วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564

วิริยะ - อิทธิบาท ข้อ 2

วิริยะ - อิทธิบาท ข้อ 2   ใจสู้   

อ่านว่า วิ-ริ-ยะ

“วิริยะ” เขียนแบบบาลีเป็น “วิริย” อ่านว่า วิ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก -

(1) วีร (ผู้กล้า) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, รัสสะ อี ที่ วี เป็น อิ และแปลง อะ ที่ ร เป็น อิ (วีร > วิร > วิริ)    : วีร + ณฺย = วีรณฺย > วีรย > วิรย > วิริย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความดีในคนกล้า” (2) “ภาวะหรือการกระทำของคนกล้า”

(2) วิ (แทนศัพท์ว่า “วิธิ” = วิธี) + อิรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อะ ที่ (อิ)-รฺ เป็น อิ (อิรฺ > อิริ)   : วิ + อิรฺ = วิรฺ + ณฺย = วิรณฺย > วิรย > วิริย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่พึงให้เป็นไปตามวิธี” 

“วิริย” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง “สถานะแห่งบุรุษที่แข็งแรง”, คือ วิริยะ, อุตสาหะ, ความเพียร, ความพยายาม (“state of a strong man”, i. e. vigour, energy, effort, exertion) 

บาลี “วิริย” สันสกฤตเป็น “วีรฺย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

“วีรฺย : (คำนาม) พล, ศักย์ (หรือพลศักย์=แรง, กำลัง); มหิมัน, สูงศักติ์หรือตำแหน่งอันสูง, ‘ยศศักติ์’ ก็ใช้ ตามมติไท; ผล; ความเพียร, ความอดทนหรือทนทาน, ความมั่นในการผะเชิญภัย; น้ำกามของบุรุษ; โศภา; ความกล้า; พืช; strength, power; dignity, elevation in rang, or right office; consequence; fortitude, mental power of endurance, firmness in meeting danger; semen virile; splendour; heroism, or valour; seed.”

บาลี “วิริย” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิริยะ” ตามบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“วิริยะ : (คำนาม) ความเพียร, ความบากบั่น, มักใช้เข้าคู่กับคำ อุตสาหะ เป็น วิริยอุตสาหะ; ความกล้า; วิริยภาพ ก็ใช้. (ป.; ส. วีรฺย).”

ขยายความ :  “วิริยะ” เป็นคุณธรรมข้อที่ 2 ในอิทธิบาท-คุณเครื่องทำสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จ 4 ข้อ 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [213] “อิทธิบาท 4” แสดงความหมายของ “วิริยะ” ไว้ดังนี้ -

2. วิริยะ (ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย — Viriya: energy; effort; exertion; perseverance)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “วิริยะ” ไว้ดังนี้ -

วิริยะ : ความเพียร, ความบากบั่น, ความเพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี, ความพยายามทำกิจ ไม่ท้อถอย (ข้อ ๒ ในอิทธิบาท ๔, ข้อ ๒ ในอินทรีย์ ๕, ข้อ ๒ ในพละ ๕, ข้อ ๓ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๕ ในบารมี ๑๐)

ดูเพิ่มเติม: “อิทธิบาท” บาลีวันละคำ (3,386)

ข้อคิด :   มีฉันทะคือใจรักที่จะทำเป็นเบื้องต้นแล้ว ถือว่าเริ่มต้นดีหรือมีทุนดี แต่ใจรักอย่างเดียวยังไม่ทำให้เกิดความสำเร็จได้ ต้องลงมือทำด้วย ตอนลงมือทำนี่แหละที่จะต้องเจอปัญหาหรืออุปสรรคมากบ้างน้อยบ้างอันเป็นธรรมดาของการทำงาน ถ้าไม่มี “วิริยะ-ใจสู้” คอยหนุนไว้ ก็อาจไปไม่รอด ท่านจึงแสดง “วิริยะ” เป็นลำดับที่ 2 รองลงมาจากฉันทะ

ดูก่อนภราดา!

: ไม่กล้าทำความเลว นั่นดีมาก

: กล้าทำความดีอีกต่างหาก ดีที่สุด

ทองย้อย แสงสินชัย

บาลีวันละคำ (3,395)

อิทธิบาท-หนทางสู่ความสำเร็จ,   ข้อ 1 ใจรัก,  ข้อ 2 ใจสู้,  ข้อ 3 ใจใส่-ใส่ใจ,  ข้อ 4 ใจตรอง  


ภาพ :  นักรบตะวันออก

"วัดวังเตาราง" จ.สระบุรี  หรือ "สำนักสงฆ์วังเตาราง" ตั้งอยู่บนถนนเส้นบางนา-แก่งคอย อ.แก่งคอย มีประติมากรรมรูปปั้นโทนสีขาว อุโบสถสร้างคล้ายเรือ ศาลาประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลอง สงบ ร่มรื่น เหมาะกับการปฏิบัติธรรม






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: