วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ความประมาท และความไม่ประมาท ในพุทธศาสนา

"ความประมาท" และ "ความไม่ประมาท" ในพุทธศาสนา

"คำว่า “ความประมาท” ในภาษาไทย กับ ในภาษาบาลีนั้น สังเกตเห็นว่ามีความหมายต่างกันเหลือประมาณ  คือกว้างแคบต่างกันเหลือประมาณ.   

ในภาษาไทยเราหมายความกันแต่ว่าเป็นความเลินเล่อ เป็นความอวดดี,  เท่านี้ก็พอแล้ว แต่ในภาษาบาลีหรือ"ภาษาพระธรรม" ในการปฏิบัติธรรมนั้นมีความหมายมาก  ดูจะครบไปเสียทุกอย่างในทางที่ไม่ดี : นับตั้งแต่ความไร้สติสัมปชัญญะ ความโง่ ความขี้เกียจ ความไม่อดทน  ความเห็นแก่ตัว  ความงมงายหลงใหลในไสยศาสตร์  ความไม่จริงจังในหน้าที่  ไม่เข้มแข็ง  เหล่านี้เป็นต้น,  ล้วนรวมอยู่ในคำว่าประมาท.   

ผู้ใดเป็นอยู่ด้วยความประมาทในลักษณะเช่นที่กล่าวนี้ ก็ไม่มีทางที่จะก้าวหน้าในทางธรรม, ไม่มีทางที่จะเดินไปสู่พระนิพพาน หรือลุถึงพระนิพพานได้, มีแต่การเสื่อมลง เสื่อมลง แล้วก็วินาศเสียก่อน โดยเฉพาะก่อนตาย.   ในข้อนี้ควรระลึกนึกถึงพระบาลีกัน เพื่อจะเป็นหลักตามพระบาลีนั้นกล่าวไว้ว่า  

- อปฺปมาโท  อมตํ  ปทํ.  ความไม่ประมาทเป็นทางที่ไม่ตาย,    - ปมาโท  มจฺจุโน  ปทํ.  ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย,    - อปฺปมตฺตา  น  มียนฺติ.  ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย,    - เย  ปมตฺตา  ยถา  มตา.  ผู้ประมาทก็เหมือนกับตายแล้ว.   

ขอให้นึกถึงความหมายที่ต่างกัน  อย่างตรงกันข้ามของสิ่งทั้งสองสิ่งนี้  คือ ความไม่ประมาท กับ ความประมาท.      ความไม่ประมาทที่บุคคลดำเนินอยู่นั้นเป็นทางแห่งความไม่ตาย  มีความหมายว่าจะไปสู่สภาพที่ไม่ตาย โดยตรงอย่างนี้ก็ได้, หรือจะพูดกันอย่างธรรมดาๆสามัญว่า  ผู้เดินในทางนี้จะไม่พบกับการตายในระหว่างทาง.      ส่วนความประมาทนั้นเป็นทางแห่งความตาย,  จะต้องตายในระหว่างเดินทาง  หรือจะไปพบจุดจบเป็นความตายในทางจิตใจ  ไม่มีชีวิตหรือความเป็นอยู่ที่น่าปรารถนาแต่ประการใด.

ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย นี้เป็นการยืนยันว่าผู้ที่ไม่ประมาทแล้วจะไม่พบกันกับความตายทั้งทางกายและทางจิต; บางคนอาจจะคิดว่าถ้าไม่ประมาทแล้วจะไม่ต้องเข้าโลงหรืออย่างไร. มันไม่ได้หมายความอย่างนั้น; ถึงจะเข้าโลงก็เข้าโลงอย่างคนไม่ตาย มันเป็นเรื่องของร่างกาย ที่ไม่ได้มีความยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือของตน, มันไม่มีผู้ตาย มันไม่มีใครตายแม้ว่าจะจับใส่โลง. ส่วนการเดินทางของชีวิตประจำวันนั้น ก็ไม่ประสบกับความเสียหาย หรือความวินาศ หรือความทุกข์ทรมานแต่ประการใด, จึงกล่าวได้ว่าผู้ไม่ประมาทเป็นคนไม่ตาย."

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง "คนเดินทางเปลี่ยวคือ ผู้อยู่ด้วยความประมาท"

“สติ” รักษาจิต และ เป็น "อัปปมาทธรรม" คือ ความไม่ประมาท

“จิต” เปรียบดุจดังลูกฟักแห้ง ที่ลอยไหลไปตามกระแสน้ำ  การสกัดกั้นจิตมิให้ไหลไปในเรื่องที่เป็นอกุศลธรรม และ ดำรงรักษาจิตไว้ในกุศลธรรม นี่แหละ! เป็นลักษณะของ “สติ”  แม้การเพิกถอนจิตเสียจากสิ่งที่เป็นพิษภัย และน้อมนำจิตให้หันเหไปสู่ความดีงาม นี้ก็เป็นธรรมชาติของ “สติ” เหมือนกัน  “สติ” จึงจัดเป็น “อารักขธรรม” ชนิดหนึ่งด้วย   แม้“อัปปมาทธรรม”(ความไม่ประมาท) ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของ “สติ” เช่นกัน

พระมหานายกะ เรรุกาเน จันทวิมละ พระมหาเถระ  นักปราชญ์เอกร่วมสมัย ของ ศรีลังกา ผู้ได้รับยกย่องว่า "เป็นเลิศทางพระอภิธรรม" เป็นหนึ่งไม่มีสองของแผ่นดิน

"อัปปมาทธรรม" คือ การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติ  

"กุศลธรรมทั้งหลาย อย่างใดๆก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล"   "ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุควรสร้างอัปปมาทธรรม คือ การรักษาใจด้วยสติโดยตนเอง ในฐานะ ๔ คือ   (๑) ..จิตของเรา อย่าติดใจในธรรมที่ชวนให้เกิดความติดใจ  (๒) ..จิตของเรา อย่าขัดเคืองในธรรมที่ควรให้เกิดความขัดเคือง  (๓) ..จิตของเรา อย่าหลงในธรรมที่ชวนให้เกิดความหลง  (๔) ..จิตของเรา อย่ามัวเมาในธรรมที่ชวนให้เกิดความมัวเมา

สํ. ม. ๑๙/๒๕๒/๖๕,   องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๑๗/๑๖๑

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: