วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๖)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๖) ปัญหาที่ ๘, อมราเทวีปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษีความข้อนี้ไว้ว่า

"สเจ  ลเภถ  ขณํ  วา  รโห  วา,    นิมนฺตกํ   วาปิ  ลเภถ  ตาทิสํ;    

สพฺพาว   อิตฺถี  กยิรุํ   นุ  ปาปํ,     อญฺญํ  อลทฺธา  ปีฐสปฺปินา  สทฺธึ."  (ขุ.ชา. ๒๘/๑๒๓)

สตรี ทุกคนเลยทีเดียว ถ้าหาก ว่า ได้ขณะก็ดี ที่ลับก็ดี แม้ได้ชายผู้มาเกี้ยว ผู้เป็นเช่นกับสามีนั้นก็ดี ก็จะพึงทำชั่ว ไม่ได้ใครอื่นแล้ว ก็จะพึงทำชั่ว แม้กับบุรุษง่อยเปลี้ย ดังนี้

แต่พวกท่านยังกล่าวไว้อีกแห่งหนึ่งว่า   หญิงภรรยาของมโหสถบัณฑิต ชื่อว่า อมรา ถูกมโหสถบัณฑิตทิ้งไว้ที่กระท่อม เมื่อนางผู้อยู่ห่างผัว ผู้นั่งอยู่ในที่ลับตามลำพัง ถูกชายอื่นใช้ทรัพย์ ตั้งพันเล้าโลมอยู่ ก็ไม่ยอมทำชั่วรับชายผู้เทียบเสมอกับพระราชาเป็นสามี ดังนี้ พระคุณเจ้า นาคเสน ถ้าหากว่า พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สตรีทุกคนเลยเทียว ถ้าหากว่าได้ขณะก็ดี ฯลฯ แม้กับบุรุษง่อยเปลี้ย ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า หญิงภรรยาของมโหสถบัณฑิต ฯลฯ ก็ไม่ยอมทำชั่ว รับชายผู้เทียบเสมอพระราชาเป็นสามี ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า หญิงภรรยาของมโหสถบัณฑิต ฯลฯ ก็ไม่ยอมทำชั่วรับชายผู้เทียบเสมอกับพระราชาเป็นสามี จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า สตรีทุกคนเลยเทียว ถ้าหากว่าได้ขณะก็ดี ฯลฯ แม้กับบุรุษง่อยเปลี้ย ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สตรีทุกคนเลยเทียว ถ้าหากว่าได้ขณะก็ดี ฯลฯ แม้กับบุรุษง่อยเปลี้ย ดังนี้ จริง และมีคำกล่าวอยู่ว่า หญิงภรรยาของมโหสถบัณฑิต ฯลฯ ก็ไม่ยอมทำชั่วรับชายผู้เทียบเสมอกับพระราชาเป็นสามี ดังนี้ จริง ขอถวายพระพร หญิงนั้น พอถูกเขาใช้ทรัพย์ ตั้งพันเล้าโลมอยู่ ก็น่าจะทำกรรมชั่วกับชายผู้เป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าได้ขณะก็ดี ที่ลับก็ดี แม้ชายผู้มาเกี้ยว ผู้เป็นเช่นกับสามีนั้นก็ดี (แต่ว่า) หญิงนั้นไม่ยอมทำ ขอถวายพระพร หญิงชื่ออมรานั้น เมื่อใคร่ครวญไป ก็มองไม่เห็น ขณะก็ดี ที่รักก็ดี แม้ชายผู้มาเกี้ยว ผู้เป็นเช่นกับสามี ก็ดี

นางอมรานั้น เพราะกลัวการติเตียนในโลกนี้ จึงมองไม่เห็นขณะ ก็คิดว่ากรรมชั่วมีผลเผ็ดร้อน จึงมองไม่เห็นขณะ เพราะไม่ต้องการจะสละมโหสถบัณฑิตผู้เป็นที่รัก จึงมองไม่เห็นขณะ เพราะมีความเคารพต่อมโหสถบัณฑิตผู้เป็นสามี จึงมองไม่เห็นขณะ นางเป็นผู้ประพฤตินอบน้อมต่อพระธรรม จึงมองไม่เห็นขณะ งานเป็นผู้ติดเตียงความประพฤติเลวทราม จึงมองไม่เห็นขณะ นางเป็นผู้ไม่ต้องการทำลายกรรมที่ควรทำ (คือกุศลกรรม) จึงมองไม่เห็นขณะ งานธรรมดาย่อมมองไม่เห็นขณะ เพราะเหตุหลายอย่าง เห็นป่านฉะนี้

นางอมรานั้น ใคร่ครวญแล้ว มองไม่เห็นแม้ที่ลับในโลกจึงไม่ยอมทำชั่ว ถ้าหากว่าได้ที่ลับจากพวกมนุษย์ ถึงอย่างไรก็ไม่ได้ที่ลับจากพวกนักบวชผู้รู้จิตของผู้อื่น ถ้าหากว่าได้ลับที่จากพวกนักบวชผู้รู้จิตของผู้อื่น ถึงอย่างไรก็ไม่ได้ที่ลับจากพวกเทวดาทั้งหลายผู้รู้จิตของผู้อื่น ถ้าหากว่าได้ที่ลับจากพวกเทวดาผู้รู้จิตของผู้อื่น ถึงอย่างไรก็ไม่ได้ที่ลับพอที่ตนจะทำบาปได้ ถ้าหากว่าได้ที่ลับพอที่ตนจะทำบาปได้ ถึงอย่างไรก็ไม่ได้ที่ลับพอที่จะเสพอสัทธรรมทำได้ นางอัมราไม่ได้ที่ลับเพราะเหตุหลายอย่าง เห็นปานฉะนี้ ยังไม่ยอมทำชั่ว

นางอมรานั้น ใคร่ครวญถึงชายแม้ที่มาเกี้ยวแล้ว ไม่ได้ใช้ผู้เป็นเหมือนสามีนั้น จึงไม่ยอมทำชั่ว ขอถวายพระพรมหาบพิตร มโหสถบัณฑิต เต้น ผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๒๘ เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๒๘ อะไรบ้าง ขอถวายพระพร มโหสถบัณฑิตเป็นคนกล้าหาญ ๑, มีหิริ ความละอายบาป ๑, มีโอตัปปะ ความเกรงกลัวบาป ๑, มีพวกพ้อง ๑, ถึงพร้อมด้วยมิตร ๑, อดทน ๑, มีศีล ๑, มีปกติพูดแต่คำจริง ๑, ถึงพร้อมด้วยความสะอาด ๑, ไม่มักโกรธ ๑, ไม่มักหยิ่ง ๑, ไม่ริษยา ๑, มีความเพียร ๑, รู้จักหา (ทรัพย์) มา ๑, รู้จักสงเคราะห์ผู้อื่น ๑, รู้จักแบ่งปัน ๑, มีถ้อยคำอ่อนโยน ๑, ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ๑, เป็นคนนุ่มนวล ๑, ไม่โอ้อวด ๑, ไม่มีมายา ๑, ถึงพร้อมด้วยความคิดดีล้ำ ๑, มีเกียรติ ๑, ถึงพร้อมด้วยวิชา ๑, แสวงหาประโยชน์แก่ผู้เข้าไปอาศัย ๑, เป็นที่ปรารถนาแห่งชนทั้งปวง ๑, มีทรัพย์ มียศ ๑, ดังนี้ ขอถวายพระพร มโหสถบัณฑิตเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๒๘ เหล่านี้ นางอมรานั้น ไม่ได้ใช้ผู้อื่นมาเกี้ยว ผู้เป็นเช่นกับมโหสถบัณฑิตนั้น จึงไม่ยอมทำชั่ว

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำเฉลยตามที่ท่านกล่าวมากระนี้ นี้.   จบอมราเทวีปัญหาที่ ๘

คำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาเกี่ยวกับอมราทีวี ชื่อว่า อมราทีวีปัญหา.  คำว่า สตรีทุกคนเลยเทียว ฯ แม้กับบุรุษง่อยเปลี้ย ดังนี้ ปรากฏอยู่ใน กุณาลชาดก อันบัณฑิตควรค้นหาความพิสดารในอรรถกถาชาดกเรื่องนี้.   คำว่า ได้ขณะ คือได้โอกาส ได้ช่อง ในอันเสพอสัทธรรม (เมถุนธรรม).   คำว่า ที่ลับ คือที่ลับตา และลับหู.   คำว่า ชายผู้มาเกี้ยวผู้เป็นเช่นกับสามีนั้น เคยชายผู้มาเกี้ยว ได้แก่มาประเล้าประโลม ผู้เป็นเช่นกับสามี คือผู้เสมอเหมือน เทียบเท่าสามีผู้เป็นที่รัก หรือแม้ยิ่งกว่าสามีนั้น.   คำว่า พึงทำชั่ว คือ พึงประพฤติมิจฉาจาร ความว่าพึ่งเสพอสัทธรรม.    

คำว่า หญิงภรรยาของมโหสถบัณฑิต ชื่อว่าอมราเป็นต้น พระราชาตรัสหมายเอาเรื่องที่มีมาใน มโหสถชาดก ซึ่งว่าด้วยครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิตมีเรื่องเกี่ยวกับความตอนนี้อยู่อย่างนี้ว่า มโหสถบัณฑิตนั้นครั้นได้นางอมราเป็นภรรยาแล้ว ก็พาไปสู่นคร เพื่อไปยังเรือนของตน ครั้นถึงนครแล้ว ก็กลับพานางไปพำนักอยู่ที่เรือนของคนเฝ้าประตูก่อน ส่วนตัวท่านก็กลับไปอยู่ที่เรือนของตน ประสงค์จะทดสอบความซื่อสัตย์จงรักภักดีของนางอมรา จึงจ้างวานชายอื่นให้แต่งตัวประดับประดาเป็นเสียอย่างดี ดุจพระราชา ถือเงิน ๑,๐๐๐ เหรียญ ไปปละเล้าประโลมนางอมรา คนเหล่านั้น พยายามอยู่ถึง ๓ ครั้งก็ไม่สำเร็จ ได้ยินแต่คำพูดว่า ทรัพย์ที่เสนอให้นั้น เทียบกันแล้วก็ไม่มีค่าเปรียบได้แม้กับธุลีที่ติดเท้าสามี ในครั้งที่ ๔ พระโพธิสัตว์ให้พาตัวมายังเรือน นางอมรามาถึงเห็นพระโพธิสัตว์ผู้แสร้งแปลงกายเป็นชายอื่นผู้แต่งตัวด้วยเสื้อผ้า ประดับประดาด้วยเครื่องประดับที่มีค่ายิ่งยืนอยู่บนกองสมบัติ ก็จำไม่ได้ ไม่มีใจหวั่นไหวในความโอ่อ่าสง่างามของพระโพธิสัตว์และในทรัพย์สมบัติเหล่านั้น ทว่ากลับกล่าวตำหนิพระโพธิสัตว์ข้อที่ในภพก่อนก็รู้จักทำแต่กุศลในภพนี้จึงถึงความเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก เห็นปานฉะนี้ แต่แล้วในภพนี้กลับคิดแต่จะทำอกุศล ประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่น ซึ่งจะเป็นเหตุให้ไปนรก พระโพธิสัตว์เห็นประจักษ์ในความเป็นหญิงมั่นคง ไม่โลเลของนางอมราแล้ว ก็เลิกทดสอบยอมรับนางอมราโดยดี

คำว่า ถึงอย่างไรก็ไม่ได้ที่ลับพอที่ตนจะทำบาปได้ คือ ถึงอย่างไรก็ไม่มีที่ลับที่ตนพอจะทำบาปได้ เพราะแม้ไม่มีผู้อื่นรู้เห็นตนนั่นแหละเป็นผู้รู้เห็นการกระทำของตน.   คำว่า ถึงอย่างไรก็ไม่ได้ ที่ลับพอที่จะเสพอสัทธรรมได้ ความว่าในโลกนี้ ที่ลับที่สมควรใช้เป็นที่เสพอสัทธรรมแล้วจะพ้นจากอำนาจแห่งบาปกรรมได้ ใด ที่ลับบนั้น หามีไม่ อธิบายว่านางอมรา ไม่ได้ขณะ ไม่ได้ที่ลับ และไม่ได้ชายผู้มาเกี้ยวผู้เป็นเช่นกับสามี หรือยิ่งกว่าสามี คือมโหสถบัณฑิต ผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์คุณ ๒๘ ประการ มีความเป็นคนกล้าหาญเป็นต้น จึงไม่ยอมทำชั่ว.   จบคำธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาที่ ๙ อรหันตอภายนปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า

“วิคตภยสนฺตาสา  อรหนฺโต.”  พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจากความกลัว ความพรั่นพรึง ดังนี้ 

และอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า ที่กรุงราชคฤห์ พระอรหันต์จำนวน ๕๐๐ รูป พอเห็นช้างธนบาลพุ่งเข้าใส่พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็พากันสละทิ้งองค์พระชินวร หลบหลีกไปยังทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลาย เหลืออยู่แต่พระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น (วิ.จุ. ๗/๑๕๒ – ๓ โดยความ)

ดังนี้ พระคุณเจ้านาคเสน พระอรหันต์เหล่านั้น หลบหลีกไปเพราะกลัวหรือไร ต้องการจะให้พระทศพลถูกช้างชนล้ม ด้วยคิดว่าพระองค์จะทรงปรากฎด้วยกรรมของพระองค์เอง ดังนี้ จึงหลบหลีกไปหรือไร หรือว่าต้องการจะเห็นพระปาฏิหาริย์ที่วัดไม่ได้ ที่ไพบูลย์ หาปาฏิหาริย์ของผู้อื่นเสมอไม่ได้ ของพระตถาคต จึงพากันหลบหลีกไปเล่า พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจากความกลัว ความพรั่นพรึง ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำว่า ที่กรุงราชคฤห์ ฯลฯ เหลืออยู่แต่พระอานนท์รูปเดียว ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า ที่กรุงราชคฤห์ พระอรหันต์จำนวน ๕๐๐ รูป เพราะเห็นช้างธนบาลพุ่งเข้าใส่พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็พากันจะละทิ้งองค์พระชินวร หลบหลีกไปยังทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลาย เหลืออยู่แต่พระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจากความกลัว ความพรั่นพรึง ดังนี้ ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ ว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจากความกลัว ความพรั่นพรึง ดังนี้ จริง เรื่องที่ว่า ที่กรุงราชคฤห์ พระอรหันต์ จำนวน ๕๐๐ รูป พ่อเห็นช้างธนบาลพุ่งเข้าใส่พระผู้มีพระภาค แล้วก็พากันสละทิ้งองค์พระชินวร หลบหลีกไปยังทิศน้อยทิศใหญ่ทั้งหลาย เหลืออยู่แต่พระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น ดังนี้ ก็เป็นเรื่องจริง แต่ว่า ข้อที่ท่านเหล่านั้นจะละทิ้งพระผู้มีพระภาค หลบหลีกไปนั้น ไม่ใช่เพราะความกลัว ไม่ใช่เพราะต้องการจะให้พระองค์ทรงถูกช้างชนล้ม

ขอถวายพระพร เหตุที่ทำให้พระอรหันต์ทั้งหลายกลัวก็ดี หวาดหวั่นก็ดี ใด พระอรหันต์ ทั้งหลายได้ตัดขาดเหตุนั้นด้วยดีแล้ว เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายจึงเป็นผู้ปราศจากความกลัว ความพรั่นพรึง ขอถวายพระพร เมื่อเขาขุดทะเลก็ดี ทะลายภูเขาก็ดี ทุบยอดเขาออกก็ดี แผ่นดินใหญ่ย่อมกลัวหรือ ?

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า.   พระนาคเสน, เพราะเหตุใรหรือ ขอถวายพระพร.   พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า เหตุที่ทำให้แผ่นดินใหญ่กลัวก็ดี หวาดหวั่นก็ดี ใด เหตุนั้นไม่มีแก่แผ่นดินใหญ่.    พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เหตุที่ทำให้พระอรหันต์ทั้งหลายกลัวก็ดี หวาดหวั่นก็ดี ใด เหตุนั้น หามีแก่พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ ขอถวายพระพร ยอดเขาจะกลัวหรือไม่ เมื่อเขาจะตัดเสียก็ดี จะทุบทิ้งเสียก็ดี จะทำให้ล้มเสียก็ดี ?   พระเจ้ามิลินท์, ไม่กลัวหรอก พระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, เพราะเหตุใดหรือ ขอถวายพระพร.   พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า เหตุที่จะทำให้ยอดเขากลัวก็ดี พรั่นพรึงก็ดี ใด เหตุนั้นไม่มีแก่ยอดเขา.   

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เหตุที่จะทำให้พระอรหันต์ทั้งหลายกลัวก็ดี พรั่นพรึงก็ดี ใด เหตุนั้น หามีแก่พระอรหันต์ไม่.   ขอถวายพระพร แม้หากว่า ผู้นับเนื่องในสัตตนิกาย เหล่าใดเหล่าหนึ่งในแสนโลกธาตุ ผู้นับเนื่องในสัตตนิกายเหล่านั้นทั้งหมด มีมือถือหอกหลาว เข้าไปรุมล้อมพระอรหันต์รูปหนึ่ง ขู่ให้ท่านพรั่นพรึง ไซร้ จิตของพระอรหันต์จะไม่มีความเป็นอย่างอื่นอะไรๆ ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะความที่จิตของท่านไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส (ที่จะทำให้พรั่นพรึงได้)

ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า พระขีณาสพเหล่านั้น เกิดความคิดในใจอย่างนี้ว่า วันนี้ เมื่อพระชินวรผู้องอาจ ผู้ประเสริฐยิ่งกว่าชนผู้ประเสริฐ จะเดินเข้าไปในพระนคร ช้างธนบาลจะวิ่งมาเผชิญที่ถนน พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก จะไม่สละทิ้งพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งเหล่าเทพ มีพระมติที่หาข้อสงสัยมิได้ ถ้าหากว่าพวกเราแม้นทุกคน ไม่สละทิ้งพระผู้มีพระภาคไซร้ คุณของพระอานนท์จะไม่ปรากฏ และอีกอย่างหนึ่ง ช้างจะไม่เข้าไปจนถึงองค์พระตถาคตหรอก เอาเหอะ พวกเราจงหลีกไปเสีย ข้อนี้จะเป็นเหตุให้ชนหมู่ใหญ่มีการพ้นจากกิเลสเครื่องพันธนาการได้ทีเดียว ทั้งคุณของพระอานนท์ก็จะปรากฏ ดังนี้ พระอรหันต์เหล่านั้น เพราะเห็นอานิสงส์ดังกล่าวมานี้แล้ว ก็พากันหลบหลีกไปยังทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลายเสีย

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านจำแนกปัญหาได้ดีแล้ว ข้อที่พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีความกลัว หรือความพรั่นพรึง นี้ เป็นอย่างนี้เอง พระอรหันต์ทั้งหลาย หลบหลีกไปยังทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลาย เพราะเล็งเห็นอานิสงส์ต่างหาก.   จบอรหันตอภายนปัญหา ๙

คำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาเกี่ยวกับความไม่กลัวแห่งพระอรหันต์ ชื่อว่า อรหันตอภายนปัญหา.   คำว่า ช้างธนบาล พระราชาตรัสหมายเอาช้างหลวงที่ชื่อว่า นาฬาคิริ ขอพระเจ้าอชาตศัตรู มีเรื่องว่า พระเทวทัต เมื่อไม่อาจประทุษร้าย หมายปลงพระชนม์พระตถาคตโดยการงัดก้อนหินใหญ่ให้กลิ้งลงมาทับได้สำเร็จแล้ว ก็ยังคงผูกพยาบาทหาโอกาสอยู่ ได้ไปยุยงควาญช้างให้ปล่อยช้าง นาฬาคิริ ซึ่งในเวลานั้นกำลังตกมันดุร้าย หมายแต่จะฆ่าคน เพื่อเข้าไปทำร้ายพระตถาคต ในคราวที่เสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปตามทางเดินในกรุงราชคฤห์ พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ช้างที่ถูกปล่อยไปเห็นพระตถาคตเสด็จมาแต่ไกล ก็คู้งวงเข้าปาก ทำหูรี่ วิ่งตรงเข้าไปยังพระผู้มีพระภาค พระอานนท์กลัวพระตถาคตจะประสบอันตราย ก็ถลันไปขวางช้างไว้ ยอมสละชีวิตของท่านเอง เพื่อป้องกันพระตถาคต เมื่อช้างวิ่งเข้ามาใกล้จนจะถึง พระตถาคตก็ทรงแผ่พระเมตตาไปยังช้างนั้น ด้วยอานุภาพแห่งพระเมตตาที่ทรงแผ่ไป ช้างดุเชือกนั้นก็พลันกลายเป็นช้างเชื่อง หมอบลงเบื้องหน้าพระตถาคต

คำว่า ด้วยคิดว่าพระองค์จะทรงปรากฏด้วยกรรมของพระองค์เอง คือ ด้วยคิดว่า ถ้าหากช้างสามารถทำอันตรายต่อพระตถาคตได้ ก็เป็นอันปรากฏว่าถึงคราวที่พระองค์จะต้องทรงรับผลของกรรมที่ทรงทำไว้ในอดีต ถ้าหากช้างไม่สามารถจะทำอันตรายได้ ก็เป็นอันปรากฏว่าพระองค์มิได้ทรงทำกรรมเห็นปานฉะนี้ ไว้ในอดีต.    ความว่า พระอรหันต์เหล่านั้นหลบหลีกไป ด้วยมีความประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อให้พระพุทธานุภาพเกี่ยวกับการสยบช้างด้วยพระเมตตา ปรากฏแก่สายตามหาชน ๑, เพื่อให้คุณของพระอานนท์เกี่ยวกับมีความจงรักภักดีต่อพระผู้มีพระภาค ไม่ทอดทิ้งแม้คราวมีอันตราย ยินดีสละชีวิตของตนปกป้องพระชนชีพของพระผู้มีพระภาค ปรากฏแก่ชนทั้งหลาย ๑, เพื่อชนหมู่ใหญ่ที่ได้เห็นพระอภินิหาร เกิดความเลื่อมใสยิ่ง ได้ฟังธรรมแล้วก็จะหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องพันธนาการ ๑ ฉะนี้แล.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙

ปัญหาที่ ๑๐ พุทธสัพพัญญุภาวปัญหา

พระยามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า    “พระตถาคตทรงเป็นพระสัพพัญญู (ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง) และยังกล่าวอีกว่า เมื่อภิกษุสงฆ์อันมีท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นประมุข ถูกพระตถาคตทรงขับไล่แล้ว พวกเจ้าสากยะชาวเมืองจาตุมา และท่านท้าวสหัมบดีพรหม ก็ได้ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงเลื่อมใส ให้ทรงอดโทษให้ทรงพอพระทัย โดยแสดงอุปมาเรื่องพืชและอุปมาเรื่องลูกโคอ่อน”

(ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง มีเนื้อความเกี่ยวกับการที่ทรงเป็นพระสัพพัญญูปรากฏอยู่ใน ขุ.มหา.๒๙/๑๙๔, ขุ.จูฬ. ๓๐/๒๔๐ – ๓, ขุ.ปฏิ. ๓๑/๕๓๖ – ๗)

(อุปมาเรื่องลูกโคอ่อน เป็นเนื้อความปรากฏอยู่ใน จาตุมสูตร ม.ม. ๑๓/๑๗๖ – ๙)

พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตไม่ทรงทราบอุปมาที่จะเป็นเหตุให้พระองค์ทรงยินดี ทรงอดโทษ จงสงบ ทรงถึงความพอพระทัย หรือไร พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระตถาคตไม่ทรงทราบอุปมาเหล่านั้น ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็หาใช่สัพพัญญูไม่ ถ้าหากว่าทรงรู้ ถ้าอย่างนั้นก็จงมุ่งจะทดสอบจิตใจตามความพอพระทัย จึงทรงขับไล่ ถ้าเป็นอย่างนั้น พระตถาคตนั้นก็ไม่ทรงมีพระกรุณา ปัญหาข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้น เถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระตถาคตทรงเป็นพระสัพพัญญู จริง และพระผู้มีพระภาคทรงเลื่อมใสทรงยินดี ทรงอดโทษให้ ทรงสงบ ทรงถึงความพอพระทัยเพราะอุปมาเหล่านั้น จริง ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงเป็นพระธรรมสามี (เจ้าของธรรม) เทวดาและคนเหล่านั้นได้ใช้อุปมาที่พระตถาคตทรงประกาศไว้นั่นแหละ ทำพระตถาคตให้ทรงยินดี ให้ทรงพอพระทัย ให้ทรงเลื่อมใส ซึ่งพระตถาคตก็ทรงเลื่อมใสอนุโมทนาบุคคลเหล่านั้นว่า “สาธุ”

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า หญิง ใช้ทรัพย์ที่เป็นของสามีนั่นแหละ ทำให้สามียินดี ให้พอใจ ให้เลื่อมใส ซึ่งผู้เป็นสามีก็เลื่อมใสหญิงนั้น กล่าวชื่นชมว่า ดีจริง ฉันใด ขอถวายพระพร พวกเจ้าสากยะชาวเมืองจตุมา และท่านท้าวสหัมบดีพรหม ก็ได้ใช้อุปมาที่พระตถาคตได้ทรงประกาศไว้แล้วนั่นแหละ ธรรมพระตถาคตให้ทรงยินดี ให้ทรงพอพระทัย ให้ทรงเลื่อมใส และพระตถาคตก็ได้ทรงเลื่อมใสบุคคลเหล่านั้น กราบอนุโมทนาว่า “สาธุ” ฉันนั้น

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ช่างแต่งผม ย่อมใช้แผ่นทองปรับทรงพระเกศาของพระราชานั่นเองแต่งพระเกศาของพระราชา ทำพระองค์ให้ทรงยินดี ให้ทรงพอพระทัย ให้ทรงเลื่อมใส ซึ่งพระราชาก็ทรงเลื่อมใสเขา ตรัสชื่นชมว่า ดีจริง ฉันใด ขอถวายพระพร พวกเจ้าสากยะชาวเมืองจตุมา และท่านท้าวสหัมบดีพรหม ก็ได้ใช้อุปมาที่พระตถาคตได้ทรงประกาศไว้แล้วนั่นแหละ ทำพระตถาคตให้ทรงยินดี ให้ทรงพอพระทัย ให้ทรงเลื่อมใส ซึ่งพระตถาคตก็ได้ทรงเลื่อมใสบุคคลเหล่านั้น การอนุโมทนาว่า “สาธุ” ฉันนั้น

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ศิษย์ถือเอาบิณฑบาตที่พระอุปัชฌาย์หามาได้นั่นแหละ น้อมเข้าไปถวายพระอุปัชฌาย์ ทำพระอุปัชฌาย์ให้ยินดี ให้พอใจ ให้เลื่อมใส ซึ่งพระอุปัชฌาย์ก็เลื่อมใสศิษย์ผู้นั้น กล่าวชื่นชมว่าดีจริง ฉันใด ขอถวายพระพร พวกเจ้าสากยะชาวเมืองจตุมาและท่านท้าวสหัมบดีพรหม ก็ได้ใช้อุปมาที่พระตถาคตได้ทรงประกาศไว้แล้วนั่นแหละ ธรรมพระตถาคตให้ทรงยินดี ให้ทรงพอพระทัย ให้ทรงเลื่อมใส ซึ่งพระตถาคตก็ได้ทรงเลื่อมใสบุคคลเหล่านั้น ตรัสอนุโมทนาว่า “สาธุ” แล้วทรงแสดงธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฉันนั้น

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบพุทธสัพพัญญุภาวปัญหาที่ ๑๐

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นพระสัพพัญญูแห่งพระพุทธเจ้าชื่อว่า พุทธสัพพัญญุภาวปัญหา.   ใน จาตุมสูตร มีเนื้อความตอนหนึ่งปรากฏอยู่อย่างนี้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสขับไล่ภิกษุจำนวนประมาณ ๕๐๐ รูป ที่มีท่านพระสารีบุตรเถระ และท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นหัวหน้านำเข้ามาเฝ้า เพราะเหตุที่ภิกษุเหล่านั้นไม่สำรวมส่งเสียงดังอื้ออึงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็จำต้องกราบทูลลากลับไป พวกเจ้าสากยะเมืองจาตุมะ และท่านท้าวมหาพรหมทรงทราบความข้อนี้แล้ว ทรงมีพระกรุณาต่อภิกษุเหล่านั้น จึงเสด็จเข้าไปทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคให้ทรงยินดี ให้ทรงอดโทษภิกษุเหล่านั้น และโปรดให้ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าเฝ้า โดยทรงแสดงอุปมาเรื่องพืชอ่อนและอุปมาเรื่องลูกโคอ่อน อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนว่า พืชที่ยังอ่อนอยู่ เมื่อไม่ได้น้ำก็จะพึงมีความผันผวน ปรวนแปรไปเสีย แม้ฉันใด ในบรรดาภิกษุเหล่านี้ ภิกษุใหม่ ซึ่งบวชได้ไม่นาน มาสู่ธรรมวินัยนี้ได้ไม่นาน ก็มีอยู่ พระเจ้าข้า ภิกษุเหล่านั้น เมื่อไม่ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็จะพึงมีจิตผันผวน ปรวนแปลไปเสียฉันนั้นเหมือนกัน พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนว่า ลูกโคที่ยังอ่อนอยู่ เมื่อมองไม่เห็นแม่ ก็จะพึงมีจิตผันผวนปรวนแปรไปเสีย แม้ฉันใด ในบรรดาภิกษุเหล่านี้ภิกษุใหม่ซึ่งบวชได้ไม่นาน มาสู่ธรรมวินัยนี้ได้ไม่นาน ก็มีอยู่พระเจ้าข้า ภิกษุเหล่านั้น เมื่อไม่ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็จะพึงมีจิตผันผวนปรวนแปรไปเสีย ฉันนั้นเหมือนกัน พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอจงทรงยินดี จงชื่นชมภิกษุสงฆ์เถิด พระเจ้าข้า ขอจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในเวลานี้เหมือนอย่างที่ทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ก่อนหน้านี้ เธอ พระเจ้าข้า ดังนี้ อุปมาทั้ง ๒ นี้ บุคคลเหล่านั้นได้สดับจากพระผู้มีพระภาคมาก่อน.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐.   จบสัพพัญญุตญาณวรรคที่ ๔  ในวรรคนี้มี ๑๐ ปัญหา.   จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๓๖

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: