วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ชีวิต...แสวงรสต่างๆ มากมาย แต่สุดท้าย ก็จบที่“รสจืดของความจริง”

ชีวิต...แสวงรสต่างๆ มากมาย แต่สุดท้าย ก็จบที่“รสจืดของความจริง”

“การระลึกถึงความตายก็เป็นสิ่งสำคัญ ความตายนั้นเป็นความจริงของชีวิต ท่านเรียกว่าเป็นคติธรรมดา คือคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ชีวิตมีการเริ่มต้นก็ต้องมีที่สิ้นสุด การเริ่มต้นของชีวิตเราเรียกว่า“การเกิด” การสิ้นสุดของชีวิตเราเรียกว่า“ความตาย” เกิดกับตายนี้เป็นของคู่กันและต้องตามกันมาแน่นอน เมื่อระลึกถึงความตายก็คือระลึกถึง“ความจริงของชีวิต” ซึ่งจะทำให้เราเกิดความรู้เท่าทัน.....

ในเมื่อสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ว่าชีวิตของเราเองก็ตาม สิ่งที่เราเกี่ยวข้องก็ตาม ล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นอนิจจัง ไม่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป จึงจะนอนใจอยู่ไม่ได้ เวลาที่ผ่านไปนั้นมันผ่านไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงด้วย และความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่แน่นอนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เราจึงจะต้องเร่งรีบทำกิจหน้าที่และทำความดี สิ่งที่ควรทำก็รีบทำ สิ่งที่ควรละเว้นก็รีบละเว้น สิ่งที่ควรป้องกันกำจัดแก้ไขก็รีบป้องกันกำจัดแก้ไขเสีย อันนี้เรียกว่า "ความไม่ประมาท" การระลึกถึงความตายในทางที่ถูกต้องจะทำให้เกิดผลคือความไม่ประมาท และในการที่จะเพียรพยายามทำความดี ทำกิจหน้าที่ และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป

ไม่มีอะไรให้ประโยชน์มากกว่าความจริง

ไม่เฉพาะแต่ความตายเท่านั้น พระพุทธเจ้ายังสอนให้เราระลึกถึงความจริงของชีวิตในแง่อื่นๆ อีก ความจริงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่มีอะไรที่จะเกินความจริงไปได้ และชีวิตของเราก็ต้องอยู่กับความจริง หนีความจริงไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิต เราจึงควรระลึกตระหนักในความจริงอยู่เสมอ และวางใจต่อความจริงนั้นอย่างถูกต้อง แล้วความจริงนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เราจะหนีหรือจะสู้ ความจริงก็อยู่นั่น ถ้าเรากลัวความจริง ความจริงก็เป็นโทษแก่เรา แต่ถ้าเรารู้ความจริง ความจริงก็เป็นประโยชน์แก่เรา

ความจริงนั้นไม่มีรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็มเอร็ดอร่อย เหมือนอย่างเรื่องสนุกสนานทั้งหลาย ความจริงนั้นเหมือนกับน้ำบริสุทธิ์ที่มีรสจืด แต่รสจืดของน้ำที่บริสุทธิ์นั่นแหละเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการที่สุด เราอาจจะต้องการรสอะไรหลากหลาย ทั้งรสหวาน รสมัน รสเค็ม และรสอะไรสารพัดให้สนุกสนานตื่นเต้นไป แต่ในที่สุดเราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องการรสจืดของน้ำที่บริสุทธิ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการแท้ๆ ในทางนามธรรมก็เช่นเดียวกัน ชีวิตของเรานี้ต้องการรสจืดของความจริง ความจริงเป็นรสจืดอย่างสนิท ถึงแม้ใครไม่ชอบ ก็ไม่มีใครหนีความจริงไปพ้น แต่ถ้าเรารู้เท่าทันมัน ความจริงก็จะให้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเราอย่างที่สุดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราระลึกถึงความจริงของชีวิตเป็นธรรมดา และที่พระองค์ตรัสสอนไว้นั้นไม่ใช่เพียงให้ระลึกเท่านั้น แต่ยังให้พิจารณาด้วย ความจริงที่ว่านี้มี ๕ ประการด้วยกัน

ความจริงที่เราทุกคนควรพิจารณาอยู่เสมอ ทางพระท่านเรียกเป็นภาษาบาลีว่า "อภิณหปัจจเวกขณะ" มี ๕ ประการ อย่างที่อาตมภาพได้ยกขึ้นตั้งเป็นคำเริ่มต้นในพระธรรมเทศนานี้ว่า 

"ชราธมฺโมมฺหิ  ชรํ  อนตีโตติ  อภิณฺหํ  ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ" มีใจความว่า ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า...

เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้,  เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้,  เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้,  เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด เป็นพวกพ้องของกรรม ทำกรรมไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักได้รับผลของกรรมนั้น จักเป็นทายาทของกรรมนั้น

ความจริงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าสตรีหรือบุรุษ ไม่ว่าคฤหัสถ์คือชาวบ้านหรือบรรพชิตคือพระภิกษุสามเณร ควรจะต้องพิจารณาอยู่เสมอ รวมความง่ายๆ ว่า ทุกคนควรพิจารณาอยู่เสมอว่า เราเกิดมาแล้วย่อมต้องพบกับความแก่ ความเจ็บไข้ และความตาย เป็นความจริงแน่แท้ และเราก็จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งหมดทั้งสิ้น มองอีกที หมดทั้งชีวิตของเรานี่ เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม

๕ ประการนี้ เป็นความจริงที่แน่นอน ถึงเราจะไม่พิจารณาหรือไม่นึกถึงมัน ชีวิตของเราก็ต้องเป็นไปตามมัน เพราะฉะนั้นในเมื่อเราจะต้องพบต้องเจอต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็เผชิญหน้ากับมัน เอามันมาพิจารณา และเอามาใช้ประโยชน์เสียเลย”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “จะสุขแท้ต้องเป็นไท : ต้องสุขเองได้ จึงจะช่วยโลกให้เป็นสุข”




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: