ทรงแสดง“ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” คือข้อปฏิบัติเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่น
“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ทรงแสดงที่สุดโต่ง ๒ ข้าง ข้าง“กามสุขัลลิกานุโยค” ก็ดี ข้าง“อัตตกิลมถานุโยค” ก็ดี นี้ก็เป็นการชี้ให้เห็นว่า นั่นมันเป็นการวิ่งเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง. การประกอบประพฤติกระทําความพัวพันในกาม ก็เป็นความยึดมั่นถือมั่นในกาม, การประกอบในอัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนให้ลําบาก ก็เพราะยึดมั่นถือมั่นด้วยอํานาจของทิฏฐิ: และหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ในทํานองเดียวกันกับกามเหมือนกัน แต่มันเรียกชื่อคนละอย่าง
การที่เขาทรมานร่างกายให้เจ็บปวดลําบากนั้น ก็เพื่อหวังจะได้ผลอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมา เพราะอํานาจความยึดมั่นถือมั่นนั้นเอง ; หาใช่เพื่อปล่อยวางโดยประการทั้งปวงไม่. ถ้าเป็นไปเพื่อการปล่อยวางโดยประการทั้งปวงแล้วมันก็ไม่มีความคิดผิด ไม่มีทิฏฐิที่ผิด ที่จะไปเข้าใจผิดจนถึงกับทําการทรมานตัวเองให้ลําบาก; เพราะเรื่องความปล่อยวางนั้นมันไม่ต้องทรมาน ย่อมอาศัยความรู้ ความเข้าใจ อันถูกต้อง กล่าวคือ “ปัญญา” หรือ “สัมมาทิฏฐิ” เป็นส่วนใหญ่
ถ้าไปหมกมุ่นในกาม ปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิก็ไม่เกิดขึ้นได้ ไม่สว่างไสวขึ้นมาได้; ถ้าไปทรมานตนให้ลําบาก ปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิก็ไม่เกิดขึ้นได้ ไม่สว่างไสวขึ้นมาได้ เพราะว่าทั้ง ๒ อย่าง หรือ ๒ ฝ่ายนั้น เต็มอัดไปด้วย“ความยึดมั่นถือมั่น” เพราะฉะนั้น จะต้องไม่ไปข้องแวะในสิ่งทั้งหลายประเภทนั้นหรือเหล่านั้นเลย , แต่จะต้องเดินในทางสายกลาง ซึ่งเป็นการพอกพูนปัญญาให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าขึ้นไปตามลําดับ อย่างที่เรียกว่า“อริยมรรค” จนกระทั่งกลายเป็น“อริยมรรคญาณ” คือญาณที่เกิดขึ้นเพราะการเดินตามอริยมรรค; อย่างนี้เท่านั้นจึงจะเป็นการทําลายความยึดมั่นถือมั่น
ดังนั้น จึงทําให้เห็นได้ว่า แม้แต่พอเริ่มแสดง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ก็ได้เริ่มทรงแสดงความยึดมั่นถือมั่นให้เห็นชัดอยู่แล้ว และได้ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่จะทําลายความยึดมั่นถือมั่นเสียให้ได้ในลําดับต่อมา คือ “อริยมรรคมีองค์ ๘” นั่นเอง และการที่ทรงแสดง “อริยสัจจ์” อย่างยิ่ง ในฐานะเป็นการตรัสรู้นั้น นั้นเป็นการชี้ให้เห็นว่าหมดความยึดมั่นถือมั่นแล้วจะเป็นอย่างไร; “ญาณ” หรือ “ปัญญา” ชนิดนี้แก่กล้าหรือคมกล้าสามารถเพียงไร, ในการที่จะบรรเทาไถ่ถอนทําลายเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่น
เมื่อเป็นดังนี้ จึงมีผลทําให้เกิด “ธรรมจักษุ” เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาได้ ปรากฏออกมาเป็นคําพูดว่า “สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับเป็นธรรมดา”; อย่าไปหลงยึดมั่นถือมั่นเข้า ดังนี้ และเป็นอันที่กล่าวได้ว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” นั้น ก็เป็นการแสดงถึงเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ; แต่เป็นไปในขั้นตระเตรียมในขั้นแรก เพื่อให้เข้ารูปเข้ารอยเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วพระองค์จึงทรงแสดง“อนัตตลักขณสูตร” ซึ่งเป็นการระบุชี้เรื่องความไม่ควรยึดมั่นถือมั่นลงไปโดยตรง, ชี้ให้เห็นที่รูป ที่เวทนา ที่สัญญา ที่สังขาร ที่วิญญาณ ซึ่งเป็นคําสําหรับใช้เรียก“สิ่งทั้งปวง”. เพราะว่าสิ่งทั้งปวงคือสิ่งทั้ง ๕ นี้. หรือว่าสิ่งทั้งปวงก็คือสิ่งที่ต้องเนื่องกันอยู่กับสิ่งทั้ง ๕ นี้ เมื่อสิ่งทั้ง ๕ นี้เป็น“อนัตตา”แล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งหมดทั้งสิ้นก็ย่อมเป็น“อนัตตา”ไปด้วยกัน ”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : อาสาฬหบูชาเทศนา หัวข้อเรื่อง “อนาภินิเวสนกถา : การใช้ธรรมจักรตัดความยึดมั่นถือมั่น” เมื่อวันอาสาฬหบูชา วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๐๓ ณ ศาลาโรงธรรม สวนโมกขพลาราม จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “อาสาฬหบูชาเทศนา” หน้า ๑๙๐-๑๙๒
0 comments: