วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

มนุษย์ที่ฉลาดจะต้องรู้จักทำจิตให้ว่าง

มนุษย์ที่ฉลาดจะต้องรู้จักทำจิตให้ว่าง ว่างจากสิ่งที่ไม่เป็นธรรมะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่างจากความทะเยอทะยาน ยึดมั่น ถือมั่น อะไรต่างๆ นาๆ ว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา คือความเห็นแก่ตัวนั่นเอง

ถ้าว่างจากความเห็นแก่ตัวหรือของตัว จิตก็ว่างโปร่งสบายเยือกเย็นทำงานต่างๆ เป็นสุข เป็นของสนุก พอจิตอัดกลัดกลุ้มอยู่ตัวยตัวกูหรือของกู ความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ละก็เป็นจิตวุ่น งานจะเป็นของที่ทุกข์ไปหมด ทนทรมานไปหมด เหมือนกับเราตื่นตอนเช้าๆ จิตยังว่าง นี่เราทำอะไรได้ จะล้างหน้าถูฟันอย่างนี้ก็ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับความนึกคิดอะไรเลย มันก็ทำไปได้ด้วยจิตว่างนั้น พอจิตวุ่นกลัดกลุ้มอยู่แต่เรื่องยึดมั่นถือมั่น ตัวกู ของกู นั่นแหละอาจจะแปรงฟันผิดปาก หรือว่าล้างหน้าผิดหน้าก็ได้ ท่านลองเทียบเคียงดูอย่างนี้ก็แล้วกัน เพราะว่าจิตที่ว่าง ที่สงบ เยือกเย็นนั้น มันมีความรู้สติปัญญา มีสัมปชัญญะอยู่ในตัวมันเอง ฉะนั้นอย่าได้ ไปกลัวว่าจิตว่างแล้วจะทำอะไรไม่ได้ จิตว่างแล้วนั่งตัวแข็งเป็นก้อนหินอะไรทำนองนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น

จิตว่างนั้นแหละ จะเป็นสติปัญญา สติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง เฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ไวต่อความคิดนึกรู้สึกอย่างยิ่ง และสนุกสนานในการทำงานอย่างยิ่ง แล้วการทำงานก็ไม่เป็นนรกทั้งเป็นขึ้นมา

ตุลาการิกธรรม เล่ม ๓ (น.๑๔) ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : Line ปันบุญ ปันธรรม




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: