วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

การไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง

การไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง

[ณ โรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชะโคตร (พราหมณ์ตระกูลภารทวาชะ) ใกล้นิคมของชาวกุรุที่ชื่อว่ากัมมาสธัมมะในรัฐกุรุ พระพุทธเจ้าได้กล่าวกับพราหมณ์ภารทวาชะว่า]

พ:  ภารทวาชะ เมื่อตอนบ่าย มาคัณฑิยปริพาชกได้แวะมาคุยกับท่านที่นี่ ซึ่งพอมาคัณฑิยปริพาชกได้เห็นที่ที่ท่านได้ปูให้เรานอนอยู่นี้ก็พูดว่า ‘ได้เห็นที่นอนของพระโคดมผู้ทำลายความเจริญ ย่อมได้ชื่อว่าเห็นสิ่งที่ชั่ว’ ส่วนท่านก็ตอบไปว่า กษัตริย์ พราหมณ์ คฤบหดี และสมณะที่เป็นบัณฑิตต่างก็เลื่อมใสเรา เพราะเราสอนธรรมที่บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ

[เมื่อพราหมณ์ภารทวาชะได้ยินดังนั้นก็ตกใจ ขนลุก แล้วกล่าวว่า]

ภ:  ผมตั้งใจจะบอกท่านเรื่องนี้ แต่ท่านก็พูดขึ้นมาก่อน

[ลำดับนั้น มาคัณฑิยปริพาชกได้เดินเข้ามาหาพระพุทธเจ้าพอดี หลังจากทักทายกันแล้ว พระพุทธเจ้าก็พูดกับมาคัณฑิตปริพาชกว่า]

พ:  มาคัณฑิยะ ตาที่มองเห็นรูป นำมาซึ่งความเพลิดเพลินยินดี ตถาคตได้ฝึกตานั้นให้สำรวม และสอนให้คนสำรวมในตานั้น (เพื่อไม่ให้ใจหลงไปกับกิเลสที่เกิดจากตาเห็น) ที่ท่านว่าเราทำลายความเจริญนั้น ท่านหมายถึงเรื่องนี้หรือ?

ม:  ใช่แล้วท่าน

พ:  มาคัณฑิยะ หูที่ได้ยินเสียง...จมูกที่ได้กลิ่น...ลิ้นที่รับรส...สัมผัสทางกาย...และความคิดในใจ นำมาซึ่งความเพลิดเพลินยินดี ตถาคตได้ฝึกหู...จมูก...ลิ้น...กาย...และใจนั้นให้สำรวม และสอนให้คนสำรวมในหู...จมูก...ลิ้น...กาย...และใจนั้น (เพื่อไม่ให้ใจหลงไปกับกิเลสที่เกิดจากช่องทางรับรู้ดังกล่าว) ที่ท่านว่าเราทำลายความเจริญนั้น ท่านหมายถึงเรื่องนี้หรือ?

ม: ใช่แล้วท่าน

พ:  แล้วท่านคิดอย่างไรกับคนที่เคยได้รับการปรนเปรอด้วยรูป...รส...กลิ่น...เสียง...สัมผัส แต่ต่อมาได้รู้ถึงการเกิดการดับ คุณโทษ และวิธีการบรรเทาและละกิเลสตัณหาที่เกิดจากรูป...รส...กลิ่น...เสียง...สัมผัสดังกล่าวจนปราศจากความกระหาย มีใจที่สงบอยู่ภายใน?

ม: ผมก็ไม่ได้ว่าอย่างไร

พ:  เมื่อครั้งที่เรายังไม่ได้ออกบวช เราเองก็เป็นผู้อิ่มหนำสำราญ เพียบพร้อมไปด้วยความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส (กามคุณ 5) ปรนเปรอตัวเองด้วยความใคร่อยากที่พาใจให้กำหนัด เรามีปราสาทถึงสามหลังสำหรับฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน อยู่กับสตรีและเสียงเพลงช่วงฤดูฝนตลอดสี่เดือน ไม่ได้ออกไปไหนเลย แต่เวลาต่อมา เราได้รู้ถึงการเกิดการดับ คุณโทษ และวิธีการบรรเทาและละกิเลสตัณหาที่เกิดจากรูป...รส...กลิ่น...เสียง...สัมผัสดังกล่าวจนปราศจากความกระหาย มีใจที่สงบอยู่ภายใน และเมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่คิดจะกลับไปอยู่ในความใคร่อยากเหล่านั้นอีก.     เปรียบเหมือนคฤหบดีที่มีทรัพย์มาก อยากได้อะไรก็ได้ แต่มีความประพฤติที่สุจริตทั้งกายวาจาใจ เมื่อตายไปเข้าสู่สุคติสวรรค์ เพรียบพร้อมไปด้วยความน่าพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส (กาม) อันเป็นทิพย์ในหมู่เทวดา ท่านคิดว่าคฤบหดีผู้นี้จะอยากกลับมาใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์อีกไหม?

ม: ไม่อยากแล้วท่าน เพราะกามอันเป็นทิพย์นั้นประณีตกว่า น่าใคร่กว่ากามของมนุษย์.    พ:  เราเองก็เหมือนกัน  เปรียบเหมือนคนที่เป็นโรคเรื้อนมีแผลเต็มตัว พยายามจะรักษาโรคด้วยการย่างกายให้ร้อนที่หลุมถ่านเพลิงอยู่ ภายหลังญาติมิตรของเขาได้พาหมอผ่าตัดมาช่วยรักษาจนหาย ไม่มีโรคอีก คนผู้นั้นจะชอบใจที่ได้เห็นคนอื่นเป็นโรคเรื้อน ต้องย่างกายในหลุมเพลิง ต้องใช้ยารักษาไหม?

ม:  ไม่เลยท่าน.    พ:  เราเองก็เหมือนกัน   แล้วถ้าคนที่หายจากโรคเรื้อนแล้วถูกชายฉุดกระชากลงไปในหลุมถ่านเพลิง ท่านคิดว่าเขาจะดิ้นรนขัดขืนไหม?

ม:  ต้องดิ้นรนขัดขืนแน่ท่าน เพราะไฟนั้นร้อนจนต้องทุกข์ทรมาน.   พ:  ไฟนั้นพึ่งจะมาร้อนตอนที่เขาหายจากโรคเรื้อนนี้ หรือร้อนมาตั้งแต่แรกแล้ว?

ม:  ไฟย่อมร้อนเสมอมาไม่ว่าเวลาใด แต่ตอนที่เขายังเป็นโรคอยู่ กลับเข้าใจว่าไฟนั้นจะช่วยรักษาเขาให้หายทุกข์ได้ จึงสำคัญผิดเห็นว่าทุกข์จากไฟนั้นคือสุข.     พ:  มาคัณฑิยะ กาม (ความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ทั้งหลายก็เหมือนกัน เป็นของร้อนเสมอมาไม่ว่าเวลาใด ผู้ที่ยังกำหนัดในกาม ถูกกามตัณหาย่ำยีแผดเผาอยู่นั้น ย่อมสำคัญผิดเห็นว่ากามอันเป็นทุกข์นั้นคือสุข   ท่านเคยเห็นหรือเคยได้ยินว่ามีพระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชาที่ปรนเปรอตัวเองด้วยกามคุณ 5 ด้วยใจที่สงบและปราศจากความกระหายอยากไหม?

ม:  ไม่เคยเลยท่าน.    พ:  เราเองก็ไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยิน

[ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าก็อุทานขึ้นว่า]

พ:  ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ทางอันมีองค์ 8 เป็นทางสู่การบรรลุธรรม

ม:  ท่านพระโคดม ผมเองก็เคยได้ยินจากปริพาชกหลายคนพูดว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง.     พ:  ที่ท่านได้ยินปริพาชกพูดกันนั้น ที่ว่าไม่มีโรคนั้นหมายถึงอะไร นิพพานนั้นหมายถึงอะไร?    ม: ก็หมายถึงอย่างเช่นว่า ตอนนี้ผมก็เป็นคนไม่มีโรค มีความสุขอยู่ ไม่มีอะไรมาเบียดเบียน

พ: มาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนชายตาบอดแต่เกิด ไม่ได้เห็นรูปดำขาว สีสัน หมู่ดาว ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ เมื่อเขาได้ฟังจากคนตาดีว่ามีผ้าขาวผ่องงามสะอาด เขาก็เที่ยวเสาะแสวงหาผ้าขาวนั้น พอมีคนเอาผ้าเปื้อนเขม่ามาหลอกว่าเป็นผ้าขาว เขาก็ดีใจรับเอามาห่ม ชายตาบอดผู้นี้ดีใจเพราะรู้เห็นว่าผ้านั้นขาวหรือเพราะเชื่อคนที่มาบอก?

ม:  เพราะเชื่อคนที่มาบอก

พ: ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลายก็เช่นกัน เป็นคนตาบอด ไม่รู้ว่าความไม่มีโรคนั้นคืออะไร ไม่รู้ว่านิพพานนั้นเป็นอย่างไร แต่ก็กล่าวถึงคาถาที่ว่านี้ซึ่งเป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาตอนนี้ ความหมายของคาถานี้กลับกลายเป็นความเข้าใจของปุถุชนไปเสียแล้ว ที่ท่านพูดว่าความไม่มีโรคคือการไม่มีโรคทางกาย ไม่มีความเจ็บไข้นั้น เพราะท่านไม่มีตาของพระอริยะที่ทำให้เห็นความไม่มีโรคและนิพพานที่แท้จริง (การไม่มีโรคทางใจและการพ้นทุกข์)

ม:  ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงธรรมให้ผมเพื่อที่จะได้รู้ความหมายของการไม่มีโรคและเห็นนิพพานได้ด้วยเถิด

พ: มาคัณฑิยะ ถ้าญาติมิตรของชายตาบอดได้หาหมอมาผ่าตัด ให้ยารักษาจนมองเห็นได้ เขาก็จะละความรักความพอใจในผ้าเปื้อนเขม่านั้น ถ้าเราแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านก็จะละความกำหนดพอใจในขันธ์ 5 ได้ และคิดได้ว่าเราถูกจิตนี้หลอกให้หลงมานานแล้ว หลอกให้ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ความรู้สึก ความทรงจำ ความคิด และความรับรู้ต่างๆ เมื่อยึดมั่น ก็มีตัวมีตน มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจ กองทุกข์ทั้งสิ้นเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้

ม:  ขอท่านได้โปรดทำให้ผมมีดวงตาเห็นธรรมด้วยเถิด

พ:  ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟังธรรมและปฏิบัติธรรม เมื่อท่านปฏิบัติธรรมได้ถูกต้องตามควร ท่านก็จะรู้เอง เห็นเอง ว่าโรคนั้นคืออะไร และจะดับไปโดยไม่เหลือได้อย่างไร เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ไม่มีตัวมีตน ไม่มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจ กองทุกข์ทั้งสิ้นดับไปด้วยเหตุนี้

[เมื่อนั้น มาคัณฑิยะได้ขอบวชและเพียรปฏิบัติธรรมอยู่ผู้เดียว ไม่นานนักก็บรรลุอรหันต์]

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 20 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค 2 เล่ม 1 มาคัณฑิยสูตร ข้อ 276), 2559, น.463-478





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: