วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

 "อาตมาไม่รู้ว่าเป็นบทความของใครนะ แต่อาตมาขออนุญาตแลกเปลี่ยน" (พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ)

"อาตมาไม่รู้ว่าเป็นบทความของใครนะ แต่อาตมาขออนุญาตแลกเปลี่ยน" (พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ)

"อาตมาไม่รู้ว่าเป็นบทความของใครนะ แต่อาตมาขออนุญาตแลกเปลี่ยน  ประเด็นแรก คืออาตมาไม่ได้ร่ำไห้เพราะผิดหวังเสียใจเรื่องยศตำแหน่ง 

ใครก็ตามที่พูดแบบนี้แสดงว่า แม้แต่ความอดทนที่จะนั่งฟังไลฟ์สดที่เป็นประเด็นของอาตมาจนจบ ก็ยังทำไม่ได้เลย 

เมื่อฟังไม่จบ ก็เป็นแบบที่เห็น คือนั่งเทียนเขียนวิจารณ์ไปเอง ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างคนละเรื่องกัน

ประเด็นที่สอง ใครก็ตามที่มองเรื่องยศตำแหน่งในวงการคณะสงฆ์เป็นแค่เรื่องยศตำแหน่ง คนๆ นั้นสะท้อนความตื้นเขินของตัวเองที่มีต่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก

ที่อาตมากล่าวเช่นนี้ เพราะยศตำแหน่งในทางคณะสงฆ์มันมิใช่เพียงแค่ยศตำแหน่ง มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่มันผูกพันกับอำนาจในการปกครอง อำนาจในการให้คุณและให้โทษกับผู้ที่อยู่ใต้อาณัติของยศตำแหน่งนั้นๆ อย่างแยกไม่ออก

ที่สำคัญที่สุด แม้เพียงตำแหน่งในฐานะของเจ้าอาวาส หากมิได้พระภิกษุผู้ที่เป็นรัตตัญญู หรือมีพรหมวิหารธรรมอย่างมากพอในการจัดการดูแล ไม่ได้ผู้ซึ่งมีที่มาที่ชอบธรรมหรือเป็นที่ยอมรับนับถือของสังฆะทั้งหมดในอาราม

พระภิกษุผู้นั้น ถึงที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมภาร ย่อมจะตกอยู่ภายใต้ภยาคติ หรือไม่ก็ลุแก่อำนาจอย่างง่ายๆ ย่อมจะใช้อำนาจนั้น รังแกพระลูกวัดไม่ในทางใดก็ทางหนึ่งก็ได้ ถึงที่ผิดน้อยก็อาจให้ผิดมาก หรือถึงที่ไม่ชอบพอก็อาจไล่พ้นไปจากอาราม  เรื่องเหล่านี้มีปรากฎให้เห็นอยู่มากแต่เก่าก่อนทีเดียว

อาตมาดีใจที่ชาวพุทธในสังคมไทยส่วนใหญ่ เข้าใจหลักธรรมของพระพุทธศาสนากันอย่างลึกซึ้งดีเหลือเกิน แต่อาตมาเศร้าใจอย่างหนึ่ง เศร้าใจที่คนพุทธจำนวนไม่น้อยไร้เดียงสาต่อหลักการปกครองในพระราชบัญญัติแห่งคณะสงฆ์ไทย"



ที่มา : พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ


"มหาไพรวัลย์ประกาศสึก อัดรัฐแทรกแซงศาสนจักร รักษาการเจ้าอาวาสวัดสร้อยทองถูกรังแก ร่ำไห้อยากกลับไปหาแม่"

มหาไพรวัลย์ประกาศสึก อัดรัฐแทรกแซงศาสนจักร รักษาการเจ้าอาวาสวัดสร้อยทองถูกรังแก ร่ำไห้อยากกลับไปหาแม่ 

30 ต.ค. - พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ประกาศเตรียมสึก แฉรัฐแทรกแซงศาสนจักรรุนแรง "พระราชปัญญาสุธี" รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสร้อยทองถูกขัดขวางไม่ให้เป็นเจ้าอาวาส

ในการไลฟ์วันที่ 29 ต.ค. “พระมหาไพรวัลย์” และ “พระมหาสมปอง” เคยประกาศอาจสึกทั้งคู่  รวมทั้งอาจย้ายไป่วัดอื่น แต่ไม่ได้ระบุสาเหตุที่ชัดเจนเท่าครั้งล่าสุด

พระมหาไพรวัลย์ ระบุว่า พระราชปัญญาสุธี เปรียบเสมือนพ่อและครูอาจารย์ หากท่านไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสเพราะตนเองเป็นต้นเหตุ ก็ขอสละสมณเพศดีกว่า รวมทั้งกล่าวตอนหนึ่งว่ารัฐเข้ามาแทรกแซงกิจคณะสงฆ์ สร้างความไม่เป็นธรรม ทำให้สังคมยิ่งแตกแยก

“ขณะนี้อาณาจักรเข้ามาควบคุมศาสนจักรมากเกินไป ไม่เป็นผลดีกับพระศาสนา ความบาดหมางจะคงอยู่ เนื่องจากใช้อำนาจมากกว่าความเป็นธรรม”

พระมหาไพรวัลย์ร่ำไห้ว่าจะไม่ย้ายไปอยู่วัดอื่น เพราะไม่ใช่วิธีรักษาความเป็นธรรมให้พระราชปัญญาสุธี และหากสึกก็จะไปดูแลแม่ที่เป๊นมะเร็ง และจะทำประโยชน์ในฐานะฆราวาส

"ส่วนคนที่บอกว่า อย่าสึกเลย ก็อยากให้เป็นไปตามเจกปัจจัยของมัน และอยากให้รอดูเร็วๆ นี้ ว่าจะเป็นอย่างไร" 

ที่มา :  Sirote Klampaiboon (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์) 

FB Page :  พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ

"ชีวิตคือความคุ้มค่าและคุ้มค่าอย่างไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น..." (พส)

"ชีวิตคือความคุ้มค่าและคุ้มค่าอย่างไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น..." (พส)


ชีวิตคือความคุ้มค่าและคุ้มค่าอย่างไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหรือสถานะแบบไหน มันก็คือชีวิต คือความมีศักศรีและงดงาม อย่างเท่าๆ กัน 

จะอยู่อย่างไรไม่สำคัญเลยนะ ไม่สำคัญเท่ากับว่า สถานะที่เราอยู่นั้น เราพึงใจสมัครใจ หรือสามารถกำหนดมันได้ตามอย่างที่เจตจำนงค์ในใจของเราเรียกร้องต้องการหรือเปล่า

ปล.  แท้จริงแล้ว มากกว่าการตอบคำถามคนอื่น เราควรตอบคำถามตัวเองให้มากๆ ว่า ก่อนที่จะตายลงในไม่ช้า ทุกวันนี้ เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรกัน เพื่อตัวเรา เพื่อคนที่รัก หรือเพื่ออะไร ?

Credit:  พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ 




สวยแต่รูปจูบไม่หอม

สวยแต่รูปจูบไม่หอม

รูปโยพฺพนฺนสมฺปนฺนา,   วิสาลกุลสมฺภวา;

วิตฺยาหีนา  น  โสภนฺติ,    นิคนฺธาอิว  กึสุกา.

คนผู้ถึงพร้อมด้วยทั้งรูปและวัย,  และยังเกิดในตระกูลใหญ่ร่ำรวย;   แต่ขาดวิชาความรู้ ย่อมไม่งาม,  เหมือนดอกทองกวาวไร้กลิ่น ฉะนั้น.

(ธรรมนีติ สิปปกถา ๒๐, โลกนีติ ๓๖, กวิทัปปณนีติ ๒๘, จาณักยนีติ ๗)

ศัพท์น่ารู้ :

รูปโยพฺพนฺนสมฺปนฺนา (ผู้ถึงพร้อมด้วยรูปและความหนุ่มสาว) รูป+โยพฺพน+สมฺปนฺน > รูปโยพฺพนสมฺปนฺน+โย

วิสาลกุลสมฺภวา (ผู้สมภพในตระกูลไพศาล, ผู้เกิดในตระกูลใหญ่, -สกุลดัง) วิสาล+กุล+สมฺภว > วิสาลกุลสมฺภว+โย

วิตฺยาหีนา (ผู้ทรามด้วยวิชา, ขาดความรู้) วิตฺยา+หีน > วิชฺชาหีน+โย, หีน (เลว, ต่ำช้า, ทราม) ค. วิ. วิตฺยา หีนา อสฺสาติ วิชฺชาหีโน (วิตฺยาหีนะ คือ ผู้มีวิชาทราม) เป็นฉัฏฐีพหุพพีหิสมาส, หรือ วิ. วิตฺยาย หีโน วิตฺยาหีโน (ผู้ทรามแล้ว ด้วยความรู้ ชื่อว่า วิชชาหีนะ) เป็นตติยาตัปปุริสสมาส. (รู ๓๕๑, ๓๕๒)

น (ไม่, หามิได้) เป็นนิบาตบอกปฏิเสธ

โสภนฺเต (ย่อมงาม) √สุภ+อ+อนฺเต ภูวาทิ. กัตตุ.

นิคฺคนฺธา (ไม่มีกลิ่น, ไร้กลิ่น) นิคฺคนฺธ+โย, ศัพท์ที่เกี่ยวกับกลิ่น เช่น สุคนฺธ (กลิ่นหอม), ทุคฺคนฺธ (กลิ่นเหม็น)

อิว (ดุจ, ราวกะ, เหมือน) นิบาตบอกอุปมา

กึสุกา (ต้นทองกวาว) กึสุก+โย, ต้นทองกวาวเป็นต้นไม้ที่มีดอกสวยงาม แต่ไม่มีกลิ่น จึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับคนในที่นี้.

อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

ผู้มีรูปงามกำลังหนุ่ม ทั้งสมภพ  ในสกุลอันไพศาล แต่ไร้วิทยาแล้ว  ก็หมดสง่าเหมือนดอกกึสุกะ  (ทองกวาว) ไม่มีกลิ่นฉะนั้น ฯ

อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

คนรูปงามนามเพราะ กำลังหนุ่มแน่น  ทั้งเกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง  แต่ความรู้ทราม กลับไม่งามเลย  เหมือนดอกทองกวาวที่ปราศจากกลิ่น ฉะนั้น.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

(3) อ่านหัวข้อ ๓. ปัญญากถา - แถลงปัญญา   4. สุตกถา - แถลงความรู้

ศิลปศาสตร์ ๑๘ แขนง, 👉อ่านหัวข้อ 1. อาจริยกถา - แถลงอาจารย์

(2) อ่านหัวข้อ 2. สิปปกถา - แถลงศิลปะ 👇

27. เหมือนคนใบ้นอนฝัน , 26. คนกับโคต่างกันอย่างไร ,  25.  ตำรา : ดาบสองคม ,  24.  คนโง่ชอบโอ้อวด , 23.  ควรรู้ไว้ใช้ให้เป็น , 22. ความดีย่อมไปสู่คนดี ,  21. พ่อแม่ที่เป็นศัตรูของลูก , 20. สวยแต่รูปจูบไม่หอม , 19. ลูกเอ๋ย! อย่าเกียจคร้าน , 18. พระราชาและนักปราชญ์ ,  17. ศิลป์ดีกว่าทรัพย์ , 16. จะมีมาแต่ไหน , 14-15. ศิลปศาสตร์ ๑๘ แขนง

(1) อ่านหัวข้อ 1. อาจริยกถา - แถลงอาจารย์👇

(1-3) ปณามคาถาและคำปฏิญญา,  (4) อายครูไม่รู้วิชา (5) คนเขลาที่น่าขัน,  (6) วัตร ๕ อย่างที่ศิษย์ควรทำ,  (7-8) ครูคือแบบอย่างของศิษย์,  (9) รู้ให้แน่-แก้ให้เป็น,  (10) ถึงจะไกลก็ควรไป,  (11) ร่มแห่งความสุข, (12) ทั้งหนักและน่าเชื่อถือ, (13) คนเบากว่านุ่น


เจตนากรรมที่ก่อให้เกิดวิบาก

เจตนากรรมที่ก่อให้เกิดวิบาก 

“เจตนา” (หมายเอา เจตนาเจตสิก) ประกอบได้ในจิต ๘๙/๑๒๑ ดวง แต่ที่ก่อให้เกิดวิบากได้ ตามที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เจตนาหํ  ภิกฺขเว  กมฺมํ  วทามิ…”, ได้แก่เจตนาที่อยู่ใน

– โลกียชวนะ ๒๙ (อกุศลจิต๑๒, มหากุศลจิต๘, มหัคคตกุศลจิต๙)

– ส่วนเจตนาที่ในมรรคจิต ๔ /๒๐ ก่อให้เกิดวิบากได้เช่นกัน คือผลจิต ทั้งที่เกิดต่อจากมรรคจิตในมรรควิถี และเกิดภายหลังมรรควิถีนั้นดับลงแล้ว คือเกิดในขณะที่พระอริยบุคคลนั้น ๆ เข้าผลสมาบัติ (ผลสมาปัตติวิถี).

*เจตนาที่อยู่ในจิตนอกจากที่กล่าวมานี้ ได้แก่เจตนาที่อยู่ใน วิปากจิต ๓๖, กริยาจิต ๒๐ ไม่ก่อให้เกิดผลในลักษณะที่เป็นผลพิเศษดุจเจตนาในจิต ๓๓ (๒๙+๔) ดวงที่กล่าวมา (ไม่ขอกล่าวในที่นี้)

“เจตนา” ที่ในจิต ๓๓ ดวงนั้น (โลกียะชวนะ ๒๙ + มรรคจิต ๔) ให้ผลชนิดพิเศษ ได้เหมือนกัน ก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้ คือ

๑) เจตนาในโลกียชวนะจิต ๒๙ นั้น ย่อมก่อวิบาก หรือผล ได้แก่ โลกียวิปากจิต ๓๒, เจตสิก ๓๕, กัมมชรูป ๑๘ ให้เป็นไปใน ๒ กาล คือ

– “ในปฏิสนธิกาล” คือ โลกียวิปากจิต ๓๒ ส่วนหนึ่งจัดเป็นปฏิสนธิวิญญาณ ๑๙ ดวง คือ สามารถทำหน้าที่ปฏิสนธิสืบต่อภพใหม่ ในขณะแห่งปฏิสนธิกาลได้ ก่อให้เกิดสัตว์ขึ้นในภพภูมิต่าง ๆ ๓๐ ภูมิ, และกัมมชรูปบางส่วน (ชีวิตนวกกลาป) ก็ทำหน้าที่ปฏิสนธิให้กับอสัญญีสัตว์ในอสัญญสัตตภูมิได้อีก ๑ ภูมิ รวมเป็นภูมิทั้งหมด ๓๑ ภูมิ

– “ในปวัตติกาล” นอกจากนี้ โลกียวิบาก ๓๒, เจตสิกที่ประกอบ และกัมมชรูป ยังเกิดได้ในปวัตติกาลอีก เช่น จักขุวิญญาณจิต, จักขุปสาท เป็นต้น…

๒) เจตนา ที่ในมรรคจิต ๔ หรือ ๒๐ ย่อมก่อให้เกิดผล หรือวิบากได้เช่นกัน ได้แก่ ผลจิต ๔ หรือ ๒๐ เจตสิก ๓๖, ซึ่งผลจิต ๔ หรือ ๒๐ นี้ เกิดได้ ๒ ลักษณะ คือ

– เกิดติดกันกับมรรคจิตในมรรควิถี คือ เมื่อมรรจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วดับลง ผลจิตก็เกิดติดต่อกันทันที่ ๒ หรือ ๓ ขณะ แล้วแต่มันทะหรือติกขบุคคล, ผลจิตในมรรควิถีนี้ ต้องเกิดต่อจากมรรคจิต

– เกิดภายหลังแต่มรรควิถีนั้น ดับลงแล้ว คือ เกิดคนละวิถีกับมรรคจิต เป็นการเกิดภายหลังที่พระอริยบุคคลนั้น ๆ เข้าผลสมาบัติ, ผลจิตของพระอริยบุคคลนั้น ๆ ก็จะเกิดขึ้นติดต่อกันจำนวนมากมาย…ซึ่งผลจิตที่เกิดในผลสมาบัติวิถีนี้ เป็นการเกิดขึ้นโดยลำพังไม่ต้องอาศัยมรรคจิตเกิดก่อนเหมือนอย่างในมรรควิถี

อนึ่ง ผลจิต ๔ /๒๐ ทีเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในมรรควิถี หรือในผลสมาบัติวิถีก็ดี ผลจิตนั้นทำหน้าที่อย่างเดียว คือ “ชวนะ” ซึ่งแตกต่างจากโลกียะวิบาก ๓๒ ที่เกิดจากกามชวนะ ๒๙, คือ ในโลกียวิบาก ๓๒ นั้น ไม่มีดวงใดทำหน้าที่ชวนะได้เลย มีแต่ทำหน้าที่อื่น ๆ คือ ทัสสนกิจ, สวนกิจ, ฆายนกิจ, สายนกิจ, ผุสนกิจ, สัมปฏิจฉนกิจ, สันตีรณกิจ, ตทารัมมณกิจ หรือทำหน้าที่นอกวิถี ได้แก่ ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, และจุติกิจ ฯ

ความแตกต่างกันอีกอย่างหนึ่ง ของโลกียะเจตนากรรม ๒๙ กับ โลกุตตรมรรคเจตนา ๔ หรือ ๒๐ ได้แก่

๑) โลกียเจตนากรรม ๒๙ ได้ชื่อว่า “วัฏฏคามีอกุศลกรรม” บ้าง “วัฏฏคามีกุศลกรรม” บ้าง เพราะเป็นกรรมที่เป็นไปในวัฏฏะ หรือก่อผลให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ เหตุเพราะถูกกำหนดด้วยตัณหา ๓ คือ กามตัณหา, รูปตัณหา, อรูปตัณหา

๒) ส่วนเจตนาในมรรคจิต ๔ หรือ ๒๐ ได้ชื่อว่า “วิวัฏฏคามีกุศลกรรม” เป็นกรรมที่ไม่เป็นไปในวัฏฏะ เพราะไม่ถูกกำหนดด้วยตัณหาทั้ง ๓ คือไม่เป็นอารมณ์ของตัณหาทั้ง ๓ นั่นเอง ฯ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

_____

ภาพ : "อุโบสถมหาปรินิพพาน" วัดท่าไม้ จ.สมุทรสาคร

ประดิษฐาน "พระมหาปรินิพพาน" ปางปรินิพพาน แกะสลักจากหินทราย ล้อมด้วยปัญจวคีย์ทั้ง 5 และประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง พระเกตุเป็นทองคำ ประดับด้วยเพชร พลอย อีกทั้งอัญมณีตระการตา 


สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (5)

สังฆโสภณ  (ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม)

(วันนี้นำเสนอเป็นบทที่ ๕ บทสรูป)

บทที่ ๕ เตสํ เถรานํ วจนสฺส สุภาสิตภาวกถา (ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงรับรองคำของพระเถระเหล่านั้นว่าเป็นสุภาษิต)

ดังพระพุทธพจน์ว่า  

“เอวํ  วุตฺเต  อายสฺมา  สารีปุตฺโต  ภควนฺตํ  เอตทโวจ   “กสฺส   นุ  โข  ภนฺเต  สุภาสิตนฺติ  ฯ   “สพฺเพสํ  โว  สารีปุตฺต  สุภาสิตนฺติ”  ฯ  

แปลว่า  “เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “คำของใครหนอเป็นสุภาษิต พระพุทธเจ้าข้า” ฯ  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร คำของเธอทั้งหมดเป็นสุภาษิต” ดังนี้ 

เพราะฉะนั้น ข้อสรูปในบทที่ ๕ นี้ คือ ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงามนั้น ต้องประกอบด้วยคุณเหล่านี้ คือ

๑. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นพหูสูต คือเป็นผู้คงแก่เรียน, เป็นผู้ทรงสุตะ คือทรงจำพระธรรมคำสั่งสอนไว้ได้, เป็นผู้สั่งสมสุตะ คือเรียนพระพุทธพจน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถศึกษาเล่าเรียนได้ นี้เป็นทรรศนะของพระอานนท์เถระ

๒. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นผู้ยินดีในความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน หมั่นประกอบวิปัสสนาเนืองนิตย์  นี้เป็นทรรศนะของพระเรวตเถระ

๓. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ คือ ความฉลาดที่จะมองเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ดังคำว่า “ตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์”  นี้เป็นทรรศนะของพระอนุรุทธเถระ

๔. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในทางปฏิบัติ มิใช่เพียงสอนสั่งเท่านั้น ดังคำว่า  “ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร” ดังนี้เป็นต้น นี้เป็นทรรศนะของพระมหากัสสปเถระ

๕. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นพระธรรมกถึก สามารถกล่าวอภิธรรมกถาอันเป็นธรรมที่สุขุมละเอียดอ่อนในพระบวรพุทธศาสนาได้ คือ ต้องศึกษาเล่าเรียนจนจบถึงพระอภิธรรมปิฎกให้ได้ด้วยตนเองและสามารถสอนผู้อื่นสืบต่อได้ด้วย  นี้เป็นทรรศนะของพระมหาโมคคัลลานเถระ (ข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ พระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้เลิศด้วยฤทธิ์ แต่ท่านสรรเสริญคุณแห่งการศึกษา มิได้สรรเสริญการแสดงฤทธิ์ เพราะพระพุทธเจ้าก็เคยตรัสว่าการแสดงฤทธิ์ไม่สามารถทรงพระศาสนาของพระองค์ให้ยืนนานได้)

๖. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นผู้ทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต คือ รู้จักสละปล่อยวาง อยู่ด้วยวิหารสมาบัติมีเมตตากรุณาเป็นอาทิ อันเป็นธรรมเครื่องอยู่ทั้งที่เป็นโลกียะหรือเป็นโลกุตตระ นี้เป็นทรรศนะของพระสารีบุตรเถระ

และ ๗. พระพุทธองค์ตรัสเพิ่มเติมด้วยพระองค์เองว่า “แต่เธอทั้งหลายจงฟังคำของเรา หากมีคำถามว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เราจักตอบว่า ‘สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้กลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าว่า ‘จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น (และ) ไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น’ สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

เพราะฉะนั้น บทสรูปในพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า คือภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นผู้ประกอบด้วยความเพียร ตนยังไม่อยู่จบพรหมจรรย์ตราบใด ต้องมีความเพียรหมั่นบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ได้ตราบเท่าชีวิตจะสิ้นไปตราบนั้นนั่นเอง

(สงฺฆโสภณกถา จบบริบูรณ์ ขออนุโมทนาที่อ่าน)

สาระธรรมจากมหาโคสิงคสูตร, พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ),  29/10/64

สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (1),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (2),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (3),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (4),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (5)

ภาพ :  วัดพุทธพรหมปัญโญ-วัดถ้ำเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

File Photo:  Wat Thum Muang Na which is now also known as Wat Phuttha Phrom Panyo, Chiang Dao District, Chiang Mai Province, in Northern Thailand.


สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (4)

สังฆโสภณ (ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม) 

(วันนี้นำเสนอเป็นบทที่ ๔ )

บทที่ ๔ เทฺวอคฺคสาวกปญฺหาพฺยากรณกถา (ว่าด้วยการตอบปัญหาของพระอัครสาวกทั้งสอง)

เมื่อพระสารีบุตรเถระถามพระอานนท์ พระเรวตะ พระอนุรุทธะ และพระมหากัสสปะว่า “ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร” พระเถระเหล่านั้นได้ตอบแล้วตามทรรศนะของตนๆ ต่อไปนี้เป็นทรรศนะของพระอัครสาวกทั้งสอง

(ทรรศนะของพระมหาโมคคัลลานเถระ)

เมื่อท่านพระมหากัสสปะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า “ท่านโมคคัลลานะ ท่านมหากัสสปะตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้ ผมขอถามท่านมหาโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

พระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นผู้ใหญ่ปรากฏมีชื่อเสียงด้วยคุณมีศีลเป็นต้น จริงอยู่ ในเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหาโมคคัลลานะเป็นยอดแห่งภิกษุสาวกผู้มีฤทธิ์ของเรา”

ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูปในพระธรรมวินัยนี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ รูปนั้น ถามปัญหากันและกันแล้ว ย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมีกถาของเธอทั้ง ๒ นั้นก็ดำเนินต่อไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

(ทรรศนะของพระสารีบุตร)

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า “ท่านสารีบุตร พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้ ผมขอถามท่านสารีบุตรในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

ท่านพระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เป็นใหญ่มีชื่อเสียงในพระพุทธศาสนาด้วยคุณมีศีลเป็นต้นของตน คือปรากฏเหมือนพระอาทิตย์และพระจันทร์อยู่ท่ามกลางท้องฟ้าอันปรากฏแก่ผู้มีจักษุ และเหมือนสาครปรากฏแก่ผู้ยืนอยู่บนฝั่งแห่งมหาสมุทรฉะนั้น  จริงอยู่ ในเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรเป็นยอดแห่งภิกษุสาวกผู้มีปัญญาของเรา”

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ (ของตน) และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น 

หีบผ้าของพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมแล้วเป็นสีต่างๆ พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเช้า ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเช้า หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเที่ยง หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเย็น ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเย็น แม้ฉันใด 

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ (ของตน) และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

เพราะฉะนั้น ข้อสรูปในบทที่ ๔ นี้ คือ ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงามนั้น ต้องประกอบด้วยคุณเหล่านี้ คือ

๑. เป็นพระธรรมกถึก สามารถกล่าวอภิธรรมกถาอันเป็นธรรมที่สุขุมละเอียดอ่อนในพระบวรพุทธศาสนาได้ คือต้องศึกษาเล่าเรียนจนจบถึงพระอภิธรรมปิฎกให้ได้ด้วยตนเองและสามารถสอนผู้อื่นสืบต่อได้ด้วย

๒. ทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต คือรู้จักสละปล่อยวาง อยู่ด้วยวิหารสมาบัติมีเมตตากรุณาเป็นอาทิ อันเป็นธรรมเครื่องอยู่ทั้งที่เป็นโลกียะหรือเป็นโลกุตตระ

(พรุ่งนี้อ่านต่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงรับรองทรรศนะของพระมหาเถระทั้งหลายเหล่านั้นอย่างไร)

สาระธรรมจากมหาโคสิงคสูตร

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) 

28/10/64



ภาพ : "พระนอน" วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ

ไหว้พระนอนใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร เชื่อกันว่า จะทำให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขดั่งร่มโพธิ์ พระปางไสยาสน์องค์นี้โดดเด่นด้วยพุทธศิลป์ มีพระพักตร์ที่งดงาม และฝีมือของการฝังมุกที่พระบาทขององค์พระ




วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"ดีกับเขา แค่เท่าที่เขาดีกับเรา" -พ.ส.

"ดีกับเขา แค่เท่าที่เขาดีกับเรา"

ดีกับเขา แค่เท่าที่เขาดีกับเรา ถ้าเมื่อไหร่เขาไม่กับดีกับเราแล้ว ก็ให้หยุดให้เลิก ไม่ต้องไปพยายามทำดีเพียงเพื่อเอาใจคนอื่น

อย่าเอาแต่สนใจคนอื่นมากนักเลย อย่าคบหาใคร แล้วยอมให้เขาข่มเหงเอาเปรียบ รักตัวเองบ้าง ปกป้องตัวเองบ้าง

ใครใคร่คบก็ให้เขาคบ ใครไม่ใคร่คบ ก็เปิดประตูเชิญเขาออกจากชีวิตเราไป  นตฺถิ  พาเล  สหายตา  ความเป็นมิตรไม่มีในหมู่คนพาล  พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้เช่นนี้

ใช้ชีวิตอย่าให้มันยุ่งยาก อย่าปล่อยให้ตัวเองต้องอดทนหรือลำบาก ไม่ว่ากับอะไรก็ตามที่อดทนหรือลำบากแล้ว ตัวเราเองก็ไม่เคยได้อะไร

Credit:  พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ


การไม่ให้ใช้ฉันท์ ในการถ่ายทอดคำสอน

การไม่ให้ใช้ฉันท์ (ซึ่งเป็นร้อยกรองที่พราหมณ์และชนชั้นสูงใช้กันในวงจำกัดและถือว่าศักดิ์สิทธิ์) ในการถ่ายทอดคำสอน

[ณ กรุงสาวัตถี ภิกษุพี่น้อง 2 รูป คือ เมฏฐะและโกกุฏฐะซึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ ได้เข้าไปหาพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า]

ภ:  เวลานี้ ภิกษุต่างชาติต่างโคตรต่างสกุลได้พากันเข้ามาบวช ซึ่งภิกษุเหล่านี้จะทำให้คำพูดของพระพุทธเจ้าผิดเพี้ยนไปเพราะต่างก็ใช้ภาษาของตัวเองในการเรียนและถ่ายทอด พวกเรามาใช้ฉันท์ในการถ่ายทอดคำสอนของท่านดีกว่า

พ:  พวกเธอเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ ทำไมถึงคิดจะใช้ฉันท์ (ซึ่งเป็นร้อยกรองที่พราหมณ์และชนชั้นสูงใช้กันในวงจำกัดและถือว่าศักดิ์สิทธิ์) ในการถ่ายทอดคำสอนของเรา การทำแบบนี้ไม่ได้ทำให้คนหันมาเลื่อมใส

ภิกษุทั้งหลาย คำสอนของเราจะไม่ใช้ฉันท์ในการถ่ายทอด ภิกษุรูปใดใช้จะต้องอาบัติ เราอนุญาตให้เรียนคำสอนของเราโดยใช้ภาษาของตัวเองได้

_________

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 9 (พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 ขุททกวัตถุขันธกะ เรื่องทรงห้ามยกพุทธวจนะขึ้นโดยฉันท์), 2559, น.68-69

(ดูประกอบ The Life of the Buddha: According to the Pali Canon - Bhikkhu Nanamoli (แปลจากพระไตรปิฎกบาลี), 2017 printing, น.173

กำเนิดหมอชีวกโกมารภัจจ์ (ตอนที่ 1),  (ตอนที่ 2),  (ตอนที่ 3),   (ตอนที่ 4)หมอรักษาพระพุทธเจ้า,  ไม่ฉันเนื้อใน 3 กรณีเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม,  พระพุทธเจ้ารับการรักษาและรับจีวรจากหมอชีวกโกมารภัจจ์,  ตถาคตเลิกให้พรแล้วคุณ 5 ข้อของการนอนแบบมีสติรู้ตัว,  แก้ปัญหาภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน (ตอนที่ 1),  (ตอนที่ 2),  (ตอนที่ 3),  (ตอนที่ 4),   (ตอนที่ 5),  (ตอนจบ),  "คว่ำบาตร" มีที่มาอย่างไร,  เรื่องไม้ชำระฟัน




นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ

นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ

"นิคฺโรธเมว  เสเวยฺย,     น  สาขมุปสํวเส;

นิคฺโรธสฺมึ  มตํ  เสยฺโย,    ยญฺเจ  สาขสฺมิ [1]  ชีวิตนฺติ ฯ

ท่านหรือคนอื่นก็ตาม พึงคบหาแต่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธเท่านั้น, ไม่ควรเข้าไปอาศัยอยู่กับพระยาเนื้อชื่อว่าสาขะ, ความตายในสำนักพระยาเนื้อนิโครธประเสริฐกว่า,  การมีชีวิตอยู่ในสำนักพระยาเนื้อสาขะจะประเสริฐอะไร."

[สาขสฺมึ (สี. ปี.)]

นิโครธมิคชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวันทรงปรารภภิกษุณีผู้เป็นมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  นิโคฺรธเมว  เสวยฺย  ดังนี้.

 ได้ยินว่า ภิกษุณีนั้นได้เป็นธิดาของเศรษฐีผู้มีทรัพย์มากในนครราชคฤห์ มีกุศลมูลหนาแน่น มีสังขารอันย่ำยีแล้ว เป็นปัจฉิมภวิกสัตว์(สัตว์ผู้มีภพสุดท้าย) อุปนิสัยแห่งพระอรหัตโพลงอยู่ในหทัยของนาง เหมือนประทีปโพลงอยู่ภายในหม้อ ฉะนั้น. 

ครั้งนั้น จำเดิมแต่กาลที่รู้จักตนแล้วธิดาของเศรษฐีนั้น ไม่ยินดีในเรือน มีความประสงค์จะบวช จึงกล่าวกะบิดามารดาว่า „ข้าแต่คุณพ่อและคุณแม่ จิตใจของข้าพเจ้าไม่ยินดีในฆราวาสข้าพเจ้ามีความประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ท่านทั้งหลายจงให้ข้าพเจ้าบวชเถิด“. 

บิดามารดากล่าวว่า „แม่ เจ้าพูดอะไร ตระกูลนี้มีทรัพย์สมบัติมากและเจ้าก็เป็นธิดาคนเดียวของเราทั้งหลาย เจ้าไม่ควรจะบวช“. นางแม้จะอ้อนวอนอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่ได้การบรรพชาจากสำนักของบิดามารดา จึงคิดว่า „ช่างเถอะ เราไปตระกูลสามียังสามีให้โปรดปรานแล้วจักบวช". นางเจริญวัยแล้วไปยังตระกูลสามีเป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมครองเหย้าเรือน. 

ลำดับนั้น เพราะอาศัยการอยู่ร่วม นางก็ตั้งครรภ์. นางไม่รู้ว่า ตั้งครรภ์. ครั้งนั้น เขาโฆษณางานนักขัตฤกษ์ในพระนคร ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันเล่นงานนักขัตฤกษ์. พระนครได้มีการประดับตกแต่งเหมือนดังเทพนครก็เมื่อการเล่นนักขัตฤกษ์แม้จะใหญ่ยิ่งเพียงนั้น เป็นไปอยู่ นางก็ไม่ลูบไล้ร่างกายของตน ไม่ประดับประดา เที่ยวไปด้วยเพศตามปกตินั่นเอง. 

ลำดับนั้น สามีกล่าวกะนางว่า „นางผู้เจริญ นครทั้งสิ้นอาศัยนักขัตฤกษ์ แต่เธอไม่ปฏิบัติร่างกาย ไม่ทำการตกแต่ง เพราะเหตุไร?“.   นางจึงกล่าวว่า „ข้าแต่ลุกเจ้าร่างกายเต็มด้วยซากศพ ๓๒ ประการทีเดียว ประโยชน์อะไรด้วยร่างกายนี้ที่ประดับแล้ว เพราะกายนี้ เทวดา พรหมไม่ได้นิรมิต ไม่ใช่สำเร็จด้วยทองด้วยแก้วมณี ด้วยจันทน์เหลือง 

ไม่ใช่เกิดจากห้องแห่งดอกบุณฑริก ดอกโกมุทและดอกอุบลเขียว แต่เต็มไปด้วยคูถ ไม่สะอาด ไม่ใช่เต็มด้วยอมฤต โอสถ โดยที่แท้ เกิดในซากศพ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด.   มีการขัดสีและการนวดฟั้นเป็นนิตย์และมีการแตกทำลายและการกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา รกป่าช้า อันตัณหายึดจับ เป็นเหตุแห่งความโศก เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งความร่ำไร เป็นที่อยู่อาศัยแห่งโรคทั้งปวง  เป็นที่รับเครื่องกรรมกรของเสียภายในไหลออกภายนอกเป็นนิตย์ เป็นที่อยู่ของหมู่หนอนหลายตระกูลจะไปยังป่าช้า มีความตายเป็นที่สุด แม้จะเปลี่ยนแปลงไปในคลองจักษุของชาวโลกทั้งปวง 

(ก)  กายประกอบด้วยกระดูกและเอ็น ฉาบทาด้วยหนังและเนื้อ เป็นกายที่ถูกผัวหนึ่งปกปิดไว้ ไม่ ปรากฏตามความเป็นจริง.   (ข)  เต็มด้วยลำไส้ใหญ่ เต็มด้วยท้องด้วยตับ หัวไส้ เนื้อหัวใจ ปอด ไต ม้าม.  (ค)  น้ำมูก นำลาย เหงื่อ มันข้นเลือด ไขข้อ ดีและมันเหลว.  (ฆ)  เมื่อเป็นเช่นนั้น ของไม่สะอาดย่อมไหลออกจากช่อง ทั้ง ๙ ของกายนั้นทุกเมื่อ คือ ขี้ตาไหลออกจากตา ขี้หูไหลออกจากหู.  (ง)  และน้ำมูกไหลออกจากจมูก บางคราวออกทางปาก ดีและเสมหะย่อมไหลออกจากกาย เป็นหยดเหงื่อ. 

(จ)  เมื่อเป็นอย่างนั้นศีรษะของกายนั้นเป็นโพรงเต็มด้วยมันสมอง คนพาลถูกอวิชชาห่อหุ้ม จึงสำคัญโดยความเป็นของงดงาม. (สุ.นิ. ๑๙๖-๒๐๑)   (ฉ)  กายมีโทษอนันต์ เปรียบเสมอด้วยต้นไม้พิษเป็นที่อยู่ของสรรพโรคล้วน เป็นของทุกข์. (อป. เถร ๒.๕๔.๕๕)   (ช)  ถ้ากลับเอาภายในของกายนี้ออกข้างนอก ก็จะต้องถือท่อนไม้คอยไล่กาและสุนัขเป็นแน่.   (ฌ)  กายไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เป็นดังซากศพ เปรียบเหมือนส้วม ผู้มีจักษุติเตียน แต่คนเขลาเพลิดเพลิน.   (ญ)   อันหนังสดปกปิดไว้ไม้ทวาร ๙ แผลใหญ่ ของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ไหลออกรอบด้าน. (วิสุทธิ. ๑.๑๒๒) 

ข้าแต่ลูกเจ้า ! ข้าพเจ้าจักประดับประดาร่างกายนี้ทำอะไร? การกระทำความประดับกายนี้ ย่อมเป็นเหมือนกระทำจิตรกรรมภายนอกหม้อ ซึ่งเต็มด้วยคูถ“.   เศรษฐีบุตรได้ฟังคำของนางดังนั้นจึงกล่าวว่า „นางผู้เจริญ เธอเห็นโทษทั้งหลายอย่างนี้แห่งร่างกายนี้ เพราะเหตุไรจึงไม่บวช?“. 

นางกล่าวว่า „ข้าแต่พระลูกเจ้าข้าพเจ้าเมื่อได้บวช จะบวชวันนี้แหละ".   เศรษฐีบุตรกล่าวว่า "ดีแล้ว ฉันจักให้เธอบวช“. แล้วบำเพ็ญมหาทาน กระทำมหาสักการะแล้วนำไปสำนักของภิกษุณีด้วยบริวารใหญ่ เมื่อจะให้นางบวชได้ให้บวชในสำนักของภิกษุณีผู้เป็นผูกฝ่ายของพระเทวทัต. นางได้บรรพชาแล้วมีความดำริเต็มบริบูรณ์ ดีใจแล้ว. 

ครั้งนั้น เมื่อครรภ์ของนางแก่แล้ว ภิกษุณีทั้งหลายเห็นความที่อินทรีย์ทั้งหลายแปรเป็นอื่นไป ความที่หลังมือและเท้าบวมและความที่พื้นต้องใหญ่จึงถามนางว่า „แม่เจ้า เธอปรากฏเหมือนมีครรภ์ ที่อะไรกัน ?“  ภิกษุณีนั้นกล่าวว่า „แม่เจ้าทั้งหลายข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่า เหตุชื่อนี้ แต่ศีลของข้าพเจ้ายังบริบูรณ์อยู่“. 

ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นจึงนำนางภิกษุณีนั้นไปยังสำนักของพระเทวทัต ถามพระเทวทัตว่า „ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า กุลธิดานี้ยังสามีให้โปรดปรานได้โดยยาก จึงได้บรรพชา, ก็บัดนี้ ครรภ์ของนางปรากฏ, ข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รู้ว่า กุลธิดานี้ได้ตั้งครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ หรือในเวลาบวชแล้ว, บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายจะกระทำอย่างไร?“. 

เพราะความที่คนไม่รู้และเพราะขันติ เมตตาและความเอ็นดูไม่มีพระเทวทัตจึงคิดอย่างนี้ว่า ความครหานินทาจักเกิดแก่เราว่า „ภิกษุณีผู้อยู่ในฝ่ายของพระเทวทัตมีครรภ์ แต่พระเทวทัตกลับเพิกเฉยเสีย เราให้ภิกษุณีนี้สึกจึงจะควร“. 

พระเทวทัตนั้นไม่พิจารณาแล่นออกไปเหมือนกลิ้งก้อนหินกล่าวว่า „พวกท่านจงให้ภิกษุณีนั้นสึก“.   ภิกษุณีเหล่านั้นฟังคำของพระเทวทัตแล้ว ลุกขึ้นไหว้แล้วไปยังสำนัก. 

ลำดับนั้น ภิกษุณีสาวนั้นกล่าวกะภิกษุณีทั้งหลายว่า „แม่เจ้าทั้งหลาย พระเทวทัตเถระไม่ใช่พระพุทธเจ้า การบรรพชาของเราในสำนักของพระเทวทัตนั้น ก็หามิได้, ก็บรรพชาของเราในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบุคคลเลิศขึ้นโลก, อนึ่ง บรรพชานั้น เราได้โดยยาก, ท่านทั้งหลายอย่าทำให้การบรรพชานั้นอันตรธานหายไปเสียเลย, มาเถิดท่านทั้งหลาย จงพาเราไปยังพระเชตวัน ในสำนักของพระศาสดา“. 

ภิกษุณีทั้งหลายจึงพาภิกษุณีสาวนั้นไปจากกรุงราชคฤห์สิ้นหนทาง ๔๕ โยชน์ถึงพระเชตวันมหาวิหารโดยลำดับถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ.

พระศาสดาทรงพระดำริว่า „ภิกษุณีนี้ตั้งครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์โดยแท้ แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น, พวกเดียรถีย์จักได้โอกาสว่า „พระสมณโคดมพาภิกษุณีที่พระเทวทัตทิ้งแล้วเที่ยวไปอยู่, เพราะฉะนั้น เพื่อจะตัดถ้อยคำนี้ควรจะวินิจฉัยอธิกรณ์นี้ในท่ามกลางบริษัทซึ่งมีพระราชา“. 

ในวันรุ่งขึ้น จึงให้ทูลเชิญพระเจ้าโกศลและเชิญมหาอนาถบิณฑิกเศรษฐี จูฬอนาถบิณฑิกเศรษฐีนางวิสาขามหาอุบาสิกาและตระกูลใหญ่ ๆ อื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง, ในเวลาเย็นเมื่อบริษัททั้ง ๔ ประชุมกันแล้วจึงตรัสเรียกพระอุบาลีเถระมาว่า „เธอจงไปชำระกรรมของภิกษุณีสาวนี้ ในท่ามกลางบริษัท ๔“. 

พระเถระทูลรับพระดำรัสแล้วจึงไปยังท่ามกลางบริษัท นั่งบนอาสนะที่เขาตกแต่งไว้เพื่อตนแล้วให้เรียกนางวิสาขาอุบาสิกามาตรงเบื้องพระพักตร์ของพระราชา ให้รับอธิกรณ์นี้ว่า „ดูก่อนวิสาขา ! ท่านจงไป จงรู้โดยถ่องแท้ว่า ภิกษุณีสาวนี้บวชในเดือน โน้น วันโน้นแล้วจงรู้ว่า เธอได้มีครรภ์นี้ก่อนหรือหลังบวช“. 

มหาอุบาสิการับคำแล้วจึงให้วงม่าน ตรวจดูที่สุดมือ เท้า สะดือและต้องของภิกษุณีสาวภายในม่าน นับเดือนและวัน รู้ว่า นางได้ตั้งครรภ์ในภาวะเป็นคฤหัสถ์โดยถ่องแท้ จึงไปยังสำนักของพระเถระแล้วบอกเนื้อความนั้น.

พระเถระได้กระทำภิกษุณีนั้นให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ในท่ามกลางบริษัท ๔. ภิกษุณีนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วไหว้ภิกษุสงฆ์และถวายบังคมพระศาสดาแล้วไปยังสำนักนั่นแล พร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย.  ภิกษุณีนั้น อาศัยครรภ์แก่แล้วได้ตลอดบุตรมีอานุภาพมาก ผู้ตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ. 

ครั้นวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปโดยใกล้ ๆ สำนักของภิกษุณีได้ทรงสดับเสียงทารก จึงตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลาย. อำมาตย์ทั้งหลายรู้เหตุนั้น จึงกราบทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพ ภิกษุณีสาวนั้น ตลอดบุตรแล้ว นั่นเสียงของบุตรภิกษุณีสาวนั้นนั่นเอง“.  พระราชาตรัสว่า „แน่ะพนาย ชื่อว่าการปรนนิบัติทารกเป็นเครื่องกังวลสำหรับภิกษุณีทั้งหลาย พวกเราจักปรนนิบัติทารกนั้น พระราชาทรงไห้มอบทารกนั้นแก่หญิงฟ้อนทั้งหลาย ให้เติบโตโดยการบริหารดูแลอย่างกุมาร. 

ก็ในวันตั้งชื่อกุมารนั้นได้ตั้งชื่อว่ากัสสป ครั้งนั้น คนทั้งหลายรู้กันว่า กุมารกัสสป เพราะเจริญเติบโต ด้วยการบริหารอย่างกุมารในเวลามีอายุได้ ๗ ขวบ กุมารกัสสปนั้นบวชในสำนักของพระศาสดาพอมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก็ได้อุปสมบท เมื่อกาลเวลาล่วงไปได้เป็นผู้กล่าวธรรมอันวิจิตร ในบรรดาพระธรรมกถึกทั้งหลาย. 

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตั้ง พระกุมารกัสสนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ด้วยพระดำรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุมารกัสสปนี้ เป็นเลิศแห่งสาวกทั้งหลายของเรา ผู้กล่าวธรรมอันวิจิตร" (อ.นิ.๑.๒๐๙, ๒๑๗). ภายหลังพระกุมารกัสสปนั้นบรรลุพระอรหัต ในเพราะวัมมิกสูตร (ม.นิ. ๑.๒๔๙). แม้ภิกษุณีผู้เป็นมารดาของพระกุมารกัสสปนั้น เห็นแจ้งแล้วบรรลุพระอรหัต. พระกุมารกัสสปเถระปรากฏในพระพุทธศาสนา ประดุจพระจันทร์เพ็ญในท่ามกลางท้องฟ้าฉะนั้น. 

อยู่มาวันหนึ่ง พระตถาคตเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายแล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ภิกษุทั้งหลายรับพระโอวาทแล้ว ให้ภาคกลางวันหมดไปในที่เป็นที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันของตน ๆ ในเวลาเย็น ประชุมกันในโรงธรรมสภา นั่งพรรณนาพระพุทธคุณว่า „ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตทำคนทั้งสอง คือ พระกุมารกัสสปเถระและพระเถรีให้พินาศ เพราะความที่ตนไม่รู้และเพราะความไม่มีขันติและเมตตาเป็นต้น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นปัจจัยแก่ท่านทั้งสองนั้น เพราะพระองค์เป็นพระธรรมราชาและเพราะทรงถึงพร้อมด้วยพระขันติพระเมตตาและความเอ็นดู“.

พระศาสดาเสด็จมายังโรงธรรมสภาด้วยพุทธลีลาประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้วตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ?“  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า „ด้วยเรื่องพระคุณของพระองค์เท่านั้น“ แล้วกราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบพระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นปัจจัยและเป็นที่พึ่งแก่ชนทั้งสองนี้ ในบัดนี้เท่านั้น หามิได้, แม้ในกาลก่อนก็ได้เป็นแล้วเหมือนกัน“.   ภิกษุทั้งหลายจึงทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อต้องการให้เรื่องนั้นแจ่มแจ้ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพปกปิดไว้ให้ปรากฏดังต่อไปนี้. :- 

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี, ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิตนกำเนิดมฤคชาติ.

พระโพธิสัตว์เมื่อออกจากท้องของมารดาได้มีสีเหมือนดังสีทอง นัยน์ตาทั้งสองของเนื้อนั้นได้เป็นเช่นกับลูกแก้วมณีกลม เขาทั้งคู่มีวรรณะดังเงิน หน้ามีวรรณะดังกองผ้ากัมพลแดง ปลายเท้าหน้าและเท้าหลัง เหมือนทำบริกรรมด้วยรสน้ำครั้ง ขนหางได้เป็นเหมือนขนจามรี ก็ร่างกายของเนื้อนั้นใหญ่มีขนาดเท่าลูกน้ำ เนื้อนั้นมีบริวาร ๕๐๐. โดยชื่อ มีชื่อว่านิโครธมิคราช สำเร็จการอยู่ในป่า. 

ก็ในที่ไม่ไกลแห่งพระยาเนื้อนิโครธนั้น มีเนื้อแม้อื่นซึ่งมีเนื้อ ๕๐๐ เป็นบริวาร มีช่อว่า สาขะ อาศัยอยู่ แม้เนื้อสาขะก็มีวรรณะดุจสีทอง.   สมัยนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงขวนขวายในการฆ่าเนื้อ เว้นเนื้อไม่เสวยทรงกระทำพวกมนุษย์ให้ขาดการงาน ยังชาวนิคมและชนบททั้งปวงให้ประชุมกันแล้วเสด็จไปฆ่าเนื้อทุกวัน. 

พวกมนุษย์คิดกันว่า พระราชานี้ทรงทำพวกเราให้ขาดการงาน, ถ้ากระไร พวกเราวางเหยื่อของเนื้อไว้ในพระราชอุทยาน จัดน้ำดื่มไว้ให้พร้อม ต้อนเนื้อเป็นอันมากให้เข้าไปยังพระราชอุทยานแล้วปิดประตูมอบถวายพระราชา มนุษย์เหล่านั้นทั้งหมดจึงปลูกผักที่เป็นเหยื่อของเนื้อไว้ในพระราชอุทยาน จัดน้ำดื่มไว้ให้พร้อมแล้วประกอบประตู ถือบ่วง มือถืออาวุธนานาชนิดมีค้อนเป็นต้น เข้าป่าแสวงหาเนื้อ คิดว่า พวกเราจักจับเนื้อทั้งหลายที่อยู่ตรงกลาง จึงล้อมที่ประมาณ ๑ โยชน์ เมื่อร่นเข้ามาได้ล้อมที่เป็นที่อยู่ของเนื้อนิโครธและเนื้อสาขะไว้ตรงกลาง ครั้นเห็นหมู่เนื้อนั้นจึงเอาไม้ค้อนดีต้นไม้ พุ่มไม้เป็นต้นและดีพื้นดิน ไล่หมู่เนื้อออกจากที่รกชัฎ พากันเงื้ออาวุธทั้งหลายมีดาบ หอกและธนูเป็นต้น บันลือเสียงดัง ต้อนหมู่เนื้อนั้นให้เข้าพระราชอุทยานแล้วปิดประตู พากันเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้วกราบทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อพระองค์เสด็จไปทรงฆ่าเนื้อเป็นประจำ, ทรงทำการงานของข้าพระองค์ทั้งหลายให้เสียหาย, พวกข้าพระองค์ อันเนื้อทั้งหลายมาจากป่าเต็มพระราชอุทยานของพระองค์ ตั้งแต่นี้ไป พระองค์จะได้เสวยเนื้อของมฤคเหล่านั้น“ แล้วทูลลาพระราชาพากันหลีกไป. 

พระราชาได้ทรงสดับคำของมนุษย์เหล่านั้นแล้วเสด็จไปพระราช อุทยาน ทอดพระเนตรเนื้อทั้งหลายทรงเห็นเนื้อสีทอง ๒ ตัว จึงได้พระราชทานอภัยแก่เนื้อทั้งสองนั้น.   ก็ตั้งแต่นั้นมาบางคราว เสด็จไปเองทรงฆ่าเนื้อตัวหนึ่งแล้วนำมาบางคราว พ่อครัวของพระองค์ไปฆ่าแล้วนำมาเนื้อทั้งหลายพอเห็นธนูเท่านั้น ถูกความกลัวแต่ความตายคุกคาม พากันหนีไปได้รับการประหาร ๒-๓ ครั้ง ลำบากไปบ้าง ป่วยไปบ้าง ถึงความตายบ้าง. 

หมู่เนื้อจึงบอกประพฤติเหตุนั้นแก่พระโพธิสัตว์, พระโพธิสัตว์ไห้เรียกเนื้อสาขะมาแล้วกล่าวว่า "ดูก่อนสหาย เนื้อเป็นอันมากพากันฉิบหาย เมื่อเนื้อมีอันจะต้องตายโดยส่วนเดียว ตั้งแต่นี้ไป ผู้จะฆ่าจงอย่าเอาลูกศรยิงเนื้อ, วาระของเนื้อทั้งหลายจงมีในที่แห่งค้อนของผู้พิพากษา วาระจงถึงแก่บริษัทของเราวันหนึ่ง จงถึงแก่บริษัทของท่านวันหนึ่ง เนื้อตัวที่ถึงวาระจงไปนอนพาดหัวที่ไม้ค้อนของผู้พิพากษา แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น เนื้อทั้งหลายจักไม่กลัว“ เนื้อสาขะรับคำแล้ว. 

ตั้งแต่นั้นมา เนื้อที่ถึงวาระ จะไปนอนพาดคอที่ไม้ค้อนพิพากษา พ่อครัวมาจับเอาเนื้อตัวที่นอนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแหละไป.   อยู่มาวันหนึ่ง วาระถึงแก่แม่เนื้อผู้มีครรภ์ตัวหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทของเนื้อสาขะ แม่เนื้อนั้นเข้าไปหาเนื้อสาขะแล้วกล่าวว่า "เจ้านายข้าพเจ้ามีครรภ์ ตลอดลูกแล้วพวกเราทั้งสองจะไปตามวาระ, ท่านจงให้ข้ามวาระของข้าพเจ้าไปก่อน“ 

เนื้อสาขะกล่าวว่า „เราไม่อาจทำวาระของเจ้าให้ถึงแก่เนื้อตัวอื่น ๆ เจ้าเท่านั้นจักรู้ว่า เจ้ามีบุตร เจ้าจงไปเถอะ“. 

แม่เนื้อนั้น เมื่อไม่ได้ความช่วยเหลือจากสำนักของเนื้อสาขะ จึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์บอกเนื้อความนั้น. 

พระโพธิสัตว์นั้นได้ฟังคำของแม่เนื้อนั้นจึงกล่าวว่า „เจ้าจงไปเถอะ เราจักให้วาระของเจ้าข้ามไป“ ครั้นกล่าวแล้ว ตนเองก็ไปนอนกระทำศีรษะไว้ที่ไม้ค้อนพิพากษา. 

พ่อครัวเห็นดังนั้นจึงคิดว่า „พระยาเนื้อผู้ได้รับ พระราชทานอภัยนอนอยู่ที่ไม้ค้อนพิพากษา เหตุอะไรหนอ?“ จึงรีบไปกราบทูลแด่พระราชา. 

พระราชาเสด็จขึ้นทรงรถในทันใดนั้นเอง เสด็จไปด้วยบริวารใหญ่เห็นพระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า „พระยาเนื้อผู้สหายเราให้อภัยแก่ท่านไว้แล้วมิใช่หรือ? เพราะเหตุไรท่านจึงนอนอยู่ ณ ที่นี้?“.

พระยาเนื้อกราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราช แม่เนื้อผู้มีครรภ์มากล่าวว่า ขอท่านจงยังวาระของฉันให้ถึงแก่เนื้อตัวอื่น, ก็ข้าพระบาทไม่อาจโยนมรณทุกข์ของเนื้อตัวหนึ่งไปเหนือเนื้อตัวอื่นได้, ข้าพระบาทนั้นจึงให้ชีวิตของตนแก่แม่เนื้อนั้น ถือเอาความตายอันเป็นของแม่เนื้อนั้นแล้วจึงนอนอยู่ ณ ที่นี้, ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้ทรงระแวงเหตุอะไรๆ อย่างอื่นเลย“.  

พระราชาตรัสว่า „ดูก่อนสุวรรณมิคราชผู้เป็นนาย แม้ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เราก็ไม่เคยเห็นคนผู้เพียบพร้อมด้วยขันติ เมตตาและความเอ็นดูเช่นกับท่าน, ด้วยเหตุนั้น เราจึงเลื่อมใสท่าน, ลุกขึ้นเถิด เราให้อภัยแก่ท่านและแก่แม่เนื้อนั้น“. 

พระยาเนื้อกล่าวว่า „ข้าแต่พระผู้จอมคน เมื่อข้าพระบาททั้งสองได้อภัยแล้ว เนื้อที่เหลือนอกนั้น จักกระทำอย่างไร ?

พระราชาตรัสว่า „นาย เราให้อภัยแม้แก่เนื้อที่เหลือด้วย“. 

พระยาเนื้อกราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราช แม้เมื่อเป็นอย่างนั้นเนื้อทั้งหลายในพระราชอุทยานเท่านั้น จักได้อภัย, เนื้อที่เหลือจักทรงกระทำอย่างไร?“ พระราชาตรัสว่า „นาย เราให้อภัยแก่เนื้อแม้เหล่านั้น“ 

พระยาเนื้อกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเบื้องต้น เนื้อทั้งหลายได้รับอภัย สัตว์ ๔ เท้าที่เหลือจักกระทำอย่างไร?“ พระราชาตรัสว่า "นาย เราให้อภัยแก่สัตว์ ๔ เท้าแม้เหล่านั้น“, 

พระยาเนื้อกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช สัตว์ ๔ เท้าได้รับ พระราชทานอภัยก่อน หมู่นกจักกระทำอย่างไร?“ พระราชาตรัสว่า „นาย แม้หมู่นกเหล่านั้นเราก็ให้อภัย“ 

พระยาเนื้อกราบทูลว่า เบื้องต้น หมู่นกจักได้รับพระราชทานอภัย พวกปลาที่อยู่ในน้ำจักกระทำอย่างไร“ พระราชาตรัสว่า „นาย แม้หมู่ปลาเหล่านั้นเราก็ให้อภัย“. 

พระมหาสัตว์ทูลขออภัยแก่สรรพสัตว์กะพระราชาอย่างนี้แล้วได้ลุกขึ้นยืนให้พระราชาคงอยู่ในศีล ๕ แล้วแสดงธรรมแก่พระราชาด้วยลีลาของพระพุทธเจ้าว่า „ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงประพฤติธรรมในพระชนกชนนีในพระโอรสพระธิดา ในพราหมณ์คฤหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท เมื่อทรงประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมออยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์“ ดังนี้แล้วอยู่ในอุทยาน ๒-๓ วัน ให้โอวาทแก่พระราชาแล้วอันหมู่เนื้อแวดล้อมเข้าป่าแล้ว แม่เนื้อนมแม้นั้นตกลูกออกมาเช่นกับช่อดอกไม้ ลูกเนื้อนั้น เมื่อเล่นได้ จะไปยังสำนักของเนื้อสาขะ. 

ลำดับนั้น มารดาเห็นลูกเนื้อนั้นกำลังจะไปยังสำนักของเนื้อสาขะนั้น จึงกล่าวว่า „ลูกเอ๋ย ตั้งแต่นี้ไปเจ้าอย่าไปยังสำนักของเนื้อสาขะนั้น เจ้าพึงไปยังสำนักของเนื้อนิโครธเท่านั้น“  เมื่อจะโอวาทจึงกล่าวคาถาว่า :-

„เจ้าหรือคนอื่นก็ตาม พึงคบหาแต่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธเท่านั้น, ไม่ควรเข้าไปอาศัยอยู่กับพระยาเนื้อชื่อว่าสาขะ, ความตายในสำนักของพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธประเสริฐกว่า, การมีชีวิตอยู่ในสำนักพระยา เนื้อสาขะ จะประเสริฐอะไร“.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  นิโคฺรธเมว  เสเวยฺย  ความว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าหรือคนอื่นก็ตาม ผู้ใคร่ต่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ควรเสพหรือควรคบหาแต่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธนั้น.   บทว่า  น  สาขํ  อุปสํวเส  ความว่า แค่เนื้อชื่อว่าสาขะไม่ควรเจ้าไปอยู่ร่วม คือ ไม่ควรเข้าไปใกล้แล้วอยู่ร่วมได้แก่ ไม่ควรอาศัยเนื้อสาขะนั้นเลี้ยงชีวิต.   บทว่า  นิโคฺรธสฺมึ  มตํ  เสยฺโย  ความว่า แม้การตายอยู่แทบเท้าของพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธประเสริฐกว่า คือยอดเยี่ยมสูงสุด.   บทว่า  ยญฺเจ  สาขสฺมิ  ชีวิตํ  ความว่า ก็ความเป็นอยู่ในสำนักของเนื้อชื่อว่าสาขะนั้น ไม่ประเสริฐคือไม่ยอดเยี่ยมไม่สูงสุดเลย. 

ก็จำเดิมแต่นั้น พวกเนื้อที่ได้อภัยพากันกินข้าวกล้าของพวกมนุษย์มนุษย์ทั้งหลายไม่อาจตีหรือไล่เนื้อทั้งหลายด้วยคิดว่า เนื้อเหล่านี้ได้รับพระราชทานอภัย จึงพากันประชุมที่พระลานหลวง กราบทูลความนั้นแด่พระราชาพระราชาตรัสว่า „เรามีความเลื่อมใสให้พรแก่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ เราถึงจะละราชสมบัติ ก็จะไม่ทำลายปฏิญญานั้น, ท่านทั้งหลายจงไปเถิด, ใคร ๆย่อมไม่ได้เพื่อจะประหารเนื้อทั้งหลายในแว่นแคว้นของเรา“. 

พระยาเนื้อนิโครธได้สดับเหตุการณ์นั้น จึงให้หมู่เนื้อประชุมกัน โอวาทเนื้อทั้งหลายว่า „จำเดิมแต่นี้ไปท่านทั้งหลายอย่าได้กินข้าวกล้าของคนอื่น“ ดังนี้แล้ว บอกแก่มนุษย์ทั้งหลายตั้งแต่นี้ไปมนุษย์ทั้งหลายผู้กระทำข้าวกล้าว่า „จงอย่าทำรั้วเพื่อจะรักษาข้าวกล้า แต่จงผูกสัญญาด้วยใบไม้ปักนาไว้“. 

ได้ยินว่า จำเดิมแต่นั้น จึงเกิดสัญญาในการผูกใบไม้ขึ้นในนาทั้งหลาย จำเดิมแต่นั้นชื่อว่าเนื้อผู้ล่วงละเมิดสัญญาในการผูกใบไม้ ย่อมไม่มี.   ได้ยินว่า ข้อนี้เป็นโอวาทที่พวกเนื้อเหล่านั้นได้จากพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์โอวาทหมู่เนื้ออย่างนี้แล้วดำรงอยู่ตลอดชั่วอายุ. พร้อมกับเนื้อทั้งหลายได้ไปตามยถากรรมแล้ว. ฝ่ายพระราชาทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ทรงกระทำบุญทั้งหลายได้เสด็จไปตามยถากรรมแล้ว.

พระศาสดาดำรัสว่า „ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นที่พึ่งอาศัยของพระเถรีและพระกุมารกัสสป ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ได้เป็นที่พึ่งอาศัยแล้วเหมือนกัน“ ก็ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรงหมุนกลับเทศนาว่า ด้วยสัจจะทั้ง ๔ ตรัสเรื่อง ๒ เรื่องสืบต่ออนุสนธิกันแล้วทรงประชุมชาดกว่า เนื้อชื่อสาขะในครั้งนั้นได้เป็นพระเทวทัต แม้บริษัทของเนื้อสาขะนั้นก็ได้เป็นบริษัทของพระเทวทัตนั่นแหละแน่เนื้อนั้นในครั้งนั้นได้เป็นพระเถรี ลูกเนื้อในครั้งนั้นได้เป็นพระกุมารกัสสป พระราชาได้เป็นอานนท์ ส่วนพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธได้เป็นเราเองแล.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 




ลูกเอ๋ย! อย่าเกียจคร้าน

ลูกเอ๋ย! อย่าเกียจคร้าน

โพธ  ปุตฺร  กิมาลสฺเส,    อโพโธ  ภารวาหโก;
โพธโก  ปูชิโต  โลเก,    โพธ  ปุตฺร  ทิเน  ทิเน.

ลูกเอ๋ย ! เจ้าจงเรียนรู้ จะเกียจคร้านอยู่ทำไม,  คนที่ไม่มีความรู้ จะต้องแบกหามทำงานหนัก;
ในโลกนี้ คนมีความรู้ย่อมได้รับความนับถือบูชา,  ลูกเอ๋ย ! เจ้าจงศึกษาหาความรู้ทุก ๆ วันเถิด.

(ธรรมนีติ สิปปกถา ๑๙, โลกนีติ ๑๗)

ศัพท์น่ารู้ :

ปุตฺร (แน่ะลูก, แน่ะบุตร) ปุตฺร+สิ เป็นอาลปนวิภัตติ, ปุตฺร  เป็นศัพท์คู่แฝดกับ ปุตฺต ที่แปลว่า บุตร, ลูก สำเร็จมาจากปัจจัยคู่แฝดในอุณาทิกัณฑ์ด้วยสูตรว่า ฉทาทีหิ ตตฺรณฺ. (รู ๖๖๖) ตั้งวิเคราะห์ว่า ปุนาตีติ ปุตฺโต, ปุตฺโร (ปุตฺต, ปุตฺร คือ ผู้ชำระ พ่อแม่ให้สะอาด)

ศัพท์อื่นที่ลงปัจจัยคู่แฝดนี้มีอีกมาก เช่น ฉตฺตํ, ฉตฺรํ (ร่ม), จิตฺตํ, จิตฺรํ (จิต), สุตฺตํ, สุตฺรํ (ด้าย), สุตฺตํ (อาหาร), โสตํ, โสตฺรํ (หู), เนตฺตํ, เนตฺรํ (นัยน์ตา), ปวิตฺตํ, ปวิตฺรํ (ความดี, การชำระ), ปตฺตํ, ปตฺรํ (การถึง), ปตฺโต, ปตฺโร (บาตร), ตนฺตํ, ตนฺตรํ (แผ่ขยาย) เป็นต้น.

วันนี้ ก็คล้ายความสงสัยศัพท์ว่า  ปุตฺร  ไปแล้วหนึ่งศัพท์ คงยังเหลือแต่ วิตฺยํ หรือ วิตฺย ที่ยังไม่พบที่มา ของฝากไว้ก่อนครับ. 

กิมาลสฺเส ตัดบทเป็น กึ+อาลสฺเส (ขี้เกียจไปทำไม) อาลสฺเส น่าจะมาจาก อา+ลส+ย+เอยฺย ทิวาทิคณะ กัตตุวาจก ท่านผู้รู้ช่วยพิจารณาเถิด.

อโพโธ (คนไม่มีความรู้) น+โพธ > อโพธ+สิ, วิ. น โพโธ อโพโธ. (อโพธะ คือ คนไม่รู้)

ภารวาหโก (ผู้นำไปซึ่งภาระ, คนแบกหาม, คนทำงานหนัก) ภาร+วาหก > ภารวาหก+สิ

ทิเน ทิเน (ทุก ๆ วัน ) การกล่าวศัพท์ซ้ำกันเรียกว่า อาเมฑิตะ (อภิธาน. ๑๐๖)

คาถานี้ในคัมภีร์โลกนีติ มีข้อความต่างกันเป็นบ้างศัพท์ ดังนี้

พฺยตฺต  ปุตฺร  กิมลโส,     อพฺยตฺโต  ภารหารโก;

พฺยตฺตโก  ปูชิโต  โลเก,     พฺยตฺต  ปุตฺร  ทิเน  ทิเน.

อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

จงเป็นนักปราชญ์เถิดลูก มัวคร้านอยู่ใย   คนโง่ต้องเป็นคนแบกหาม ในโลกนี้    เขาบูชานักนักปราชญ์กันลูกเอย  เจ้าจงเป็นคนฉลาดทุก ๆ วันเถิด.

อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

ลูกเอ๋ย !  เจ้าจงตั้งใจเล่าเรียนเถิด  จะมัวเกียจคร้านอยู่ใย  คนไม่มีความรู้ต้องหาบหาม  ในโลกนี้เขาบูชาผู้รู้กัน ลูกเอ๋ย !  จงหาความรู้ใส่ตัวไว้ทุก ๆ วันเถิด.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali 

(3) อ่านหัวข้อ ๓. ปัญญากถา - แถลงปัญญา ,  4. สุตกถา - แถลงความรู้

(2) อ่านหัวข้อ 2. สิปปกถา - แถลงศิลปะ 👇

27. เหมือนคนใบ้นอนฝัน , 26. คนกับโคต่างกันอย่างไร ,  25.  ตำรา : ดาบสองคม ,  24.  คนโง่ชอบโอ้อวด , 23.  ควรรู้ไว้ใช้ให้เป็น , 22. ความดีย่อมไปสู่คนดี ,  21. พ่อแม่ที่เป็นศัตรูของลูก , 20. สวยแต่รูปจูบไม่หอม , 19. ลูกเอ๋ย! อย่าเกียจคร้าน , 18. พระราชาและนักปราชญ์ ,  17. ศิลป์ดีกว่าทรัพย์ , 16. จะมีมาแต่ไหน , 14-15. ศิลปศาสตร์ ๑๘ แขนง

(1) อ่านหัวข้อ 1. อาจริยกถา - แถลงอาจารย์👇

(1-3) ปณามคาถาและคำปฏิญญา,  (4) อายครูไม่รู้วิชา (5) คนเขลาที่น่าขัน,  (6) วัตร ๕ อย่างที่ศิษย์ควรทำ,  (7-8) ครูคือแบบอย่างของศิษย์,  (9) รู้ให้แน่-แก้ให้เป็น,  (10) ถึงจะไกลก็ควรไป,  (11) ร่มแห่งความสุข, (12) ทั้งหนักและน่าเชื่อถือ, (13) คนเบากว่านุ่น

👉อ่านหัวข้อ 1. อาจริยกถา - แถลงอาจารย์

ภาพ :  วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ตั้งอยู่ตำบลทับกวาง  อำเภอแก่งคอย  จังหวัดสระบุรี,  ถ้ำพระโพธิสัตว์มีถ้ำหินที่สวยงาม หลายถ้ำ มีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่

File Photo: Wat Tham Phra Phothisat 

Phra Phothisat Cave, also known as Phra Ngam Cave or Khao Nam Phu cave, is a Buddhist temple in Kaeng Khoi District, Saraburi Province, Thailand.