อิทธิบาท หนทางสู่ความสำเร็จ
อ่านว่า อิด-ทิ-บาด
ประกอบด้วยคำว่า อิทธิ + บาท
(๑) “อิทธิ” เขียนแบบบาลีเป็น “อิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า อิด-ทิ รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ : อิธฺ > อิ + ทฺ + ธฺ = อิทฺธฺ + อิ = อิทฺธิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ”
“อิทฺธิ” ในภาษาบาลี โดยเฉพาะที่สรุปได้จากคัมภีร์ มีความหมายดังนี้ -
(1) ความสมบูรณ์พรั่งพร้อมสมกับตำแหน่งฐานะ
(2) ความสามารถทำสิ่งใดๆ ได้ตามที่ผู้อยู่ในฐานะนั้นๆ จะพึงทำได้
(3) ความสามารถเหนือวิสัยสามัญอันเกิดจากการอบรมจิตถึงระดับ เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะได้ (โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยใดๆ)
(4) การฝึกฝนอบรมให้มีคุณธรรมอันจะสามารถทำสิ่งใดๆ ให้สำเร็จได้ตามปรารถนา
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงทัศนะต่อคำว่า “อิทฺธิ” ไว้ว่า -
There is no single word in English for Iddhi, as the idea is unknown in Europe. The main sense seems to be ‘potency.’
ไม่มีคำในภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายของคำว่า อิทฺธิ ได้ชัดเจนแม้สักคำเดียว, ความคิดเช่นนี้ไม่เป็นที่รู้จักในยุโรป. ความหมายหลักดูเหมือนจะเป็น potency อานุภาพหรืออำนาจ
แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปลไว้คำหนึ่งว่า psychic powers (ฤทธิ์ทางใจ)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “อิทธิ” เป็นอังกฤษว่า : success; supernormal power; psychic power; magical power.
ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“อิทธิ : (คำนาม) ฤทธิ์, อํานาจศักดิ์สิทธิ์; ความเจริญ, ความสําเร็จ, ความงอกงาม. (ป.; ส. ฤทฺธิ).”
(๒) “บาท” บาลีเป็น “ปาท” อ่านว่า ปา-ทะ รากศัพท์มาจาก ปท (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ป-(ทฺ) เป็น อา (ปทฺ > ปาท) : ปทฺ + ณ = ปทณ > ปท > ปาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไป”
“ปาท” ในบาลีใช้ในความหมาย ดังนี้ -
(1) เท้า (the foot), (2) เชิงเขาหรือส่วนล่างของภูเขา (foot or base of a mountain) (3) ส่วนหนึ่งในสี่ของคำร้อยกรองหนึ่งบท (ซึ่งตามปกติมีบทละ 4 บาท) (the fourth part of a verse) (4) เหรียญที่ใช้ในการซื้อขาย (a coin)
“ปาท” ในภาษาไทยใช้ว่า “บาท” (บาด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บาท” ไว้ดังนี้ -
(1) ตีน, เท้า, เช่น ทวิบาท จตุบาท, ราชาศัพท์ว่า พระบาท. (2) มาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑๐๐ สตางค์ หรือ ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท. (3) ชื่อมาตราชั่งตามวิธีประเพณี สําหรับกําหนดนํ้าหนักเท่ากับเงินหนัก ๑๕ กรัม. (4) ส่วนหนึ่งของบทแห่งคําประพันธ์ เช่น โคลง ๔ สุภาพ บทหนึ่งมี ๔ บาท. (5) ช่วงเวลาเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่วโมง เท่ากับ ๖ นาที.
ในที่นี้ “ปาท - บาท” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) ที่แปลตามศัพท์ที่ว่า “เครื่องดำเนินไป”
อิทฺธิ + ปาท = อิทฺธิปาท (อิด-ทิ-ปา-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเครื่องดำเนินสู่ความสำเร็จ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิทฺธิปาท” ว่า constituent or basis of psychic power (คุณเป็นที่ตั้งแห่งฤทธิ์, ส่วนประกอบหรือมูลฐานของฤทธิ์)
“อิทฺธิปาท” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อิทธิบาท”
เชื่อหรือไม่ คำว่า “อิทธิบาท” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554!
ขยายความ : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [213] แสดง “อิทธิบาท” ไว้ดังนี้ -
อิทธิบาท 4 (คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย — Iddhipāda: path of accomplishment; basis for success)
1. ฉันทะ (ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป — Chanda: will; zeal; aspiration)
2. วิริยะ (ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย — Viriya: energy; effort; exertion; perseverance)
3. จิตตะ (ความคิดมุ่งไป คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่สิ่งที่ทำ — Citta: thoughtfulness; active thought; dedication)
4. วิมังสา (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น — Vīmaṁsā: investigation; examination; reasoning; testing)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อิทธิบาท” อธิบายไว้ดังนี้ -
อิทธิบาท : คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณเครื่องสำเร็จสมประสงค์, ทางแห่งความสำเร็จ มี ๔ คือ
๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่สิ่งนั้น ๒. วิริยะ ความพยายามทำสิ่งนั้น ๓. จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ๔. วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น, การทดลอง ตรวจสอบ;
จำง่ายๆ ว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน.
ดูก่อนภราดา!
: ทำการใหญ่ให้สัมฤทธิ์ อย่าคิดเล็กคิดน้อย
: แต่อย่าลืมคิดถึงส่วนเล็กส่วนน้อย
ทองย้อย แสงสินชัย
อิทธิบาท-หนทางสู่ความสำเร็จ, ข้อ 1 ใจรัก, ข้อ 2 ใจสู้, ข้อ 3 ใจใส่-ใส่ใจ, ข้อ 4 ใจตรอง
0 comments: