วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ภาพวาดพุทธประวัติ โดย อ.คำนวน ชานันโท สุดยอด พุทธจิตรกร (ตอนที่ 1)

ภาพวาดพุทธประวัติ 00  พระกุมารโพธิสัตว์ประสูติแล้วเสด็จพระราชดำเนิน ๗ ก้าว มีดอกบัวทิพย์รองรับพระบาท

พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า "สิทธัตถะ" เป็พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศเนปาล พระราชมารดาทรงพระนามว่า "พระนางสิริมหามายา"  ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ. เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเมื่อ 80 ปีก่อนพุทธศักราช ที่สวนลุมพินีวัน ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งอยู่ระหว่างพรมแดน กรุงกบิลพัสดุ์ และ กรุงเทวทหะ (ปัจจุบันคือ ต.รุมมินเด ประเทศเนปาล) ทรงเปล่งพระวาจา อันอาจหารเป็นเบื้องต้นว่า ในโลกนี้เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุดการเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้ายภพใหม่ต่อไปไม่มี

ภาพวาดพุทธประวัติ 01  อสิตะดาบสเข้าเฝ้าเยี่ยมและถวายพยากรณ์

ครั้งนั้นมีดาบสองค์หนึ่งมีนามว่า  กาฬเทวิล แต่มหาชนเรียกว่า  อสิตะ ได้สมาบัติ ๘ มีฤทธิ์มาก เป็นกุลุปกาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ ได้ทราบข่าวจากเทพยดาว่า พระเจ้าสุทโธทนะได้พระราชโอรส จึงได้เดินทางเข้าไปยังกบิลพัสดุ์นคร เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะในพระราชนิเวศน์ ถวายพระพรถามข่าวถึงการประสูติของพระราชโอรส พระเจ้าสุทโธทนะทรงปีติปราโมทย์ รับสั่งให้เชิญพระโอรสมาถวายเพื่อนมัสการท่านอสิตะดาบส แต่พระบาททั้งสองของพระโอรส กลับขึ้นไปปรากฏบนเศียรเกล้าของอสิตะดาบสเป็นอัศจรรย์ พระดาบสเห็นดังนั้น ก็สดุ้งตกใจ ครั้นพิจารณาดูลักษณะของพระกุมาร ก็ทราบชัดด้วยปัญญาญาณ มีน้ำใจเบิกบาน หัวเราะออกมาได้ด้วยความปีติโสมนัส ประนมหัตถ์ถวายอภิวาทแทบพระยุคคลบาทของพระกุมาร และแล้วอสิตะดาบสกลับได้คิด เกิดโทมนัสจิตร้องไห้เสียใจในวาสนาอาภัพของตน.   พระเจ้าสุทโธทนะได้ทอดพระเนตรเห็นอาการของท่านอาจารย์พิกล ก็แปลกพระทัย เดิมก็ทรงปีติเลื่อมใสในการอภิวาทของท่านอสิตะดาบสว่า อภินิหารของพระปิโยรสนั้นยิ่งใหญ่ประดุจท้าวมหาพรหม จึงทำให้ท่านอาจารย์มีจิตนิยมชมชื่นอัญชลี ครั้นเห็นท่านอสิตะดาบสคลายความยินดีโศกาอาดูร ก็ประหลาดพระทัยสงสัย รับสั่งถามถึงเหตุแห่งการร้องไห้ และการหัวเราะ เฉพาะหน้า.  

อสิตะดาบสก็ถวายพระพรพรรณนาถึงมูลเหตุ ว่าเพราะอาตมาพิจารณาเห็นเป็นมหัศจรรย์ พระกุมารนี้มีพระลักษณะพระโพธิสัตว์เจ้าบริบรูณ์ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าโดยแท้ และจะเปิดโลกนี้ให้กระจ่างสว่างไสวด้วยพระกระแสแห่งธรรมเทศนา เป็นคุณที่น่าโสมนัสยิ่งนัก แต่เมื่ออาตมานึกถึงอายุสังขารของอาตมาซึ่งชราเช่นนี้แล้ว คงจะอยู่ไปไม่ทันเวลาของพระกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระบรมครูสั่งสอน จึงได้วิปฏิสารโศกเศร้า เสียใจที่มีอายุไม่ทันได้สดับรับพระธรรมเทศนา อาตมาจึงได้ร้องไห้.  ครั้นอสิตะดาบทถวายพระพรแล้ว ก็ทูลลากลับไปบ้านน้องสาว นำข่าวอันนี้ไปบอกนาลกะมานพ ผู้หลานชาย และกำชับให้พยายามออกบวชตามพระกุมารในกาลเมื่อหน้าโน้นเถิด

ภาพวาดพุทธประวัติ 02  โกญฑัญญะพราหมณ์ยกนิ้วมือเดียวพยากรณ์

ครั้นถึงวันเป็นคำรบ ๕ นับแต่พระกุมารประสูติมา พระเจ้าสุทโธทนะราชจึงโปรดให้ทำพระราชพิธีโสรจสรงองค์พระกุมารในสระโบกขรณี เพื่อถวายพระนามตามขัตติยราชประเพณี โปรดให้ตกแต่งพระราชนิเวศน์ ประพรมด้วยจตุรสุคนธชาติ และได้โปรยปรายซึ่งบุบผาชาติ มีข้าวตอกเป็นคำรพ ๕ ปูลาดอาสนะอันขจิตด้วยเงินทองและแก้ว ตกแต่งข้าวปายาสอันประณีต ให้ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และเสนามุขอำมาต์ย ทั้งปวงพร้อมกันในพระราชนิเวศน์ รับสั่งให้เชิญพระราชโอรสอันประดับด้วยราชประสาธนาภรณ์อันวิจิตรมาสู่มหามณฑลสันนิบาต แล้วเชิญพราหมณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพท ๑๐๘ คน ให้เลือกสรรเอาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทรงคุณวิทยาประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ให้นั่งเหนืออาสนะอันสูง แล้วให้เชิญพระราชโอรสไปยังที่ประชุมพราหมณ์ ๘ คนนั้น เพื่อพิจารณาพระลักษณะพยากรณ์

พราหมณ์ ๘ คนนั้น มีนามว่า รามพราหมณ์ ๑ ลักษณะพราหมณ์ ๑ ยัญญพราหมณ์ ๑ ธุชพราหมณ์ ๑ โภชพราหมณ์ ๑ สุทัตตพราหมณ์ ๑ สุยามพราหมณ์ ๑ โกณทัญญพราหมณ์ ๑ ใน ๗ คนข้างต้น เว้นโกณทัญญพราหมณ์เสีย พิจารณาเห็นพระลักษณะพระกุมารบริบูรณ์ จึงยกนิ้วมือขึ้น ๒ นิ้ว ทูลเป็นสัญลักษณ์ทำนายมีคติ ๒ ประการว่า พระราชกุมารนี้ ผิว่าสถิตอยู่ในฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ผิว่าออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.  แต่โกณทัญญพราหมณ์ผู้เดียว ผู้มีอายุน้อย หนุ่มกว่าพราหมณ์ทั้ง ๗ คนนั้นได้พิจารณาเห็นแท้แน่แก่ใจว่า พระราชกุมารจะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม่นมั่น จึงได้ยกนิ้วมือเดียว เป็นสัญลักษณ์พยากรณ์เป็นคติเดียวว่า พระราชกุมารบริบูรณ์ด้วยพระมหาบุรุษพุทธลักษณ์โดยส่วนเดียว จะอยู่ครองฆราวาสวิสัยมิได้ จะเสด็จออกบรรพชา และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้

ภาพวาดพุทธประวัติ 03  ปฐมฌานสมาธิแรกของสิทธัตถะกุมาร

ต่อมาวันหนึ่ง เป็นวันพระราชพิธีวัปปมงคล งานแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปทรงแรกนาขวัญ ในงานพระราชพิธีนั้น ก็โปรดเกล้าให้เชิญพระกุมารไปในงานพระราชพิธีนั้นด้วย ครั้นเสด็จถึงภูมิสถานที่แรกนาขวัญ ก็โปรดให้จัดร่มไม้หว้า ซึ่งหนาแน่นด้วยกิ่งใบ อันอยู่ใกล้สถานที่นั้น เป็นที่ประทับของพระกุมาร โดยแวดวงด้วยม่านอันงามวิจิตร ครั้นถึงเวลาพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงไถแรกนา บรรดาพระพี่เลี้ยงนางนมที่เฝ้าถวายบำรุงรักษาพระกุมาร พากันหลีกออกมาดูพิธีนั้นเสียหมด คงปล่อยให้พระกุมารประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้หว้าพระองค์เดียว.  เมื่อพระกุมารเสด็จอยู่พระองค์เดียว ได้ความสงัดเป็นสุข ก็ทรงนั่งขัดสมาธิเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้บังเกิด

ภาพวาดพุทธประวัติ 04  ทรงแสดงศิลปธนู

เมื่อพระสิทธัตถะกุมารมีพระชนม์เจริญ ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว พระราชบิดาจึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร พระกุมารทรงเรียนได้ว่องไว จนสิ้นความรู้ของอาจารย์สิ้นเชิง ต่อมาได้ทรงแสดงศิลปธนู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญสำหรับกษัตริย์ ในท่ามกลางขัตติยวงศ์ศากยราช

ภาพวาดพุทธประวัติ 05  พระบิดาทรงอภิเษกสมรสพระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา

ดังได้เคยบรรยายไว้ ณ ที่นี้มาแล้วว่า พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้านั้นมีสองฝ่าย คือฝ่าย  พระมารดา และฝ่ายบิดา ทั้งสองฝ่ายอยู่คนละเมือง มีแม่น้ำโรหิณีไหลผ่านเป็นเขตกั้นพรมแดนพระญาติวงศ์ฝ่ายมารดามีชื่อว่า 'โกลิยวงศ์' ครองเมืองเทวทหะ พระญาติวงศ์ฝ่ายพระบิดาชื่อ 'ศากยวงศ์' ครองเมืองกบิลพัสดุ์ ทั้งสองนครนี้เกี่ยวดองเป็นพระญาติกัน มีความรักกันฉันพี่น้องร่วมสายโลหิต ต่างอภิเษก สมรสกันและกันเสมอมา สมัยพระพุทธเจ้า ผู้ทรงอยู่ในฐานะประมุขครองเมืองเทวทหะ คือ พระเจ้าสุปปพุทธะ ส่วนผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ก็เป็นที่ทราบอยู่แล้ว คือ พระเจ้าสุทโธทนะ พระชายาของพระเจ้าสุปปพุทธะ มีพระนามว่าพระนางอมิตา เป็นกนิษฐภคินี คือ น้องสาว คนเล็กของพระเจ้าสุทโธทนะ กลับกันคือ พระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระมารดาของพระพุทธเจ้า มีพระนามว่าพระนางมายา พระนางเป็นน้องสาวของพระเจ้าสุปปพุทธะ ทั้งสองทรงอภิเษกสมรสกับพระภคินีของกันและกัน พระเจ้าสุปปพุทธะมีโอรสและพระธิดาอันเกิดกับพระนางอมิตาสองพระองค์ พระโอรส คือ เทวทัต พระธิดา คือ พระนางพิมพายโสธรา

ปฐมสมโพธิว่าพระนางพิมพายโสธราเป็นผู้หนึ่งในจำนวน ๗ สหชาติของพระพุทธเจ้า สหชาติคือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันกับวันที่พระพุทธเจ้าเกิด ๗ สหชาตินั้น คือ ๑.   พระนางพิมพายโสธรา  ๒.   พระอานนท์  ๓.   กาฬุทายีอำมาตย์  ๔.   นายฉันนะ มหาดเล็ก  ๕.   ม้ากัณฐกะ  ๖.   ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ๗.   ขุมทองทั้ง ๔ (สังขนิธี, เอลนิธี, อุบลนิธี, บุณฑริกนิธี).   พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายทรงเห็นพร้อมกันว่า พระนางพิมพายโสธราทรงพร้อมด้วยคุณสมบัติ ทุกอย่าง สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชพิธีอภิเษกสมรสจึงได้มีขึ้นในสมัยที่ทั้งเจ้าชาย และเจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุได้ 16 ปีพอดี

ภาพวาดพุทธประวัติ 06  ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต

เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสพระนคร ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต (ผู้สื่อข่าวที่ประเสริฐ) ทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ตามลำดับ ทรงเห็นว่าโลกนี้เป็นทุกข์จึงมีพระทัยน้อมไปในทางบรรพชา

ภาพวาดพุทธประวัติ 07  พระสิทธัตถะทรงทอดพระเนตรมองดูนางระบำที่ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ต่อการสร้างความรื่นเริงให้ผู้อื่น.  เมื่อพระสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัดแห่งราตรีนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเหล่านั้น นอนหลับอยู่เกลื่อนภายในปราสาท ซึ่งสร้างด้วยแสงประทีป บางนางอ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางผ้านุ่งหลุด บางนางกอดพิณ บางนางก่ายเปิงมาง บางนางบ่น ละเมอ นอนกลิ้งกลับไป

ภาพวาดพุทธประวัติ 08  เสด็จออกผนวช

เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะ เสด็จออกผนวช ติดตามด้วยนายฉันนะ มหาดเล็กคนสนิท ทรงเอาพระขรรค์ตัดพระเมาลี ถือเพศบรรพชิต ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา

ภาพวาดพุทธประวัติ 09  พระเจ้าพิมพิสารเข้าเฝ้าพระโคตมะ ขอถวายราชสมบัติ

ครั้นพวกราชบุรุษได้เห็นพระมหาบุรุษในขณะเสด็จบิณฑบาต ก็นำความไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร ราชาธิบดีแห่งแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งให้สะกดรอยติดตาม เพื่อทราบความเท็จจริงของบรรพชิตพิเศษรูปนี้ ครั้นพวกราชบุรุษติดตามได้ความจริงแล้ว ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงมคธให้ทรงทราบ

พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงสดับ ก็มีพระทัยโสมทัสในพระคุณสมบัติ ทรงพระประสงค์จะได้พบ จึงเสด็จด้วยพระราชยานออกจากพระนครโดยด่วน ครั้นถึงบัณฑวะบรรพต ก็เสด็จลงจากราชยาน เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเฝ้าพระมหาบุรุษเจ้า เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระอิริยาบถเรียบร้อย อยู่ในสมณสังวร ก็ยิ่งหลากพระทัย ทรงเลื่อมใสในปฏิปทาของพระมหาบุรุษ ครั้นได้ทูลถามถึงตระกูล ประเทศ และพระชาติ เมื่อทรงทราบว่าเป็นขัตติยศากยราชเสด็จออกบรรพชา ก็ทรงดำริว่า ชะรอยพระมหาบุรุษจะทรงพิพาทกับพระประยูรญาติ ด้วยเรื่องพระราชสมบัติเป็นแม่นมั่น จึงได้เสด็จออกบรรพชา ซึ่งเป็นธรรมดาของนักพรต ที่ออกจากราชตระกูลบรรพชาแต่กาลก่อน จึงได้ทรงเชื้อเชิญพระมหาบุรุษด้วยราชสมบัติ ซึ่งพระองค์ยินดีจะแบ่งถวายให้เสวยสมพระเกียรติทุกประการ.  พระมหาบุรุษจึงตรัสตอบขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งมีพระทัยกอรปด้วยพระเมตตา แบ่งสิริราชสมบัติพระราชทานให้ครอบครอง แต่พระองค์มิได้มีความประสงค์จำนงหมายเช่นนั้น ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เพื่อมุ่งหมายพระสัพพัญญุตญาณโดยแท้ พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับ ก็ตรัสอนุโมทนา และทูลขอปฏิญญากะพระมหาบุรุษว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ขอได้ทรงพระกรุณาเสด็จมายังพระนครราชคฤห์ แสดงธรรมโปรด ครั้นพระมหาบุรุษทรงรับปฏิญญาแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับเข้าพระนคร. ที่มา : http://www.tairomdham.net

ภาพวาดพุทธประวัติ โดย อ.คำนวน ชานันโท สุดยอด พุทธจิตรกร  (ตอนที่ 1),  (ตอนที่ 2),  (ตอนที่ 3),    (ตอนที่ 4),  (ตอนที่ 5),   (ตอนที่ 6),   (ตอนที่ 7),   (ตอนที่ 8),   (ตอนที่ 9

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: