สอนลูกเรื่องการภาวนา
[ณ เชตวัน ใกล้นครสาวัตถี ระหว่างทางเข้าเมืองไปบิณฑบาต พระพุทธเจ้าได้หันมาพูดกับพระราหุลว่า]
พ: ราหุล รูป (ร่างกาย) อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน จะเป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียดก็ตาม เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่ารูปทั้งปวงนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่. ร: เฉพาะรูปเท่านั้นหรือท่าน? พ: ทั้งรูป เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) สังขาร (ความคิด) และวิญญาณ (ความรับรู้)
[เมื่อพระพุทธเจ้ากล่าวดังนี้แล้ว พระราหุลก็คิดว่าเราควรจะไปฝึกภาวนา ไม่ควรไปบิณฑบาตในวันนี้ จากนั้นก็กลับไปนั่งฝึกอานาปานสติจนถึงช่วงเวลาเย็นจึงเข้าไปถามพระพุทธเจ้าว่า]
ร: ภันเต อานาปานสตินั้นทำอย่างไรจึงได้ผลมาก?
พ: รูป (ร่างกาย) ที่มีลักษณะแข็งหยาบจับต้องได้ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก หัวใจ ตับ ไต ปอด ลำไส้ เรียกว่าธาตุดิน (ปฐวีธาตุ) เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่ เมื่อเห็นแบบนี้ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนดในสิ่งเหล่านั้นลง
รูปที่มีลักษณะเอิบอาบไหลลื่น เช่น เลือด เหงื่อ น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก น้ำดี น้ำเหลือง ไขข้อ เรียกว่าธาตุน้ำ (อาโปธาตุ) เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่ เมื่อเห็นแบบนี้ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนดในสิ่งเหล่านั้นลง รูปที่มีลักษณะร้อน เช่น ไฟที่ทำให้ร่ายกายอบอุ่น ไฟที่ย่อยเผาผลาญอาหาร เรียกว่าธาตุไฟ (เตโชธาตุ) เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่ เมื่อเห็นแบบนี้ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนดในสิ่งเหล่านั้นลง
รูปที่มีลักษณะพัดไปมา เช่น ลมหายใจเข้าออก ลมในท้อง ลมที่แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมที่พัดขึ้นพัดลง เรียกว่าธาตุลม (วาโยธาตุ) เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่ เมื่อเห็นแบบนี้ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนดในสิ่งเหล่านั้นลง รูปที่มีลักษณะว่าง ไม่ทึบ เป็นช่อง เช่น ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องสำหรับขับถ่าย เรียกว่าธาตุอากาศ (อากาศธาตุ) เธอพึงเห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นนั้นเป็นนี่ เมื่อเห็นแบบนี้ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนดในสิ่งเหล่านั้นลง
ราหุล เธอจงฝึกภาวนา (พัฒนาจิตใจ) ให้เสมอเหมือนแผ่นดิน เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ เปรียบดังคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง สกปรกบ้างลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือรังเกียจของเหล่านั้นไม่ เธอจงฝึกภาวนาให้เสมอเหมือนน้ำ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ เปรียบดังคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง สกปรกบ้างในน้ำ น้ำก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือรังเกียจของเหล่านั้นไม่ เธอจงฝึกภาวนาให้เสมอเหมือนไฟ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ เปรียบดังไฟที่เผาของสะอาดบ้าง สกปรกบ้าง ไฟก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือรังเกียจของเหล่านั้นไม่
เธอจงฝึกภาวนาให้เสมอเหมือนลม เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ เปรียบดังลมที่พัดของสะอาดบ้าง สกปรกบ้าง ลมก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือรังเกียจของเหล่านั้นไม่ เธอจงฝึกภาวนาให้เสมอเหมือนอากาศ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ สิ่งนั้นก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ เปรียบดังอากาศที่ไม่ตั้งอยู่ในที่ใดๆ
ราหุล เธอจงเจริญเมตตาจิต (ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข) แล้วจะละพยาบาท (ความโกรธเกลียด) ได้ เธอจงเจริญกรุณาภาวนา (ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) แล้วจะละวิหิงสา (ความเบียดเบียน) ได้ เธอจงเจริญมุทิตาภาวนา (ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) แล้วจะละอรติ (ความอิจฉาริษยา) ได้
เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนา (วางเฉยด้วยใจเป็นกลางเพราะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ไม่ผลักไสในสิ่งที่ไม่พอใจ ไม่พัวพันในสิ่งที่น่าพอใจ) แล้วจะละปฏิฆะ (ความคับแค้น) ได้ เธอจงเจริญอสุภภาวนา (คิดถึงความไม่สวยไม่งาม) แล้วจะละราคะ (ความติดใจ) ได้ เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนา (คิดถึงความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน) แล้วจะละอัสมิมานะ (ความถือตัว) ได้
ราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติ เพราะมีผลมาก เธอจงมีสติรู้ลมหายใจเข้าออก รู้ความรู้สึกขณะหายใจเข้าออก รู้ความคิดขณะหายใจเข้าออก รู้จิตขณะหายใจเข้าออก รู้ธรรมความไม่เที่ยงขณะหายใจเข้าออก เมื่อฝึกให้มาก ทำให้มาก ลมหายใจเข้าและออกจะดับไป
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 20 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค 2 เล่ม 1 มหาราหุโลวาทสูตร ข้อ 133), 2559, น.262-269
0 comments: