สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ - สังขารที่ยั่งยืนไม่มี (พุทธศาสนสุภาษิต ขุ. ธ. ๒๕/๔๙)
สังขารทั้งปวง เป็นธรรมชาติไม่ยั่งยืน สังขารทั้งปวง เป็นธรรมชาติบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลง ธรรมทั้งปวง เป็นธรรมชาติไม่ใช่ตัวตน. (องฺ. ตก. ๒๐/๕๗๖/๓๖๘)
หมายเหตุ (ท.ส.ปัญญาวุฑโฒ ): คำว่า “ธรรมทั้งปวง” หมายถึง สังขตธรรม และ อสังขตธรรม หรือ สังขาร และ วิสังขาร หรือ บางท่านก็ใช้คำว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง” ก็มี คำแปลตามข้อความในภาพที่โพสต์นี้ เป็นสำนวนแปลแนว“อภิธรรม”
“ไตรลักษณ์” หรือ “สามัญลักษณะ”
ลักษณะโดยธรรมชาติ ๓ อย่างของสิ่งทั้งปวง มีพุทธพจน์แสดงหลักไว้ในรูปของกฎธรรมชาติ ว่าดังนี้
“ตถาคต(พระพุทธเจ้า)ทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ(หลัก)นั้น ก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม ว่า
(๑) สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง
(๒) สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์
(๓) ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา
ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า “สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา”
ที่มา : องฺ. ติก. ๒๐/๕๗๖/๓๖๘
หมายเหตุ : คำว่า “สังขาร” ใน ไตรลักษณ์ นี้ ต้องเข้าใจว่าต่างกับ “สังขาร” ใน ขันธ์ ๕ ( ขันธ์ ๕ มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ) คือ
- ในขันธ์ ๕ “สังขาร” = ความดีความชั่วที่ปรุงแต่งจิตใจ เป็นนามธรรมอย่างเดียว
- ในไตรลักษณ์ “สังขาร” = สิ่งทั้งปวงที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง หรือที่เกิดจากส่วนประกอบต่างๆ ประชุมกันเข้า จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม คือเท่ากับขันธ์ ๕ ทั้งหมด
คำว่า “ธรรมทั้งปวง” แยกได้เป็น ๒ อย่าง คือ
๑. สังขตธรรม
ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่มีปัจจัยหรือสภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น สิ่งที่ปัจจัยประกอบเข้า หรือสิ่งที่ปรากฎและเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สังขาร” ซึ่งมีรากศัพท์และคำแปลเหมือนกัน หมายถึงสภาวะทุกอย่าง ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ ทั้งที่ดีที่ชั่วและที่เป็นกลางๆทั้งหมด เว้นแต่ นิพพาน
๒. อสังขตธรรม
ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัยหรือสภาวะไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิสังขาร” ซึ่งแปลว่า สภาวะปลอดสังขาร หรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง “นิพพาน” นั่นเอง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากหนังสือ “ไตรลักษณ์” หรือในหนังสือ “พุทธธรรม” ก็มี
0 comments: