วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ออกพรรษา คำบาลีว่าอย่างไร

ออกพรรษา  คำบาลีว่าอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ออกพรรษา : (คำนาม) เรียกวันที่สิ้นสุดการจําพรรษาแห่งพระสงฆ์ คือ วันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ ว่า วันออกพรรษา, วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา ก็เรียก.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “วันออกพรรษา” บอกไว้ดังนี้ -

วันออกพรรษา : วันสิ้นสุดจำพรรษา, วันสุดท้ายของการจำพรรษา ตามปกติหมายถึงวันสิ้นสุดพรรษาต้น หรือสิ้นปุริมพรรษา ได้แก่ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมชื่อว่า “ปวารณา” จึงเรียกว่าวันปวารณา หรือวันมหาปวารณา, (วันออกพรรษาหลัง หรือสิ้นปัจฉิมพรรษา คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒).

พึงทราบว่า กรณีเกี่ยวกับการออกพรรษาที่เราเรียกกันว่า “วันออกพรรษา” นี้ ในคัมภีร์ไม่ได้ใช้คำที่จะแปลได้ว่า “วันออกพรรษา” 

ต่างจากกรณีเกี่ยวกับการเข้าอยู่จำพรรษาซึ่งในคัมภีร์มีคำเรียกว่า “วสฺสูปนายิกา” (วัด-สู-ปะ-นิ-ยิ-กา) แปลตามศัพท์ว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไปสู่กาลฝน” ก็คือที่เราเรียกกันว่า “วันเข้าพรรษา” (ดู “วัสสูปนินายิกา” บาลีวันละคำ (2,946) 6-7-63)

ภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว คำบาลีเรียกว่า “วุตฺถวสฺส” (วุด-ถะ-วัด-สะ) แยกศัพท์เป็น วุตฺถ + วสฺส 

(๑) “วุตฺถ”   อ่านว่า วุด-ถะ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก) + ต (ตะ) ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ว-(สฺ) เป็น อุ (วสฺ > วุส), แปลง ส ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ตฺถ   : วสฺ + ต = วสต > วุสต > วุตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “-อันตนอยู่แล้ว” หมายถึง พักอยู่, อาศัยอยู่หรือใช้ [เวลา] (having dwelt, lived or spent [time])

(๒) “วสฺส”   อ่านว่า วัด-สะ รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + อ (อะ) ปัจจัย   : วสฺสฺ + อ = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน” 

“วสฺส” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ -

(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)   (2) ปี (a year)   (3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

ในที่นี้ “วสฺส” มีความหมายตามข้อ (1)

วุตฺถ + วสฺส = วุตฺถวสฺส แปลตามรูปวิเคราะห์ (คือกระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ว่า “กาลฝน อันภิกษุใด อยู่แล้ว ภิกษุนั้น ชื่อว่า ‘วุตฺถวสฺส’ = ผู้มีกาลฝนอันตนอยู่แล้ว”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า One who has kept Lent or finished the residence of the rains is a vuttha-vassa (ผู้อยู่จำพรรษาเสร็จแล้ว หรือพักอยู่ตลอดฤดูฝนแล้ว เรียกว่า วุตถ-วสส) 

“วุตฺถวสฺส” แปลเอาความว่า “ผู้จำพรรษาแล้ว” เป็นคุณศัพท์ของ “ภิกษุ” คือบอกให้รู้ว่า ภิกษุรูปนั้นจำพรรษาครบตามกำหนดแล้ว

“วุตฺถวสฺส” ไม่ได้ใช้เป็นคุณศัพท์ของ “วัน” อันอาจจะแปลได้ว่า “วันอันภิกษุอยู่จำพรรษาครบแล้ว” = “วันออกพรรษา”

ถ้าแปลงคำนี้เป็น “วัน” ก็อาจจะเป็น “วุตฺถวสฺสา ติถี” หรือ “วุตฺถวสฺสทิวส” แปลตรงๆ ว่า “วันออกพรรษา” แต่นี่เป็นการคิดเล่นๆ เพราะคำจริงๆ ไม่มี จึงไม่ควรใช้ ขืนใช้เข้าอาจเข้าข่ายอุตริ

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจดูในคัมภีร์ก็พบว่า คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ตอนอนิยตกัณฑวัณณนา ภาค 2 หน้า 168 มีข้อความตอนหนึ่งว่า -

อาสาฬฺหีปวารณนกฺขตฺตาทีสุ  มหุสฺสเวสุ     ท่านผู้แปลข้อความตอนนี้แปลไว้ว่า -

“ในงานมหรสพฉลองมีอาสาฬหนักขัตฤกษ์และปวารณานักขัตฤกษ์เป็นต้น (งานฉลองนักขัตฤกษ์วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา)”

นั่นคือท่านแปลคำว่า “อาสาฬฺหีนกฺขตฺต” ว่า “อาสาฬหนักขัตฤกษ์” และวงเล็บว่า “นักขัตฤกษ์วันเข้าพรรษา” และแปลคำว่า “ปวารณนกฺขตฺต” ว่า “ปวารณานักขัตฤกษ์” และวงเล็บว่า “นักขัตฤกษ์วันออกพรรษา”

นั่นหมายความว่า ถ้าจะหาคำบาลีในคัมภีร์ที่หมายถึง “วันออกพรรษา” ก็น่าจะเป็นคำว่า “ปวารณนกฺขตฺต” คำนี้เอง

แต่นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ขอฝากนักเรียนบาลีช่วยกันพิจารณาดูเถิด

ดูเพิ่มเติม:   “วันมหาปวารณา” บาลีวันละคำ (3,034)

หมายเหตุ :

วันที่เขียนบาลีวันละคำคำว่า “ออกพรรษา” นี้ ยังไม่ถึงวันออกพรรษา แต่ก็ไม่มีระเบียบห้ามไว้ว่าห้ามกล่าวถึงวันออกพรรษาก่อนถึงวันออกพรรษาหรือเมื่อเลยวันออกพรรษาไปแล้ว และไม่มีระเบียบห้ามไว้เช่นกันว่า ห้ามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวันออกพรรษาก่อนถึงวันออกพรรษาหรือเมื่อเลยวันออกพรรษาไปแล้ว ดังนั้น การกล่าวถึงวันออกพรรษาในช่วงเวลานี้จึงไม่เป็นความผิด หรือแม้แต่จะอ้างว่าไม่ถูกกาลเทศะก็คงอ้างไม่ได้

เวลานี้สังคมไทยเรามีค่านิยมประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะเอ่ยถึงเรื่องอะไรหรือเอ่ยถึงใครก็ต่อเมื่อถึงวันที่กำหนดกันว่าเป็นวันเกี่ยวกับเรื่องนั้นหรือเกี่ยวกับบุคคลนั้นเพียงวันเดียว ก่อนหน้านั้นหรือหลังจากวันที่กำหนดนั้นแล้วก็ไม่มีใครเอ่ยถึงเรื่องนั้นหรือบุคคลนั้นอีกจนกว่าจะถึงวันนั้นในรอบปีต่อไป

คงยากที่จะแก้ไขค่านิยมประหลาดนี้ จะทำได้ก็เพียงเตือนสติกันหรือให้คติกันเท่าที่พอจะทำได้

ดูก่อนภราดา!

: อย่ารอให้ถึงวันตาย

: จึงค่อยคิดถึงความตาย

บาลีวันละคำ (3,400),  ทองย้อย แสงสินชัย

ออกพรรษา  คำบาลีว่าอย่างไร,   วันมหาปวารณา,   Pavāranā day

File Photo:  Khao Sakae Krang, Wat Sanggat Rattana Khiri (On the mountain)

Wat Sangkat Rattana Khiri lies at the foot of Khao Sakae Krang at the end of Tha Chang Road in Tambon Nam Sum. Inside the main hall is Phra Bhuddha Mongkhon Sai Sit, also called Luang Pho Mongkhon, an ancient bronze Buddha image from the Sukhothai period in the Man Wichai posture. It is 1.5 meters wide and was made in the reign of King Lithai.A stairway leads to the top of Khao Sakae Krang totaling 449 steps. 

At the peak is a pavilion with a multi-tiered roof, housing a replica of Lord Buddha's footprint and a large bronze bell built in the reign of King Rama V. It is said that this is a sacred bell, and visitors to the province who have not rung the bell have not truly seen the province. In another corner of the temple is the statue of the father of King Rama I, the founder of the Chakri Dynasty, who was born in Ban Sakae Krang. To get there, from the city, take Route No. 3220 and turn left into the provincial stadium leading up the mountain. The distance is around 4 kilometers.

Source: https://www.tourismthailand.org/Attraction/wat-sangkat-rattana-khiri

____

The significance of Vesak Full Moon Day , Māgha Pūjā Day , Pavāranā day , Happy Vesak Day. ,  วันวิสาขบูชา  , วันวิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ  , วันอาสาฬหบูชา , วันอาสาฬหบูชา ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา , สาระสำคัญของวันมาฆบูชา , วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา , 'วันพระ' วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ , วันออกพรรษา-Day of going out of Vassa , วันเข้าพรรษา-Buddhist Lent Day Observances , วันอาสาฬหบูชา , วันนี้วันพระ“วันอัฏฐมีบูชา” , วันอัฏฐมีบูชา , วันมหาปวารณา , ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า , วิสาขบูชานุสติ , พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์ , ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง , เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ , กฐิน

____

ภาพ :  เขาสะแกกรัง วัดสังกัสรัตนคีรี อําเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี, วัดสวย บนยอดเขา จุดชมวิวบ้านชายเขา











Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: