หญิงเป็นทรัพย์สูงสุด
อิตฺถิเยกจฺจิโยวาปิ, เสยฺยา วุตฺตาว มุนินา;
ภณฺฑานํ อุตฺตมา อิตฺถี, อคฺคุปฎฺฐายิกาติปิ.
อนึ่งหญิงผู้ประเสริฐบางพวก พระมุนีทรงยกย่องไว้แล้วว่า "บรรดาทรัพย์สมบัติทั้งหลาย หญิงเป็นทรัพย์อันสูงสุด และเป็นผู้อุปฐากที่เลิศ." (ธรรมนีติ อิตถีกถา ๑๖๔, มหารหนีติ ๒๐๙)
ศัพท์น่ารู้ :
อิตฺถิ (หญิง ท.) อิตฺถี+โย, (ที่ถูกควรเป็น อิตฺถี, เป็นพหูวจนะ คือ ลบ โย วิภัตติ เพราะศัพท์ขยายต่อมา เป็น เยกจฺจิโย ถ้าเป็นเอกพจน์ก็ต้องเป็นลิงควิปลาส ส่วนในมหารหนีติ ท่านใช้เป็น เอกจฺจิยา ถือว่าเหมาะสม คือเป็นเอกพจน์เข้ากับประธานและกิริยาพอดี)
เยกจฺจิโย (บางพวก, บางเหล่า) เอกจฺจิ+โย และ + ย อาคม เป็น เยกจฺจิโย (อันยังไม่หลักฐานยืนยันครับ ขอเดาไปก่อนสำหรับศัพท์นี้) 🙂
วาปิ (แม้บ้าง) สมูหนิบาต
เสยฺยา (น่าสรรเสริญกว่า, ประเสริฐกว่า) เสยฺย+โย
วุตฺตาว (กล่าวแล้ว, ตรัสแล้ว + นั่นเทียว) วุตฺตา+เอว
มุนินา (อันพระมุนี, พระพุทธเจ้า) มุนิ+นา
ภณฺฑานํ (แห่งภัณฑะ, แห่งทรัพย์, สิ่งของ ท.) ภณฺฑ+นํ
อุตฺตมา (สูงสุด, อุดม, เลิศ) อุตฺตม+สิ, หรือ อุตฺตม+โย ก็ได้.
อิตฺถี (หญิง, อิตถี) อิตฺถี+สิ, หรือ อิตฺถี+โย ก็ได้
อคฺคุปฎฺฐายิกาติปิ ตัดบทเป็น อคฺคุปฏฺฐายิกา (ผู้บำเรออย่างยอด, ผู้อุปัฏฐากชั้นเลิศ, ผู้รับใชัชั้นยอด) +อิติ (ว่า) +อปิ (แม้), อคฺค+อุปฏฺฐายิก > อคฺคุปฏฺฐายิก+อา > อคฺคุปฏฺฐายิกา+สิ หรือ +โย หมายถึงหญิงผู้อุปัฏฐากชั้นเลิศ ถ้าผู้ชายก็ต้องเป็น อคฺคุปฏฺฐายิโก (ชายผู้รับใชัชั้นยอด)
ส่วนในมหารหนีติ คาถา ๒๐๙ มีข้อความคล้ายกันและค่อนข้างจะชัดเจนกว่า ขอยกมาเปรียบเทียบก้นเพื่อศึกษาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังนี้
อิตฺถีปิ หิ เอกจฺจิยา, เสยฺยา วุตฺตาว มุนินา;
ภณฺฑาน มุตฺตมํ อิตฺถี, อคฺคุปฎฺฐายิกาติ จ ฯ
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ยังอีกหญิงบางพวก ที่จัดเป็นนางประเสริฐ พระมุนีทรงสรรเสริญไว้ว่า „หญิงสูงสุดกว่า ภัณฑะทั้งหลาย และเป็นผู้บำเรออย่างยอด.
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ยังมีหญิงบางพวกที่จัดว่าเป็นนางประเสริฐ พระมุนีทรงสรรเสริญว่าหญิงสูงสุดกว่าภัณฑะทั้งหลาย และเป็นผู้บำรุงชั้นยอดเยี่ยม.
คาถานี้ท่านคงจะหมายถึงพระบาฬีที่มาในพระสุตตันตปิฏก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๒๑๑, ๒๑๒ (สํ. ส. ๑๕/๒๑๑-๒๑๒) ซึ่งเทวดาได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย ๒ คาถามีข้อความว่า
เทวดาทูลถามว่า :-
กึสุ อิสฺสริยํ โลเก, กึสุ ภณฺฑานมุตฺตมํ;
กึสุ สตฺถมลํ โลเก, กึสุ โลกสฺมิมพฺพุทํ.
อะไรหนอเป็นใหญ่ในโลก, อะไรหนอเป็นสิ่งสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย, อะไรหนอเป็นดังสนิมศัสตราในโลก, อะไรหนอเป็นเสนียดในโลก,
กึสุ หรนฺตํ วาเรนฺติ, หรนฺโต ปน โก ปิโย;
กึสุ ปุนปฺปุนายนฺตํ, อภินนฺทนฺติ ปณฺฑิตา.
ใครหนอนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม, แต่ใครนำไปกลับเป็นที่รัก, ใครหนอมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ.
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า :
วโส อิสฺสริยํ โลเก, อิตฺถี ภณฺฑานมุตฺตมํ;
โกโธ สตฺถมลํ โลเก, โจรา โลกสฺมิมพฺพุทา.
อำนาจเป็นใหญ่ในโลก, หญิงเป็นสิ่งสูงสุดแห่งภัณฑะทั้งหลาย, ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก, พวกโจรเป็นเสนียดในโลก,
โจรํ หรนฺติ วาเรนฺติ, หรนฺโต สมโณ ปิโย;
สมณํ ปุนปฺปุนายนฺตํ, อภินนฺทนฺติ ปณฺฑิตาติ.
โจรนำของไปอยู่ย่อมถูกห้าม, แต่สมณะนำไปกลับเป็นที่รัก, สมณะมาหาบ่อยๆ บัณฑิตย่อมยินดีต้อนรับ.
0 comments: