วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

“ยามสุขก็อย่าให้ความตรึกนึกคิดที่ไม่ฉลาดเกิดขึ้นเลย”

“ยามสุขก็อย่าให้ความตรึกนึกคิดที่ไม่ฉลาดเกิดขึ้นเลย”

อกุศลวิตก คือ ความตรึกนึกคิดด้วยความไม่ฉลาด อันเป็นการนึกคิดในเรื่องที่ไม่ดี เป็นอาการที่ปรากฏเกิดขึ้นแก่จิตของบุคคลผู้มีกิเลสอันเก็บสะสมไว้ภายในจิตใจมาอย่างยาวนาน  จะปรากฏเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลนั้นๆ ในยามสุขหรือในยามจิตเริ่มสงบ ดังต่อไปนี้

ท่านกล่าวว่า “เมื่อได้สุขแล้วหรือเมื่อจิตเริ่มสงบเท่านั้น” 

(๑) กามวิตก คือความตรึกในทางกาม หรือความนึกคิดในทางแสวงหา หรือความพัวพันติดข้องในสิ่งที่สนองความอยากก็เกิดขึ้นปรากฏขึ้นแก่จิต  ทำให้บุคคลนั้นยินดีในสมบัตินั้นๆ หรือในสุขนั้น หรือในความสงบนั้น  นี้เรียกว่า “เกิดกามวิตกขึ้นในจิตใจ”

ท่านกล่าวไว้อีกว่า “เมื่อได้เสวยสุขมากขึ้นหรือเมื่อจิตเริ่มสงบมากขึ้น เมื่อมีคนทำผิดต่อตนเองถูกจับมาพร้อมทั้งของกลาง”  

(๒) พยาบาทวิตก คือความตรึกในทางพยาบาท หรือความนึกคิดที่ประกอบด้วยความขัดเคืองเพ่งมองในแง่ร้ายก็เกิดขึ้นปรากฏขึ้นแก่จิต ทำให้บุคคลนั้นคิดปองร้ายต่อผู้กระทำความผิดในตนแล้วสั่งฆ่าเขาเป็นอาทิ  นี้เรียกว่า “เกิดพยาบาทวิตกขึ้นในจิตใจ”

อนึ่ง ท่านกล่าวไว้อีกว่า “เมื่อได้เสวยสุขยาวนานหรือเมื่อจิตติดในความสงบ” เมื่อมีคนทำผิดต่อตนก็ดี ไม่ยกย่องตนก็ดี”  

(๓) วิหิงสาวิตก คือความตรึกในทางเบียดเบียน หรือความนึกคิดในทางทำลายทำร้ายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นก็เกิดขึ้นปรากฏขึ้นแก่จิต  ทำให้บุคคลนั้นใช้อำนาจสั่งการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการจองจำเป็นต้น  นี้เรียกว่า “เกิดวิหิงสาวิตกขึ้นในจิตใจ”

เมื่ออกุศลวิตกทั้ง ๓ เกิดขึ้นเช่นนั้นแล้ว บุคคลนั้นได้เป็นผู้ถูกแวดล้อมเกลื่อนกล่นด้วยอกุศล เหมือนต้นไม้ถูกล้อมด้วยเชิงเถาวัลย์ และเหมือนรวงผึ้งถูกแวดล้อมด้วยตัวผึ้งฉะนั้น

สาระธรรมจากอรรถกถา ขุททกนิกาย ในเมฆิยสูตร

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

17/6/64




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: