วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๕)


มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๕) ปัญหาที่ ๖, เมตตาภาวนานิสังสปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า

"เมตฺตาย  ภิกฺขเว  เจโตวิมุตฺติยา  อาเสวิตาย  ภาวิตาย  พหุลีกตาย  ยานีกตาย  วตฺถุกตาย  อนุฏฺฐิตาย  ปริจิตาย  สุสมารทฺธาย  เอกาทสานิสํสา  ปาฏิกงฺขา,  กตเม   เอกาทส,  สุขํ  สุปติ,  สุขํ  ปฏิพุชฺฌติ,   น   ปาปกํ  สุปินํ  ปสฺสติ,  มนุสฺสานํ  ปิโย  โหติ,  อมนุสฺสานํ  ปิโย  โหติ,  เทวตา  รกฺขนฺติ,  นาสฺส  อคฺคิ  วา  วิสํ  วา  สตฺถํ  วา  กมติ,  ตุวฏฺฏํ  จิตฺตํ  สมาธิยติ,  มุขวณฺโณ  วิปฺปสีทติ,  อสมฺมูโฬฺห  กาลํ  กโรติ,  อุตฺตรึ  อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต  พฺรหฺมโลกูปโค  โหติ."   (องฺ.เอกาทสก. ๒๔/๓๗๐)

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ ภิกษุเสพโดยเอื้อเฟื้อแล้ว อบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยานแล้ว กระทำให้ดุจวัตถุแล้ว ตั้งมั่นได้แล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ก็เพิ่งหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการได้  อานิสงส์ ๑๑ ประการเป็นไฉน ? ได้แก่ :- 

– นอนหลับเป็นสุข ๑,   – ตื่นเป็นสุข ๑,   – ไม่ฝันเห็นสิ่งชั่วร้าย ๑,  – เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ๑,  – เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ๑, – เทวดาย่อมรักษา ๑, – ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัสตราก็ดี ย่อมไม่กล้ำกรายเธอ ๑,  – จิตตั้งมั่นได้เร็ว ๑,  – สีหน้าผ่องใส ๑,  – เป็นผู้ไม่ลุ่มหลง กระทำกาลกิริยา ๑,  – เมื่อยังแทงตลอดคุณวิเศษที่ยิ่งกว่าไม่ได้ ก็จะเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ๑,  ดังนี้ 

แต่พวกท่านยังกล่าวไว้อีกเรื่องหนึ่งว่า “สามกุมาร (สุวรรณสามกุมาร) ผู้อยู่ด้วยเมตตาธรรมมีหมู่เนื้อแวดล้อมเที่ยวไปในป่า ถูกพระเจ้าปิฬิยักษ์ใช้ศรอาบยาพิษยิงเข้า ก็ล้มสลบอยู่ ณ ที่นั้น นั่นแหละ” ดังนี้

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ ภิกษุเสพโดยเอื้อเฟื้อแล้ว ฯลฯ ก็จะเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า สามกุมาร (สุวรรณสามกุมาร) ผู้อยู่ด้วยเมตตาธรรมมีหมู่เนื้อแวดล้อมเที่ยวไปในป่า ถูกพระเจ้าปิฬิยักษ์ใช้ศรอาบยาพิษยิงเข้า ก็ล้มสลบอยู่ ณ ที่นั้น นั่นแหละ’ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า สามกุมารผู้อยู่ด้วยเมตตาธรรมมีหมู่เนื้อแวดล้อม เที่ยวไปในป่า ถูกพระเจ้าปิฬิยักษ์ ใช้ศรอาบยาพิษยิงเอา ก็ล้มสลบอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแหละ จริงไซร้, ถ้าอย่างนั้นคำที่ตรัสไว้ว่า เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ ภิกษุเสพโดยเอื้อเฟื้อแล้ว ฯลฯ ก็เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนนัก สุขุม ลึกซึ้ง ทั้งอาจทำเหงื่อในกายของคนที่ละเอียดอ่อนให้หลั่งออกมาได้ ปัญหานั้น ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงสางปัญหาที่รกยุ่งดุจรกชัฏ แก่ภิกษุผู้เป็นชินบุตรในอนาคต เถิด.

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ ภิกษุเสพโดยเอื้อเฟื้อแล้ว ฯลฯ ก็เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ดังนี้ จริง และเรื่องที่ว่า สามกุมารผู้อยู่ด้วยเมตตาธรรมมีหมู่เนื้อแวดล้อม เที่ยวไปในป่า ถูกพระเจ้าปิฬิยักษ์ ใช้ศรอาบยาพิษยิงเอา ก็ล้มสลบอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแหละ ก็เป็นความจริง ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า ในคำที่ว่านั้น มีเหตุผลอยู่ เหตุผลอะไร ในคำที่ว่านั้น ? ขอถวายพระพร คุณ ๑๑ ประการเหล่านี้ไม่ใช่คุณของบุคคล คุณเหล่านี้เป็นคุณของเมตตาภาวนา ขอถวายพระพร สามกุมารพอยกหม้อน้ำขึ้นบ่า ในขณะนั้นก็เป็นผู้หลงลืมในการเจริญเมตตา.   ขอถวายพระพร ในขณะใด บุคคลมีจิตจรดถึงเมตตา ในขณะนั้น ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัสตราก็ดี ย่อมกล้ำกรายเขาไม่ได้ ใครบางคนใคร่ความฉิบหายแก่เขา พอเข้ามาใกล้แล้ว ก็มองไม่เห็นเขา จึงไม่ได้โอกาสในตัวเขานั้น ขอถวายพระพร คุณดังกล่าวเหล่านี้ หาใช่คุณของบุคคลไม่ คุณเหล่านี้เป็นคุณของเมตตาภาวนาต่างหาก ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าบุรุษผู้กล้าหาญในการสงคราม ในโลกนี้ สวมเสื้อเกราะเหนียวแล้วก็หยั่งลงสู่การสงคราม ลูกศรที่ข้าศึกยิงมา ถึงตัวเขาแล้ว ก็ย่อมตกหล่นกระจัดกระจายไป ย่อมไม่ได้โอกาสในตัวเขานั้น ขอถวายพระพร ข้อที่ลูกศรที่ข้าศึกยิงมาถึงตัวเขาแล้ว ตกหล่นกระจัดกระจายไปนี้ หาใช่คุณของบุรุษผู้กล้าหาญในการทำสงครามไม่ ข้อนี้เป็นคุณของเสื้อเกราะเหนียวต่างหากฉันใด ขอถวายพระพร คุณดังกล่าวเหล่านี้ หาใช่คุณของบุคคลไม่ คุณเหล่านี้ เป็นคุณของเมตตาภาวนาต่างหาก ฉันนั้นเหมือนกัน แล

ขอถวายพระพร ในขณะใด บุคคลผู้มีจิตจรดถึงเมตตา ในขณะนั้น ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศาสตราก็ดี ย่อมกล้ำกรายเขาไม่ได้ ใครบางคนใคร่ความฉิบหายแก่เขา พอเข้ามาใกล้แล้วก็จะมองไม่เห็นเขา จึงไม่ได้โอกาสในตัวเขานั้น ขอถวายพระพรคุณดังกล่าวเหล่านี้ ไม่ใช่คุณของบุคคล คุณเหล่านี้เป็นคุณของเมตตาภาวนาต่างหาก ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนในโลกนี้ พึงกำรากไม้ทิพย์ที่ใช้หายตัวได้ไว้ในมือ ตราบใดที่รากไม้นั้นยังอยู่ในมือของเขาตราบนั้น ใครคนอื่นที่เป็นมนุษย์ปกติ ย่อมมองไม่เห็นบุรุษผู้นั้น ขอถวายพระพร ข้อที่บุรุษผู้นั้นไม่ปรากฏในสายตาของมนุษย์ปกติทั้งหลายนี้ หาใช่คุณของบุรุษไม่ ข้อนั้นเป็นคุณของรากไม้ทิพย์ที่ใช้หายตัวได้ต่างหาก ฉันใด ขอถวายพระพร มหาบพิตร คุณดังกล่าวเหล่านี้ หาใช่คุณของบุคคลไม่ คุณเหล่านี้ เป็นคุณของเมตตาภาวนาต่างหาก ฉันนั้นเหมือนกันแล

ขอถวายพระพร ในขณะใด บุคคลผู้มีจิตจรดถึงเมตตา ใครบางคนใคร่ความฉิบหายแก่เขา พอเข้าใกล้แล้วก็มองไม่เห็นเขา จึงไม่ได้โอกาสในตัวเขา ขอถวายพระพร คุณดังกล่าวเหล่านี้ หาใช่คุณของบุคคลไม่ คุณเหล่านี้เป็นคุณของเมตตาภาวนาต่างหาก ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ฝนห่าใหญ่ตกหนักอยู่ ก็ไม่อาจทำบุรุษผู้เข้าถ้ำใหญ่ให้เปียกได้ ขอถวายพระพร ข้อที่ฝนห่าใหญ่ตกหนักอยู่ ก็ไม่อาจทำบุรุษผู้เข้าถ้ำใหญ่ให้เปียกได้ นี้ หาใช่คุณของบุรุษไม่ ข้อนั้นเป็นคุณของถ้ำใหญ่ต่างหาก ฉันใด ขอถวายพระพรมหาบพิตร คุณดังกล่าวเหล่านี้ หาใช่คุณของบุคคลไม่ คุณเหล่านี้เป็นคุณของเมตตาภาวนาต่างหาก ฉันนั้นเหมือนกัน แล.   ขอถวายพระพร ในขณะใด บุคคลผู้มีจิตจรดถึงเมตตา ในขณะนั้น ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศัสตราก็ดี ย่อมกล้ำกรายเขาไม่ได้ ใครบางคนใคร่ความฉิบหายแก่เขา พอเข้ามาใกล้แล้ว ก็จะมองไม่เห็นเขา จึงไม่อาจสร้างความฉิบหายแก่เขาได้ ขอถวายพระพร คุณดังกล่าวเหล่านี้ หาให้คุณของบุคคลไม่ คุณดังกล่าวเหล่านี้ เป็นคุณของเมตตาภาวนาต่างหาก

พระเจ้ามิลินท์, น่าอัศจรรย์จริง พระคุณเจ้านาคเสน น่าแปลกใจจริงนะ พระคุณเจ้านาคเสน ขอที่เมตตาภาวนาเป็นเครื่องป้องกันสิ่งชั่วร้ายได้ทุกอย่าง

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เมตตาภาวนาเป็นเหตุนำมาซึ่งกุศลคุณทุกอย่าง พระองค์พึงส้องเสพเมตตาภาวนาอันมีอานิสงส์มากต่อสัตว์ผู้ยังผูกพันกับวิญญาณ (ยังมีชีวิตอยู่) ทั้งผู้ที่มีประโยชน์เกื้อกูล ทั้งผู้ที่หาประโยชน์เกื้อกูลมิได้ ทั้งหลายทั้งปวงเถิด.   จบเมตตาภาวนานิสังสปัญหาที่ ๖

คำอธิบายปัญหาที่ ๖

ปัญหาเกี่ยวกับอานิสงส์การเจริญเมตตา ชื่อว่า เมตตาภาวนานิสังสปัญหา.  คำว่า  เมตตาเจโตวิมุตติ  แปลว่า การทำจิตให้น้อมไป (ในสัตว์ทั้งหลาย) ด้วยเมตตา หรือการทำจิตอันประกอบกับเมตตาให้น้อมไปในสัตว์ทั้งหลาย.    ธรรมชาติ ชื่อว่า เมตตา เพราะอรรถว่า รัก, ความว่าเยื่อใย หรือ เพราะอรรถว่า มีในมิตร คือเป็นความรู้สึกที่มิตรมีต่อมิตร.   คำว่า อบรมแล้ว คือเจริญแล้ว.   คำว่า กระทำให้มากแล้ว คือเจริญอยู่บ่อยๆ.   คำว่า กระทำให้เป็นดุจยาน คือกระทำให้เป็นดุจยานที่เทียมโคแล้ว ด้วยอำนาจแห่งการน้อมนำเอาประโยชน์สุขเข้าไปแก่สัตว์ทั้งหลาย.   คำว่า กระทำให้เป็นดุจวัตถุแล้ว คือกระทำให้เป็นดุจวัตถุ คือที่ตั้งมั่นได้แล้ว เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ จึงตรัสว่า ตั้งมั่นแล้ว.   คำว่า สั่งสมแล้ว คือทำให้คุ้นเคยได้แล้ว หรือสั่งสมความชำนาญไว้แล้ว.   คำว่า ปรารภดีแล้ว คือทำให้ถึงพร้อมด้วยดีแล้ว.

นายอานิสงส์ ๑๑ อย่างนั้น คำว่า นอนหลับเป็นสุข คือเมื่อนอนลงแล้ว ปรารถนาจะหลับก็หลับได้โดยง่าย ไม่ลำบาก.  คำว่า ตื่นเป็นสุข คือตื่นขึ้นโดยอาการที่บันเทิง ไม่งัวเงียซึมเซาตื่นขึ้น.   คำว่า เป็นผู้ไม่ลุ่มหลงกระทำกาลกิริยา คือ เป็นผู้ไม่หลงลืมสติ กระทำกาลกริยา.    คำว่าเมื่อยังแทงตลอดคุณวิเศษที่ยิ่งกว่ามิได้ ก็จะเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก คือเมื่อไม่อาจจะแทงตลอดคุณวิเศษที่ยิ่งกว่าเมตตา คือพระอริยมรรค หลังจากตาย จะเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก ด้วยอำนาจแห่งเมตตาฌาน

เรื่องพระโพธิสัตว์ ผู้เสวยชาติเป็น สามกุมาร ผู้คอยปรนนิบัติบำรุงดาบสหญิงชายตาบอด ผู้เป็นบิดามารดาของตน ผู้เจริญเมตตาอยู่เป็นนิจ จนสัตว์ป่าทั้งหลายรักใคร่คอยติดตามแวดล้อมไป ผู้ถูกพระเจ้าปิฬิยักษ์ใช้ศรยิงเอานั้น บัณฑิตพึงทราบความพิสดารได้ใน อรรถกถาสุวัณณสามชาดก นั่นเทียว

แง่ปมที่ขัดแย้งในปัญหา มีอยู่ว่า เมื่อสามกุมารเจริญเมตตาอยู่เป็นประจำ จนสัตว์ป่่ารักใคร่ คอยติดตามแวดล้อมไปอย่างนี้ ก็น่าจะได้รับอานิสงส์ของเมตตา โดยเฉพาะข้อที่ว่า ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี ศาสตราก็ดี ย่อมไม่อาจกล้ำกรายเธอ นี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร จึงยังถูกพระเจ้าปิฬิยักษ์ ยิงเอาได้อีกเล่า เมตตามิได้มีอานุภาพป้องกันได้จริงหรือไร.   คำว่า คุณดังกล่าวเหล่านี้ หาใช่คุณของบุคคล ไม่ เป็นต้น ความว่า คุณคืออานุภาพ ๑๑ ประการเหล่านี้ หาใช่คุณของบุคคลไม่ ทว่าเป็นคุณ คือเป็นอานุภาพของเมตตาภาวนาต่างหาก ฉะนี้แล.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖.

ปัญหาที่ ๗ กุสลากุสลสมวิสมปัญหา

พระยามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน วิบากของผู้มีปกติทำกุศลก็ตาม ของผู้มีปกติทำอกุศลก็ตาม ย่อมเสมอเหมือนกัน หรือว่ามีความแตกต่างกันเป็นบางอย่างเล่า ?    พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร กุศลและอกุศลมีความแตกต่างกัน ขอถวายพระพร กุศลมีวิบากเป็นสุข เป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์, อกุศลมีวิบากเป็นทุกข์ เป็นไปพร้อมเพื่อนรก

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า พระเทวทัต เป็นผู้ที่จะเอาแต่จะดำด้านเดียว ประกอบพร้อมด้วยธรรมดำด้านเดียว ส่วนพระโพธิสัตว์ เป็นผู้ที่เอาแต่จะขาวด้านเดียว ประกอบพร้อมด้วยธรรมขาวด้านเดียว แต่ก็ยังกล่าวไว้อีกว่า ทุกๆภพชาติ พระเทวทัตจะเป็นผู้มียศและพวกพ้องเสมอเหมือนกับพระโพธิสัตว์ หรือในบางภพชาติ ก็กลับยิ่งเสียกว่า เช่น ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัต ณ กรุงพาราณสี ส่วนพระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นคนจัณฑาลชั้นต่ำผู้ทรงวิชชา ซึ่งอาจร่ายวิชชาทำผลมะม่วงให้บังเกิดนอกฤดูกาลได้ ในชาตินี้เทียว พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีชาติ ตระกูล และยศ เลวกว่าพระเทวทัต.   

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือ ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นพระเจ้ามหามหิบดีผู้พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นช้างที่พระเทวทัตนั้น ทรงมีไว้ใช้สอย ซึ่งเป็นช้างที่ถึงพร้อมด้วยลักษณะทุกอย่าง พระราชา เมื่อทรงทนทอดพระเนตรเห็นการเยื้องกรายไปที่งดงามของช้างนั้นไม่ได้ ก็ทรงปรารภจะฆ่าเสีย จึงรับสั่งกับอาจารย์ช้างว่า นี่แน่ะ อาจารย์เป็นช้างที่ท่านมิได้ฝึกสอนไว้ ขอจงบอกเราถึงเหตุที่ทำให้ช้างตัวนั้นไปในอากาศได้ เถิด ดังนี้ แม้ในชาตินั้น พระโพธิสัตว์ ผู้เป็นสัตว์เดรัจฉานต่ำทราม ก็เป็นผู้มีชาติเลวกว่าพระเทวทัต.    ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือ ในการที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นมนุษย์ผู้มุ่งแต่ความฉิบหายอยู่ในป่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นวานรชื่อว่า มหาปถวี แม้ในชาตินี้ ก็ปรากฏความแตกต่างกันแห่งผู้เป็นมนุษย์และผู้เป็นสัตว์เดรัจฉาน แม้ในชาตินั้นแหละ พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีชาติเลวกว่าพระเทวทัต.   ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นมนุษย์ชื่อว่า โสณุตตระ เป็นนายพรานผู้มีกำลัง มีกำลังดุจช้าง พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นพระยาช้างชื่อว่า ฉันทันต์ ในคราวนั้น นายพรานได้ฆ่าพระยาช้างนั้น แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตนั่นเทียวจัดว่าเป็นผู้ที่ยิ่งกว่า

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดมาเป็นมนุษย์นักเที่ยวป่า ไม่มีบ้านอยู่อาศัย พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นนกกระทาผู้เคร่งมนต์ แม้ในคราวนั้น นักเที่ยวป่าผู้นั้น ก็ได้ฆ่านกตัวนั้นเสีย แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตนั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้ที่มีชาติยิ่งกว่า.   ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นพระเจ้ากาสี พระนามว่า กลาพุ พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นขันติวาทีดาบส ในกาลนั้น พระราชาพระองค์นั้น ทรงกริ้วดาบสผู้นั้น รับสั่งให้พนักงานตัดมือและเท้าเสีย เหมือนอย่างกับตัดข้อไม้ไผ่ แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตนั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้มีชาติและยศยิ่งกว่า.    ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นพรานป่า พระโพธิสัตว์ ได้เกิดเป็นพญาวานร ชื่อว่า นันทิยะ แม้ในคราวนั้น พรานป่าผู้นั้นก็ได้ฆ่าพญาวานร พร้อมทั้งมารดาน้องชาย และพี่ชายเสีย แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตนั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้ที่มีชาติยิ่งกว่า

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นมนุษย์ชีเปลือย ชื่อว่า การัมภิยะ พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นพญานาคชื่อว่า ปันฑรกะ แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตนั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้มีชาติยิ่งกว่า.   ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นชฎิลอยู่ในป่า พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นสุกรใหญ่ชื่อว่า ตัจฉกะ แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตนั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้ที่มีชาติยิ่งกว่า.   ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นพระราชาพระนามว่า สูรปริจระ ผู้ไปในอากาศกลางหาวได้สูง ๑ ชั่วคน พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อว่า กปิละ แม้ในชาตินั้นพระเทวทัตนั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้ที่มีชาติยิ่งกว่า.   ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นมนุษย์ชื่อว่า สามะ พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นพญาเนื้อชื่อว่า รุรุ แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตนั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้ที่มีชาติยิ่งกว่า

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นพรานป่า พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นช้าง นายพรานผู้นั้นได้ตัดเอางาของช้างนั้นไปถึง ๗ ครั้ง แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตนั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้ที่มีชาติยิ่งกว่า.   ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นสุนัขจิ้งจอก ผู้มีขัตติยธรรม พระองค์ทรงกระทำพระราชาประจำประเทศทั้งหลายเท่าที่มีในชมพูทวีปทุกพระองค์ ให้ตกอยู่ใต้พระราชอำนาจได้ พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นบัณฑิตชื่อว่า วิธุระ แม้ในชาตินั้น พระเทวทัตนั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้มียศยิ่งกว่า.   ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นช้าง ได้ฆ่าลูกนกมูลไถตาย แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้เกิดเป็นช้างจ่าฝูง ในชาตินั้น บุคคลทั้ง ๒ นั้นได้เป็นผู้เสมอเหมือนกัน.   ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นยักษ์ชื่อว่า อธรรมะ แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้เกิดเป็นยักษ์ชื่อว่า สุธรรมะ แม้ในชาตินั้น บุคคลทั้ง ๒ ได้เป็นผู้เสมอเหมือนกัน

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นนายเรือผู้เป็นใหญ่แห่งตระกูล ๕๐๐ แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้เกิดเป็นนายเรือผู้เป็นใหญ่แห่งตระกูล ๕๐๐ แม้ในชาตินั้น บุคคลทั้ง ๒ ก็ได้เป็นผู้เสมอเหมือนกัน.   ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นนายกองเกวียน ผู้เป็นใหญ่แห่งเกวียน ๕๐๐ เล่ม แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้เกิดเป็นนายกองเกวียน ผู้เป็นใหญ่แห่งเกวียน ๕๐๐ เล่ม แม้ในชาตินั้น บุคคลทั้ง ๒ ก็ได้เป็นผู้เสมอเหมือนกัน.    ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นพญาเนื้อ ชื่อว่า สาขะ แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้เกิดเป็นพญาเนื้อชื่อว่า นิโครธะ แม้ในชาตินั้น บุคคลทั้ง ๒ ก็ได้เป็นผู้เสมอเหมือนกัน

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อว่า ขัณฑหาละ พระโพธิสัตว์ก็ได้เกิดเป็นพระราชกุมารพระนามว่า จันทะ ในการนั้น ขัณฑหาลพราหมณ์ นั้นนั่นแหละ จัดว่าเป็นผู้ที่ยิ่งกว่า.    ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นพระราชา พระนามว่า พรหมทัต พระโพธิสัตว์ก็ได้เกิดเป็นพระโอรสของพระราชาพระองค์นั้น ทรงพระนามว่า มหาปทุมกุมาร ในกาลนั้น พระราชาองค์นั้นได้ทิ้งพระโอรสของพระองค์เอง ให้ตกไปในหุบเหวทิ้งโจร ผู้เป็นบิดานั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้ที่ยิ่งกว่าวิเศษกว่าบุตร โดยฐานะใดฐานะหนึ่ง แม้ในกาลนั้น พระเทวทัตนั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้ที่ยิ่งกว่า

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่พระเทวทัตได้เกิดเป็นพระราชาพระนามว่า มหาปตาปะ พระโพธิสัตว์ ได้เกิดเป็นพระโอรสของพระราชาพระองค์นั้น ทรงพระนามว่า ธัมมปาลกุมาร ในกาลนั้น พระราชารับสั่งให้นายเพชฌฆาตตัดพระหัตถ์ พระบาท และพระเศียรของพระโอรสของพระองค์เอง แม้ในกาลนั้น พระเทวทัตนั่นแหละ จัดว่าเป็นผู้ที่สูงส่งกว่า ยิ่งกว่า.    มาในชาติปัจจุบันทุกวันนี้ บุคคลทั้ง ๒ ต่างได้เกิดในศากยสกุล พระโพธิสัตว์ได้สำเร็จเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้นำสัตว์โลก พระเทวทัตได้บวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นเทพยิ่งเหล่าเทพแล้ว ก็ทำฤทธิ์ให้บังเกิดได้ ได้ทำตนดุจเป็นพระพุทธเจ้า พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ข้าพเจ้ากล่าวมาทั้งหมด จริงหรือว่าไม่จริงเล่า ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เหตุการณ์ที่พระองค์ตรัสมามากมายหลายเรื่อง ล้วนจริงทุกเรื่องเทียว ไม่ใช่ไม่จริง

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า ทั้งคนที่เอาแต่ดำ ทั้งคนที่เอาแต่ขาว ล้วนเป็นผู้มีคติเสมอเหมือนกันไซร้ ถ้าอย่างนั้น ทั้งกุศล อกุศล ก็ย่อมล้วนเป็นธรรมชาติที่มีวิบากเสมอเหมือนกัน

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระเทวทัตจะเป็นผู้ประพฤติผิดต่อชนทั้งหลายทุกคนไปก็หาไม่ พระโพธิสัตว์ก็เป็นผู้ประพฤติผิดได้เหมือนกัน บุคคลใดเป็นผู้ประพฤติผิดต่อพระโพธิสัตว์ ผู้นั้นก็จะหมกไหม้อยู่ในภพนั้นๆ ทีเดียว บาปจะให้ผล ขอถวายพระพร แม่พระเทวทัตพอได้ดำรงอยู่ในอิสริยะฐานะแล้ว ก็ให้การคุ้มครองรักษาชนในท้องที่ ให้สร้างสะพาน สภาศาลาบุญ ให้ทานเท่าที่เขาต้องการ แก่พวกสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย แก่คนกำพร้า วณิพกทั้งหลาย แก่คนที่ทั้งมีที่พึ่ง ไร้ที่พึ่งทั้งหลาย พระเทวทัตนั้น จึงได้รับสมบัติทั้งหลายในแต่ละภพ เพราะวิบากของกุศลนั้น ขอถวายพระพร ใครๆ อาจจะกล่าวได้หรือว่า บุคคลแม้เว้นจากทาน จากศีลเครื่องฝึกตน จากธรรมเครื่องสำรวม จากอุโบสถกรรม ก็จะเสวยสมบัตินี้ได้ ?

ขอถวายพระพร มหาบพิตร ข้อที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า พระเทวทัตและพระโพธิสัตว์คอยเวียนมาพบกันเป็นประจำดังนี้ พระเทวทัตและพระโพธิสัตว์นั้น เวลาล่วงไปแล้ว ๑๐๐ ชาติ ก็ยังมิได้พบปะเกี่ยวข้องกัน ล่วงไปแล้ว ๑,๐๐๐ ชาติ ก็ยังมิได้พบปะเกี่ยวข้องกัน ล่วงไปแล้วแสนชาติ ก็ยังมิได้พบปะเกี่ยวข้องกัน เวลาล่วงไปหลายวันหลายคืนนักหนา จึงจะได้พบปะเกี่ยวข้องกันสักครั้งหนึ่ง สักภพหนึ่ง ขอถวายพระพร อุปมาเรื่องเต่าตาบอด (สํ.มหา. ๑๙/๕๕๖) ที่เปรียบเหมือนการได้ความเป็นมนุษย์ ที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้นี้ ขอจงทรงใช้เป็นอุปมาเปรียบเทียบการได้พบปะเกี่ยวข้องกันแห่งบุคคลทั้ง ๒ นี้เถิด

ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระโพธิสัตว์หาได้มีการพบปะเกี่ยวข้องกันกับพระเทวทัตเท่านั้นไม่ แม้ท่านพระสารีบุตรเถระ ในเวลาที่ล่วงไปแล้วหลายแสนชาติ ได้เกิดเป็นบิดา ได้เกิดเป็นปู่ ได้เกิดเป็นอา ได้เกิดเป็นพี่น้องชาย ได้เกิดเป็นพี่น้องหญิง ได้เกิดเป็นบุตร ได้เกิดเป็นมิตร ของพระโพธิสัตว์มาแล้ว

ขอถวายพระพร มหาบพิตร แม้พระโพธิสัตว์ ในเวลาที่ล่วงไปแล้วหลายแสนชาติ ได้เกิดเป็นบิดา ได้เกิดเป็นปู่ ได้เกิดเป็นอา ได้เกิดเป็นบุตร ได้เกิดเป็นพี่น้องชาย ได้เกิดเป็นพี่น้องหญิง ได้เกิดเป็นมิตร ของท่านพระสารีบุตรเถระมาแล้ว ขอถวายพระพร มหาบพิตร ผู้นับเนื่องในสัตตนิกายแม้ทุกผู้ ไหลไปตามกระแสสังสารวัฏ ถูกกระแสสังสารวัฏพัดพาไปอยู่ ก็ย่อมประจวบกับสิ่งที่เกลียดบ้าง กับสิ่งที่รักบ้าง ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าน้ำที่มีกระแสทำให้ไหลบ่าไป ย่อมไหลไปประจวบกับของสะอาดบ้าง สกปรกบ้าง ดีบ้าง เลวบ้างฉันใด ขอถวายพระพร ผู้นับเนื่องในสัตตนิกายแม้ทุกผู้ ไหลไปตามกระแสสังสารวัฏ ถูกกระแสสังสารวัฏพัดพาไปอยู่ ก็ย่อมประจวบกับสิ่งที่เกลียดบ้าง สิ่งที่รักบ้าง ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร พระเทวทัตคราวเป็นยักษ์ ตนเองไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ตั้งอยู่ในธรรม จึงหมกไหม้อยู่ในมหานรก ตลอด ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี

ขอถวายพระพร แม้พระโพธิสัตว์คราวเกิดเป็นยักษ์ ตนเองตั้งอยู่ในธรรม แล้วก็ยังชักชวนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในธรรมด้วย จึงบันเทิงอยู่ในสวรรค์ พร้อมพรั่งด้วยสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง ตลอด ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง ในภพนี้ พระเทวทัตไม่เลื่อมใสพระพุทธเจ้าผู้น่าเลื่อมใส ทั้งยังได้ยุยงสงฆ์ให้แตกความสามัคคี จึงจมลงไปในแผ่นดิน ส่วนพระตถาคต ตรัสรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ก็เป็นผู้ดับกิเลสทั้งหลายได้ ทำอุปธิให้สิ้นไปได้

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริงพระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบกุสลากุสลสมวิสมปัญหาที่ ๗

คำอธิบายปัญหาที่ ๗

ปัญหาที่มีการถามถึงความที่กุศลและอกุศลมีวิบากเสมอเหมือนกันหรือไม่เสมอเหมือนกันชื่อว่า กุสลากุสลสมวิสมปัญหา.   ในคำว่า วิบากของผู้มีปกติทำกุศล เป็นต้น มีอรรถาธิบายว่า สำหรับผู้มีปกติทำแต่กุศล มีทานเป็นต้น และผู้มีปกติทำแต่อกุศล มีการฆ่าสัตว์เป็นต้น จะพึงได้รับวิบากคือผลของการกระทำ เสมอเหมือนคือเท่าเทียมกัน หรือว่าแตกต่างกันเป็นบางอย่างเล่า ?    คำว่า เอาแต่จะดำด้านเดียว ประกอบพร้อมด้วยธรรมดำด้านเดียว คือ เอาแต่จะทำอกุศล ซึ่งเปรียบด้วยดำเพราะสร้างแต่ความไม่สวัสดี มีประการต่างๆ ด้านเดียว ไม่เหลียวแลกุศล ประกอบพร้อมด้วยธรรมดำ อกุศลนั้นนั่นแหละด้านเดียว ไม่ขนขวายในกุศล แม้ในคำว่า เอาแต่จะขาวด้านเดียว เป็นต้น ก็พึงทราบคำอรรถาธิบายโดยประการตรงข้าม.   คำว่า อุปมาเรื่องเต่าตาบอด ความว่า สำหรับสัตว์ที่ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ การที่จะมีโอกาสได้ความเป็นมนุษย์บ้างสักชาติหนึ่งนั้น เป็นสิ่งหาได้แสนยาก เหมือนอย่างเต่าตาบอดที่ท่องเที่ยวไปในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ซึ่งเต่าตัวนี้จะโผล่ขึ้นเหนือน้ำเพียงครั้งเดียว ในทุกๆ ๑๐๐ ปี การที่จะมีโอกาสให้ศรีษะได้โผล่เข้าไปภายในใจกลางเสวียนอันเดียวที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรนั้นนั่นแหละ สักครั้งหนึ่ง เป็นสิ่งหาได้แสนยาก ฉะนั้น.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗.   จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๓๕

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: