วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ความสงบอยู่ที่ความเห็นชอบ

ความสงบอยู่ที่ความเห็นชอบ

ให้รู้จักหน้าที่การงานของเราที่จะต้องทำหนึ่ง ให้รู้จักหน้าที่ของพระที่บวชมาแล้ว หน้าที่ของเณรที่บวชมาแล้ว หน้าที่ของชีที่บวชมาแล้วว่าควรทำอย่างไร? ควรคิดอย่างไร? ควรนึกอย่างไร? ในเวลานี้เดี๋ยวนี้เราคิดอะไรอยู่? เราทำอะไรอยู่? เราคิดผิดไหม? คิดอิจฉาคนอื่นไหม? คิดโลภ คิดโกรธไหม? ให้ดูปัจจุบันนี้ให้รีบตัดสินเสีย เพราะวันคืนล่วงไปๆเราจะมานั่งเป็นทุกข์อยู่นี่หรือท่านสอนอย่างนี้ ถ้าท่านยังเป็นอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ท่านจะพูดอย่างนี้ แต่ท่านพูดด้วยตัวหนังสือวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ไอ้ความเป็นจริงท่านกำชับตัวเราให้เรารู้จักตัวเราเอง ว่าเราบวชเป็นชีมาหน้าที่ของชีคืออะไร?

เราจะมาละกิเลสเรารู้จักกิเลสแล้วหรือยัง? ที่เราจะต้องละน่ะเรารู้จักไหม? ไอ้ความชั่วเราจะละ ความชั่วเรารู้จักไหม? เราละแล้วหรือยัง หรือกำลังที่จะละ ที่เราละแล้วหรือกำลังอดกลั้นอยู่หรืออย่างไร? ทนไหมอะไรไหม? เราพูดอย่างสมณะแล้วหรือยัง? เรากินอย่างสมณะแล้วหรือยัง? ที่เราบวชมานี้ ท่านถามปัญหาน่ะ ให้ตัดสินซิเพราะอะไร? เพราะวันคืนล่วงไปๆ เราจะมาทำอยู่อย่างนี้หรือมีราคะมีโทสะรีบกำจัดมันเสียรีบภาวนามันเสียอย่ามาทำความประมาทอยู่ที่นี้

เราบวชเป็นพระมาแล้ว บวชเป็นเณรมาแล้ว บวชเป็นชีมาแล้ว มันต่างเพศกับคฤหัสถ์เขาแล้ว เราจะมาคิดอย่างคนบริโภคกามนี้มันจะได้หรือ? เวลามันน้อย เวลามันไม่มาก เพราะวันหนึ่งๆก็เปลี่ยนไปๆ มันไม่คงที่ เราจะมาอาศัยความประมาทอยู่นี่หรือ เราจะมาทำความยุ่งยากอยู่ในใจของเราอย่างนี้หรือ? มายึดมั่นถือมั่นอยู่นี่หรือ? อะไรอยู่นี่หรือ? ทำไมเราไม่ปลดปล่อยมันไปเสียล่ะ ไอ้ราคะ โทสะ โมหะของเรา ทำไมไม่ปลดปล่อยมันไปเสีย เราจะต้องเห็นโทษของมัน

ถ้าเรายังไม่เห็นโทษมันเราก็ละมันไม่ได้ ปลดปล่อยมันไม่ได้ เสียดายความชั่วอยู่นั่นแหละ บางทีก็อยู่อย่างนั้นแหละ ๕ ปี ๑๐ ปี ๒๐ ปี ชาตินี้ชาติหน้าก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ นี่ท่านเรียกว่าไม่รู้จักหน้าที่การงานของเจ้าของว่า เราควรทำอย่างไรไหม? ถึงแม้เราจะโกรธขึ้นมาก็อดซิ โกรธน่ะไม่ใช่พระพุทธเจ้านี่นะ ท่านไม่สอนหรอก ทำไมมันถึงโกรธ? เพราะเราคิดผิด ทำไมเราถึงหลง? เพราะเราคิดผิด ทำไมเราถึงโลภ? เพราะเราคิดผิดคิดผิดอะไรมันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิมันถึงคิดผิดอย่างนั้นมิจฉาทิฏฐิมันนำความทุกข์มาให้เราเราถึงไม่สงบ

ความสงบมันอยู่ที่ตรงไหน?มันอยู่ที่สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบมันก็สงบเท่านั้นแหละมันก็ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง...ไม่มี เพราะเห็นโทษมันแล้ว ไม่ยึดโลภไว้ ไม่ยึดโกรธไว้ ไม่ยึดหลงไว้ ไอ้ความชั่วทั้งหลายที่เกิดมาก็มี แต่ท่านปล่อยมันไป...ละมันไป มันไหลผ่านไปเรื่อยๆ เป็นอย่างนี้ ทำไมถึงปล่อยมันไป? เพราะว่าชีวิตของฉันมันน้อย เวลาของฉันมันน้อย มันน้อยเพราะอะไร? เพราะวันคืนเราก็เห็นอยู่ว่ามันล่วงไปๆนี่นะ แล้วเราจะมาทำให้มันทุกข์อยู่ทำไม จะยึดอยู่ทำไมให้ป่วยการป่วยเวลาของเรา เราก็ปล่อยมันไปเสียดีกว่า ถ้าคิดตกลงอย่างนี้มันก็ปล่อยมันก็วางคือความเห็นชอบนั่นแหละที่สงบละ

ถ้าใครไม่มีความเห็นชอบ ไปเถอะจะไปอยู่ในป่าก็ไปเถอะ จะไปอยู่คนเดียวก็ไปเถอะ จะไปอยู่อะไรไม่เห็นใครก็ช่างมันเถอะ แต่ใจมันเห็นอยู่นะ ตานี่ไม่เห็นแต่ใจมันเห็นอยู่ ไอ้ความสงบจริงๆนั้น ไม่ใช่ทุ่งนา ไม่ใช่ป่า ไม่ใช่ไปอยู่คนเดียว แต่ว่ามันก็เป็นเหตุเสียหน่อยหนึ่ง ถ้าเราต้องการความสงบแล้วไปอยู่ป่ามันทำความสงบได้เร็วกว่าดีกว่า... อย่างนี้ไม่ใช่ว่าเข้าไปถึงป่าแล้วมันสงบไปถึงภูเขาแล้วมันสงบไม่ใช่อย่างนั้น

ความสงบมันต้องเกิดจากความเห็นชอบ ไม่ใช่เกิดจากมิจฉาทิฏฐิ ทีนี้เราก็เรียกว่าเราเป็นนักปฏิบัติที่มีการปล่อยวาง พวกมากเราจะต้องรู้จักอยู่ได้ เมื่อเวลาเราจะต้องอยู่ก็อยู่ได้ ไอ้พวกน้อย ก็อยู่ได้ เมื่อเราจะต้องอยู่ แต่พวกน้อยเราไปก็ได้ ถ้าถึงเวลาเราจะต้องไป ไปด้วยดี ไม่ใช่ไปเพราะอะไรที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของสมณะที่สมบูรณ์อย่างนี้ เรายังไม่สมควร....อย่างนี้ ไอ้ความเป็นจริงแล้วสัมมาทิฏฐิมันอยู่ตรงไหนตรงนั้นแหละความสงบ ถ้าหากเราไม่รู้จักอันนี้ จะไปอยู่คนเดียวก็เอาซิ...มันก็ไม่สงบ จะไปอยู่มากคนมันก็ไม่สงบ มันไม่สงบทั้งนั้นแหละ เพราะมันเป็นมิจฉาทิฏฐิ อันนี้ต้องคิดค้นมันให้ดีๆ

อย่างที่วัดหนองป่าพงเราน่ะ อาตมาเคยเล่าให้พระให้เณรฟัง ไปธุดงค์...อยากจะไปธุดงค์ที่ไหนนะวัดป่าพงนี่มันธุดงค์เท่าไรน่ะเอาไม๊จะเอาป่าไม๊... เอาอะไรไม๊มันที่สงบระงับดีเหลือเกินเขาทำงานกันเป็นเวลาทั้งนั้นแหละ...ทำงานกันเป็นเวลา

บางคนก็คิดว่าไปสวดมนต์ไปทำวัตรไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรไม่ได้ทำสมาธิแน่ะ.... นี่พระขี้เกียจไปเห็นอย่างนั้น การสวดมนต์ทำวัตรนี่มันขี้เกียจ แก้ความขี้เกียจนั้นซิมันอยากขี้เกียจนี่ ไปเล่าเรื่องธรรมะไปสรรเสริญคุณพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์มันผิดไหม?มันบาปไหม?เมื่อพวกเราทำอย่างนี้เราก็ทำซิ ถ้าหากว่าคนเราไปอยู่อย่างหนึ่งก็ว่า อือ...ไม่ต้องอะไรหรอก ไปสวดมนต์ทำวัตรมันจะได้อะไร ก็เหมือนกับร้องเพลงเท่านั้นแหละ... แน่ะ กิจอะไรที่มันจะมีเป็นรากฐาน คนเก่าก็มี คนใหม่ก็มี มันฝึกกันอย่างนี้ อันนี้มันเป็นทางที่ถูก อย่างน้อยถึงเวลาทำวัตรตีระฆังแก๊งๆ มันนึกไม่ได้...ก็ขี้เกียจนี่ มันก็ต้องแก้ความขี้เกียจละ ไม่ต้องแก้ที่อื่นหรอก มันก็ดีอยู่แล้วนี่ ให้เราเข้าใจอย่างนั้น ถ้าเราไปคิดอะไรไม่มีอะไรเป็นหลักการ สารพัดอย่างจะต้องให้มีการสามัคคีกัน

อย่างเดือนหนึ่ง พระพุทธองค์ให้ประชุมกันอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อเป็นการสามัคคีกัน มีอะไรจะได้ปรึกษากัน เป็นสังโฆ...เป็นหมู่ของสงฆ์ มิคสังโฆ...หมู่แห่งเนื้อ สกุณาสังโฆ...หมู่แห่งนก อริยสังโฆ...หมู่แห่งพระอริยเจ้า มันเป็นหมู่เป็นหมวด ถึงแม้มันจะไม่เหมือนกัน เหมือนนกน่ะมันต่างพันธุ์กันมันก็เป็นนก บางตัวก็ยาวๆ บางตัวก็สั้นๆ บางตัวก็ปีกยาว บางตัวก็ปีกสั้น แต่ว่ามันก็เป็นนกเหมือนกัน เรียกว่าหมู่แห่งนก มันไปเป็นกลุ่ม

หมู่ของพวกโยมชีก็เหมือนกัน ของพระของเณรก็เหมือนกัน ต้องเหมือนลักษณะนกอย่างนั้น ลักษณะผู้ประพฤติปฏิบัติก็ต้องเป็นอย่างนั้น...สงบ ทำจิตของเราให้สงบ ถ้าเราไม่มีปัญญามันทำความสงบไม่ได้ที่อยู่สมบูรณ์เกินไปอาหารสมบูรณ์เกินไปก็ยังไม่สงบ เพราะจิตเราไม่เห็นชัด ไอ้ความชั่วทั้งหลายที่มันมีมาอยู่ เราจะละมัน...ละไม่ได้ เพราะเรายังไม่เห็นโทษของมันอย่างชัด เราจะต้องเห็นโทษมัน ทีนี้คิดไปพิจารณาไปแล้วตกลง ก็ต้องพยายาม ทั้งพวกญาติโยมทั้งหลายทุกๆคน

อย่างทุกวันนี้วัดป่าพงเรานั้นน่ะ พูดง่ายๆ ในสมัยนี้เป็นวัดตัวอย่าง เขาให้ชื่อว่าวัดหนองป่าพงเป็นวัดตัวอย่างตัวอย่างที่ดีปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คำเขาเล่าลือของคนชาวโลกเขาพระเณรก็น่าเลื่อมใสประพฤติดีประพฤติชอบ เราลองมาดูมันดีอย่างนั้นไหม? อย่างเขาเล่าไหม? พวกชีก็มีระเบียบดี ประพฤติดีประพฤติชอบน่าเลื่อมใสเขาพูดอย่างนั้น เราดีอย่างเขาว่าหรือเปล่า เช่นว่าเราไม่ดี เราก็ต้องคิดให้มันดีอีกว่าเราไม่ดีหรือเปล่า มันเป็นอย่างนั้นหรือ เราต้องอาศัยตัวของเราเอง

ถ้าเราทำไม่ดีอยู่เขาว่าดี อื้อ...เขาโกหกเรา ไอ้คนนั้นมันพูดผิดน่ะ เราจะไปเข้าใจว่าดีกับเขาไม่ได้ เรายังอยู่...ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีตัณหาอยู่ เราพยายามจะเพิ่มข้อประพฤติปฏิบัติเราไปอีก ตรวจดูกาย วาจา ใจของเจ้าของที่มีอยู่นี้ ตรวจดูทุกๆวัน มันพร่องตรงไหน มันสั้นตรงไหนต้องต่อตรงนั้น มันยาวตรงไหนต้องตัดตรงนั้น ให้ปฏิบัติอย่างที่ว่าเหมือนอยู่คนๆเดียวอยู่มากคนก็เหมือนอยู่คนๆเดียว ไม่ต้องวุ่นวาย ต้องมีการอดกลั้น บางทีก็ว่าไอ้คนนั้นพูดไม่ค่อยถูกใจเรา เพราะคนนั้นมันไม่รู้จัก มันไม่ฉลาด เราก็รู้จักคน...ไอ้คนนั้นมันยังไม่ฉลาดเราก็ต้องรู้จักมัน ผ่อนสั้นผ่อนยาว ถึงเวลาที่ตักเตือนกันก็ตักเตือนกันให้ดี อย่าไปทำอย่างนั้น อย่าไปทำอย่างนี้ อย่างนี้มันไม่ดี

คนเราน่ะถ้าหากว่าจะเตือนคนอื่นเขาก็เตือนเราเองเสียก่อน เตือนทำไม? ถ้าไปเตือนเขาแล้วเขาไม่ฟังนี่ มันจะเกิดโมโหขึ้นมา เราจะเตือนคนๆนี้ก็เรียกว่า เราทำตัวเราให้มันดีเสียก่อน เขาจะว่าเขาจะด่าอะไรก็ช่างเถอะ เราได้สร้างความดีแล้วในจิตที่จะเตือนเขา ถ้าเขาฟังก็ดี ถ้าไม่ฟังก็ตามเรื่องเขา คนเตือนต้องอยู่ในลักษณะอันนี้ ไอ้คนที่ถูกเขาเตือนนั้น ไอ้คุณนี่พูดไม่ดี ทำไม่ดี อะไรเราก็ฟัง จริงของเขาไหม? เขาว่าเราไม่ดี จริงไหม? ...เราฟัง ถ้าเราดี... ก็เขาพูดไม่ถูก เขาคิดไม่ถูกก็เรื่องของเขา เราต้องปล่อยต้องวางเข้าสู่ธรรมะให้ได้ ใครจะว่าดีว่าชั่ว เข้าสู่ธรรมะต้องตรวจดูว่าลักษณะอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ เราคิดอย่างไรไหม? เราคิดอิจฉาคนอื่นไหม? ถ้าคนเขามาพูดว่า คุณน่ะอิจฉาฉัน ถึงพูดอย่างนี้ถึงทำอย่างนี้ เราก็ต้องรู้จักว่ามันจริงอย่างนั้นหรือเปล่า เมื่อเราจะพูดจะทำอะไรต้องรู้จักรับรองตัวของเรา เราไม่คิดอย่างนั้น เรามีเจตนาดี แต่คนนั้นเขามีเจตนาไม่ดี เราก็สบายใจอยู่ ก็เพราะว่าเรารู้ตัวของเราอยู่แล้ว

ดังนั้นท่านจึงให้มีสติทุกเวลา เมื่อจะตั้งใจพูดอันนี้เราก็ตั้งใจพูด ดีไหม? ถูกต้องไหม? คืออะไร? เรารู้จักของเรา เมื่อคนอื่นเขาท้วงว่าพูดอันนี้มันไม่ดี เราก็สบายเพราะเราคิดดีอยู่แล้ว เราพยายามทำให้ดีอยู่แล้ว คิดดีอยู่แล้ว ไอ้คนที่ว่าไม่ดีเขาพูดผิด...เราก็สบายใจ


อัตตะนา  โจทะยัตตานัง... จงเตือนตนด้วยตนเอง  แต่ให้อาตมามาเตือนทุกคนๆทุกเวลาหรือ ตั้งพรรษาหนึ่งพึ่งได้มานี่น่ะ ถ้าอาศัยอาตมามาเตือนญาติ-โยมทุกวันๆ ญาติ-โยมคงจะโง่เต็มทีซะแล้ว อัตตะนาโจทะยัตตานัง...จงเตือนตนด้วยตนเอง คุ้มครองตนเอง เราคุ้มครองจิตของเราเอง รักษาตัวเอง ฉะนั้นนานๆอาตมาจะเดินเข้ามาว่าปฏิบัติเอาเองเน้อ...ทุกคนปฏิบัติเอาเองดูเอาเองสอนให้ดูเอาเองให้รักษาเอาเองคือให้เตือนเจ้าของเองว่า การกระทำเราดีไหม? เราทำอยู่ทุกวันนี้เพื่อสมกับเป็นสมณะไหม? ต้องคิดให้มันดีอย่างนี้

ฉะนั้นให้เข้าใจเสียว่า ไม่ต้องอื่นหรอก วัดป่าพงนี่มันระดับประเทศ ไม่ใช่ระดับอำเภอ ไม่ใช่ระดับจังหวัดหรอก...ระดับประเทศ ยกตัวอย่างเหมือนอาตมานั่นแหละ เขาต้องเข้าใจว่าอาตมาเป็นพระอรหันต์แล้วเดี๋ยวนี้ แต่ว่าเรื่องเขาพูดไป เราจะเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่เป็นจริงอย่างนั้น มันอยู่ที่เรา เรื่องเขาพูดไปเขาพูดอย่างนั้น นี่พระอรหันต์มาแล้ว...เราจะดีใจไหมนั่นน่ะ เราเป็นหรือยัง หรือเรายังไม่เป็น นั่นเรื่องเขาพูด ห้ามเขาไม่ได้ เราจะต้องตรวจดูของเรา เรารู้ตัวของเรา เป็นไม่เป็นเรารู้ที่ตัวของเรา เราไม่ต้องอาศัยคนอื่นเขา เราเตือนอยู่อย่างนี้ เขาเตือนเราอยู่อย่างนี้ เราก็เตือนเราอยู่อย่างนี้ อันนี้ประชาชนเขาพูด เขาเป็นอย่างนั้น

แม่ชีก็สำรวมน่าเลื่อมใส พระสงฆ์ก็น่าเลื่อมใส...ขาว...ทุกจังหวัดมันมารวมสารพัดอย่าง ดูซิ...ชีฝรั่งก็มี พระฝรั่งก็มี ดีไม๊...พระฝรั่งดีไม๊ เขาว่าดี...ดีไม๊ ชีฝรั่งเขาว่าดี...ดีไม๊ล่ะ หรือเขาว่าดีก็จะดีเอางั้นหรือ พระฝรั่งท่านดีนะ ท่านอยู่เมืองนอกท่านอุตส่าห์มา แหม...ศรัทธาท่านมากเหลือเกิน ชีฝรั่งมาอยู่เมืองไทยก็มาบวชเป็นชีฝรั่ง น่าเลื่อมใสเหลือเกิน มันดีจริงอย่างนั้นไหม? เราต้องดูเราเองซิ อย่าไปเชื่อคนอื่นเขา นี่ระวังให้มันดีให้เราคิดดูอีก

เขาว่าเราชั่วน่ะเขาพูดเขาว่าเราดีน่ะเขาพูดไม่ใช่ตัวเราตัวเรารู้ตัวเราเองอันนี้ให้ตั้งไว้ในใจของเรา ให้พยายามทุกคน จะต้องเป็นอย่างนั้น เฉพาะบรรดาที่คนแก่ๆนั้นน่ะ คนแก่นี่ตามสัดส่วนก็อายุยังไม่มากนะ บางคนก็ ๖๐ ปี มาแล้ว ๗๐ ปี ก็ยังมีเลยนะ วันคืนมันล่วงไปๆ วันนี้ก็กำลังจะหมดไปแล้ว ตอนเช้าตะวันโผล่มาอีกแล้วก็หมดไปๆ ให้ตั้งใจ อย่าให้ตัวเราวุ่นวาย อย่าวุ่นวายกับคนอื่น เป็นคนว่าง่าย เป็นคนสอนง่าย ไม่ยึดถือมานะทิฏฐิทิฏฐิ...คือความเห็นท่านไม่ห้ามหรอก เห็นเรื่อยๆไปแต่มานะอย่าไปผูกพันมันอย่าไปยึดมันให้ปล่อยให้วาง ถ้าหากว่าเราปล่อยวางมัน มันก็ผ่านเราไป ถ้าเราไม่ปล่อยมันก็หนัก

อย่างที่ท่านว่าปล่อยสังขารวางสังขารน่ะ มันเป็นของหนัก ไอ้รูปนี้ เวทนานี้ สัญญานี้ สังขารนี้ วิญญาณนี้ มันเป็นของหนัก ไปยึดเอาของหนักไว้มันก็หนักซิ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเราถือว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขาแล้วก็แบกมันไว้มันก็หนักท่านว่าให้ทิ้งของหนักเสีย คือไปยึดว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เป็นเรา...เป็นของเรา เวทนานี่คือ สุข-ทุกข์ นี่ก็เรียกว่ามันเป็นของเรา อย่าไปถืออย่างนั้น มันหนัก ท่านว่าให้วางให้ปล่อย สัญญาความจำโน้นจำนี้ว่าเรา ว่าของเรา ก็ต้องวางมันๆหนัก เมื่อรู้แล้วก็วางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมด อย่าไปยึดให้มันหนักเป็นสักว่าธรรมชาติมีความรู้สึกแล้วก็ดับไปเท่านั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของถ้าใครเข้าไปถือเป็นเจ้าของเมื่อไรก็หนักเมื่อนั้น

กิตติศัพท์ว่าพระสังฆราชองค์หนึ่ง เขาถวายถ้วยชาจากเมืองจีนโอย...พอถ้วยชาถึงมือปุ๊บมันทุกข์เลย จะวางตรงไหนหนอ จะเก็บตรงไหนหนอ กลัวมันจะแตก แต่ก่อนไม่มีถ้วยชาสบาย พอเขาให้ถ้วยชา พอเขาถวาย จับถ้วยชาทุกข์แล้วนะ แต่ก่อนมันยังไม่ทุกข์ ถ้วยชานี้แหละมันหนักเห็นไหม เณรเข้าไปใกล้ก็ว่า "ระวังให้ดีนะ" เป็นทุกข์ตลอดเวลาได้ถ้วยชาใบนั้นมามันเป็นทุกข์ทุกข์มันมากับถ้วยชาเพราะไปยึดมั่นถือมั่นเลยเป็นทุกข์ อีกวันหนึ่งสามเณรไปจับหลุดมือแตกเพี๊ยะเอ้อ...หมดทุกข์ไปซะทีโว๊ยมันทุกข์มาหลายปีแล้ว แน่ะ...เห็นไหม

ขันธ์ ๕ นี้ก็เหมือนกัน มันหนัก ให้ทิ้งของหนักเสีย ทิ้งรูป ทิ้งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เสีย อย่าไปเข้าใจว่าตัวเราหรือของเรา มันสักแต่ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าเรารู้เช่นนี้มันก็เป็นวิมุตติขึ้นมา พ้นขึ้นมาแล้วแต่ก่อนมันติดสมมุติเมื่อเห็นเป็นสักว่ามันก็พลิกขึ้นมาเป็นวิมุตติพ้นจากสมมุติอันนั้นในขันธ์๕ สมัยก่อนไปยึดขันธ์ ๕ เมื่อมาปล่อยขันธ์ ๕ มันก็เบานี่ตัวอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ให้เข้าใจทุกคน

ที่เรามาน่ะเรามาปล่อยวาง คนอื่นเขาเตือนเรา เราก็สาธุเลย ไม่ต้องไปว่าเขา เขาเตือนเรา ถึงว่าเราทำถูก แต่เขาว่าทำผิด ก็ฟังเถอะ ฟังมันให้เกิดปัญญา อาตมาจะเอาของดีๆมาฝาก ไอ้พวกเซ็นเขาน่ะ เขาสอนให้ลดทิฏฐิมานะ ไม่ต้องเรียนอะไรมากหรอก พอนั่งสมาธิ ง่วงนอนเขาก็เอากระบองตีศีรษะ เป๊ะ พอลูกศิษย์มองเห็นอาจารย์..."ขอบคุณครับ" พวกเราเป็นแม่ชีกันนี้ จะขอบคุณกันได้ไหม? ชีทุกๆคนน่ะแก่ๆหนุ่มๆพอเราง่วง เขาเอากระบองมาตีศีรษะเผ๊ะ...- "ขอบคุณครับ"...ว่าได้ไหมหือ กิเลสของเรากับของเขาน่ะวัดดูซิมันยาวขนาดไหนนะ ดูก็ได้นี่ ถ้าถูกเรามันจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการสอนกันน่ะ อาตมาก็ยังยอมลูกศิษย์เลย อะไรที่มันผิดเตือนเถอะ

แต่ว่าเป็นอาจารย์เขามันยิ่งยาก ไม่มีใครจะกล้าเตือน เกรงใจ โยมทั้งหลายน่ะมีกำไรนะ อาตมาบอกให้ ไม่ต้องเกรงใจ ถ้าอาตมาทำผิดโยมจะเตือนนี่ยาก ไม่มีใครเตือนเพราะว่าเป็นครูบาอาจารย์กลัวเกรงนี่ ดังนั้นการปฏิบัติเป็นพระเถระนี่มันยากลำบาก บางทีเราผิดเขาก็ปล่อยให้ผิดไปเรื่อยๆ ไม่รู้ตัวของเรา ถ้าเขาจะเตือนรึ เขาก็กลัวเรา เกรงเรา อะไรเรา มันหาคนที่จะสอนเรายากลำบาก ไอ้พวกเรานี้มันสบายกันทุกคน ถ้าหากว่าทำความผิดมา มีคนบอกปุ๊บเลยทีเดียว มันดีเหลือเกินแล้วน่ะ อย่าไปนั่น อย่าไปนี่ ให้เข้าใจการปฏิบัติมันก็เรื่องอย่างนี้เอง ถ้าเราละเราวางแล้วมันก็หยุดแหละ มันไม่หนัก ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นนี้แหละมันหนัก

ฉะนั้นอยู่ในกลุ่มมากๆ เราอยู่ด้วยกัน คนในกลุ่มหนึ่งจะต้องมีหัวหน้าเป็นธรรมดา จะทำอะไรให้นึกถึงหัวหน้า อย่างชีทุกคน พระทุกองค์ จะทำอะไรให้นึกถึงอาตมาด้วย เพราะอาตมาเป็นผู้นำ ให้เรานึกถึงว่าถ้าเราจะทำไม่ดี ทำวุ่นวาย ก็ให้นึกถึงอาตมา เพราะอาตมาเป็นผู้แนะนำพร่ำสอนทุกอย่าง ที่อยู่ที่อาศัยวัดหนองป่าพงนี้ จะว่าอาตมาเป็นเหตุก็ได้ ญาติ-โยมมาทีหลังนี้มาอยู่สบายๆ แม้จะทำอะไรขึ้นมาก็ให้นึกถึงบุญคุณซะนิดหนึ่งก็ดี ว่า ควรไหมหนอ ถูกไหมหนอ

ในกลุ่มชีทั้งหลายนี้ ชีตั้ง ๖-๗ คน ที่อาตมาตั้งไว้ ทำไมถึงตั้ง ทำไมไม่ตั้งหมดทุกคน? ก็เขามาบวชก่อน เขารู้ภาษาก่อน รู้เรื่องก่อน ชำนาญก่อน ก็ตั้งเป็นกรรมการขึ้น...เพื่ออะไร? เพื่อตรวจตราพวกญาติ-โยมทั้งหลายที่เข้ามา ให้ความบริสุทธิ์ด้วย ควรไหม?...ผิดไหม?...ถูกไหม?...อย่างนี้ ให้เขาสำรวจตรวจตราคัดเลือก พวกเราที่เข้ามาใหม่เป็นคนดีไหม? อย่างเลือกหนทางให้เขาอย่างนั้น ให้ใครมาตั้งเป็นกรรมการให้รับรองนี่ ให้เงินเดือนสักกี่บาทกี่ร้อยเขาก็ไม่เอากัน มันลำบากนี่ อันนี้อาศัยศรัทธา มีศรัทธา

อาตมาตั้งใจว่าใครจะบวชก็ให้เข้ามาหานี่ก่อน ถึงบวชแล้วอยู่ไปก็ให้กรรมการ ๖-๗ คน นี่พิจารณาเสียก่อน ถ้าคน ๖-๗ คนมันจะไปรุมเกลียดคนๆเดียวมันก็ไม่มีหรอกยากมากที่สุดแหละ ถ้าหากว่าใครมันผิดพลาดตามสายตาของกรรมการ ๖-๗ คน แล้วก็เรียกว่าชีคนนั้นเป็นคนแปลกคน อาตมาตั้งพระในวัดนี่ก็เหมือนกัน ตั้ง ๖-๗ องค์ เป็นคณะสงฆ์ไว้ ถ้าสงฆ์ใน ๕-๖ องค์ นั้นน่ะไม่เข้าใจแล้ว ไม่ถูกแล้ว ก็เรียกมาถามดู พระองค์นั้น เณรองค์นั้น เป็นพระที่แปลก เป็นเณรที่แปลกแล้ว ไว้ใจไม่ได้แล้ว ต้องสำรวจตรวจตราอยู่อย่างนี้ทุกเวลา

ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายนั้นน่ะจึงได้อาศัยอันนี้ อาศัยบุญคุณอันนี้ ที่มีปฏิบัติกันอย่างนี้ มันจึงมีความอยู่เย็นเป็นสุขทุกๆคนตลอดมาทุกวันนี้ ดังนั้นอย่าไปลืมบุญคุณ จะพูดอะไร? จะไปที่ไหน? จะทำอะไร? ให้นึกถึงอาตมาบ้าง ว่าอาตมามาทำนี้เพื่ออะไร? โยมเข้ามาบวชนี่อาตมาได้เรียกค่าเช่าไหม? ฝรั่งมาอยู่ก็ได้ ไทยมาอยู่ก็ได้ มาปฏิบัติกัน ถ้าจะไปพักโรงแรมเขาต้องเก็บค่าเช่าทั้งนั้นแหละ ให้ดูไปอย่างนี้ดีกว่า พื้นๆ ดูไปเถอะ อาตมาคิดยังไงไหม? แต่อาตมาเป็นพระที่เรียกว่าเฉยๆทุกคน ชีทุกคนที่เข้ามานี้อาตมาก็เฉยๆ อยู่อย่างนี้ ถามก็ไม่ถาม ทุกคนสนิทอยู่ในใจ เรียกว่ารักกันด้วยธรรมะไม่ได้รักกันโดยโลกไม่ต้องประจบประแจงกัน มีอะไรผิดพลาดต้องพูดกันไปตามส่วน

บางคนอาตมาไม่เคยได้ถามเลยพวกชีนี่ อย่าว่าแต่ชีแหละ พระ-เณร ไม่เคยได้ถามก็ยังมีเลย เพราะว่ามันมาก ฉะนั้นคนๆเดียวดูคนหมู่มากมันก็ลำบากอยู่ จึงว่าให้ปฏิบัติเอาเอง รักษาตัวเองให้มันมากที่สุดนั่นน่ะดีหลายละ ให้ดูซิว่าผู้คนประชาชนทั้งหลายมาวัดป่าพงน่ะ มาดูแม่ชี มาดูพระ มาดูข้อปฏิบัติ เขาไม่ต้องไปถามอะไรหรอก ก้าวเข้ามาในวัด ไปดูกุฏิของพระ กุฏิของแม่ชี สถานที่วัดมันสะอาด เก็บสิ่งที่เป็นสัดเป็นส่วนไว้เรียบร้อยอย่างสมณะ มันก็เกิดความเลื่อมใสแล้ว ไม่ต้องเทศน์หรอก...ไม่ต้องเทศน์ อันใดมันเกะกะละวาง ก็ต้องช่วยกันเก็บ ช่วยกันรักษา อันนี้แหละคือเทศน์ละ คนเลื่อมใสอย่างนี้

ไอ้ต้นไม้ที่อยู่ในป่าน่ะมันเทศน์ให้เราฟังไหม? ดอกไม้เห็นไหมมันเคยเทศน์ให้เราฟังไหม? ทำไมมันถึงรู้สึกว่าฉันชอบมันเหลือเกิน ฉันหอมมันเหลือเกิน ดอกไม้มันเทศน์ไหมมันเกิดตามธรรมชาติมันทั้งนั้นแหละ คนเราเข้าไปชอบมันเองของมัน อันนี้ก็เหมือนกัน ลักษณะอันนี้มันเป็นธรรมในตัวของมัน เราไม่ต้องไปเทศน์อะไรให้มันมากหรอก เราปฏิบัติของเราเท่านั้นแหละ.    อาตมายังเคยคิดเลยว่า...การสร้างวัด ตั้งแต่ ๖ พรรษา เริ่มปฏิบัติแล้ว อาตมาไม่เห็นเรื่องอื่นไกลนอกจากเรื่องปฏิบัติ ไม่ต้องไปขอร้อง ไม่ต้องไปออกการ์ด ไม่ต้องไปอะไร มันอยู่ในข้อปฏิบัติทั้งหมดน่ะ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชนั้น ไม่อยู่นอกเหนือนี้ เราปฏิบัติให้มันดีในเรานี้ ไม่ต้องไปร้องขอหรอกนะ

ไม่ใช่แต่เมืองนี้นะ ไปเมืองนอกเขาก็ยังเลื่อมใส อาจารย์สุเมโธนี้ก็ว่า "แหม...หลวงพ่อนี่ก็เป็นพระแปลกเหมือนกันนะ ผมอยู่นี่ก็ไม่มีใครปวารณาหรอก หลวงพ่อไปที่ไหนเขาปวารณาปัจจัยให้เรื่อยๆ" แต่อาตมาไม่เคยเอามาหรอก เงินตั้งหลายหมื่นเหมือนกัน ก็เขาถวายมา ไม่เอา...เอาไว้กับสุเมโธ เอาไว้นั่นแหละ เมื่อพระไทย เมื่อพระฝรั่งไป-มา เมื่อชีฝรั่งไป-มา ถึงคราวจำเป็น มันขัดข้องจริงๆ เอานี่ใช้เถอะ ไม่เคยเอามา เป็นส่วนกลางไว้ที่นั่น ไม่ต้องเอาเข้ามา นี่...ต้องทำอย่างนี้คิดอย่างนี้ทุกๆคน

ไม่ใช่แต่เมืองเรา เมืองอื่นก็เหมือนกันเขามีศรัทธา เพราะการกระทำของเราอาตมาเห็นว่าถ้าเราทำดีที่สุดแล้วนั่นน่ะ... รู้จัก... เทวดาเห็นพอเห็นปุ๊บเท่านั้นแหละโอย... อยากจะเอาของมาให้แล้วอย่างน้อยอยากจะมาถวายจังหันถ้าไม่ได้มาถวายจังหันปวดศีรษะ... ศีรษะจะแตกต้องอยากมา... ต้องมาจะอยู่ที่ไหนก็มา ไม่ใช่ว่าอยู่แต่นี่ ไปอยู่ภูเขาก็มีมา ไม่เห็นหน้าก็มาไม่รู้ว่าคิดถึงอะไรก็ไม่รู้คงคุณธรรมที่เราปฏิบัติดังนั้นการปฏิบัตินี่เป็นของดีที่สุด

พวกเราทั้งหลายการปฏิบัติน่ะให้ถึงที่ถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรขัดข้อง จะสร้างวัดแห่งใดแห่งหนึ่งไม่ต้องไปขออะไรที่ไหนหรอกเขาเอามา ให้เขามาสร้างเองเขาดูอย่างนี้ไม่ต้องไปนั่งขออะไรเราทำดีเท่านั้นแหละมันไหลมาๆ สร้างที่พักให้ที่เราอยู่นี้เราอยู่ด้วยบุญวาสนาบารมีของเราอยู่ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ถ้าพระทะเลาะกันซิ พระไม่ถูกกันซิ สมภารขี้โลภ ชีทำอธิกรณ์วุ่นวายกันซิ มันจะมีอะไรกันล่ะ...ไม่มีหรอก ประเดี๋ยวเขาก็จะเอาไฟมาจุดกระต๊อบน้อยๆเท่านั้นแหละ ให้เราเข้าใจเราอยู่ทุกวันนี้เราอยู่เพราะความดีของเรา ให้เข้าใจอย่างนั้น ทำให้มันดีขึ้นๆ ต้องช่วยกัน

ไปไหนไม่ค่อยอดอยากเพราะอะไร? เพราะความเสียสละ ถ้าเอาเข้ากระเป๋าหมด พวกชีก็ไม่ให้กินเลย พระก็ไม่ให้เลย อันนี้อาตมาเอามาแบ่งกันไปหมด สาขาไหนก็ตามแบ่งกันไป บางทีหยูกยาเขาเอามาถวายก็ให้ถวายองค์อื่นเสีย ให้ท่านไปฉันยาให้โรคท่านหาย อาตมาก็หาย ไม่ต้องฉันก็หายแล้ว มันได้บุญน่ะ นี่ทำไม?

ในคราวหนึ่ง พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลาน์ ไปจำพรรษาอยู่ในภูเขาน่ะ พระสารีบุตรนั้นท่านปวดท้อง ปวดจะเป็นจะตายเลย พระโมคคัลลาน์เลยถามว่า ท่านสารีบุตรท่านเคยเป็นโรคอย่างนี้มาไม๊? เคยเป็นครับ แต่ยังเป็นฆราวาสอยู่ ท่านฉันยาอะไรจึงหายนี่? โยมแม่ผมน่ะ ถ้าปวดท้องอย่างนี้ จะต้องเอาถั่วเขียวบ้าง น้ำตาลบ้าง นมบ้าง อะไรบ้าง น้ำข้าวปายาสบ้าง กวนเข้า เอาให้ฉัน แล้วโรคท้องผมมันหายไป

พูดกันสององค์อยู่ภูเขา เทวดาฟังได้ยิน พอดีตอนกลางคืนจวนจะรุ่งเข้าไปหาทายกเทวดาจับคอทายกเอาหน้ามาไว้ข้างหลัง พูดบ้าๆบอๆไป "มึงจะทำยาไปถวายท่านสารีบุตรไม๊ ถ้าไม่ทำยาไปถวายท่านสารีบุตร เอาให้ตายๆ" ทายกยอมแล้ว รับรองจะทำยาให้ พอดีหายขึ้นมาก็รีบเอาถั่วเขียวมากวนขึ้น ตอนเช้าพระโมคคัลลาน์ไปบิณฑบาตพระสารีบุตรไม่ได้ไป ปวดท้อง ทายกใส่บาตรพระโมคคัลลาน์แล้วยกยาขึ้นว่า "ขอถวายให้ท่านสารีบุตรด้วย"

พอไปถึงวัด ท่านก็ยกยาไปถวายท่านสารีบุตร ท่านสารีบุตรเมื่อมองไปในบาตรเห็นอาหารที่พูดกันอยู่เมื่อคืนนี้ ถั่วเขียวก็เห็น อะไรก็เห็นเหมือนเหมือนพูดทุกอย่าง ถูกหมด พระสารีบุตรตกใจเลย บอกว่า เออ...เอาละมันเป็น*วิญญัติ ไม่ได้บอกหา เปล่าหรอก...เป็นวิญญัติ ท่านว่าอาหารชนิดนี้ให้ท่านโมคคัลลาน์ไปเทลงพื้นปฐพีเสีย "ถึงแม้ว่าไส้ผมน่ะมันจะรั่วไหลเดี๋ยวนี้ ผมก็ฉันไม่ได้" นี่...ท่านรักษาอาบัติของท่าน เพราะท่านได้พูดแล้วได้ยินถึงเทวดา พระโมคคัลลาน์ก็ยกยานั้นเทลงบนพื้นดิน พอยาถึงแผ่นดินโรคท้องของพระสารีบุตรหายเลย เห็นไหม อันนี้มีอานิสงส์อย่างนี้ขนาดนี้แหละท่านปฏิบัติอย่างนั้น ขนาดที่ท่านพูดกันสองต่อสองในภูเขานี่ เทวดาได้ยิน ได้ยาขนาดนั้นท่านยังไม่ยอมฉันเลยเพราะมันออกจากวิญญัติของท่านแล้วนี่...การรักษาศีลของท่านมันไกลกันกับทุกวันนี้

ทุกวันนี้ต้องสะพายย่ามไปขอเลยเห็นไหมพระไปขอเรี่ยไรตามตลาดนั้นน่ะห่างไกลกันมากที่สุดแหละ การปฏิบัติต้องเป็นอย่างนี้ ให้จำไว้ในใจเรื่องบริสุทธิ์ต้องทำอย่างนี้ ไม่ตาย พระพุทธองค์ว่า ถ้าปฏิบัติ อุชุปฏิปันโน ญายะปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโนน่ะ แล้วไม่ตาย ทำให้มันดีเถอะ วันนี้ฉันเสร็จแล้ว พรุ่งนี้จะฉันอะไร ไม่ต้องพูดถึง...มี ไม่ต้องไปสะสมอะไรให้มันมากหรอก ถ้าทำความดีอันนั้นต้องดี ท่านบอกว่าถ้าใครไม่ให้ทาน แก่ผู้ประพฤติชอบแล้วไม่ค่อยสบาย เจ็บศีรษะ อยากจะไปถวายจังหัน อยากจะไปกราบ อยากจะไปไหว้ อยากจะไปอะไรต่างๆ เกิดขึ้นในจิตใจด้วยอำนาจอันนี้

ทุกๆคนให้พากันเข้าใจ สร้างความดีขึ้น ไม่ใช่สร้างความชั่ว เราบวชมาเป็นสมณะทุกคน พวกชีก็เป็นสมณะเข้ามาบวช พระ-เณร ก็ในนามสมณะ หน้าที่ของสมณะเป็นอย่างไร? ทางที่สมณะจะเดินไปอย่างหนึ่ง ทางที่สมณะไม่ควรจะเดินอย่างหนึ่งอัตต-กิลมถานุโยโคกามสุขัลลิกานุโยโค อันนี้ไม่ใช่ทางที่สมณะจะเดินไป อัตตกิลมถานุโยโคนี้ ทำตามอำนาจใจของเราเป็นอัตตา ทำเปล่าๆทำไม่เกิดประโยชน์ ให้เราทนทุกข์ทรมานเปล่าๆ

เช่นว่าสมัยก่อนพระอะไร อยากจะให้เขาเลื่อมใส อยากจะได้เอกลาภมากๆ ก็มีความคิดขึ้นในใจ ฝึกฉันคูถ*เจ้าของ ฉันคูถ ไม่ต้องฉันข้าว ไม่ไปบิณฑบาตกับเขาแล้ว อยู่ในวัด พระเณรไปบิณฑบาต พระองค์นี้ไม่ไป พอเพื่อนไปบิณฑบาตแล้วก็ไปกินมูตร*กินคูถเหมือนหมู พอเพื่อนออกมาแล้วก็สบาย ว่าเราไม่ต้องฉันข้าวก็อยู่ได้ อยู่ตั้ง ๓ พรรษา ฉันอยู่ได้เพื่อให้เขาเลื่อมใส

เมื่อเขาเห็นปฏิกิริยานี้แล้ว เขาไล่ไปอีกบ้านหนึ่ง มีแนวหินยาวๆ ชาวบ้านทั้งหลายก็ไปถ่ายมูตร-คูถอยู่ตรงนั้น ก็ไปยืนตรงนั้นแหละ ยืนขาเดียว อ้าปากขึ้นบนฟ้า ไม่ต้องทำอะไร บอกว่ากินอากาศ กินน้ำค้าง แน่ะ...วิธีของเขา แต่เมื่อคนไปแล้วก็หยุดยืนสองขา เมื่อคนมาก็ยืนขาเดียวอ้าปาก ใครๆก็ว่าสมณะองค์นี้แปลก ยืนขาเดียวเท่านั้น กินน้ำค้างอยู่ได้ตั้งหลายๆเดือน แปลกเหมือนกันนะ แต่เมื่อคนหนีไปแล้ว ก็หากินมูตรกินคูถอยู่ตรงนั้นเหมือนสุนัข พระพุทธองค์ของเราพิจารณาว่า พระองค์นี้ถ้าเราไม่ไปให้ความเห็น จะเป็นกรรมไปหลายกัปป์หลายชาติ หลอกลวงเขา แต่ก่อนก็เคยหลอกมาแล้ว ชาตินี้ก็หลอกลวงเขาอีกพอดีพระพุทธองค์ไปถึงตั้งใจไปโปรด ไปกับพระอานนท์ พอไปถึงก็ว่า "สมณะองค์นี้ท่านไม่มีอะไรเลยในใจของท่าน ท่านโกหกชาวบ้านเขาทั้งนั้น ไม่ใช่แต่ชาตินี้ ชาติก่อนท่านก็โกหกเขามา ถ้าท่านทำอย่างนี้ท่านจะเป็นบาปกรรมอยู่ตลอดเวลา ตถาคตมาให้ความเห็นท่าน" พระพุทธเจ้าเทศน์ไป ถูกหมดในใจของเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ สมัยก่อนพระไปบิณฑบาต ท่านเอาขี้ไปใส่บาตรพระ เกิดมาชาตินี้เลยได้กินขี้เป็นอาหารเห็นไหมกรรมนี้ ท่านว่า ท่านต้องหยุดท่านต้องเลิกเดี๋ยวนี้...ฯลฯ...

ธรรมบรรยายอบรมชีณวัดหนองป่าพงเมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๓

ที่มา : http://www.ajahnchah.org



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: