วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

อนุสาสิกชาตกํ - ว่าด้วยดีแต่สอนผู้อื่น

อนุสาสิกชาตกํ - ว่าด้วยดีแต่สอนผู้อื่น

"ยายญฺญ   มนุสาสติ,       สยํ โลลุปฺปจารินี;

สายํ  วิปกฺขิกา  เสติ,        หตา  จกฺเกน  สาสิกาติ ฯ

นางนกสาลิกาตัวใด สั่งสอนนกตัวอื่นอยู่เนืองๆ ตัวเองมีปกติเที่ยวไปด้วยละโมบ นางนกสาลิกาตัวนั้นถูกล้อบดแล้วมีปีกหักนอนอยู่."

อนุสาสิกชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุณีผู้ชอบพร่ำสอนรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยายญฺญมนุสาสติ ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุณีนั้นเป็นกุลธิดานางหนึ่ง ชาวพระนครสาวัตถีบวชแล้ว ตั้งแต่กาลที่ตนบวชแล้ว ก็มิได้ใส่ใจในสมณธรรมติดใจในอามิส เที่ยวไปบิณฑบาตในเอกเทศแห่งพระนคร ที่ ภิกษุณีอื่น ๆไม่พากันไป

ครั้งนั้น พวกมนุษย์พากันถวายบิณฑบาตอันประณีตแก่เธอ เธอถูกความอยากในรสผูกพันไว้คิดว่า „ถ้าภิกษุณีอื่น ๆจักเที่ยวบิณฑบาตในประเทศนี้ ลาภของเราจักเสื่อมถอย, เราควรกระทำให้ภิกษุณีอื่น ๆ ไม่มาถึง ประเทศนี้ ดังนี้แล้ว ไปสู่สำนักของนางภิกษุณีทั้งหลาย พร่ำสั่งสอนนางภิกษุณีทั้งหลายว่า „ดูก่อนแม่เจ้าทั้งหลาย ในที่ตรงโน้นมีช้างดุ มีม้าดุ มีสุนัขดุ ท่องเที่ยวอยู่ เป็นสถานที่มีอันตรายรอบด้าน แม้คุณทั้งหลายอย่าไปเที่ยวบิณฑบาตในที่นั้นเลย“.

หลังฟังคำของเธอแล้ว แมัภิกษุณีสักรูปหนึ่ง ก็ไม่เหลียวคอมองดู ประเทศนั้น.    ครั้นวันหนึ่ง ขณะที่เธอกำลังเที่ยวบิณฑบาต เข้าไปสู่เรือนหลังหนึ่งโดยเร็ว แพะดุชนเอากระดูกขาหัก.   พวกมนุษย์รีบเข้าไปตรวจดู ประสานกระดูกขาที่หักสองท่อนให้ติดกันแล้วหามเธอด้วยเตียง นำไปสู่สำนักภิกษุณี.   พวกภิกษุณีพากันหัวเราะเยาะว่า „ภิกษุณีรูปนี้ชอบพร่ำสอนภิกษุณีรูปอื่น ๆ ตนเองกลับเที่ยวไปในประเทศนั้น จนขาหักกลับมา“ ด้วยเหตุที่เธอกระทำแม้นั้น ก็ปรากฏในหมู่ภิกษุไม่ช้านัก

ครั้นวันหนึ่งพวกภิกษุพากันกล่าวโทษของเธอในธรรมสภาว่า „ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุณีผู้ชอบสอน พร่ำสอนภิกษุณีอื่น ๆตนเองเที่ยวไปในประเทศนั้น ถูกแพะดุชนเอากระดูกหัก“

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ?“ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว.   ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุณีนั้น ก็เอาแต่สั่งสอนคนอื่น ๆ แต่ตนเองไม่ประพฤติ ต้องเสวยทุกข์ตลอดกาลเป็นนิตย์ทีเดียว“ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีต มาสาธกดังนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกป่า เจริญวัยแล้วได้เป็นจ่าฝูงนก มีนกหลายร้อยเป็นบริวาร เข้าไปสู่ป่าหิมพานต์.    ในกาลที่พระโพธิสัตว์อยู่ในป่าหิมพานต์นั้น นางนกจัณฑาลตัวหนึ่งไปสู่หนทางในดงดึก๑ หาอาหารกิน นางได้เมล็ด-ข้าวเปลือกและถั่วเป็นต้น ที่หล่นตกจากเกวียนในที่นั้นแล้วคิดว่า „บัดนี้เราต้องหาวิธีทำให้พวกนกเหล่าอื่นไม่ไปสู่ประเทศนี้“ ดังนี้แล้ว ให้โอวาทแก่ฝูงนกว่า „ขึ้นชื่อว่าทางใหญ่ในดงดึก เป็นทางมีภัยเฉพาะหน้า ฝูงสัตว์เป็นต้นว่า ช้าง ม้าและยวดยานที่เทียมด้วยโคดุ ๆ ย่อมผ่านไปมา ถ้าไม่สามารถจะโผบินขึ้นได้รวดเร็ว ก็ไม่ควรไปในที่นั้น“

ฝูงนกตั้งชื่อให้นางว่า แม่อนุสาสิกา, วันหนึ่งนางกำลังเที่ยวไปในทางใหญ่ในดงดึกได้ยินเสียงยานแล่นมาด้วยความเร็วอย่างยิ่ง ก็เหลียวมองดู โดยคิดว่า „ยังอยู่ไกล“ คงเที่ยวเรื่อยไป.   ครั้งนั้น ยานก็พลันถึงตัวนาง ด้วยความเร็วปานลมพัด นางไม่อาจโผบินขึ้นได้ทัน ล้อทับร่างผ่านไป.    นกผู้เป็นจ่าฝูง เรียกประชุมฝูงนก ไม่เห็นนางก็กล่าวว่า „นางอนุสาสิกาไม่ปรากฏ พวกเจ้าจงค้นหานาง“.    ฝูงนกพากันค้นหาเห็นนางแยกออกเป็นสองเสียงที่ทางใหญ่ ก็พากันแจ้งแก่จ่าฝูงจ่าฝูงกล่าวว่า „นางห้ามนกอื่น ๆแต่ตนเองเที่ยวไปในที่นั้น จึงแยกออกเป็นสองเสี่ยง“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-

 „นางนกสาลิกาตัวใด สั่งสอนนกตัวอื่นอยู่เนือง ๆ ตัวเองมีปกติเที่ยวได้ด้วยความละโมภ นางนกสาลิกาตัวนั้นถูกล้อบดแล้ว มีปีกหักนอนอยู่.“

บรรดาบทเหล่านั้น   ย   อักษรในบทว่า   ยายญฺญมนุสาสติ    ทำการเชื่อมบท ความก็ว่า นางนกสาลิกาใดเล่า สั่งสอนผู้อื่น.      บทว่า    สยํ   โลลุปฺปจารินี   ความว่า เป็นผู้มีปกติเที่ยวคนองไปด้วยตน.      บทว่า       สายํ    วิปกฺขิกา  เสติ  ความว่า นกตัวนั้น คือ นางสาลิกาตัวนี้ มีขนปีกกระจัดกระจายนอนอยู่ที่ทางใหญ่.   บทว่า     หตา   จกฺเกน   สาสิกา   ความว่า นางนกสาสิกาถูกล้อยานทับตาย.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า นางนกสาลิกาในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุณีอนุสาสิกาในครั้งนี้ ส่วนนกจ่าฝูงได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. 

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: