วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

มิตจินฺติชาตกํ - ว่าด้วยปลาช่วยปลาให้พ้นข่าย

มิตจินฺติชาตกํ - ว่าด้วยปลาช่วยปลาให้พ้นข่าย

"พหุจินฺตี  อปฺปจินฺตี,      อุโภ  ชาเล  อพชฺฌเร;

มิตจินฺตี  ปโมเจสี,         อุโภ  ตตฺถ  สมาคตาติ ฯ

ปลา ๒ ตัวคือ ปลาพหูจินตี และปลาอัปปจินตี ติดอยู่ในข่าย, ปลาชื่อมิตจินตีได้ช่วยให้พ้นจากข่าย, ปลาทั้ง ๒ ตัวจึงได้มาพร้อมกันกับปลามิตจินตี ในแม่น้ำนั้น."

มิตจินตีชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภพระเถระผู้เฒ่า ๒ องค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  พหุจินฺตี  อปฺปจินฺตี  จ  ดังนี้.

ได้ยินว่า พระเถระผู้เฒ่า ๒ องค์นั้น อยู่จำพรรษาในอรัญญาวาสแห่งหนึ่งในชนบท คิดกันว่า เราทั้งสองจักไปเฝ้าพระศาสดาแล้วเตรียมเสบียงไว้ มัวผลัดอยู่ว่า „ไปวันนี้เถิด, ไปพรุ่งนี้เถิด“ จนล่วงไปเดือนหนึ่งแล้วก็อีกเดือนหนึ่ง ทั้งนี้เพราะตนเป็นคนเกียจคร้านและเพราะความเป็นห่วงที่อยู่ต่อ ๓ เดือนล่วงไปแล้วจึงได้ออกจากที่นั้นไปสู่พระเชตวันเก็บบาตรจีวรไว้ในที่อยู่ของภิกษุผู้ชอบพอกันแล้วพากันไปเฝ้าพระศาสดา.

ครั้งนั้น พวกภิกษุพากันถามพระเถระผู้เฒ่าทั้งสองว่า „ดูก่อนท่านผู้มีอายุ นานจริงหนอที่ท่านทั้งสองมิได้เฝ้าพระพุทธเจ้าเหตุไรท่านทั้งสองจึงได้ชักช้าอย่างนี้ ?" พระเถระผู้เฒ่าทั้งสองก็พากันเล่าเรื่องนั้น ครั้งนั้น ความเกียจคร้าน โอ้เอ้ของท่านทั้งสองก็ระบือไปในหมู่สงฆ์ แม้ในธรรมสภา พวกภิกษุก็อาศัยความเป็นผู้เกียจคร้านของท่านทั้งสองนั้นแหละ ตั้งเป็นเรื่องขึ้น.

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ?“ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว มีรับสั่งให้เรียกท่านทั้งสองมาเฝ้า ตรัสถามว่า „ได้ยินว่า พวกเธอเกียจคร้าน โอ้เอ้ จริงหรือ ?"

ครั้นท่านทั้งสองทูลรับว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เธอทั้งสองเป็นผู้เกียจคร้าน แม้ในกาลก่อนก็เป็นผู้เกียจคร้านและยังเป็นผู้มีความอาลัย ห่วงใยในที่อยู่“ ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี มีปลา ๓ ตัวอยู่ในพระนครพาราณสี ปลาทั้ง ๓ นั้น มีชื่อดังนี้ คือ พหุจินตี อัปปจินตีและมิตจินตี.   ปลาทั้ง ๓ พากันออกจากป่ามาสู่ถิ่นมนุษย์ ในปลาทั้ง ๓ นั้น มิตจินตีบอกกับปลาทั้งสองอย่างนี้ว่า „ขึ้นชื่อว่าถิ่นมนุษย์นี้ เต็มไปด้วยความรังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า พวกชาวประมงพากันวางข่ายและไซเป็นต้น มีประการต่าง ๆ แล้วจับเอาปลา พวกเราพากัน เข้าป่าตามเดิมเถอะ“

ปลาทั้งสองนอกนี้ ต่างพูดผลัดว่า „พวกเราจะไปกันวันนี้ หรือพรุ่งนี้ค่อยไปเถิด“ เพราะความเป็นผู้เกียจคร้านและเพราะความติดใจในเหยื่อ จนเวลาล่วงไปถึง ๓ เดือน.   ครั้งนั้น พวกชาวประมงพากันวางข่ายในแม่น้ำ ปลาพหุจินตีและปลาอัปปจินตี เมื่อออกหาอาหาร พากันว่ายไปข้างหน้า ไม่กำหนดกลิ่นข่าย เพราะความเป็นสัตว์โง่ ตกเข้าไปในท้องข่ายทันที

ปลามิตจินตีตามมาข้างหลัง กำหนดกลิ่นข่ายได้และรู้ว่า ปลาทั้งคู่นั้นเข้าไปในท้องข่ายเสียแล้ว คิดว่า „เราจักให้ทานชีวิตแก่ปลาอันธพาล ผู้เกียจคร้านคู่นี้ไว้“ แล้วก็ว่ายไปสู่ที่ท้องข่ายข้างนอก ทำให้น้ำป่วนปั่น ทำเป็นทีว่า ท้องข่ายขาดแล้วโดดออกไปได้แล้วก็โดดไปข้างหน้าข่ายว่ายเข้าไปสู่ท้องข่ายอีกทำให้น้ำป่วนปั่น เป็นทีว่า ทำให้ข่ายส่วนหลังขาด โดดออกไปได้แล้วก็โดดออกไปทางเบื้องหลังข่าย.   พวกประมงสำคัญว่า „ปลาพากันชำแรกข่ายไปได้“ ก็ช่วยกันจับปลายข่ายยกขึ้น ปลาทั้งสองนั้นก็รอดจากข่ายตกลงไปในน้ำ เป็นอันว่า ปลาทั้งสองนั้น อาศัยปลามิตจินตี จึงได้มีชีวิต

พระศาสดาครั้นทรงนำเอาเรื่องในอดีตนี้มาสาธกแล้วได้ตรัสรู้ยิ่งแล้วจึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

„ปลาสองตัว คือปลาพหุจินตีและปลา อัปปจินตี ติดอยู่ในข่าย, ปลาชื่อมิตจินตีได้ช่วย ให้พ้นจากข่าย ปลาทั้งสองตัวจึงได้มาพร้อมกัน กับปลามิตจินตี ในแม่น้ำนั้น.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  พหุจินฺตี  ความว่า ปลาที่ได้นามอย่างนี้ว่า พหุจินตี เพราะมีความคิดมาก มีความตรึกตรองมาก แม้ในชื่อทั้งสองนอกนี้ ก็มีนัยนี้แหละ.   บทว่า  อุโภ  ตตฺถ  สมาคตา  ความว่า ปลาทั้งคู่เข้าไปติดข่าย อาศัยปลามิตจินตี จึงรอดชีวิตกลับมา ร่วมกับปลามิตจินตี ในน่านน้ำนั้นอีก.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงประกาศสัจจะแล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะภิกษุผู้เฒ่า (ทั้งสององค์) ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ปลาพหุจินตีและปลาอัปปจินตี ในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุคู่นี้ ส่วนปลามิตจินตีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. 

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: