ฝึกมากๆให้ใจสงบมีสมาธิและเกิดสติปัญญาเห็นแจ้ง
[ณ เวฬุวัน ใกล้นครราชคฤห์ ปริพาชกวัจฉโคตรได้ขอบวชเพื่ออยู่ปฏิบัติธรรม จากนั้นไม่นาน พระวัจฉโคตรได้เข้าไปพบพระพุทธเจ้าอีกแล้วกล่าวว่า]
ว: ผมได้ปฏิบัติธรรมจนได้ผลเบื้องต้นแล้ว ขอให้ท่านโปรดสอนธรรมะที่สูงขึ้นแก่ผมด้วยเถิด
พ: ถ้าอย่างนั้น เธอจงฝึกสมถะ (ให้ใจสงบ มีสมาธิจิตตั้งมั่น) และวิปัสสนา (ให้มีสติปัญญาเห็นแจ้ง) ให้มากธรรมทั้งสองนี้ ถ้าพัฒนาแล้ว จะทำให้เธอได้รู้เห็นเพิ่มเติมอีกหลายประการ ถึงระดับหนึ่ง
เธออาจจะมีอิทธิฤทธิ์ แยกร่าง หายตัวได้ (อิทธิวิธี) เธออาจจะฟังเสียงทิพย์ทั้งใกล้ไกลที่มนุษย์ไม่ได้ยินได้ (ทิพโสตธาตุ)
เธออาจจะอ่านจิตผู้อื่นได้ รู้ได้ว่าสัตว์หรือมนุษย์นั้นมีสภาวะจิตเป็นอย่างไร มีราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน มีสมาธิ หรือหลุดพ้นแล้วหรือไม่ (เจโตปริยญาณ)
เธออาจจะระลึกชาติได้ หนึ่งชาติบ้าง สิบชาติบ้าง เป็นกัปบ้าง (บุพเพนิวาสานุสติญาณ) เธออาจจะมองเห็นการเกิดตายของสัตว์ที่ทำดีทำชั่วทั้งหลาย (จุตูปปาตญาณ) และ
เธออาจจะรู้ว่าเกิดปัญญาที่ทำให้รู้แจ้ง กิเลสทั้งหลายหมดสิ้นไปแล้ว รู้ได้ว่าตัวเองได้หลุดพ้นแล้ว (อาสวักขยญาณ)
[หลังจากนั้น พระวัจฉโคตรได้หลีกออกไปเพียรปฏิบัติธรรมอยู่ผู้เดียว ไม่นานนักก็บรรลุอรหันต์]
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 20 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค 2 เล่ม 1 มหาวัจฉโคตตสูตร ข้อ 259), 2559, น.441-445
0 comments: