วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ติตฺติรชาตกํ - ว่าด้วยตายเพราะปาก

ติตฺติรชาตกํ  -  ว่าด้วยตายเพราะปาก

"อจฺจุคฺคตาติลปตา,       อติเวลํ  ปภาสิตา;

วาจา  หนติ  ทุมฺเมธํ,      ติตฺติรํวาติวสฺสิตนฺติ ฯ

วาจาที่ดังเกินไป ความเป็นผู้มีกำลังแรงเกินไป การกล่าวล่วงเวลาย่อมฆ่าบุคคลผู้มีปัญญาทรามเสีย ดุจวาจาที่ฆ่านกกระทาผู้ขันดังเกินไปฉะนั้น."

ติตติรชาดกอรรถกถา (นกกระทาตายเพราะปาก)

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุชื่อโกกาลิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  อจฺจุคฺคตา  อติพลตา  ดังนี้

เรื่องของโกกาลิกภิกษุนั้นจักแจ่มแจ้งในตักการิยชาดก เตรสนิบาต. แต่ในชาดกนี้ พระศาสดาทรงรับสั่งว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลายมิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น ที่โกกาลิกะอาศัยวาจาของตนต้องพินาศ แม้ในครั้งก่อน ก็เคยพินาศมาแล้วเหมือนกัน“ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในพระนครพาราณสี  พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลอุทิจจพราหมณ์เจริญวัย เรียนศิลปะทุกอย่างในเมืองตักกสิลา ละกามทั้งหลายเสียแล้วบวชเป็นฤาษี ทำอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ให้เกิดแล้ว คณะฤาษีทั้งปวงประชุมกันในหิมวันตประเทศ ตั้งให้ท่านเป็นอาจารย์ผู้ให้โอวาท ยอมตนเป็นบริวารท่านได้เป็นอาจารย์ผู้ให้โอวาทของฤาษี ๕๐๐ เล่นอยู่ด้วยฌานกรีฑาอยู่ในป่าหิมพานต์.

ครั้งนั้น ดาบสผู้หนึ่ง เป็นโรคผอมเหลือง ถือพร้าไปผ่าไม้ ครั้งนั้น ดาบสปากกล้าผู้หนึ่ง นั่งอยู่ใกล้ ๆ ดาบสผอมนั้นพูดว่า „จงฟันในที่นี้ จงฟันในที่นี้“ ทำให้ดาบสผอมนั้นขัดเคือง เธอโกรธแล้วกล่าวว่า „เดี๋ยวนี้ท่านไม่ใช่อาจารย์ฝึกหัตศิลปะในการผ่าฟืนของเรานะ“ แล้วเงื้อพร้าอันคม ฟันทีเดียวเท่านั้น ทำให้ดาบสปากกล้าถึงสิ้นชีวิต. พระโพธิสัตว์ให้กระทำสรีรกิจแก่เธอแล้ว.

ในครั้งนั้น ที่เชิงจอมปลวกแห่งหนึ่ง ไม่ไกลอาศรมบท นกกระทาตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ทุกเช้าทุกเย็นมันยืนอยู่บนยอดจอมปลวก ขันเสียงดังลั่น ฟังเสียงนั้นแล้ว พรานผู้หนึ่งคิดว่า „น่าจะมีนกกระทา“ จึงสะกดไปด้วยหมายเสียงเป็นสำคัญ ฆ่ามันแล้วถือเอาไป

พระโพธิสัตว์ไม่ได้ยินเสียงมัน ถามพวกดาบสว่า „ที่ตรงโน้นมีนกกระทาอาศัยอยู่ เพราะเหตุไรเล่าหนอ จึงไม่ได้ยินเสียงมัน ?“ พวกดาบสบอกเรื่องนั้นแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เทียบเคียงเหตุการณ์ทั้งสองอย่างแม้เหล่านั้นแล้ว กล่าวคาถานี้ ในท่ามกลางหมู่ฤๅษี ความว่า :-

„วาจาที่ดังเกินไป ความเป็นผู้รุนแรงเกินไป พูดล่วงเวลาย่อมฆ่าผู้มีปัญญาทรามเสีย ดุจวาจาที่ฆ่านกกระทา ผู้ขันดังเกินไป ฉะนั้น.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  อจฺจุคฺคตา  แปลว่า วาจาที่สูงเกินไป.   บทว่า อติพลตา ได้แก่ วาจาที่รุนแรงเกินไป เพราะกล่าวซ้ำ ๆซาก ๆ.  บทว่า อติเวลํ ปภาสิตาได้แก่ วาจาที่ล่วงเวลา คือคำทูลที่กล่าวเกินประมาณ.  บทว่า ติตฺติรํวาติวสฺสิตํ ความว่า เสียงขันที่ดังเกินไปย่อมกำจัดนกกระทาเสีย ฉันใด วาจาเห็นปานนี้ ย่อมกำจัดคนโง่ ๆคือคนพาลเสียฉันนั้น.

พระโพธิสัตว์ให้โอวาทแก่หมู่ฤาษีด้วยประการฉะนี้ เจริญพรหมวิหาร ๔ ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่โกกาลิกภิกษุอาศัยคำพูดของตน ฉิบหายแล้ว แม้ในครั้งก่อนก็เคยฉิบหายแล้วเหมือนกัน“ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า ดาบสว่ายากในครั้งนั้นได้มาเป็นโกกาลิกภิกษุ คณะฤๅษีได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนศาสดาแห่งคณะได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. จบอรรถกถาติตติรชาดกที่ ๗

ข้อควรทราบ: ติตติรชาดก (ชาดกว่าด้วยเรื่องนกกระทา) พบ ๓ แห่งในชาดก คือ

๑. ติตติรชาดกในเอกกนิบาต กุลาวกวรรคที่ ๔ ปรารถพระสารีบุตรเถระ ว่าด้วยเรื่องสัตว์ ๓ สหาย ตือ ช้าง ลิง นกกระทา นับถือกันด้วยความเป็นผู้เจริญด้วยวัย ในเรื่องนี้พระโพธิสัตว์เสวยพระชาดิเป็นนกกระทา

๒. ติตติรชาดกในเอกกนิบาต หังจิวรรคที่ ๑๒ ปรารภโกกาลิกภิกษุผู้ว่ายาก คือเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่ขณะนี้.

๓. ติตติรชาดกในจตุกกนิบาต ปุจิมันทวรรคที่ ๒ ปรารภพระราหูลเถระว่าผู้ว่าง่ายใคร่ในการศึกษา ในเรื่องนี้พระราหูลเคยเกิดเป็นนกกระทา.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: