วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๘)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๘) ปัญหาที่ ๓ พุทธอัปปาพาธปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า

"อหมสฺมิ  ภิกฺขเว  พฺราหฺมโณ  ยาจโยโค  สทา  ปยตปาณี  อนฺติมเทหธโร  อนุตฺตโร  ภิสโก  สลฺลกตฺโต."(ขุ.อิ. ๒๕/๓๕๒)

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ เป็นผู้ควรแก่การขอ มีฝ่ามือสะอาดตลอดกาลทุกเมื่อ เป็นผู้ทรงอัตภาพสุดท้าย เป็นผู้ยอดเยี่ยม เป็นหมอยา เป็นหมอผ่าตัด ดังนี้ 

และพระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสไว้อีกว่า

“เอตทคฺคํ  ภิกฺขเว  มม  สาวกานํ  ภิกฺขูนํ  อปฺปาพาธานํ  ยทิทํ  พากุโล.” (องฺ.เอกก. ๒๐/๓๒)

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พระพากุละนี้ จัดว่าเป็นยอดแห่งบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้มีอาพาธน้อย ซึ่งเป็นสาวกของเรา ดังนี้ 

แต่ปรากฏว่า พระผู้มีพระภาคทรงเกิดพระอาพาธขึ้นในพระสรีระหลายครั้ง พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระตถาคตทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม จริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พระพากุละนี้ จัดว่าเป็นยอดแห่งบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้มีอาพาธน้อย ซึ่งเป็นสาวกของเรา ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า พระพากุลเถระเป็นยอดแห่งบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้มีอาพาธน้อย จริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ฯลฯ เป็นผู้ยอดเยี่ยม เป็นหมอยา เป็นหมอผ่าตัด ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ฯลฯ เป็นหมอผ่าตัด ดังนี้ จริง และตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พระพากุละนี้ ฯลฯ ซึ่งเป็นสาวกของเรา ดังนี้ จริง ก็ข้อที่ว่า พระพากุละเป็นยอดแห่งบรรดาภิกษุทั้งหลาย ผู้มีอาพาธน้อยนั้น ตรัสหมายเอาภาวะที่คนภายนอก (ไปจากพระองค์) ก็มีองค์คุณแต่ละอย่าง คือ อาคม อธิคม ปริยัติ เป็นต้น อยู่ในตนได้

ขอถวายพระพร สาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้อธิษฐานการยืนและการจงกรม ก็มีอยู่แล สาวกเหล่านั้น ย่อมยังวันและคืนให้ล่วงไปด้วยการยืน ด้วยการจงกรม ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงยังวันและคืนให้ล่วงไปด้วยการยืน ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ด้วยการนอน ขอถวายพระพร ภิกษุผู้อธิษฐานการยืนและการจงกรมนั้น ก็จัดว่าเป็นผู้ที่ยิ่งกว่าด้วยองค์คุณ (คือเฉพาะการอธิษฐาน การถือการยืนและการจงกรม) นั้น

ขอถวายพระพร สาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้อธิษฐานการฉัน ณ อาสนะเดียว (ฉันหนเดียว) ก็มีอยู่แล สาวกเหล่านั้น จะไม่ยอมฉันภาชนะหนที่สอง แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ส่วนพระผู้มีพระภาค เสวยพระกายาหารแม้หนที่สอง จนกระทั่งแม้หนที่สาม ขอถวายพระพร ภิกษุผู้อธิษฐานการฉัน ณอาสนะเดียวนั้น จัดว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าด้วยองค์คุณ (คือเฉพาะการอธิษฐานการฉันนะอาสนะเดียว) นั้น ขอถวายพระพร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงเล็งเอาองค์คุณนั้นๆ แห่งภิกษุเหล่านั้นๆ จึงตรัสเหตุการณ์หลายอย่างต่างๆกันเหล่านั้นไว้

ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ด้วยวิมุตติ, ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ, ด้วยพละ ๑๐, ด้วยเวสารัชชญาณ ๔, ด้วยพุทธธรรม ๑๘, ด้วยญาณที่ไม่สาธารณะ ๖, ก็ที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ฯลฯ เป็นหมอผ่าตัด ดังนี้ ส่งหมายเอาองค์คุณในพระพุทธพิสัย นั้น แต่อย่างเดียว

ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ มนุษย์พวกหนึ่งเป็นผู้มีชาติตระกูลสูงส่ง อีกพวกหนึ่งเป็นผู้มีทรัพย์มาก อีกพวกหนึ่งเป็นผู้มีวิชามาก อีกพวกหนึ่งเป็นผู้มีศิลปะมาก พวกหนึ่งเป็นคนกล้าหาญ อีกพวกหนึ่งมีปัญญาหลักแหลม ผู้เป็นพระราชานั่นเทียว จัดว่าเป็นผู้สูงสุดแห่งบุคคลเหล่านั้น ครอบงำบุคคลเหล่านั้นแม้ทุกคนฉันใด ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคก็จะว่าทรงเป็นยอด เป็นใหญ่ ประเสริฐสูงสุด แห่งบรรดาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ฉันนั้นเหมือนกัน แล

ก็การที่ท่านพระพากุละ เป็นผู้มีอำนาจน้อยนั้น เป็นเพราะอภินิหารที่ท่านได้ทำไว้ คือว่า ในชาติที่ตัวท่านเองเกิดเป็นดาบส เมื่อพระผู้มีพระภาค อโนมาทัสสีทรงเกิดพระโรคลมในท้องขึ้น และในชาติที่เกิดเป็นดาบสอีกชาติหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาควิปัสสี และพระภิกษุจำนวน ๖ ล้าน ๘ แสนรูป เกิดเป็นไข้เพราะหญ้าขึ้น ก็ได้ใช้ยาหลายอย่างต่างๆกัน ถวายการรักษาความเจ็บป่วยนั้น จึงได้บรรลุความเป็นผู้มีอาพาธน้อย พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสรรเสริญท่านว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระพากุละนี้ จัดว่าเป็นยอดแห่งบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้อาพาธน้อย ซึ่งเป็นสาวกของเรา ดังนี้

ขอถวายพระพร แม่เมื่อความเจ็บป่วยเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคแล้วก็ตาม ยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม แม้เมื่อพระองค์จะทรงถือธุดงค์แต่ละข้อก็ตาม ไม่ทรงถือก็ตาม ถึงอย่างไร สัตว์ผู้เสมอเหมือนพระผู้มีพระภาคสักคนหนึ่ง หามีไม่ ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพยิ่งเหล่าเทพ สุภาษิตความข้อนี้ไว้ใน สังยุตตนิกาย ว่า

"ยาวตา    ภิกฺขเว    สตฺตา   อปทา   วา   ทฺวิปทา   วา   จตุปฺปทา   วา   พหุปฺปทา   วา   รูปิโน  วา   อรูปิโน   วา    สญฺญิโน   วา    อสญฺญิโน    วา    เนวสญฺญินาสญฺญิโน   วา,   ตถาคโต   เตสํ    อคฺคมกฺขายติ    อรหํ      สมฺมาสมฺพุทฺโธ."  (สํ.มหา. ๑๙/๕๙)

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่มีเท้าก็ตาม มี ๒ เท้าก็ตาม มี ๔ เท้าก็ตาม มีเท้ามากมายก็ตาม มีรูปก็ตาม ไม่มีรูปก็ตาม มีสัญญาก็ตาม ไม่มีสัญญาก็ตาม มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ตาม มีอยู่สักเพียงใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวได้ว่า เป็นยอดแห่งบรรดาสัตว์เหล่านั้น  ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่กล่าวมานี้.  จบพุทธอัปปาพาธปัญหาที่ ๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาเกี่ยวกับความทรงเป็นผู้มีพระอาพาธน้อยแห่งพระพุทธเจ้า ชื่อว่า พุทธอัปปาพาธปัญหา.   คำว่า เราเป็นพราหมณ์ คือเราเป็นพระอรหันต์ผู้ลอยบาปได้เด็ดขาดแล้ว.   คำว่า เป็นผู้ควรแก่การขอ ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้ควรแก่การขอ ก็เพราะเขาขอสิ่งใด ก็ให้สิ่งนั้น a เพราะปราศจากความหวงแหนในของของตน.   คำว่า มีฝ่ามือสะอาดตลอดกาลทุกเมื่อ คือมีมือที่คอยเช็ดล้างไว้ให้สะอาด เพื่อพร้อมจะให้ทานอย่างเคารพตลอดกาลทุกเมื่อ.   คำว่า เป็นผู้ทรงอัตภาพสุดท้าย คือ มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย ภพหน้าไม่มีอีก.   คำว่า พระพากุลนี้ จัดว่าเป็นยอดแห่งบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้มีอาพาธน้อย คือ บรรดาภิกษุผู้อาพาธ มีความเจ็บไข้ได้ป่วยน้อยทั้งหลาย พระพากุลเถระนี้ จัดว่าเป็นยอด เพราะไม่ปรากฏว่าท่านมีอันต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเลย

แง่ปมที่ขัดแย้งกันในปัญหานี้ มีอยู่เพียงเท่านี้ คือ การที่จะไว้ว่า เราเป็นผู้ยอดเยี่ยม ดังนี้ ก็น่าจะเกี่ยวกับว่าทรงเป็นเลิศ เหนือกว่าบุคคลอื่นในทุกด้าน รวมทั้งความเป็นผู้อาพาธน้อยนี้ แต่กลับปรากฏว่า ท่านพระพากุลเถระกลับเป็นผู้ยอดเยี่ยม เหนือกว่าพระองค์ด้านความเป็นผู้มีอาพาธน้อย เพราะพระองค์ทรงเกิดอาพาธประชวรแล้วหลายครั้ง ส่วนพระพากุลเถระ หาความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ได้เลย

พระธรรมเทศนา ชื่อว่า อาคม.  มรรคและผล ชื่อว่า อธิคม.   พระไตรปิฎกอันเป็นพระพุทธวจนะชื่อว่า ปริยัติ.  คำว่า เป็นผู้อธิษฐานการยืนและการจงกรม คือผู้มีอันตั้งใจไว้มั่น ในอันยังเวลาแห่งร่วงไป โดยมากด้วยการยืนและการจงกรม (เดิน) ในอิริยาบถ ๔.   คำว่า เป็นผู้ยิ่งกว่าด้วยองค์คุณนั้น คือ เป็นผู้ยิ่งกว่ายอดเยี่ยมกว่า สูงส่งกว่าผู้อื่นด้วยองค์คุณ คือข้อที่อธิษฐานการยืนและการจงกรมนั้น.   คำว่า ส่วนพระผู้มีพระภาค เสวยพระกระยาหาร แม้หนที่ ๒ แม้หนที่ ๓ คือ เสวยพระกระยาหาร แม้เป็นหนที่ ๒ แม้เป็นหนที่ ๓ ในเวลาที่นับว่ากาลนั้นแหละ ไม่ใช่ในเวลาวิกาล.   คำว่า ทรงหมายเอาองค์คุณในพระพุทธะวิสัยนั้น แต่อย่างเดียว คือ ทรงหมายเอาองค์คุณที่นับเนื่องในพุทธพิสัย คือที่บุคคลผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น สามารถมีได้

ในอุปมา ผู้เป็นพระราชา แม้ว่า จะทรงเป็นผู้มีวิชาเป็นต้น ได้กว่าคนเหล่าอื่น ถึงกระนั้น ก็นับว่าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมเหนือกว่าคนทั้งปวง ด้วยองค์คุณที่เป็นวิสัยของพระราชาเท่านั้นนั่นเทียว ฉันใด ในภพเดียวกันนี้ พระผู้มีพระภาคและว่าทรงมีองค์คุณบางประการ มีธุดงค์ เป็นต้น ด้อยกว่าพระอรหันต์รูปอื่นบางรูปบ้าง ถึงกระนั้น ก็นับว่าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม เหนือกว่าพระสาวกทั้งปวง ด้วยองค์คุณที่เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นนั่นเทียว ฉันนั้นเหมือนกัน บัณฑิตพึงเห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงหย่อนพระปฏิปทาในเรื่องนั้นๆ ลงไปบ้าง ไม่ทรงปฏิบัติเคร่งครัดนัก ก็ด้วยทรงประสงค์จะเลือกอำนวยความสะดวกแก่สัตว์โลกผู้บ่ายหน้าไปหาพระองค์ หวังการอนุเคราะห์เท่านั้น ไม่ใช่เพราะไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถ.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาที่ ๔ มัคคุปปาทนปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า

“ตถาคโต  ภิกฺขเว  อรหํ  สมฺมาสมฺพุทฺโธ  อนุปฺปนฺนสฺส  มคฺคสฺส  อุปฺปาเทตา.” (สํ.ขนฺธ. ๑๗/๘๐)

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น

ดังนี้ และยังตรัสไว้อีกว่า

“อทฺทสํ  ขฺวาหํ  ภิกฺขเว  ปุราณํ  มคฺคํ  ปุราณํ  อญฺชสํ  ปุพฺพเกหิ  สมฺมาสมฺพุทฺเธหิ  อนุยาตํ.” (สํ.นิ. ๑๖/๑๒๗)

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราได้พบเห็นแล้วซึ่งมรรคเก่า ซึ่งทางเก่า ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน เสด็จดำเนินตามกันไป ดังนี้ 

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระตถาคตทรงเป็นผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้น จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราได้พบเห็นแล้วซึ่งมรรคเก่า ซึ่งทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน เสด็จดำเนินต่างกันไป ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า พระตถาคตตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราได้พบเห็นแล้วซึ่งมรรคเก่า ซึ่งทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน เสด็จดำเนินต่างกันไป ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้น ดังนี้ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคตรัสความข้อนี้ไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้น ดังนี้ จริง และตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราได้พบเห็นแล้วซึ่งมรรคเก่า ทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน เสด็จดำเนินตามกันไป ดังนี้ จริง คำตรัสทั้งสองคำนั้น เป็นคำตรัสไปตามสภาวะ ขอถวายพระพร เพราะความที่พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ทรงล่วงลับไปแล้ว ไม่มีผู้อนุศาสน์ มรรคก็ย่อมอันตรธานเลือนหายไป พระตถาคต (พระองค์นี้) ทรงใช้พระปัญญาจักษุค้นหาอยู่ ก็ได้พบแล้ว ซึ่งมรรคที่ขาดไปแล้ว ก็พังทลายไปแล้ว ที่ลึกลับ ที่ถูกปิดไว้ ที่ถูกบังไว้ ที่ใช้สัญจรไม่ได้แล้ว ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเคยเสด็จตามกันไปนั้น เพราะเหตุนั้น จึงตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้พบเห็นแล้วซึ่งมรรคเก่า ซึ่งทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน เสด็จดำเนินตามกันไป ดังนี้

ขอถวายพระพร บัดนี้ มรรคที่ขาดไปแล้ว ทางที่พังทลายไปแล้ว ที่ลึกลับ ที่ถูกปิดไว้ ที่ถูกบังไว้ ที่ใช้สัญจรมิได้เพราะเหตุที่ เมื่อพระตถาคตเจ้าทั้งหลายในปางก่อนส่งล่วงลับไป ไม่มีผู้อนุศาสน์ นั้น พระตถาคตพระองค์นี้ จงทำให้เป็นมรรค (ทาง) ที่ใช้สัญจรได้ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้นดังนี้

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า พอพระเจ้าจักรพรรดิในโลกนี้ ทรงล่วงลับไปแล้ว แก้วไม่มีก็ไปหลบซ่อนอยู่ภายในยอดเขาเสีย พระเจ้าจักรพรรดิองค์ต่อมา จะทรงได้รับด้วยข้อปฏิบัติชอบ ขอถวายพระพร แก้วมณีนั้นชื่อว่ามีเป็นปกติแล้วแก่พระจักรพรรดิพระองค์นั้นหรือไร ?

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า แก้วมณีนั้น ชื่อว่า พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้นนั่นเทียว ทรงทำให้ปรากฏ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น ทรงทำให้บังเกิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน มรรคอันสงบเย็น ประกอบด้วยองค์ ๘ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ทรงทำให้ปรากฏแล้ว ทรงสั่งสมไว้แล้ว เมื่อไม่มีท่านผู้อนุศาสน์ ก็ขาดไป พังทลายไป เป็นของลึกลับ ถูกปิดไว้ ถูกบังไว้ ใช้สัญจรมิได้ พระผู้มีพระภาค (พระองค์นี้) ทรงชัยพระปัญญาจักษุค้นพบ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้เป็นทางที่ใช้สัญจรได้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ดังนี้

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ผู้เป็นมารดาอาศัยช่องกำเนิดทั้งหมดที่มีอยู่ ในท้อง นั่นแหละ ให้เกิด คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ชนิกา ผู้ทำให้เกิด ฉันใด ขอถวายพระพร มรรคที่มีอยู่นั่นเทียว ซึ่งขาดไป พังทลายไป ลึกลับ ปิดบัง ใช้สัญจรไม่ได้ พระตถาคตทรงใช้พระปัญญาจักษุค้นพบ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้สัญจรได้ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ดังนี้

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคน พบสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้หายไปแล้ว ผู้คนจึงกล่าวว่า บุรุษผู้นั้น ทำสิ่งของนั้นให้บังเกิด ดังนี้ ฉันใด ขอถวายพระพร มรรคที่มีอยู่นั่นแหละ ซึ่งขาดไป พังทลายไป ลึกลับ ปิดบัง ใช้สัญจรไม่ได้ พระตถาคตทรงใช้พระปัญญาจักษุค้นพบ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้ใช้สัญจรได้ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น จึงตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ดังนี้

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนถางป่า ชำระที่ดินให้สะอาด ผู้คนย่อมกล่าวว่า นั้นเป็นที่ดินของบุรุษผู้นั้น ดังนี้ ก็ที่ดินนี้ หาเช่าที่ดินที่บุรุษนั้นทำให้เป็นไป (ทำให้เกิดขึ้น) ไม่ เขาชื่อว่าเป็นเจ้าของที่ดินเพราะทำที่ดินนั้นให้เป็นเหตุ ฉันใด ขอถวายพระพร มรรคที่มีอยู่นั่นแหละ ซึ่งขาดไป พังทลายไป ลึกลับ ปิดบัง ใช้สัญจรไม่ได้ พระตถาคตทรงใช้พระปัญญาจักษุค้นพบ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้ใช้สัญจรได้ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น จึงตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบมัคคุปปาทนปัญหาที่ ๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๔

ปัญหาเกี่ยวกับการทำมรรคเกิดขึ้น ชื่อว่า มัคคุปปาทนปัญหา.   พระอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ชื่อว่า มรรค (ทาง) เพราะมีความหมายว่า เป็นทางคือเป็นอุบายบรรลุพระนิพพาน.  คำตรัสที่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้พบเห็นแล้วซึ่งมรรคเก่า เป็นต้น นี้ ทรงแสดงว่า มรรคเก่าคือมรรคที่ล่วงไปแล้ว หมดไปแล้ว สิ้นไปแล้ว.   ส่วนด้วยคำตอบที่ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ดังนี้ นี้ ทรงแสดงว่ามรรคที่กำลังเป็นไป ที่พระองค์ทรงประกาศอยู่นี้ เป็นมรรคใหม่ ที่พระองค์ทรงทำให้เกิดขึ้น คือทรงค้นพบด้วยอำนาจการทำให้เกิดขึ้น เหมือนอย่างมรรคอดีต ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตั้งแต่ครั้งอดีตทรงทำให้เกิดขึ้น.  คำว่า ส่งล่วงลับไป ไม่มีผู้อนุศาสน์ คือ เสด็จดับขันปรินิพพานไปนานแล้ว และต่อมาไม่มีผู้อนุศาสน์ คือผู้พร่ำสอนสืบต่อจากพระองค์ เป็นคำที่แสดงถึงความอันตรธานเสื่อมหายไปตามลำดับแห่งพระศาสนา

ชื่อว่า ขาดไปแล้ว ก็เกี่ยวกับว่า ไม่มีการสืบต่อ . ชื่อว่า พังทลายไปแล้ว ก็เกี่ยวกับว่าเสื่อมไปแล้ว.  ชื่อว่า ลึกลับ ก็เพราะใครๆไม่อาจหยั่งถึงได้.   ชื่อว่า ถูกปิดไว้ ถูกบังไว้ ก็เกี่ยวกับว่า หาผู้มีปัญญาจักษุมองเห็นไม่ได้.  ชื่อว่า ใช้สัญจรมิได้แล้ว ก็เกี่ยวกับว่า ใครๆไม่อาจดำเนินคือไม่อาจปฏิบัติได้แล้ว

คำว่า เคยเสด็จตามกันไป คือ แต่ละพระองค์ที่ทรงอุบัติในโลกนี้ เคยทรงปฏิบัติ ทำให้เกิดขึ้น แล้วทรงประกาศติดต่อกันมา.  ในอุปมาแรก คำว่า แก้วมณีนั้น ชื่อว่ามีปกติแล้วแก่พระเจ้าจักรพรรดิ หรือไร ? คือแก้วมณีนั้น ชื่อว่ามีอยู่ก่อนแล้วเป็นปกติ แก่พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น หรือไร ความในอุปมาหลังๆ ง่ายอยู่แล้ว

ส่วนในอุปมาสุดท้าย คำว่า เขาชื่อว่าเป็นเจ้าของที่ดินเพราะทำที่ดินนั้นให้เป็นเหตุ เป็นต้น ความว่า เมื่อยังไม่ถางป่า ยังไม่ชำระที่ดินให้สะอาด ก็ไม่อาจเข้าไปจับจองถือเอาเพื่อประโยชน์แก่การปลูกหว่านพืช การสร้างที่อยู่อาศัยเป็นต้น ได้ที่ดินนั้นก็ยังปราศจากเจ้าของ บุรุษผู้นั้นก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นเจ้าของ เมื่อได้ถางป่าแล้ว ชำระที่ดินให้สะอาดแล้ว ที่ดินนั้นนั่นแหละ ก็ชื่อว่าเป็นที่ดินที่มีเจ้าของ และบุรุษนั้นก็ชื่อว่าเป็นเจ้าของ เพราะมีที่ดินที่ตนถาง ที่ตนชำระไว้เป็นเหตุ ให้นับว่าเป็นเจ้าของ ฉันใด มักอย่างที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่กาลก่อน ทรงค้นพบ แล้วทรงประกาศ ซึ่งต่อมาก็เสื่อมไปกลายเป็นเส้นทางลึกลับ ปิดบัง ให้สัญจรไม่ได้แล้วนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า เป็นเส้นทางที่ปราศจากเจ้าของ มาได้บัดนี้ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ส่งเข้าไปถากถางรกชัฏ คือ กิเลสที่ปิดบังทางนั้น ได้ทรงค้นพบ โดยการที่ทรงทำให้เกิดได้อีก ทำให้เป็นทางที่ใช้สัญจร คือใช้ปฏิบัติได้อีก พระองค์ก็ชื่อว่า ทรงเป็นเจ้าของมรรคนั้น เพราะทรงมีมรรคที่ทรงค้นพบ คือทรงทำให้เกิดได้อีกนั่นแหละ เป็นเหตุให้นับว่าทรงเป็นเจ้าของมรรคนั้น ฉันนั้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔.  จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๓๘

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: