วันอาสาฬหบูชา๒๕๖๔ ประวัติ และความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
สำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน คงทราบกันดีว่า ทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี จะตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกหนึ่งวัน นั่นคือ "วันอาสาฬหบูชา" ซึ่งในปี ๒๕๖๔ วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม (ขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๘) แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบความเป็นมาเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชาเท่าใดนัก ดังนั้น วันนี้เรามี ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา มาฝากกัน
วันอาสาฬหบูชา คือ การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ คือเดือน ๘ ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองหน ก็ให้นับเอาเป็นเดือนแปดหลัง วันอาสาฬหบูชานั้น จัดว่าเป็นวันที่มีความสำคัญกับพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง นั่นก็คือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรกัปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ณ โคนต้นโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงเสวยวิมุตติสุข พิจารณาธรรมต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว มี ปัจจยาการ ๑๒ หรือปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น ตลอดจนพิจารณาถึงเหล่าเวไนยสัตว์ซึ่งเปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า สิ้น ๗ สัปดาห์ ทรงเสด็จมาสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นสถานที่อยู่บำเพ็ญเพียรของฤษี ๕ ท่าน คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ก่อนวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ๑ วัน พอรุ่งเช้าเพ็ญเดือนอาสาฬหะ พระองค่ก็ได้ทรงแสดงธรรมจักรกัปวัตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ ในท้ายที่สุดแห่งการแสดงธรรม ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหัวหน้าปัญจวัคคีย์ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ก็ได้ทรงประทานการบวชให้ด้วยพระดำรัสว่า
“เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเราตรัสดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำให้ถึงซึ่งที่สุดแห่งทุกข์เถิด” ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ก็ได้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาองค์แรก…ฯ
ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
เมื่อกล่าวถึงพุทธศาสนา องค์ประกอบสำคัญจะมีอยู่ด้วยกัน ๓ อย่าง คือ ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. พระธรรม ๓. พระสงฆ์ สาวก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ปรากฏเกิดขึ้นในโลกนี้ เมื่อวันเพ็ญเดือน วิสาขะ ก่อนพุทธศก 45 ปี อย่างที่ทราบกันดีว่าวันนั้น เป็นวันตรัสรู้ ความที่เจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นไปในส่วนอันเป็นประโยชน์ของพระองค์ หมายความว่า พระองค์ได้ทรงถึงจุดสูงสุดหรือได้บรรลุธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสวงหาแล้ว ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าหรือข้อปฏบัติอื่นยิ่งกว่าที่พระองค์จะต้องแสวงหาหรือต้องปฏิบัติต่อไปอีก แต่ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือความได้ตรัสรู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิได้มีใครทีจะล่วงรู้ได้ รู้ได้เฉพาะพระองค์เองเท่านั้น (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ) แม้จะบอกใคร ก็คงจะไม่มีใครเชื่อ หรือแม้จะมีคนเชื่อ ก็เชื่อตามคำบอกเล่าเท่านั้น มิได้มีความรู้และเข้าใจว่า การตรัสรู้เป็นอย่างไร การได้บรรลุความเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไรอย่างแท้จริง ประดุจบุคคลที่ไม่เคยได้ลิ้มรสหวาน ก็จะไม่รู้ว่ารสหวานเป็นเช่นใด
ดังนั้น การจะประกาศพระองค์ว่า ได้บรรลุโมกขธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะต้องมีสิ่งที่มาเชื่อมความเชื่อของบุคคล ให้เป็นความเชื่อที่ถูกต้องและหมดความสงสัย นั่นก็คือ การทำให้บุคคลหรือเวไนยสัตว์ได้บรรลุโมกขธรรมดังที่พระองค์ได้บรรลุแล้วนั้น. ดังนั้นการแสดงธรรม หรือการแสดงวิธีการ ตลอดจนถึงกระบวนการที่ทำให้พระองค์ได้บรรลุโมกขธรรมแก่เวไนยสัตว์ทั่วไป จึงเป็นสิ่งสำคัญทีสุด. ธรรมะที่พระองค์ได้แสดง และการได้บรรลุของบุคคลผู้ฟังธรรมเท่านั้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์ ได้อย่างถูกต้องที่สุด และบุคคลผู้ได้บรรลุธรรม จะมีความเชื่อความเลื่อมใสในพระองค์โดยปราศจากธุลีความสงสัยโดยประการทั้งปวง พระอริยบุคคลขั้นต้น จนถึงพระอรหันตสาวกผู้ได้บรรลุธรรมแล้วนั่นเอง จะเป็นผู้รับรองว่า “ท่านผู้นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านผู้นี้เป็นศาสดาของเรา” ดังนั้น การแสดงธรรมของพระพุทธองค์ จึงเป็นสิ่งสำคัญทีสุด ในการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธศาสนา อันมีองค์ประกอบ ๓ ประการอย่างทีกล่าวแล้ว
พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ปฐมเทศนา ที่ทรงแสดงนั้น ทรงแสดงส่วนสุด ๒ อย่าง อันบรรพชิต ไม่ ค ว ร เ ส พ คือ กามสุขัลลิกานุโยค : การประกอบตนให้ พั ว พั น ด้วยสุขในกาม อันเป็น ส่ ว น สุ ด ข้า ง หย่อน ๑. อัตตกิลมถานุโยค : การประกอบความเ ห น็ ด เ ห นื่ อ ย แก่ ตนเปล่า อันเป็น ส่ ว น สุ ด ข้า ง ตึ ง ๑.
ทรงแสดง มัชฌิมาปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฐิ : ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ : ความดำริชอบ สัมมาวาจา : วาจาชอบ สัมมากัมมันตะ : การงานชอบ สัมมาอาชีวะ : ความเลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ : ความเพียรชอบ สัมมาสติ : ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ : จิตตั้งมั่นชอบ
ทรงแสดง อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์, สมุทัย ตัณหา ๓ เป็นเหตุแห่งทุกข์, นิโรธ ความดับทุกข์ (ดับตัณหา ๓), มรรค ทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่หนทางแห่งความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘. อริยสัจ ๔ ที่ทรงตรัสรู้นั้น ทรงตรัสเป็นพระบาลีว่า “ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ” ธรรมที่เราไม่เคยฟังมาก่อน นั่นคือ ทรงยืนยันว่า อริยสัจ ๔ ที่ทรงตรัสรู้นั้น ทรงรู้โดยองค์เอง (ไม่มีใครสอนมาก่อน) ทรงแสดง กิจที่พึงทำในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เป็นปริญเญยยะ ควรกำหนดรู้, สมุทัย เป็นปหาตัพพะ ควรละ, นิโรธ เป็นสัจฉิกาตัพพะ ควรกระทำให้แจ้ง, มรรค เป็นภาเวตัพพะ ควรเจริญ เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังตรัสพระธรรมเทศนานี้อยู่ ธรรมจักษุ คือ ดวงตา คือปัญญาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา” ท่านโกณทัญญะได้บรรลุโลกุตตรธรรมเป็นปฐมสาวก เป็นพยานความตรัสรู้ของพระศาสดา เป็นอันว่าทรงยังความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สำเร็จบริบูรณ์ ด้วยเทศนาโปรดให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ในกาลนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่าท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” เพราะอาศัยพระอุทานว่า “อญฺญาสิ” ที่แปลว่า “ได้รู้แล้ว” คำว่า อญฺญาโกณฺฑัญฺโญ จึงได้เป็นนามของท่านโกณฑัญญะตั้งแต่กาลนั้นมา
การปฏิบัติตน ในวันอาสาฬหบูชา
พุทธศาสนิกชนทั่วไป ผู้ประกอบด้วยความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อยึดถึอพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวันสำคัญในทางพุทธศาสนาวันใดวันหนึ่ง หรือจะเป็นวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ วันใด ๆ ก็ตาม การปฏบัติตามหลักคำสอนของทางพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชน ควรทำเป็นที่สุด โดยไม่ต้องเลือกวัน แต่เอาละ เมื่อวันสำคัญซึ่งจะต้องมีพิธีกรรมอันเป็นพิเศษมาถึง เราซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน ก็ควรจะปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย นั่น ก็คือ -การทำบุญในลักษณะต่าง ๆ มี การให้ทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา เป็นต้น -การเวียนเทียนในสถานที่อันเป็นเครื่องแสดงออกทางพระพุทธศาสนา มี วัด หรือรอบพระอุโบสถ เป็นต้น -การฟังธรรมเทศนา -การแสดงออกถึงการบูชาในลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางกาย วาจา และใจ หยุดอบายมุข การละเล่นต่าง ๆ อันเป็นเครื่องทำให้จิตเศร้าหมอง เพียงเท่านี้ ก็ได้ชื่อว่า เป็นการปฏิบัติบูชาในวันอาสาฬหบูชา ฯ
ที่มา: http://dhamma.serichon.us/
0 comments: