จิตตะ - อิทธิบาท ข้อ 3
ใจใส่-ใส่ใจ
อ่านว่า จิด-ตะ
“จิตตะ” เขียนแบบบาลีเป็น “จิตฺต” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) อ่านว่า จิด-ตะ รากศัพท์มาจาก -
(1) จิตฺตา (ดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อา ที่-ตา (จิตฺตา > จิตฺต) และลบ ณ : จิตฺตา + ณ = จิตฺตาณ > จิตฺตา > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เดือนที่กำหนดด้วยดาวจิตตา” (คือดาวที่คู่กับดวงจันทร์เต็มดวง) หมายถึง จิตรมาส คือเดือนห้า
(2) จิ (ธาตุ = สะสม) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ : จิ + ตฺ + ต = จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สีอันเขาผสมกันไว้” (คือเขียนระบายไว้) หมายถึง สีระบาย, ลวดลาย (2) “สิ่งที่สะสมการสืบต่อของตนไว้” หมายถึง จิต, ใจ อันเป็นที่เก็บสั่งสมบุญบาปไว้
(3) จินฺต (ธาตุ = คิด) + ต ปัจจัย, ลบ นฺ : จินฺต + ต = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด
(4) จิตฺต (ความวิจิตรพิสดารต่างๆ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ : จิตฺต + ณ = จิตฺตณ > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้วิจิตรไปต่างๆ” หมายถึง จิต, ใจ ซึ่งมีลักษณะคิดเรื่องราวจินตนาการต่างๆ สุดจะบรรยาย
(5) จิตฺต (สิ่งที่งดงาม) + อ (อะ) ปัจจัย : จิตฺต + อ = จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งามวิจิตรเพราะสร้างขึ้นด้วยจิต” หมายถึง จิตรกรรม, ความวิจิตรต่างๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ -
(1) the heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man's emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)
(2) variegated, manifold, beautiful; tasty, sweet, spiced (of cakes) (วิจิตร, มีลวดลายหลายหลาก, สวยงาม, อร่อย, หวาน, ใส่เครื่องเทศ [พูดถึงขนม])
(3) painting (ภาพเขียน)
ในที่นี้ “จิตฺต” ใช้ในความหมายตามรากศัพท์ในข้อ (2) (3) และ (4) หรือตามที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลในข้อ (1) “จิตฺต” ในภาษาไทยในที่ทั่วไป ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“จิต, จิต- : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).” ในที่นี้สะกดเป็น “จิตตะ” คง ต เต่า ไว้ 2 ตัวตามรูปบาลี
ขยายความ : “จิตตะ” เป็นคุณธรรมข้อที่ 3 ในอิทธิบาท-คุณเครื่องทำสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จ 4 ข้อ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [213] “อิทธิบาท 4” แสดงความหมายของ “จิตตะ” ไว้ดังนี้ -
3. จิตตะ (ความคิดมุ่งไป คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่สิ่งที่ทำ — Citta: thoughtfulness; active thought; dedication)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “จิตตะ” ไว้ดังนี้ -
จิตตะ : เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ, ความคิดฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย, ความมีจิตจดจ่ออุทิศตัวอุทิศใจต่อสิ่งนั้น (ข้อ ๓ ในอิทธิบาท ๔)
ดูเพิ่มเติม: “อิทธิบาท” บาลีวันละคำ (3,386)
ข้อคิด : มีฉันทะ-ใจรัก มีวิริยะ-ใจสู้ แล้วก็จริง แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นอาจหลุดลอย เลือนราง หรือหล่นหายไปในเวลาใดเวลาหนึ่งก็เป็นได้-ถ้าปล่อยปละละเลยหรือประมาทหลงลืมอันเป็นวิสัยของปุถุชน เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนเรื่อง “จิตตะ” - เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นเป็นลำดับต่อมา
“จิตตะ” คือความเอาใจใส่ติดตามไม่ทอดทิ้ง เกาะติดอยู่ตลอด ใช้สำนวนหนักๆ ที่นิยมพูดกันก็คือ-กัดไม่ปล่อย การที่หมายยังไม่สำเร็จ เป็นไม่เลิกรา
ดูก่อนภราดา!
คาถาเสกให้คนรัก -
: รักใครเอาใจเข้าไปจอด
: รักให้ตลอดอย่าถอดใจจาง
ทองย้อย แสงสินชัย
อิทธิบาท-หนทางสู่ความสำเร็จ, ข้อ 1 ใจรัก, ข้อ 2 ใจสู้, ข้อ 3 ใจใส่-ใส่ใจ, ข้อ 4 ใจตรอง
ภาพ : นักรบตะวันออก
เที่ยววัดแก่งคอย สักการะพระมหาธาตุเจดีย์ศรีป่าสัก ไหว้พระนอน องค์ใหญ่ กราบหลวงพ่อลา ชมลูกระเบิดสงครามโลก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
0 comments: