โมรชาตกํ - ว่าด้วยนกยูงเจริญพระปริตต์
"อุเทตยํ จกฺขุมา เอกราชา, หริสฺสวณฺโณ ปถวิปฺปภาโส [1];
ตํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปถวิปฺปภาสํ, ตยาชฺช คุตฺตา วิหเรมุ ทิวสํ ฯ
พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก กำลังอุทัยขึ้นมาทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน."
"เย พฺราหฺมณา เวทคู สพฺพธมฺเม, เต เม นโม เต จ มํ ปาลยนฺตุ;
นมตฺถุ พุทฺธานํ [2] นมตฺถุ โพธิยา, นโม วิมุตฺตานํ [3] นโม วิมุตฺติยา;
อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา, โมโร จรติ เอสนา ฯ
พราหมณ์เหล่าใดผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง ขอพรามหณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว นกยูงนั้น เจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร."
"อเปตยํ จกฺขุมา เอกราชา, หริสฺสวณฺโณ ปถวิปฺปภาโส;
ตํ ตํ นมฺมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปถวิปฺปภาสํ, ตยาชฺช คุตฺตา วิหเรมุ รตฺตึ ฯ
พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอกส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งส่องสว่างไปทั่วปฐพี ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน."
"เย พฺราหฺมณา เวทคู สพฺพธมฺเม, เต เม นโม เต จ มํ ปาลยนฺตุ;
นมตฺถุ พุทฺธานํ นมตฺถุ โพธิยา, นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา;
อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา, โมโร วาสมกปฺปยีติ ฯ
พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว นกยูงนั้นเจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงสำเร็จการอยู่."
1) [ปฐวิปฺปภาโส (สี. สฺยา. ปี.)] 2) [พุทฺธาน (?)] 3) [วิมุตฺตาน (?)]
อรรถกถาโมรชาดกที่ ๙
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้กระสัน ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลายนำภิกษุนั้นไปเฝ้าพระศาสดาเมื่อพระองค์ตรัสถามว่า „เธอกระสันจริงหรือ?“ ภิกษุกราบทูลว่า „จริงพระเจ้าข้า“ เมื่อตรัสถามว่า „เธอเห็นอะไรจึงกระสัน?“ กราบทูลว่า „เห็นมาตุคามคนหนึ่งซึ่งประดับตกแต่งกาย.“
พระศาสดารับสั่งกะภิกษุนั้นว่า „ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่ามาตุคามทำไมจักไม่รบกวนจิตคนเช่นเธอ, แม้บัณฑิตแต่ก่อน พอได้ยินเสียงมาตุคาม กิเลสที่สงบมาเจ็ดร้อยปีได้โอกาสยังกำเริบได้ทันที, สัตว์ทั้งหลายแม้บริสุทธิ์ ยังเศร้าหมองได้, แม้สัตว์ผู้เปี่ยมด้วยยศสูง ยังถึงความพินาศได้, จะกล่าวไปทำไมถึงสัตว์ผู้ไม่บริสุทธิ์“ แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดนกยูง ในเวลาเป็นฟอง มีกระเปาะฟองคล้ายสีดอกกรรณิการ์ตูม ครั้นเจาะกระเปาะฟองออกมาแล้ว มีสีดุจทองคำ น่าดู น่าเลื่อมใส มีสายแดงพาด ในระหว่างปีก.
นกยูงนั้นคอยระวังชีวิตของตน อาศัยอยู่ ณ พื้นที่เขาทัณฑกหิรัญแห่งหนึ่ง ใกล้แนวเขาที่สี่เลยแนวเขาที่สามไป. ตอนสว่างนกยูงทองจับอยู่บนยอดเขา มองดูพระอาทิตย์กำลังขึ้น เมื่อจะผูกมนต์อันประเสริฐ เพื่อรักษาป้องกันตัว ณ ภูมิภาคที่หาอาหาร จึงกล่าวคาถาเป็นต้นว่า :-
„พระอาทิตย์ได้เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก กำลังอุทัยขึ้นมาทอ แสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งทอแสงอร่าม สว่างไปทั่วปฐพีข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน.“
ในบทเหล่านั้น บทว่า อุเทติ ได้แก่ พระอาทิตย์ขึ้นจากทิศปราจีน. บทว่า จกฺขุมา ได้แก่ มีดวงตาด้วยดวงตาที่ให้แก่ประชาชนเพราะกำจัดความมืด ทำให้ผู้อยู่ในจักรวาลทั้งสิ้นได้ดวงตา บทว่า เอกราชา ความว่า ชื่อว่าเป็นเอกราช เพราะประเสริฐที่สุด ในระหว่างสิ่งที่ทำให้โลกสว่าง ในจักรวาลทั้งสิ้น บทว่า หริสฺสวณโณ คือมีสีดุจทอง อธิบายว่า มีสีงามยิ่งนัก. บทว่า ปฐวิปฺปภาโส คือมีแสงสว่างเหนือแผ่นดิน. บทว่า ตํ ตํ นมสฺสามิ คือข้าพเจ้าขอนอบน้อม คือไหว้ท่านผู้เจริญเช่นนั้น. บทว่า ตยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ ทิวสํ ได้แก่ ขอให้ท่านรักษาคุ้มครองในวันนี้ข้าพเจ้าพึงอยู่เป็นสุขตลอดวันนี้ ด้วยการอยู่ในอิริยาบถทั้งสี่.
พระโพธิสัตว์ครั้นนอบน้อมพระอาทิตย์ด้วยคาถานี้อย่างนี้แล้วจึงนมัสการพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จปรินิพพานไปแล้วในอดีตและพระคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยคาถาที่สอง ว่า :-
„พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง ขอพราหมณ์เหล่านั้นจงรับความนอบ น้อมของข้าพเจ้าและขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย. ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ขอนอบน้อมแด่ผู้หลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว นกยูงนั้นเชิญพระปริตรนี้แล้วจึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร.“
ในบทเหล่านั้น บทว่า เย พฺราหฺมณา ได้แก่ พราหมณ์ผู้บริสุทธิ์ลอยบาปเสียแล้วเหล่าใด. บทว่า เวทคู ความว่า ชื่อว่าผู้รู้ไตรเพท เพราะถึงฝั่งแห่งพระเวท. อนึ่งเพราะถึงฝั่งด้วยพระเวทบ้าง. แต่ในที่นี้มีอธิบายว่า พราหมณ์เหล่าใดกระทำสังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งปวงที่ตนรู้แล้ว ปรากฏแล้ว ทำลายยอดมารทั้งสาม ยังหมื่นโลกธาตุให้บรรลือ บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณที่ควงไม้โพธิล่วงฝั่งแห่งสงสารได้แล้ว. บทว่า เต เม นโม คือขอพราหมณ์เหล่านั้นจงรับความนอบน้อมนี้ของข้าพเจ้า. บทว่า เต จ มํ ปาลยนฺตุ ความว่า อนึ่งขอท่านผู้เจริญเหล่านั้นที่ข้าพเจ้านอบน้อมแล้วอย่างนี้ จงรักษา คือ ดูแลคุ้มครองข้าพเจ้า.
บทว่า นมตฺถุ พุทฺธานํ ฯเปฯ นโม วิมุตฺติยา ความว่า ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้านี้ จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเสด็จปรินิพพานล่วงไปแล้ว. คือขอจงมีแต่พระปรีชาตรัสรู้อันได้แก่ ญาณในมรรคสี่ ผลสี่ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ขอจงมีแด่พระองค์ผู้หลุดพ้นแล้วด้วยความหลุดพ้น คือพระอรหัตผลของพระองค์. และความหลุดพ้นห้าอย่างของพระองค์ คือ ตทังควิมุตติ พ้นชั่วคราว ๑ วิกขัมภนวิมุตติ พ้นด้วยการข่มไว้ ๑ สมุจเฉทวิมุตติ พ้นเด็ดขาด ๑ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ พ้นด้วยสงบ ๑ นิสสรณวิมุตติ พ้นด้วยออกไป ๑. ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้านี้ จงมีแก่ความหลุดพ้นห้าอย่างของพระองค์เหล่านั้น.
หลายบทว่า อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา โมโร จรติ เอสนา นี้พระศาสดาตรัสเมื่อได้บรรลุพระอภิสัมโพธิญาณแล้ว. บทนั้นมีอธิบายว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นกยูงนั้นครั้นเจริญปริตรนี้คือการป้องกันนี้แล้วจึงเที่ยวไปแสวงหาอาหารนานาชนิดเพื่อต้องการดอกไม้ผลไม้เป็นต้นในที่หาอาหารของตน.“
นกยูงครั้นเที่ยวไปตลอดวันอย่างนี้แล้ว ตอนเย็นก็จับอยู่บนยอดเขามองดูดวงอาทิตย์ซึ่งกำลังตก ระลึกถึงพระพุทธคุณเมื่อจะผูกมนต์อันประเสริฐอีก เพื่อรักษาคุ้มกันในที่อยู่จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อเปตยํ ดังนี้ ความว่า :-
„ดวงอาทิตย์นี้เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอกมีสีทองส่องแสงสว่าง ไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป เพราะเหตุนั้น ข้าพจ้าจักขอนอบน้อมดวงอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีทอง ส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีข้าพเจ้าอันท่านคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน.
พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวท ในธรรมทั้งปวง ขอพราหมณ์เหล่านั้นจงรับและจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วยข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย แด่พระโพธิญาณ แด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว แด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุด พ้นแล้ว นกยูงนั้น ครั้นเจริญพระปริตรนี้แล้วจึงพักอยู่.“
ในบทเหล่านั้น บทว่า อเปติ ได้แก่ ล่วงลับไป คือ ตกไป.
แม้บทว่า อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา โมโร วาสมกปฺปยิ นี้ พระศาสดาก็ตรัสเมื่อบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว. บทนั้นมีอธิบายว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นกยูงนั้นครั้นเจริญพระปริตร คือการป้องกันนี้แล้วจึงพักอยู่ ณ ที่อยู่นั้น. ด้วยอานุภาพแห่งพระปริตรนี้ นกยูงมิได้มีความกลัว ความสยดสยองตลอดคืนตลอดวัน.“
ลำดับนั้น พรานชาวบ้านเนสาทคนหนึ่ง อยู่ไม่ไกลกรุงพาราณสีท่องเที่ยวไปในหิมวันตประเทศ เห็นนกยูงโพธิสัตว์จับอยู่บนยอดเขาทัณฑกหิรัญ จึงกลับมาบอกลูก.
อยู่มาวันหนึ่งพระนางเขมาพระเทวีของพระเจ้ากรุงพาราณสีทรงสุบินเห็นนกยูงสีทองแสดงธรรม ขณะตื่นพระบรรทมได้กราบทูลสุบินแด่พระราชาว่า „ขอเดชะข้าแต่พระองค์หม่อมฉันประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงสีทองเพคะ.“
พระราชาจึงมีพระดำรัสถามพวกอำมาตย์. พวกอำมาตย์กราบทูลว่า „พวกพราหมณ์คงจะทราบพ่ะย่ะค่ะ“ พราหมณ์ทั้งหลายสดับพระราชปุจฉาแล้วจึงพากันกราบทูลว่า „ขอเดชะนกยูงสีทองมีอยู่แน่ พระเจ้าข้า“ พระราชาตรัสถามว่า „มีอยู่ที่ไหนเล่า?“ จึงกราบทูลว่า „พวกพรานจักทราบพระเจ้าข้า.“ พระราชารับสั่งให้ประชุมพวกพรานแล้วตรัสถาม. ครั้นแล้วบุตรพรานคนนั้นก็กราบทูลว่า „ขอเดชะ ข้าแต่มหาราช นกยูงสีทองมีอยู่จริงอาศัยอยู่ ณ ทัณฑกบรรพต พระเจ้าข้า.“
พระราชารับสั่งว่า „ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงไปจับนกยูงนั้นมาอย่าให้ตาย.“ พรานจึงเอาบ่วงไปดักไว้ที่ ณ ที่นกยูงหาอาหาร. แม้ในสถานที่ที่นกยูงเหยียบ บ่วงก็หาได้กล้ำกรายเข้าไปไม่. พรานไม่สามารถจับนกยูงได้ ท่องเที่ยวอยู่ถึงเจ็ดปีได้ถึงแก่กรรมลง ณ ที่นั้นเอง. แม้พระนางเขมาราชเทวี เมื่อไม่ได้สมพระประสงค์ก็สิ้นพระชนม์.
พระราชาทรงกริ้วว่า พระเทวีได้สิ้นพระชนม์ลงเพราะอาศัยนกยูง จึงให้จารึกอักษรไว้ในแผ่นทองว่า „ในหิมวันตประเทศมีภูเขาลูกหนึ่งชื่อทัณฑกบรรพต นกยูงสีทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ณ ที่นั้น ผู้ได้กินเนื้อของมัน ผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตาย จะมีอายุยืน“ แล้วเก็บแผ่นทองไว้ในหีบทอง.
ครั้นพระราชาสวรรคตแล้ว พระราชาองค์อื่นครองราชสมบัติ. ทรงอ่านข้อความในสุพรรณบัฏมีพระประสงค์จะไม่แก่ไม่ตาย จึงทรงส่งพรานคนอื่นไป ให้เที่ยวแสวงหา. แม้พรานนั้นไปถึงที่นั้นแล้วก็ไม่สามารถจะจับพระโพธิสัตว์ได้ได้ตายไปในที่นั้นเอง. โดยทำนองนี้พระราชาสวรรคตไปหกชั่วพระองค์
ครั้นถึงองค์ที่เจ็ดครองราชสมบัติจึงทรงส่งพรานคนหนึ่งไป. พรานนั้นไปถึงแล้วก็รู้ถึงภาวะที่บ่วงมิได้กล้ำกรายแม้ในที่ที่นกยูงโพธิสัตว์เหยียบและการที่นกยูงโพธิสัตว์เจริญพระปริตรป้องกันตนก่อนแล้วจึงบินไปหาอาหาร จึงขึ้นไปยังปัจจันตชนบท จับนางนกยูงได้ตัวหนึ่ง ฝึกให้รู้จักฟ้อนด้วยเสียงปรบมือและให้รู้จักขันด้วยเสียงดีดนิ้ว.
ครั้นฝึกนางนกยูงจนชำนาญดีแล้วจึงพามันไป เมื่อนกยูงทองยังไม่เจริญพระปริตรปักโคนบ่วงดักไว้ในเวลาเช้า ทำสัญญาณ ให้นางนกยูงขัน. นกยูงทองได้ยินเสียงมาตุคาม ซึ่งเป็นข้าศึกแล้ว. ก็เร่าร้อนด้วยกิเลสไม่อาจเจริญพระปริตรได้ จึงบินโผไปติด บ่วง. พรานจึงจับนกยูงทองไปถวายพระเจ้าพาราณสี.
พระราชาทอดพระเนตรเห็นรูปสมบัติของนกยูงทอง ก็ทรงพอพระทัยพระราชทานที่ให้จับ. นกยูงทองโพธิสัตว์จับอยู่เหนือคอนที่เขาจัดแต่งให้จึงทูลถามว่า „ข้าแต่มหาราชเพราะเหตุไรจึงมีรับสั่งให้จับข้าพเจ้า.“ พระราชาตรัสว่า „ข่าวว่า ผู้ใดกินเนื้อเจ้า ผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตาย ข้าพเจ้าต้องการกินเนื้อเจ้า จะไม่แก่ไม่ตายบ้าง จึงให้จับเจ้ามา.“
นกยูงทองทูลว่า „ข้าแต่มหาราช คนทั้งหลายกินเนื้อข้าพเจ้าจะไม่แก่ไม่ตายก็ช่างเถิด แต่ข้าพเจ้าจักตายหรือ?“ รับสั่งว่า „จริงเจ้าต้องตาย." กราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราชเมื่อข้าพเจ้าต้องตาย ผู้ที่กินเนื้อข้าพเจ้าแล้วทำอย่างไรจึงไม่ตายเล่า?“ รับสั่งว่า „เจ้ามีตัวเป็นสีทอง เพราะฉะนั้น มีข่าวว่า ผู้ที่กินเนื้อเจ้าแล้วจักไม่แก่ไม่ตาย.“
กราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราช ข้าพเจ้ามีสีทองเพราะไม่มีเหตุหามิได้ เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในนครนี้แหละ. ทั้งตนเองก็รักษาศีลห้า แม้ชนทั้งหลายทั่วจักรวาลก็ให้รักษาศีล ข้าพเจ้าสิ้นชีพแล้วก็ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ดำรงอยู่ในภพนั้นจนตลอดอายุ จุติจากนั้นแล้วจึงมาเกิดในกำเนิดนกยูง เพราะผลแห่งอกุศลกรรมอื่นอีกอย่างหนึ่ง แต่ตัว มีสีทองก็ด้วยอานุภาพศีลห้าที่รักษาอยู่ก่อน.“
รับสั่งถามว่า „เจ้าพูดว่า เจ้าเป็นเจ้าจักรพรรดิรักษาศีลห้า ตัวมีสีเป็นทองเพราะผลของศีล ข้อนี้ข้าพเจ้าจะเชื่อได้อย่างไร มีใครเป็นพยาน?“ กราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราช มี.“
รับสั่งถามว่า „ใครเล่า?“ กราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราช เมื่อครั้งเป็นเจ้าจักรพรรดิข้าพเจ้านั่งรถสำเร็จด้วยแก้วเจ็ดประการ เที่ยวไปในอากาศ รถของข้าพเจ้านั้นจมอยู่ภายใต้ภาคพื้นสระมงคลโบกขรณี โปรดให้ยกรถนั้นขึ้นจากสระมงคลโบกขรณีเถิด รถนั้นจักเป็นพยานของข้าพเจ้า.“
พระราชารับสั่งว่า „ดีละ“ แล้วให้วิดน้ำออกจากสระโบกขรณี ยกรถขึ้นได้จึงทรงเชื่อคำของพระโพธิสัตว์.
พระโพธิสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาว่า „ข้าแต่มหาราช ธรรมที่ปรุงแต่งทั้งหมด ที่เหลือนอกจากพระอมตมหานิพพานแล้วชื่อว่าไม่เที่ยง มีความสิ้นและความเสื่อมเป็นธรรมดา เพราะมีแล้วกลับไม่มี“ ดังนี้แล้ว ให้พระราชาดำรงอยู่ในศีลห้า.
พระราชาทรงเลื่อมใสบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติได้ทรงกระทำสักการะเป็นอันมาก. นกยูงทองถวายราชสมบัติคืนแด่พระราชา พักอยู่ ๒-๓ วัน จึงถวายโอวาทว่า „ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงไม่ประมาทเถิด“ แล้วบินขึ้นอากาศไปยังภูเขาทัณฑกหิรัญ.
ฝ่ายพระราชาดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์แล้วทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้นเสด็จไปตามยถากรรม.
พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประกาศ สัจธรรม ประชุมชาดก. เมื่อจบสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันตั้งอยู่ในพระอรหัต. พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นอานนท์ในบัดนี้. ส่วนนกยูงทองได้เป็นเราตถาคตนี้แล. จบอรรถกถาโมรชาดกที่ ๙
Credit: Palipage: Guide to Language - Pali
0 comments: