กิเลสเปรียบดังกระแสน้ำ
ชายคนหนึ่งกำลังเล่นน้ำเพลินๆ แต่ถูกกระแสน้ำพัดไปโดยมิรู้ตัว ส่วนบุรุษผู้ที่ยืนบนฝั่งเห็นเขากำลังถูกกระแสน้ำพัดไปจึงตะโกนบอกว่า “ท่านกำลังถูกกระแสน้ำพัดไป ในกระแสน้ำนี้มีห้วงน้ำลึกในภายใต้ มีคลื่น มีน้ำวน มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ ซึ่งท่านจมลงไปแล้วต้องถึงความตายหรือได้รับทุกข์ปางตายแน่นอน” ชายคนนั้นครั้นได้ยินเสียงตะโกนบอกก็พยายามใช้ทั้งมือและเท้าแหวกว่ายทวนกระแสน้ำจนขึ้นมาได้
อุปมาเปรียบเทียบ
๑. กระแสน้ำ เป็นชื่อของตัณหาคือความทะยานอยาก ๒. ปิยรูปสาตรูปที่มีสภาวะน่ารักน่าชื่นใจอันเป็นที่อาศัยเกิดและเป็นที่ดับของตัณหาได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จัดเป็นที่ไหลไปแห่งกระแสน้ำคือตัณหา ๓. กิเลสที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ ได้แก่ ความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัวถือตนก็ดี ความลังเลสงสัยก็ดี ความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยศีลหรือพรตก็ดี ความพอใจด้วยอำนาจแห่งกามก็ดี ความคิดแค้นผู้อื่นก็ดี จัดเป็นห้วงน้ำที่ลึกในภายใต้
๔. ความโกรธและความคับแค้นใจ จัดเป็นคลื่น ๕. กามคุณ ๕ คือรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ จัดเป็นน้ำวน ๖. มาตุคาม (หรือบุรุษ) จัดเป็นสัตว์ร้ายหรือผีเสื้อน้ำ ๗. การออกบวช จัดเป็นการทวนกระแสน้ำ ๘. การเริ่มทำความเพียร จัดเป็นความพยายามใช้ทั้งมือและเท้าแหวกว่าย ๙. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดเป็นคนตาดียืนอยู่บนฝั่งผู้กล่าวสอน
เพราะฉะนั้น ผู้ใดจะล่วงพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย หรือจากความทุกข์ที่ต้องเวียนวายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้ได้ ผู้นั้นต้องบำเพ็ญเพียรตามหลักแห่งศีลสมาธิและปัญญา พระตถาคตเจ้าเป็นเพียงผู้บอก ส่วนผู้มีความเพียรประพฤติพรหมจรรย์ย่อมล่วงพ้นจากทุกข์ได้ ดังนี้.
สาระธรรมจากนทีโสตสูตร
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
18/7/64
0 comments: