วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ไม่ว่าตายไปแล้วจะเกิดอีกหรือไม่ ความทุกข์ขณะนี้ก็ยังมีอยู่ เราจึงสอนเรื่องการพ้นทุกข์ให้ได้ในปัจจุบัน

ไม่ว่าตายไปแล้วจะเกิดอีกหรือไม่ ความทุกข์ขณะนี้ก็ยังมีอยู่ เราจึงสอนเรื่องการพ้นทุกข์ให้ได้ในปัจจุบัน

[ณ เชตวัน ใกล้นครสาวัตถี พระมาลุงกยบุตรเกิดความคิดขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าไม่สอนเรื่องที่ว่าโลก (จักรวาล) เที่ยงหรือไม่เที่ยง มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด ชีวิตกับร่างกายเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ตถาคตปรินิพพานไปแล้วจะยังอยู่หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวติดใจอยากรู้ จึงเข้าไปถามพระพุทธเจ้าว่า]

ม:  ภันเต ท่านไม่ได้สอนเรื่องที่ว่าโลก (จักรวาล) เที่ยงหรือไม่เที่ยง มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด ชีวิตกับร่างกายเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ตถาคตปรินิพพานไปแล้วจะยังอยู่หรือไม่ แต่ส่วนตัวผมยังอยากรู้จึงได้มาถาม โดยตั้งใจว่าถ้าท่านสอน ก็จะบวชต่อ แต่ถ้าท่านไม่สอน ก็จะสึก  ถ้าท่านทราบ ขอให้ท่านช่วยบอกด้วยเถิด แต่ถ้าท่านไม่ทราบ ก็ขอให้บอกตรงๆเถิดว่าไม่ทราบ

พ:  มาลุงกยบุตร เราเคยพูดกับเธอหรือว่า ถ้าเธอมาบวช เราจะบอกเธอว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง...?   ม:  ไม่เคยท่าน.   พ:  หรือเธอเคยพูดกับเราหรือว่า เธอจะบวช ถ้าเราบอกเธอว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง...?  ม:  ไม่เคยท่าน.  

พ:  เราไม่เคยพูดกับเธออย่างนั้น และเธอก็ไม่เคยพูดกับเราเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอจะมาทวงอะไรเล่า ถึงมีใครมาพูดกับเราว่าถ้าไม่ตอบเรื่องนี้แล้วจะไม่บวช เราก็จะไม่ตอบอยู่ดี แล้วคนนั้นก็จะตายไปโดยเปล่าประโยชน์

เปรียบเหมือนกับชายถูกลูกศรอาบพิษยิง ในขณะที่ญาติมิตรต่างไปตามหมอมา ชายคนนั้นกลับบอกว่าจะไม่ถอนลูกศรนี้ออกจนกว่าจะรู้ว่าใครยิง บ้านอยู่ไหน ธนูที่ใช้เป็นอย่างไร ลูกศรทำด้วยอะไร เมื่อเป็นแบบนี้ เขาก็คงตายไปโดยที่ไม่ได้คำตอบ   คนที่เห็นว่าโลกเที่ยง...ก็ปฏิบัติธรรมได้  คนที่เห็นว่าโลกไม่เที่ยง...ก็ปฏิบัติธรรมได้

เพราะไม่ว่าโลกจะเที่ยงหรือไม่เที่ยง...ตายไปแล้วจะเกิดอีกหรือไม่... ความทุกข์กายทุกข์ใจ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ยังคงมีอยู่นั่นเอง    เราจึงสอนเรื่องการพ้นทุกข์ให้ได้ในปัจจุบัน

มาลุงกยบุตร เพราะอะไรเราถึงไม่สอนเรื่องเหล่านั้น เพราะเรื่องเหล่านั้นไม่เกิดประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ความสงบ และนิพพาน  แล้วอะไรเล่าที่เราสอน เราสอนเรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ การดับของทุกข์ และวิธีดับทุกข์ เพราะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพื่อความดับ ความสงบ และนิพพาน

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 20 (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภาค 2 เล่ม 1 จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร ข้อ 147), 2559, น.281-289


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: