วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“จงตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้”

“จงตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้”

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย  จงตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้  เพราะภัยย่อมเกิดจากป่า  เธอทั้งหลายครั้นตัดป่า และหมู่ไม้ในป่าแล้ว  จงเป็นผู้ไม่มีป่าอยู่เถิด”

ที่มา :  ธรรมบท สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ เรื่อง ภิกษุแก่หลายรูป พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย,  พระไตรปิฎกภาษาไทย ( มจร.ปกฟ้า )  เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๘๓ หน้า ๑๒๐

อธิบาย/เชิงอรรถ :  “ป่า” ในที่นี้หมายถึง กิเลส มี ราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๘)   “ภัย” ในที่นี้หมายถึงภัย คือ ชาติ(การเกิด) เป็นต้น ที่เกิดจากป่า คือ กิเลส (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๘)   “หมู่ไม้ในป่า” หมายถึง กิเลสอื่นๆ ที่ให้วิบาก หรือที่ให้เกิดในภพต่อๆไป (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๙)

อธิบายโดย  พระไพศาล วิสาโล

“ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า   ให้ตัดแต่ป่า อย่าตัดต้นไม้  เป็นความหมายที่ลึกซึ้งมาก ให้ทำลายความเป็นตัวเรา คงเหลือแต่กายกับใจ คงเหลือแต่ขันธ์ห้า อันนี้แหละ! มันเป็นความหมายที่ลึกที่สุดของพุทธพจน์นี้ ถ้ายังเข้าใจยาก ก็เป็นอันว่าให้กำจัดกิเลส แต่ว่าไม่กำจัดชีวิต ให้กำจัดทุกข์ แต่ยังมีกายกับใจอยู่”

อธิบายโดย  พุทธทาสภิกขุ

"ข้อนี้จะเข้าใจได้ง่ายโดยการเปรียบเทียบด้วยอุปมา คนเขลาเข้าไปในป่า ก็เห็นแต่ป่า ไม่เห็นต้นไม้ พอได้ฟังพระพุทธภาษิตที่ว่า “วนํ  ฉินฺทถ มา รุกฺขํ ” ( ตัดป่าซิ อย่าตัดต้นไม้ ) เขาก็ฟังไม่ถูก และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะไม่รู้จักแยกต้นไม้ออกจากป่า ที่ถูกนั้นเขาควรชำระป่าที่รกและเป็นอันตรายให้หมดไป ให้เหลือแต่ต้นไม้สวยงาม ร่มรื่น สะดวกสบายในการอยู่อาศัย เช่นเดียวกับที่เรา ไม่ต้องทำลายเบญจขันธ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส_เพียงแต่ทำลายกิเลสอันเกิดที่เบญจขันธ์ เขาก็โง่ไปทำลายเบญจขันธ์เข้าเท่านั้นเอง พระไตรปิฎกทั้งหมด ทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ล้วนแต่สอนให้ทำจิตให้ว่างจากอุปาทานที่มีอยู่ในเบญจขันธ์ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เป็นอย่างน้อย สำหรับส่วนใหญ่หรือหัวใจของพระไตรปิฎกนั้น คือ การสอนทำให้จิตว่างจากอุปาทาน ภายหลังจากที่ได้ละบาปและบำเพ็ญบุญมาเต็มที่แล้ว เรียกว่าการชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความยึดมั่นถือมั่น ในบุญและบาปนั่นเอง รวมทั้งกุศลและมหากุศลด้วย 

บุญ บาป กุศล อกุศลที่ยึดไว้ด้วย อุปาทาน นั่นแหละ คือ “ ป่า ” จะต้องตัดเสียให้หมด ให้เหลือแต่ต้นไม้ที่สวยๆงาม คือ “ จิตว่าง ” นี่คือ การที่พระไตรปิฎกทั้งหมดมุ่งหมายจะพูดแต่เรื่องการทำจิตให้ว่าง แม้จะพูดเรื่องนรกสวรรค์อะไร ก็มิได้พูดเพื่อให้ยึดถือ จนรัก อยากจะได้เหมือนในจะขาด หรือกลัวและเป็นห่วงรำคาญจนหมดสุข แต่พูดเพื่อให้ละความยึดถือทั้งหมดทั้งสิ้นเสีย เพื่อความมีจิตว่าง ไม่มีการเสพติด แม้ในสิ่งที่กระลิ้มกระเหลี่ยกันว่า“มหากุศล”

คำว่า “สุญญตา” (ความว่าง)  ก็มีทั่วไปในพระไตรปิฎก และยังตรัสกำชับไว้ว่า  ข้อความเรื่องใดไม่เกี่ยวกับเรื่องสุญญตา ข้อความเรื่องนั้นไม่ใช่ตถาคตภาษิต เป็นเพียงเรื่องคนชั้นหลังๆกล่าว และเรื่องสุญญตานี้มิใช่เล็งถึงแต่ความว่างเฉยๆ แต่เล็งถึงการทำให้จิตว่างจากสิ่งที่มา กลุ้มรุม หุ้มห่อ จิตให้เศร้าหมอง ให้มีจิตว่างจากกิเลสโดยเฉพาะ คืออุปาทานอันเป็นตัวการแห่งทุกข์โดยตรง ดังพระพุทธภาษิตว่า “จงเห็นโลกโดยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด” ดังนี้เป็นต้น 

จิตที่เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่างอยู่นั้น คือจิตที่ว่างจากอุปาทาน ซึ่งย่อมจะว่างจากทุกข์ด้วยโดยอัตโนมัติ ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่า “จิตว่าง” เฉยๆ เพราะไม่มีคำไหนที่ดีกว่านี้ กระทัดรัดกว่านี้ หรืออมความได้ทั้งหมดทั้งสิ้นเหมือนคำๆนี้ การปฏิบัติเพื่อทำจิตให้ว่างจากอุปาทาน ประเด็นเดี่ยวนี้เท่านั้น ที่เป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา การปฏิบัตินอกนั้นมีทั่วไปแม้ในศาสนาอื่น 

ดังนั้น พระไตรปิฏกที่แท้ จะมุ่งสอนแต่เรื่องทำจิตให้มีสุญญตาแต่อย่างเดียว และ สุญญตาถึงที่สุดนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “นิพพาน”

ถ้ามีใครพูดว่าเรื่อง “จิตว่าง” ไม่มีในพระไตรปิฏกแล้ว เราอยากจะพูดบ้างว่าเรื่อง "มหากุศล" นั่นแหละไม่มีในพระไตรปิฏก และเต็มไปด้วยกลิ่นไอของอุปาทาน จงรู้จักป่า รู้จักต้นไม้ และรู้จักแยกป่าออกจากต้นไม้ กันเสียบ้างเถิด มัวแต่ปนเปกันอยู่อย่างนี้แล้ว ไม่มีวันพบพระพุทธศาสนาเลย

เรื่องการทำจิตใจให้ว่าง คือเนื้อแท้ของพระไตรปิฏกแล้ว คำว่า “จิตว่าง” ก็ซ่อนอยู่ในพระไตรปิฏกทั้งหมดทุกบรรทัดหรือตัวอักษร แต่คนที่เห็นแต่ป่าไม่เห็นต้นไม้นั้น ก็ย่อมมองไม่เห็นอยู่นั่นเอง ย่อมจะไปเลือกเอามหากุศล ซึ่งเปรียบเสมือนป่าทึบอย่างช่วยไม่ได้ เมื่อเสพติดในมหากุศลหนักเข้า ก็เห็นเรื่องจิตว่างเป็นเรื่องมิจฉาทิฏฐิไปอีกเป็นธรรมดา เพราะเขากลัวว่าเมื่อจิตว่างแล้ว จะเป็นการขาดทุนยุบยับไม่ได้อะไรเลย โดยที่ไม่รู้ว่า “ว่าง” นั่นแหละ คือการใด้ทั้งหมด และได้สิ่งสูงสุดในระดับที่เรียกว่า “นิพพาน” มหากุศลของความยึดมั่นนั้น รังแต่จะเวียนอยู่ในวัฏฏสงสารเท่านั้นเอง”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : จากธรรมบรรยาย เรื่อง “จิตว่าง”





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: