วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เพื่อจะละตัณหา พึงกำหนดรู้ความอยาก หรือความติดใจ

เพื่อจะละตัณหา พึงกำหนดรู้ความอยาก หรือความติดใจ หรือความยินดียินร้าย ด้วยอำนาจความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจ ด้วยอำนาจเพลิดเพลินยิ่งนัก ในอารมณ์ต่างๆ คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ดังนี้ คือ

๑. ต้องกำหนดรู้ขั้นรู้จัก คือ 

 (๑.๑) รู้จักว่า “นี้เป็นรูปตัณหา คือความอยากได้รูปที่มองเห็นด้วยตา, นี้เป็นสัททตัณหา คือความอยากได้ยินเสียง, นี้เป็นคันธตัณหา คือความอยากได้กลิ่น, นี้เป็นรสตัณหา คือความอยากได้รส, นี้เป็นโผฏฐัพพตัณหา คือความอยากได้โผฏฐัพพะหรือความรู้สึกทางกายสัมผัส, นี้เป็นธัมมตัณหา คือความเพลิดเพลินในธรรมารมณ์หรือสิ่งที่ใจนึกคิด” 

 (๑.๒) กำหนดรู้ว่า “ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปตัณหาและในสัททตัณหาเป็นต้นเหล่านั้นเป็นอุปกิเลสแห่งจิต คือเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง” 

 (๑.๓) กำหนดรู้จักธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล ๙ ประการ คือ ๑.การแสวงหาเพราะอาศัยตัณหา ๒.การได้เพราะอาศัยการแสวงหา ๓.การวินิจฉัยเพราะอาศัยการได้ ๔.ฉันทราคะคือความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจเพราะอาศัยการวินิจฉัย ๕.ความหมกมุ่นเพราะอาศัยฉันทราคะ ๖.ความหวงแหนเพราะอาศัยความหมกมุ่น ๗.ความตระหนี่เพราะอาศัยความหวงแหน ๘.การจัดการอารักขาเพราะอาศัยความตระหนี่ และ ๙.ธรรมอันเป็นบาปอกุศลหลายประการ คือ การจับท่อนไม้ จับศาตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท กล่าววาจาส่อเสียดว่ามึงๆ กูๆ และพูดเท็จ คือรู้ว่า “ธรรม ๙ ประการนี้มีตัณหาเป็นมูล” ดังนี้แล.

๒. ต้องกำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือทำความรู้ในรูปนาม โดยพิจารณารูปนามนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นของอื่น (เป็นของไม่เป็นไปในอำนาจ) เป็นของชำรุด เป็นเสนียด เป็นอุบาทว์ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของแตกพัง ฯลฯ เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นของดับไป เป็นของชวนให้แช่มชื่น เป็นของมีโทษ เป็นของมิใช่ที่พึ่ง นี้เรียกว่า “การกำหนดรู้ขั้นพิจารณา”

๓. ต้องกำหนดรู้ถึงขั้นละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์เสีย คือรู้ว่า “ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจกล่าวคือตัณหาในรูปเป็นต้นใด เราก็ละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปเป็นต้นนั้นได้แล้ว ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจนั้นอันเราละได้แล้ว มันมีมูลรากอันตัดขาดแล้ว เป็นประดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นธรรมดา ด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่า “ความกำหนดรู้ขั้นละได้”

จะละตัณหาได้ต้องอาศัยการกำหนดรู้อย่างนี้.

สาระธรรมในปริญญา ๓

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

7/7/64




post written by:

Related Posts

  • ทาน คือ อะไร ?ทาน คือ อะไร ?ทาน แปลว่า การให้ หมายถึง การสละสิ่งของของตน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจการให้ทาน เป็นพื้นฐานความดีของมนุษยชาติ และเป็นสิ่งที่ขาดเสี… Continue Reading
  • "ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ...""ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ..."เพราะเขาอาศัยศรัทธา (ความเชื่อ ความเลื่อมใส หรือความเห็นดีเห็นชอบ) เขาจึงสมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติถ่อ… Continue Reading
  • อาหารบำรุงทั้งชีวิตและจิตใจอาหารบำรุงทั้งชีวิตและจิตใจพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในโภชนทานสูตรว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก  ฐานะ ๕ อ… Continue Reading
  • ชีวิตมิใช่สูตรสำเร็จชีวิตมิใช่สูตรสำเร็จชีวิตมิใช่สูตรสำเร็จ การดำเนินชีวิตจึงต้องพิจารณา ให้เหมาะสมแก่ตนจึงจะดำเนิน ไปได้อย่างราบรื่นสงบสุข ได้พบกับความเย็นของชีวิต ไม่ถูกเผาลนด้ว… Continue Reading
  • การฝึกวาจาการฝึกวาจาการพูดเป็นการแสดงถึงหลายอย่างในตัวคน เช่น แสดงถึงนิสัย อุปนิสัย อัธยาศัย และการศึกษาอบรมนิสัย คือ การกระทำจนเคยชิน  คนที่พูดคำอย่างใด  … Continue Reading

0 comments: