“ความสะอาดเพราะน้ำมิใช่ทางแห่งความบริสุทธิ์ของสัตว์”
พุทธอุทานว่า “บุคคลจะเป็นผู้สะอาดเพราะน้ำที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่ ผู้ใดมีสัจจะและธรรม ผู้นั้นชื่อว่า “เป็นผู้สะอาด” และผู้นั้นชื่อว่า “เป็นพราหมณ์”
ในพุทธอุทานนี้ พระพุทธองค์ทรงเปล่งแสดงว่า “ความสะอาดเพราะน้ำมิใช่ทางแห่งความบริสุทธิ์ของสัตว์” และแสดงว่า “ธรรมทั้งหลายมีสัจจะเป็นต้นเท่านั้นที่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ที่แท้จริงของสัตว์”
คำว่า “สัจจะ” หมายถึง วจีสัจจะและวิรัติสัจจะ
๑. วจีสัจจะ คือสัจจะต่อวาจา คือ จริงต่อวาจา นั่นก็คือคำพูดของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยปากหรือการเขียน ตลอดจนการแสดงอาการที่เป็นการปฏิญาณต่อผู้อื่นก็ตาม สัจจะต่อวาจามีอยู่ด้วยกัน ๒ ประเภท คือ (๑.๑) พูดอย่างไรทำอย่างนั้น คือ เมื่อพูดออกไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้จริงตามที่พูด (๑.๒) ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น คือ การพูดคำจริง เมื่อเราทำอะไรลงไปก็พูดไปตามนั้น การกระทำต้องตรงกับคำพูดของตัวเองเสมอ
๒. วิรัติสัจจะ จริงโดยการเว้นจากทุจริตและการเว้นจากกรรมชั่ว เว้นสิ่งประจวบเฉพาะหน้า เว้นด้วยการสมาทาน เว้นด้วยตัดขาด
คำว่า “ธรรม” หมายถึง อริยมรรคและอริยผล
บุพเหตุแห่งพุทธอุทานนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คยาสีสบรรพต ใกล้หมู่บ้านคยา สมัยนั้น เป็นฤดูหนาว มีหิมะตก ๘ วัน ในช่วงกลางคืนอากาศหนาวเหน็บ ชฎิลจำนวนมาก ผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ทั้งผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้าง ที่แม่น้ำคยาด้วยคิดว่า “ด้วยวิธีนี้จะบริสุทธิ์”
(แต่) พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิลจำนวนมากผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ทั้งผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้างที่แม่น้ำคยาด้วยคิดว่า “ด้วยวิธีนี้จะบริสุทธิ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
“บุคคลจะเป็นผู้สะอาดเพราะน้ำที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่ ผู้ใดมีสัจจะและธรรม ผู้นั้นชื่อว่า “เป็นผู้สะอาด” และผู้นั้นชื่อว่า “เป็นพราหมณ์”
สาระธรรมจากชฏิลสูตร
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
26/7/64
0 comments: