายขุดไปถึงที่มีประมาณเท่านี้ จอบได้กระทบหินข้างล่าง. พอจอบกระทบหินคนทั้งปวงก็พากันละความเพียรเสีย 

ฝ่ายพระโพธิสัตว์คิดว่า ภายใต้หินนี้จะพึงมีน้ำ จึงลงไปยืนที่พื้นหิน ก้มลงเงี่ยหูฟังเสียงได้ยินเสียงน้ำเบื้องล่าง จึงขึ้นมาบอกกะคนรับใช้ว่า „ดูก่อนพ่อ เมื่อเธอละความเพียรเสีย พวกเราจักฉิบหาย เธออย่าละความเพียร จงถือเอาค้อนเหล็กนี้ลงไปยังหลุมทุบที่หินนี้“, คนรับใช้นั้นรับคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว ไม่ละความเพียรในเมื่อคนทั้งปวงละความเพียรยืนอยู่จึงลงไปทุบหิน. หินแตก ๒ ซีกลงไปข้างล่างได้ตั้งขวางกระแสน้ำอยู่. เกลียวน้ำประมาณเท่าลำตาลพุ่งขึ้น. 

คนทั้งปวงพากันดื่มกินแล้วอาบ ผ่าเพลาและแอกเป็นต้นที่เหลือเพื่อหุงข้าวยาคูและภัตบริโภคและให้ โคกินและเมื่อพระอาทิตย์อัสดง จึงผูกธงใกล้บ่อน้ำแล้วได้พากันไปยัง ที่ที่ปรารถนาแล้ว ๆ. คนเหล่านั้นขายสินค้าในที่นั้นแล้วได้ลาภ ๒ เท่า ๓ เท่าจึงได้พากันไปเฉพาะที่อยู่ของตน ๆ. คนเหล่านั้นดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นจนชั่วอายุแล้วไปตามยถากรรม.   ฝ่ายพระโพธิสัตว์กระทำบุญมีทานเป็นต้นได้ไปตามยถากรรมเหมือนกัน. 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นตรัสพระธรรมเทศนานี้แล้วทรงเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งเองเทียว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

„ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย  ได้พบน้ำในทางทรายนั้น ณ ที่ลานกลางแจ้ง ฉันใด, 

มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน   พึงได้ความสงบใจ ฉันนั้น". 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  อกิลาสุโน  ได้แก่ ไม่เกียจคร้าน คือปรารถนาความเพียร.   บทว่า  วณฺณุปเถ  ความว่า ทรายท่านเรียกว่า วัณณะ ในทางทราย.    บทว่า  ขณนฺตา  แปลว่า ขุดภาคพื้น. ศัพท์ว่า  อุท  ในบทว่า อุทงฺคเณนี้ เป็นนิบาต อธิบายว่า ในที่ลานกลางแจ้ง. อธิบายว่า ในที่เป็นที่สัญจรไปของพวกมนุษย์ คือ ในภูมิภาคอันไม่ปิดกั้น.   บทว่า ตตฺล ความว่า ในทางทรายนั้น.   บทว่า  ปปํ  อวินฺทุํ  แปลว่าได้น้ำ. จริงอยู่ น้ำท่านเรียกว่า ปปา เพราะเป็นเครื่องดื่มอีกอย่างหนึ่งน้ำที่ไหลเข้าไปชื่อว่าปปา อธิบายว่า น้ำมาก.   บทว่า  เอวํ  เป็นบททำความอุปมาให้สำเร็จ.   บทว่า  มุนี  ความว่า ญาณท่านเรียกว่า  โมนะ  อีกอย่างหนึ่ง  โมเนยยะอย่างใดอย่างหนึ่งในกายโมเนยยะเป็นต้นท่านเรียกว่า  โมนะบุคคลที่เรียกว่า  มุนี  เพราะประกอบด้วยโมนะนั้น.   ก็มุนีนี้นั้นมีหลายอย่างคือ   อาคาริยมุนี  อนาคาริยมุนี  เสขมุนี  อเสขมุนี ปัจเจกมุนีและมุนิมุนี

บรรดามุนีเหล่านั้นคฤหัสถ์ผู้บรรลุผลรู้แจ้งศาสนาชื่อว่าอาคาริยมุนี. บรรพชิตเห็นปานนั้นแลชื่อว่าอนาคาริยมุนี. พระเสขะ ๗ จำพวกชื่อว่าเสขมุนี. พระขีณาสพชื่อว่าอเสขมุนี. พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าปัจเจกมุนี. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่ามุนิมุนี. ก็ในอรรถนี้ เมื่อว่า โดยรวมยอด บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญา กล่าวคือพึงทราบว่า มุนี.    บทว่า  วิริยพลูปปนฺโน  ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลังกายกับ กำลังญาณ. 

บทว่า  อกิลาสุ  ความว่า ผู้ไม่เกียจคร้าน คือชื่อว่าผู้ไม่เกียจไม่คร้าน เพราะประกอบด้วยความเพียรอันประกอบด้วยองค์ ๔ ซึ่งท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า    „เนื้อและเลือดในร่างกายของเรานี้ทั้งหมด จงเหือดแห้งไป จะเหลือแต่หนังเอ็นและกระดูก ก็ตามที“.   บทว่า  วินฺเท  หทยสฺส  สนฺตึ  ความว่า ย่อมประสพ คือได้เฉพาะอริยธรรม กล่าวคือฌาน วิปัสสนา อภิญญาและอรหัตมรรคญา อันถึงการนับว่า สันติ เพราะกระทำความเย็นทั้งจิตและหทัยรูป. 

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าสังวรรณนาการอยู่เป็นทุกข์ของคนผู้เกียจคร้านและการอยู่เป็นสุขของคนผู้ปรารภความเพียร ด้วยพระสูตรทั้งหลายมิใช่น้อยอย่างนี้ว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้เกียจคร้านเกลือกกลั้วด้วยอกุศลธรรมอันลามกย่อมอยู่เป็นทุกข์และทำประโยชน์คนอันยิ่งใหญ่ให้เสื่อมไป, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนบุคคลผู้ปรารภความเพียรสงัดจากกุศลธรรมอันลามก ย่อมอยู่เป็นสุขและทำประโยชน์ตนอันยิ่งใหญ่ให้บริบูรณ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายการบรรลุประโยชน์ย่อมไม่มีด้วยความเพียรอันเลว“. (สํ. นิ. ๒.๒๒)

บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดง การอยู่เป็นสุขนั้นนั่นแหละที่บุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้ไม่ทำความยึดมั่น ผู้เห็นแจ้ง จะพึงบรรลุได้ด้วยกำลังและความเพียร จึงตรัสว่า มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจ ฉันนั้น. 

ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า พ่อค้าเหล่านั้นไม่เกียจคร้าน ขุดอยู่ในทางทรายย่อมได้น้ำ ฉันใด ภิกษุในศาสนานี้ก็ฉันนั้น เป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้านพากเพียรอยู่ ย่อมได้ความสงบใจอันต่างด้วยปฐมฌานเป็นต้น. ดูก่อนภิกษุในกาลก่อน เธอนั้นกระทำความเพียรเพื่อต้องการทางน้ำ บัดนี้ เพราะเหตุไรเธอจึงละความเพียรในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เพื่อประโยชน์แก่มรรคผลเห็นปานนี้. 

พระคาสดา ครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้อย่างนี้แล้วจึงทรงประกาศสัจจะ๔. ในเวลาจบสัจจะภิกษุผู้ละความเพียรดำรงอยู่ในพระอรหัตอันเป็นผลอันเลิศ. แม้พระศาสดาก็ตรัสเรื่อง ๒ เรื่องสืบต่อกันทรงประชุมชาดกแสดงว่า คนรับใช้ผู้ไม่ละความเพียร ค่อยหินให้น้ำแก่มหาชน ในสมัยนั้นได้เป็นภิกษุผู้ละความเพียรรูปนี้ ในบัดนี้ บริษัทที่เหลือในสมัยนั้น เป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนหัวหน้าพ่อค้าเกวียนได้เป็นเรา ดังนี้ได้ให้พระธรรมเทศนานี้จบลงแล้ว.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: