วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564

วิเคราะห์กาลามสูตร - Kalama sutta Analysis

พุทธศาสนาและปรัชญา, พระสุตตันตปิฎกศึกษา

วิเคราะห์กาลามสูตร - Kalama sutta Analysis

๑) พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ” ในข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ๑๐ อย่าง ดังนี้

- ผ่านประสบการณ์ทางอ้อม(ฟังตามกันมา/ถือสืบต่อกันมา/เล่าลือกันมา/อ้างตำรา)

- ผ่านการคิดตามแนวเหตุผล (นึกเดาเอาตามสามัญสำนึก/การอนุมาน/ตรองตามเหตุผล/เข้าได้กับทัศนะและเหตุผลของเรา)ในข้อนี้เป็นการยืนยันว่าเหตุผลเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแสวงหาความรู้แต่ความรู้ที่ได้อาจไม่จริง พระพุทธศาสนาจึงไม่ใช้เหตุผลในการเข้าถึงความจริง

- ผ่านผู้รู้ (มีรูปลักษณ์น่าเชื่อถือ/เป็นครูบาอาจารย์)

๒) ท่านบอกให้ “อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ” แต่มิได้บอกให้ไม่รับฟัง ไม่ให้เชื่อหรือปฏิเสธเสียทั้งหมด จึงควรรับฟังข้อมูลจากแหล่งความรู้ทั้งหลายนั้นทั้งหมดด้วยใจเป็นกลางแล้วนำมาพิจารณาด้วยตนเองก่อนค่อยปลงใจเชื่อ เมื่อมีเงื่อนไขครบตามเกณฑ์ตัดสินความจริงที่พระองค์ให้ไว้ ๓ ข้อ คือ

    ๑. เป็นกุศล หรือ อกุศล

    ๒. เกื้อกูลก่อให้เกิดประโยชน์สุข หรือ ไม่เกื้อกูลก่อทุกข์โทษ

    ๓. วิญญูชนสรรเสริญ หรือ ติเตียน

ถ้าเป็นกุศล เกื้อกูลก่อให้เกิดประโยชน์สุขและวิญญูชนสรรเสริญไม่ติเตียนแล้ว จึงรับไว้และเชื่อได้ว่าจริง ถ้าเป็นตรงข้ามก็ให้ถือว่าไม่จริง แล้วละเสีย

๓) เกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตรข้อแรก ใช้อัชฌัตติกญาณ (intuition) ของตัวเราเองเป็นเกณฑ์ตัดสินความจริง ว่าเป็นกุศล หรือ อกุศล

กุศล/อกุศลนั้นเป็นสภาวธรรมในจิตใจที่รับรู้ได้เฉพาะตนด้วยอัชฌัตติกญาณ(intuition)มิใช่ ความดี/ความชั่ว ตามที่เราเข้าใจกัน

กุศล มีลักษณะ

- อาโรคยะ คือสภาวะจิตใจที่ไม่มีโรค มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่กระสับกระส่าย เคร่งเครียด

- อนวัชชะ คือสภาวะจิตที่ไม่มีโทษ มีคุณภาพจิตที่ดี ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว เศร้าหมอง ควรแก่การงาน

-โกศลสัมภูต คือสภาวะจิตที่ประกอบด้วยปัญญา รู้เท่าทันความเป็นจริงของไตรลักษณ์ เป็น สมรรถภาพจิตที่ดี สว่างไสว มองเห็นตามที่เป็นจริงไม่มืดบอด

- สุขวิบาก คือมีความสุขใจเป็นผล เกิดความสุข เบาสบายคล่องใจทันทีที่จิตเป็นกุศล

๔) เกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตรข้อสอง ใช้ประโยชน์สุขและทุกข์โทษเป็นเกณฑ์ตัดสิน มิใช่ประโยชน์นิยม(utilitarialism) ที่มุ่งคิดคำนวน ชั่งนน  ผลประโยชน์ ให้ได้มากที่สุด แต่เป็นปฏิบัตินิยม(pragmatism) ชนิดที่มุ่งที่ผลการปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและผู้อื่นเพื่อประโยชน์สุขซึ่งมิใช่ความรู้สึกว่าสุขหรือมีความสุข(สุขเวทนา) แต่คือการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น สว่างขึ้น และเจริญก้าวหน้ามากขึ้น เช่นเดียวกับทุกข์โทษ ที่มิใช่ความรู้สึกว่าทุกข์ (ทุกขเวทนา) แต่คือการลดระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ตกต่ำลง มืดมนลง เราอาจมีความรู้สึกว่าสุข ว่ามีความสุข(สุขเวทนา) แต่เป็นทุกข์โทษก็ได้เช่นการเล่นการพนัน ดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน เป็นนักเลงหญิง แม้รู้สึกว่าสุข ว่ามีความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ทั้งหมดย่อมลดทอนระดับคุณภาพชีวิตเราให้ตกต่ำลงมืดมนลงอย่างแน่นอน

๕) เกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตรข้อสาม วิญญูชนสรรเสริญไม่ติเตียน เกณฑ์ข้อนี้ดูจะเป็นปัญหาที่สุดในการหาวิญญูชนมาตัดสินเพราะในปัจจุบันปรากฏวิญญูชน นักปราชญ์ราชบัณฑิตมากมายที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด บ้างก็เห็นตรงกัน บ้างก็เห็นขัดแย้งกัน แล้วเราจะเชื่อหรือเลือกใครมาเป็นวิญญูชนดี ในที่สุดก็ต้องใช้เกณฑ์พัฒนาคุณภาพชีวิตมาเป็นเกณฑ์หลักโดยถ้าสามารถนำมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริง ก็ถือว่าจริง และเชื่อมั่นได้ว่าวิญญูชนทุกท่านย่อมต้องสรรเสริญ ไม่ติเตียนอย่างแน่นอน ผู้ที่ติเตียนการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้สูงขึ้น สว่างขึ้น เจริญขึ้นนั้นย่อมมิใช่วิถีของวิญญูชนอย่างแน่นอน

๖) เกณฑ์ตัดสินความจริงตามหลักกาลามสูตร จึงไม่สนใจความจริงว่าจะต้องตรงกับความเป็นจริงภายนอกหรือไม่ แต่ใช้ความเป็นกุศลของจิตใจ ที่เป็นสภาวะเกื้อกูลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อประโยชน์สุขเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ เป็นความจริงเพราะเมื่อนำมาปฏิบัติแล้วเป็นกุศล เกื้อกูลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริง มีผลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวีตให้สูงขึ้น สว่างขึ้น เจริญขึ้น ได้จริง

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/








Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: