วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ถามจริง…ทำไมต้องกลัวตาย?

ถามจริง…ทำไมต้องกลัวตาย?

ได้ยินพระท่านเทศน์ว่า...ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัว เพราะสุดท้ายทุกคนก็ต้องตาย!  "แล้วหลวงพี่กลัวตายไหม?"  มีโยมคนหนึ่งถาม "ไม่กลัว....แต่ยังไม่พร้อมตายตอนนี้ ยังมีธุระต้องทำอีกหลายอย่าง..”  แต่ชื่อว่าความตายแล้ว เขาคงไม่รอให้เราพร้อมหรอก ว่าไหม?

เรื่องความกลัวไม่กลัวนี้ มันพูดง่าย แต่เอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องยาก จนกว่าจะเห็นความตายปรากฏต่อหน้า โห…แค่คิดก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่ากลัวหรือไม่กลัว 

ความตาย...เป็นเรื่องที่คนเราไม่ค่อยจะพูดถึงกันบ่อยนัก เพราะเป็นเรื่องน่าหดหู่ใจ และเป็นที่โศกเศร้าเสียใจสำหรับคนในครอบครัวญาติมิตร และเพื่อนฝูงที่รู้จัก รักมากผูกพันมาก ความเสียใจก็ทบเท่าทวีคูณ รักน้อยผูกพันน้อยก็เสียใจลดหลั่นกันลงมา 

ส่วนคนที่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวทั้งกับผู้ตายเอง หรือครอบครัวของผู้ตาย ก็จะมีความรู้สึกเฉยๆ อันนี้เป็นธรรมดาของโลก

หรือบางที การรับรู้เรื่องราวต่างๆ มากเกินไปก็ทำให้เรารู้สึกอิน รู้สึกทุกข์ไปตามเขาด้วย อย่างเช่นข่าวคนเสียชีวิตเพราะโควิดที่ถึงแม้ว่าเขาไม่ใช่ญาติของเรา แต่ข่าวออกมาตามหน้าสื่อทีวีหรือตามอินเตอร์เน็ตก็เป็นเหตุให้จิตตกได้เหมือนกัน

ช่วงนี้ที่หมู่บ้านของผู้เขียน ได้มีคนในหมู่บ้านเสียชีวิตติดๆ กัน 7-8 คน จะด้วยความชราภาพ ด้วยอุบัติเหตุ หรือด้วยโรคภัยไข้เจ็บก็ถือเป็นความสูญเสียเช่นเดียวกัน

คนในหมู่บ้านเริ่มพูดคุยถึงความไม่ปกติว่าทำไมเวลามีคนตายคนหนึ่ง จะต้องมีคนที่สอง คนที่สามตามมา  และตลอดระยะเวลาผ่านมามันเป็นอย่างนี้ อย่างเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต 5 คนในรอบหนึ่งเดือน

แต่หากจะให้ความเป็นธรรมกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ต้องบอกว่า หมู่บ้านของเราเป็นหมู่บ้านใหญ่ มี 700 กว่าหลังคาเรือน คนอยู่มากก็ย่อมมีคนตายมาก และคนตายแบบเดี่ยวๆ ก็มี แต่มักไม่ค่อยพูดถึงเพราะมันเป็นเรื่องปกติ

ถามว่า...พอมีคนตายหนึ่งคน ก็มีคนที่สองที่สามตามมานั้น มีบ่อยไหม? 

"ก็บ่อยเหมือนกัน"  แต่ความสงสัยในเรื่องแบบนี้ บางทีมันก็ตอบยากเหมือนกัน

ถ้าจะให้พระตอบ...ก็คงตอบตามหลักว่าคนเราเมื่อเกิดก็ต้องตาย เกิดสิบคนก็ตายสิบคน เกิดร้อยคนก็ตายร้อยคน จะตายก่อนวัยหรือตายตามวัยไม่มีใครบอกได้ มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย  แต่หากจะหาเหตุผล มันก็อาจจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจิตอารมณ์การรับรู้

การเป็นพระที่ต้องไปทำพิธีสวดศพ หรือไปให้กำลังใจญาติๆ มีหลายครั้งที่ได้ยินได้ฟังเรื่องคนที่อยู่ในช่วงวาระสุดท้าย จะตายก็ไม่ตาย แต่พอมีลูกหลานมาอยู่ต่อหน้าพร้อมกันแล้วถึงได้ตาย ซึ่งแบบนี้เขาเรียกว่า "ตายตาหลับ ตายแบบหมดห่วง"

คนแก่ในหมู่บ้านเราหลายคนที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และมีบางคนที่ต้องเผชิญกับทุกขเวทนาด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ญาติ ๆ ได้แต่ทำใจว่าไม่ช้าก็เร็วก็คงถึงวันที่ต้องไป 

และเมื่อถึงเวลาที่คนหนึ่งตายไป คนที่เหลือที่สังขารร่วงโรยเต็มทีอาจได้ยินเสียงฆ้อง เสียงปะทัดที่บ่งบอกว่าบ้านเรามีคนตายแล้วนะ หรืออาจได้ยินลูกหลานพูดคุยกันว่าคนนั้นคนนี้ตายแล้ว 

แม้กระทั่งยามค่ำคืนอาจได้ยินเสียงพระสวดกุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา ผ่านลำโพงเครื่องเสียงที่ดังทั่วหมู่บ้าน ก็อาจเบาใจหมดห่วงว่า 

"เราเจ็บป่วยมานาน เป็นภาระลูกหลานที่ต้องเฝ้าดูแล ถึงเวลาที่เราต้องออกเดินทางไกลกลับคืนสู่ธรรมชาติ เหมือนดั่งคนที่เพิ่งออกเดินทางไปก่อนหน้านี้"

จึงอาจเป็นเหตุผลที่เมื่อมีคนๆ หนึ่งตายลง ก็จะมีคนที่สองคนที่สามตายตามกันไป?

ส่วนคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้นคงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และเป็นเรื่องเศร้าและน่าเห็นใจกับคนในครอบครัวมากที่สุด เพราะเป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิด ไม่ได้ทำใจล่วงหน้าไว้ 

ที่ผ่านมาคนหมู่บ้านเราก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบ่อยมาก ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเกิด ก็คงต้องหาทางแก้ไขกันไป แต่นี่แหละ... คือกฏอนิจจังของชีวิต ที่เมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีแก่เจ็บตายไปในท้ายที่สุด

ในเรื่องนี้ พระพุทธองค์จึงสอนให้เจริญมรณานุสติ "คือการนึกถึงความตายทุกขณะจิต ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืน ความตายเป็นของยั่งยืน เราจะพึงตายแน่แท้ เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุดรอบ"

การนึกถึงความตายนั้น ไม่ได้ทำให้เราเศร้าโศกหรือเป็นอัปมงคลแต่ประการใด หากแต่มันทำให้จิตเกิดปัญญาคลายความกำหนัด ความหลง ลดความยึดมั่นถือมั่น

คนโบราณเขาจึงมีวิธีการที่จะให้คนเจริญมรณานุสติด้วยการไปดูหน้าคนตายก่อนเผาเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้ระลึกถึงว่าไม่วันนี้ ก็อาจเป็นวันวันพรุ่งนี้ และวันต่อๆ ไป ที่เราอาจเป็นเหมือนเช่นเขาที่นอนอยู่ในโลงนี้

คนที่นอนอยู่ในโลง เมื่อก่อนเขาก็เป็นเช่นเดียวกันกับเรา มีโลภ มีโกรธ มีหลง และท่องเที่ยวโลดแล่นไปตามจังหวะของชีวิต จนสุดท้ายต้องมานอนลงเหมือนดั่งท่อนไม้ท่อนหนึ่ง

เช่นเดียวกับความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มีอยู่ในตัวเรา ผลสุดท้ายมันก็เป็นสิ่งสมมติ สิ่งที่เรายึดถือ ของเราแบกเราหามมาตลอดนั้น เมื่อถึงเวลาก็ต้องวางสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด 

ทรัพย์สินบ้านเรือน รถยนต์ เงินทองข้าวของที่มี ยศตำแหน่งที่เขามอบให้ เสียงชื่นชมหรือเสียงด่าที่เคยได้รับ คนรักคนชัง สิ่งเหล่านี้มิอาจติดตามเราไปได้ คงไปได้แต่ตัวเปล่าๆ เท่านั้น

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ใยต้องมาเกลียดมาชัง มาเอารัดเอาเปรียบกัน คนเราอยู่ด้วยกันไม่ถึงร้อยปีก็ตายจากกันแล้ว การมองเห็นส่วนดีของคนอื่นย่อมดีกว่าการมองเห็นส่วนที่ไม่ดีของเขา

ดังนั้น ความตายจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว...เพราะถึงยังไงก็ยังเป็นสถานีสุดท้ายของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอ แต่จะทำใจยังไงถ้าวันนั้นมาถึงจริง ๆ นี่แหละเป็นเรื่องยาก เว้นไว้แต่จะเริ่มฝึกตนให้พร้อมตั้งแต่ตอนนี้ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านบอกทางไว้นั่นคือ

"การเจริญมรณานุสติ"

17 กันยายน 2564

Credit:  พระมหาวัลลภ วลฺลภปญฺโญ




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: