วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ฝึกทำความดีให้ชินจนเป็นธรรมดา นั่นแหละจะเป็นคนที่เรียกว่า “มีวาสนาดี”

ฝึกทำความดีให้ชินจนเป็นธรรมดา นั่นแหละจะเป็นคนที่เรียกว่า “มีวาสนาดี”

“ถ้าเราทำอะไรให้จริงจัง ฝึกฝนทำอยู่เสมอ ก็จะสะสมติดตัวจนเรียกได้ว่าเป็นธรรมดาของเรา ในความหมายแบบของมนุษย์ปุถุชน

 ฉะนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์ก็คือ ทำให้จริง ถ้าจะทำความดีอะไรแล้วทำให้จริง ทำให้เป็นลักษณะประจำตัว ทำให้เป็นนิสัย ทำให้เป็นวาสนา

เอาอีกแล้ว คำว่า “วาสนา” นี้ ก็ต้องทำความเข้าใจกันอีก แต่วันนี้จะไม่พูดยาว เดี๋ยวจะไปกันใหญ่ วาสนานี่ ไม่ได้มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย วาสนานั้นที่จริงคือ “ลักษณะประจำตัวที่แต่ละคนได้สั่งสมอบรมมาจนเคยชิน” เช่นเป็นคนที่มีท่าทางเดินอย่างนี้ มีท่วงทำนองพูดอย่างนี้ ชอบพูดคำอย่างนี้ มีความสนใจแบบนี้เป็นต้น อันนี้เรียกว่า “วาสนา”

“วาสนา” คือความเคยชินที่สั่งสมอบรมมาจนเป็นลักษณะประจำตัวนี้ เป็นตัวกำกับและกำหนดวิถีชีวิตของคนเป็นอย่างมาก ท่านจึงถือว่าวาสนาเป็นเรื่องสำคัญ คนเรานี้เมื่อมีลักษณะประจำตัวที่จะแสดงออกอย่างไรแล้ว ก็จะปรากฏแก่ผู้อื่นแล้วมีผลย้อนกลับต่อชีวิตของตัวเอง เช่น เรามีลักษณะการพูดอย่างนี้ คนอื่นเขาได้ยินคำพูดของเรา เขาก็มีท่าทีเป็นปฏิกิริยาตอบย้อนกลับมา บางคนนี้พูดแล้วคนอื่นชอบฟัง บางคนพูดแล้วคนอื่นอยากหนี บางคนพูดแล้วคนอื่นอยากตี จะเดินก็เหมือนกัน บางคนเดินคนอื่นชอบดู บางคนเดินคนอื่นชื่นชมนับถือ บางคนเดินคนอื่นระคายใจ ไม่ว่าจะเดิน จะยืน จะทำอะไรก็ตาม ต่างคนก็ต่างกันไปหมด นี้เป็นวาสนา วาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ลอยมาจากฟากฟ้า วาสนาอยู่ที่ตัวเรา แล้วมันก็กำหนดวิถีชีวิตของเรา

แต่ละคนมีวาสนาไม่เหมือนกัน เพราะสั่งสมอบรมมาไม่เหมือนกัน ทีนี้ในการที่จะทำความดีให้ติดตัว จนกระทั่งเรารู้สึกเหมือนเป็นธรรมชาติของเรานั้น ก็คือทำจนเป็นวาสนา ต้องทำด้วยความจงใจคัดเลือกความดีที่จะทำ และทำให้จริงจัง ถ้าเราปล่อยเรื่อยเปื่อยเราก็จะได้วาสนาที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องตั้งใจว่า อะไรที่ดี ก็ตั้งใจฝึกทำให้สม่ำเสมอ ทำให้ชิน

โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกหลานจะต้องระลึกไว้ว่า คนเรานี้จะอยู่ด้วยความเคยชินเป็นส่วนมาก กิริยา มารยาท การวางตัว การพูดจาอะไรต่างๆ ที่เป็นลักษณะประจำตัวของแต่ละคนนั้น เริ่มต้นก็เกิดจากการทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนแล้วก็ทำอย่างนั้นๆ จนชิน เพราะฉะนั้น ถ้าเราปล่อยให้การกระทำอย่างใดเกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ต่อไปก็มักจะชินอย่างนั้น และเมื่อชินแล้วก็จะแก้ยากที่สุด ฉะนั้น พ่อแม่จะต้องชิงให้เขาได้ความเคยชินที่ดี แล้วเขาก็จะได้วาสนาที่ดี เพราะฉะนั้นจะต้องเอาใจใส่คอยใช้โอกาส ตั้งแต่ตอนแรกให้เขาได้ความเคยชินที่ดี เป็นวาสนาติดประจำตัวไป แล้วความเคยชินที่เป็นวาสนานั้นก็จะเป็นโชคเป็นลาภของเขาในอนาคต เพราะฉะนั้น ความสำเร็จจึงอยู่ที่เราจะทำให้ความประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม กลายเป็นความเคยชินของเขา

เมื่อเราฝึกตัวเองให้ดี พยายามทำให้เคยชินในเรื่องนั้นๆ ต่อไปการกระทำหรือความประพฤติอย่างนั้นก็จะเป็นไปเองโดยเราไม่รู้สึกตัวเลย การทำจนชินหรือวาสนาอย่างนี้ ถ้าเราจะเรียกว่าธรรมชาติหรือธรรมดาของเราก็พอได้ แต่ธรรมชาติระดับนี้ ไม่ใช่ธรรมชาติแบบพระพุทธเจ้า เป็นเพียงธรรมชาติแบบเคยชิน”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : จากหนังสือ “เมืองไทยจะวิกฤต ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต” หน้า ๕๔-๕๗ (พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๖)

ความเชื่อผิดๆว่า “วาสนา” คือฟ้าบันดาลให้   ความจริง..วาสนาคนเราแก้ไขปรับปรุงได้

“เวลานี้ มีถ้อยคำของพุทธศาสนาที่ถูกนำมาใช้อย่างผิดพลาด โดยเป็นความเชื่อแบบคลาดเคลื่อนบ้าง ไม่ครบไม่สมบูรณ์บ้าง เช่น คำว่า “วาสนา” เป็นคำที่ฟ้องชัดมาก ว่ามีความคลาดเคลื่อนจากพุทธศาสนาไปไกลลิบ จนกระทั่งวาสนากลายเป็นสิ่งที่ลอยลงมาจากฟากฟ้า ถ้าเป็นพุทธศาสนาก็ต้องเป็นสิ่งที่แก้ไขปรับปรุงได้ วาสนาจึงเป็นเรื่องที่แก้ไขปรับปรุงได้

“วาสนา” ไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า แต่อยู่ที่ตัวเรา คือเป็นลักษณะประจำตัว ที่สะสมอบรมติดตัวมา เช่น คนนี้มีลักษณะการพูดอย่างนี้ บางคนพูดช้า บางคนพูดเร็ว บางคนพูดเป็นขวานผ่าซาก บางคนพูดคำไพเราะสละสลวย คนนี้เดินอย่างนี้ คนนั้นเดินท่าทางชดช้อย คนนี้มีท่าทางชอบรีบเร่ง คนโน้นเดินหงุบๆ หงับๆ อาการทั้งหมดทั้งปวงที่อบรม “สั่งสมมาเป็นลักษณะประจำตัว” เรียกว่า “วาสนา” คนเราจึงมีวาสนาไม่เหมือนกัน เป็นความเคยชินอย่างสนิทแน่น ซึ่งจะส่งผลเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคน เริ่มตั้งแต่เมื่อต้องไปสัมพันธ์กับคนอื่น ก็ทำให้เขามีภาพของตัวเราและความรู้สึกต่อเราอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะมีผลต่อเนื่องกว้างไกลออกไปตามภาพและความรู้สึกนั้น เช่น บางคนพอพูดสักคำหนึ่งคนฟังก็ไม่อยากฟังต่อไป อยากจะหันหลังให้เลย บางคนพูดอะไรออกมาคนอื่นอยากฟัง ก็ชวนให้อยากเข้าหา อยากสนทนาด้วย

วาสนาเป็นตัวกำหนดสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มันเป็นเครื่องชี้ชะตาของคนไปด้วย เช่น เวลาจะเลือกคนไปทำงาน เขาดูคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือ ดูวาสนาว่าเป็นอย่างไร วาสนาจึงอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่มาจากฟากฟ้า เมื่อมองวาสนาเช่นนี้ เราก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุง ไม่ใช่รอให้สวรรค์ส่งมา อย่างนี้เป็นต้น”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : การบรรยายพิเศษในการประชุมสัมมนาผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๘ จัดโดยกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ จากหนังสือ “การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: