วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๗)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๗) วรรคที่ ๕, สันถววรรค ปัญหาที่ ๑ สันถวปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า

"สนฺถวาโต  ภยํ  ชาตํ,     นิเกตา  ชายเต  รโช;

อนิเกตมสนฺถวํ,                เอตํ  เว  มุนิทสฺสนํ."  (ขุ.สุ. ๒๕/๔๐๘

ภัยเกิดจากสันถวะ (ความคุ้นเคยกัน) ธุลีเกิดจากบ้าน ธรรมอันหาบ้านมิได้ หาสันถวะมิได้นี้ ผู้เป็นมุนีเห็นแล้ว แล ดังนี้ 

และผู้มีพระภาคยังตรัสไว้อีกว่า   

"วิหาเร  การเย  รมฺเม    วาสเยตฺถ  พหุสฺสุเต"  (วิ.จุ. ๗/๘๙)  พึงให้สร้างวิหาร (ที่อยู่) ที่น่ารื่นรมย์ ให้เป็นที่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ได้อยู่อาศัย ดังนี้

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระตถาคตตรัสว่า ภัยเกิดจากสันถวะ, ธุลีเกิดจากบ้าน ธรรมอันหาบ้านมิได้ หาสันถวะมิได้ นี้ ผู้เป็นมุนีเห็นแล้ว แล ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า พึงให้สร้างวิหารที่น่ารื่นรมย์ ให้เป็นที่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ได้อยู่อาศัย ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า พระตถาคตตรัสว่า พึงให้สร้างวิหารที่น่ารื่นรมย์ ให้เป็นที่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ได้อยู่อาศัย ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า ภัยเกิดจากสันถวะ, ธุลีเกิดจากบ้าน ธรรมอันหาบ้านมิได้ หาสันถวะมิได้ นี้ ผู้เป็นมุนีเห็นแล้ว แล ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ภัยเกิดจากสันถวะ, ธุลีเกิดจากบ้าน ธรรมอันหาบ้านมิได้ หาสันถวะมิได้ นี้ ผู้เป็นมุนีเห็นแล้ว แล ดังนี้ จริง และตรัสไว้อีกว่า พึงให้สร้างวิหารที่น่ารื่นรมย์ ให้เป็นที่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ได้อยู่อาศัย ดังนี้จริง ขอถวายพระพร คำที่ตรัสไว้ว่า ภัยเกิดจากสันถวะ, ธุลีเกิดจากบ้าน ธรรมอันหาบ้านมิได้ หาสันถวะมิได้ นี้ ผู้เป็นมุนีเห็นแล้ว แล ดังนี้ ใด คำนั้นเป็นคำพูดไปตามสภาวะ เป็นคำพูดที่หาส่วนเหลือมิได้ เป็นคำพูดที่ไม่มีส่วนเหลือ เป็นคำพูดโดยนิปริยาย เป็นคำพูดที่เหมาะแก่สมณะ เป็นคำพูดที่ควรแก่สมณะ เป็นคำพูดที่ใช้เฉพาะสมณะ เป็นอารมณ์ของสมณะเป็นปฏิปทาสำหรับสมณะ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับสมณะ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า สัตว์ป่าผู้ท่องเที่ยวไปในป่าทึบย่อมเป็นผู้ปราศจากที่อยู่ ไม่มีบ้าน อาศัยอยู่ตามที่เท่าที่ต้องการ ฉันใด ขอถวายพระพร ผู้เป็นภิกษุก็ควรคำนึงว่า ภัยเกิดจากสันถวะ ธุลีเกิดจากบ้าน ธรรมอันหาบ้านมิได้ หาสันถวะมิได้ พระผู้เป็นจอมมุนีทรงเห็นแล้ว ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร ส่วนคำที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ว่า พึงให้สร้างวิหารที่น่ารื่นรมย์ ให้เป็นที่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตทั้งหลายได้อยู่อาศัย ดังนี้ ใด พระผู้มีพระภาคตรัสคำนั้น เพราะทรงเล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ อย่าง อำนาจประโยชน์ ๒ อย่างอะไรบ้าง ? ขึ้นชื่อว่า การให้วิหาร พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงยกย่อง ทรงเห็นชอบ ทรงชมเชย ทรงสรรเสริญ บุคคลเหล่านั้นให้วิหารเป็นทานแล้ว จะหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ ได้ นี้ เป็นอานิสงส์ข้อแรกในการให้วิหารก่อน

ยังมีอีกข้อหนึ่ง เมื่อมีวิหาร ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลาย ก็จะเป็นผู้ที่ใครๆ สังเกตเห็นได้ดี ผู้ที่ต้องการจะพบเห็น ก็พบเห็นได้ง่าย เมื่อไม่มีที่อยู่ ก็จะเป็นผู้ที่เขาพบเห็นได้ยาก นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ในการให้วิหาร พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงเล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ อย่างนี้ จึงตรัสว่า พึงให้สร้างวิหารที่น่ารื่นรมย์ ให้เป็นที่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตทั้งหลาย ได้อยู่อาศัยดังนี้ ภิกษุผู้เป็นพุทธบุตร ไม่พึงทำความอาลัยในที่อยู่.   

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบสันถวปัญหาที่ ๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑

ปัญหาเกี่ยวกับสันถวะ (ความคุ้นเคย, ความใกล้ชิดสนิทสนม) ชื่อว่า สันถวปัญหา.    เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้ง ในพระคาถาที่ว่า “สนฺถวโต ภยํ ชาตํ” เป็นต้นนี้ พึงทราบความเป็นมาแห่งพระคาถา ตามที่พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ ในอรรถกถา มุนิสูตร ซึ่งเป็นสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสพระคาถานี้.  

มีหญิงม่ายยากจนผู้หนึ่ง ได้ให้บุตรบวชเป็นภิกษุ แม้ตนเองก็ไปบวชเป็นภิกษุณี คนทั้ง ๒ อยู่จำพรรษาที่เมืองสาวัตถี ต้องการแต่จะได้พบเห็นกันอยู่บ่อยๆ ผู้เป็นมารดาได้อะไรๆ มา ก็นำไปให้บุตร ผู้เป็นบุตร ได้อะไรๆ มา ก็นำไปให้มารดา คนทั้ง ๒ ได้พบกัน ทั้งตอนเช้า ทั้งตอนเย็น แบ่งปันของที่ได้มา ชื่นชมกัน ถามไถ่สุข ทุกข์กัน หาความกระดากใจมิได้ เมื่อมีความคลุกคลีด้วยการพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ อย่างนี้ ราคะก็ย่อมได้ช่อง เมื่อทั้ง ๒ มีจิตชุ่มด้วยราคะแล้ว ความสำคัญว่าตนเป็นนักบวช ทั้งความสำคัญว่าเรามารดา เขาบุตร เราบุตร เขามารดา ก็เลือนหายไป ต่อจากนั้นไป ก็กล้าประพฤติเกินเลยขอบเขต ส้องเสพอสัทธรรม เมื่อทำอย่างนี้ ก็ประสบความอัปยศ ไม่อาจดำรงอยู่ในเพศนักบวชได้ต่อไปอีก จึงเวียนกลับไปอยู่ในเพศฆราวาสตามเดิม ภิกษุทั้งหลายที่ทราบความ ได้กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิอย่างนี้ว่า

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกโมฆบุรุษจะรู้ได้หรือ ว่ามารดาจะกำหนัดยินดีในบุตรไม่ได้ หรือว่าบุตรก็กำหนัดยินดีในมารดาไม่ได้ ดังนี้แล้วก็ทรงทำให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดความสลดใจด้วยสูตรอื่นๆ ครั้นแล้วก็ตรัสพระสูตรที่มีคาถานี้ เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นสำเหนียกถึงภัยอันเกิดแต่ความคุ้นเคยนั้น เป็นต้น

ในคำเหล่านั้น คำว่า ภัย ได้แก่ ภัย คือกิเลสที่มีกำลังที่เป็นเหตุให้แม้ผู้เป็นมารดา เป็นบุตรกัน ก็ยังประพฤติต่อกันเกินเลยขอบเขตได้ หรือว่าภัยใหญ่ หรือการถูกผู้อื่นติเตียน และการที่แม้ตนก็ติดเตียนตนเองได้.   คำว่า จากสันถวะ คือจากความคุ้นเคยกัน ก็ธรรมที่สร้างความคุ้นเคยนั้นมี ๓ อย่าง   คือตัณหา อันได้แก่ความปรารถนาจะพบเห็นกัน อยู่บ่อยๆ เป็นต้น ๑,  ทิฏฐิ อันได้แก่ความเห็นที่เสมอกัน สอดคล้องต้องกัน ๑,  ความเป็นมิตร ๑,

ในที่นี้ ประสงค์เอา ๒ อย่างคือตัณหาและทิฏฐิ ได้แก่ จากความคุ้นเคยด้วยอำนาจแห่งธรรม ๒ อย่างนี้.  คำว่า ธุลี ได้แก่ ธุลีคือราคะ, ธุลีคือโทสะ, ธุลีคือโมหะ.  คำว่า เกิดจากบ้าน ความว่า ประเภท แห่งอารมณ์ทั้งหลาย อันเป็นนิมิต คือ เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งกิเลส มีรูปนิมิต (นิมิตคือรูปที่เห็นทางตา) เป็นต้น เรียกว่า นิเกตะ ซึ่งแปลว่า “บ้าน” เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่อาศัย คือเป็นที่เกิดแห่งกิเลสนั้นนั่นแหละ ได้แก่ เกิดจากประเภทแห่งอารมณ์เหล่านั้น อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ เกิดจากบ้าน คือที่อยู่อาศัยนั่นแหละ เพราะเป็นสถานที่ที่มีอารมณ์หลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นแดนเกิดแห่งธุลี มีราคะเป็นต้น เหล่านั้น.   คำว่า ธรรมอันหาบ้านมิได้ หาสันถวะมิได้ ได้แก่พระนิพพาน ซึ่งชื่อว่า อนิเกตะ – หาบ้านมิได้ ก็เพราะหาความเป็นที่อยู่อาศัยแห่งกิเลสมิได้ และชื่อว่า อสันถวะ – หาสันถวะมิได้ ก็เพราะหาตัณหาเป็นต้นที่สร้างความคุ้นเคยมิได้.    คำว่า ผู้เป็นมุนีเห็นแล้ว ความว่า พระนิพพานที่ชื่อว่าหาบ้านมิได้ หาสันถวะมิได้ นี้ ท่านผู้เป็นมุนี คือพระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว.   คำว่า พึงให้สร้างวิหารที่น่ารื่นรมย์ เป็นต้น เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสอนุโมทนาแก่ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี ผู้ทูลขอรับสั่งแนะนำเกี่ยวกับการทะนุบำรุงพระเชตวันมหาวิหารต่อพระตถาคต.   คำว่า เป็นคำพูดไปตามสภาวะ คือเป็นคำพูดตามสภาวะความเป็นจริงที่เป็นไปอยู่ ความว่า คำว่า ภัยเกิดจากสันถวะ เป็นต้น เป็นคำที่เหมาะแก่สมณะผู้ต้องการพ้นจากภัย คือ กิเลสมีกำลังเป็นต้น ผู้ต้องการมีจิตไม่มัวหมองไป เพราะธุลี มีราคะเป็นต้น ส่วนคำว่า พึงให้สร้างวิหาร เป็นคำที่เหมาะสมแก่คฤหัสถ์ผู้มีปกติต้องการบุญ ต้องการอานิสงส์แห่งการกระทำ.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑

ปัญหาที่ ๒ อุทรสังยตปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า

“อุตฺติฏฺเฐ  นปฺปมชฺเชยฺย,  อุทเรสํยโต สิยา.” (ขุ.ธ. ๒๕/๕๐) ไม่ควรประมาทในบิณฑบาตที่เพียรหามาได้ ควรเป็นผู้สำรวมในท้อง  ดังนี้ 

และพระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสไว้อีกว่า  

“อหํ  โข   ปนุทายิ   อปฺเปกทา   อิมินา   ปตฺเตน   สมติตฺติกมฺปิ   ภุญฺชามิ,  ภิยฺโยปิ  ภุญฺชามิ.”  (ม.ม. ๑๓/๒๙๒-๓)   นี่แน่ะ ท่านอุทายี บางคราว เราฉันบิณฑบาตรเต็มเสมอขอบปากบาตรนี้ บ้าง,  บางคราวก็ฉันยิ่งกว่านี้ บ้าง ดังนี้

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ควรประมาทในบิณฑบาตที่เพียรหามาได้ ควรเป็นผู้สำรวมในท้อง ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า นี่แน่ะ ท่านอุทายี บางคราว เราฉันบิณฑบาตรเต็มเสมอขอบปากบาตรนี้ บ้าง บางคราวก็ฉันยิ่งกว่านี้ บ้าง ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากพระตถาคตตรัสว่า นี่แน่ะ ท่านอุทายี บางคราว เราฉันบิณฑบาตรเต็มเสมอขอบปากบาตรนี้ บ้าง บางคราวก็ฉันยิ่งกว่านี้ บ้าง ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า ไม่ควรประมาทในบิณฑบาตที่เพียรหามาได้ ควรเป็นผู้สำรวมในท้อง ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ไม่ควรประมาทในบิณฑบาตที่เพียรหามาได้ ควรเป็นผู้สำรวมในท้อง ดังนี้ จริง และยังตรัสไว้อีกว่า นี่แน่ะ ท่านอุทายี บางคราว เราฉันบิณฑบาตรเต็มเสมอขอบปากบาตรนี้ บ้าง บางคราวก็ฉันยิ่งกว่า บ้าง ดังนี้ จริง.   ขอถวายพระพร คำที่กล่าวไว้ว่า ไม่ควรประมาทในบิณฑบาตที่เพียรหามาได้ ควรเป็นผู้สำรวมในท้อง ดังนี้ ใด คำนั้นเป็นคำที่ตรัสไปตามสภาวะ เป็นคำพูดที่หาส่วนเหลือมิได้ เป็นคำพูดที่ไม่มีส่วนเหลือ เป็นคำพูดโดยนิปริยาย เป็นคำจริง เป็นคำแท้ เป็นคำกล่าวไปตามความเป็นจริง เป็นคำพูดที่ไม่วิปริต เป็นคำพูดของท่านผู้เป็นฤาษี เป็นคำพูดของท่านผู้เป็นมุนี เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค เป็นคำของพระอรหันต์ เป็นคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นคำตรัสของพระชินเจ้า เป็นคำตรัสของพระสัพพัญญู เป็นพระดำรัสของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขอถวายพระพร บุคคลผู้ไม่สำรวมในท้อง ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมถือเอาของที่เขามิได้ให้บ้าง ย่อมคบหาภรรยาของผู้อื่นบ้าง ย่อมกล่าวคำเท็จบ้าง ย่อมดื่มน้ำเมาบ้าง ย่อมปลงชีวิตมารดาบ้าง ย่อมปลงชีวิตบิดาบ้าง ย่อมปลงชีวิตพระอรหันต์บ้าง ย่อมยุยงสงฆ์ให้แตกกันบ้าง ย่อมเป็นผู้มีจิตประทุษร้าย ทำพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้นบ้าง ขอถวายพระพร พระเทวทัตเป็นผู้ไม่สำรวมในท้อง มิใช่หรือ จึงยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน พยายามทำกรรมที่มีผลตั้งอยู่ได้ตลอดกัป ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นเหตุการณ์หลายอย่าง เห็นปานฉะนี้ ทั้งอย่างอื่นๆด้วย จึงตรัสไว้ว่า ไม่ควรประมาทในบิณฑบาตที่เพียรหามาได้ ควรเป็นผู้สำรวมในท้อง ดังนี้

ขอถวายพระพร บุคคลผู้สำรวมในท้อง ย่อมตรัสรู้ธรรมที่ควรตรัสรู้ คือ สัจจะ ๔ ได้, ย่อมกระทำสามัญผล ๔ ให้แจ้งได้, ย่อมบรรลุวสีภาวะในปฏิสัมภิทา ๔ ในสมาบัติ ๘ ในอภิญญา ๖ ได้ ทั้งยังทำสมณธรรมทั้งสิ้น ให้เต็มเปี่ยมได้.   ขอถวายพระพร นกแขกเต้าเป็นผู้สำรวมในท้องมิใช่หรือ จึงทำโลกธาตุให้หวั่นไหวไปตลอดถึงภพดาวดึงส์ได้ ทำให้ท้าวสักกะจอมเทพต้องเสด็จลงมาทะนุบํารุง ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นเหตุการณ์หลายอย่าง เห็นปานฉะนี้ ทั้งอย่างอื่นๆด้วย จึงตรัสไว้ว่า ไม่ควรประมาทในบิณฑบาตที่เพียรหามาได้ ควรเป็นผู้สำรวมในท้อง ดังนี้.   ขอถวายพระพร ส่วนคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า นี่แน่ะ ท่านอุทายี บางคราว เราฉันบิณฑบาตรเต็มเสมอขอบปากบาตรนี้ บ้าง บางคราวก็ฉันยิ่งกว่านี้ บ้าง ดังนี้ ใด คำนั้น พระตถาคตผู้ทรงทำกิจเสร็จแล้ว ผู้สิ้นสุดกิจที่ควรทำแล้ว ผู้สำเร็จประโยชน์แล้ว ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ผู้หาธรรมเครื่องกางกั้นมิได้ ผู้เป็นพระสัพพัญญู เป็นผู้พระสยัมภู ตรัสหมายเอาพระองค์เองเท่านั้น

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าสำหรับผู้ที่เป็นโรคเอาแต่อาเจียน เอาแต่ถ่าย เป็นไข้อยู่ ก็จำปรารถนาหยูกยามาทำให้สบายหายจากโรค ฉันใด ขอถวายพระพร สำหรับผู้ที่มีกิเลสยังไม่เห็นสัจธรรม ก็ย่อมมีอันต้องทำความสำรวมในท้อง (เพื่อทำให้สบายหายจากโรค คือกิเลส) ฉันนั้น ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า สำหรับแก้วมณีที่มีแสงรุ่งเรืองมีค่าบริสุทธิ์ เป็นอภิชาติอยู่แล้ว ก็หามีอันต้องทำกิจโดยการขัดสีเจียระไนให้บริสุทธิ์ ไม่ ฉันใด ขอถวายพระพร สำหรับพระตถาคตผู้บรรลุพระบารมีในพุทธวิสัยแล้ว หาทรงมีอันต้องคอยสำรวมระวังในการกระทำกิจที่ควรทำทั้งหลายไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้ายอมรับคำที่ท่านกล่าวมานี้.  จบอุทรสังยตปัญหาที่ ๒

คำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นผู้สำรวมในท้องชื่อว่า อุทรสังยตปัญหา.    คำว่า ไม่ควรประมาทในบิณฑบาตที่เพียรหามาได้ ความว่า ภิกษุเมื่อละเลยวัตรปฏิบัติที่ควรทำเกี่ยวกับการเที่ยวบิณฑบาต มุ่งแต่จะแสวงหาของกินที่ปราณีต ที่ตนเข้าไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของผู้อื่น แล้วรับเอามา ชื่อว่ามีความประมาทในบิณฑบาตที่เพียรหามาได้ ไม่ควรมีความประมาทที่เป็นเช่นนี้.   คำว่า พึงเป็นผู้สำรวมในท้อง ความว่า เมื่อแสวงหาอาหาร ก็ไม่มุ่งแสวงหาแต่ที่ประณีต ยินดีในอาหารเท่าที่มี เท่าที่ได้มา ได้มาแล้วก็บริโภคเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้เท่านั้นเป็นต้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้สำรวมในท้อง.    คำว่า นี่แน่ะ ท่านอุทายี บางคราวเราฉันบิณฑบาตเสมอขอบปากบาตรนี้ บ้าง ดังนี้เป็นต้น เป็นคำที่ตรัสแก่ ปริพาชกผู้หนึ่ง ผู้มีชื่อว่า สกุลุทายี

แง่ปมที่ขัดแย้งในปัญหานี้ มีอยู่เพียงเท่านี้ คือ เมื่อตรัสแนะนำว่าควรเป็นผู้สำรวมในท้องอย่างนี้แล้ว พระองค์เองก็ไม่น่าจะเสวยพระกระยาหารตามความพอพระทัย คือบางคราวก็เสมอขอบปากบาตร คือ เต็มบาตรหนึ่งพอดี บางคราวก็ยิ่งกว่าคือเกินบาตรหนึ่ง

คำว่า บุคคลผู้ไม่สำรวมในท้อง ย่อมฆ่าสัตว์บ้างเป็นต้น เป็นคำกล่าวถึงความเป็นปัจจัยกันไปตามลำดับ จับตั้งแต่มีความไม่สำรวมในท้อง อย่างนี้ คือ เพราะไม่มีความสำรวมในท้อง ก็ย่อมบริโภคอาหารตราบเท่าที่ต้องการเสียจนเต็มท้อง เพราะบริโภคตราบเท่าที่ต้องการเสียจนเต็มท้อง ก็ย่อมเกิดความมึนซึม โงกง่วง อึดอัด เพราะเกิดความมึนซึม โงกง่วง อึดอัด ก็ย่อมปรารถนาสุขในการเอน ในการหลับ เพราะปรารถนาสุขในการเอน ในการหลับ ก็ย่อมถูกความเกียจคร้านครอบงำ ไม่ปรารถนาความเพียรในอธิกุศล เพราะไม่ปรารถนาความเพียรในอธิกุศล จิตใจไม่ได้รับการอบรม ก็ย่อมพล่านไปด้วยความดำริชั่วทั้งหลาย มีกามวิตกเป็นต้น จิตใจที่มีแต่ความดำริชั่วครอบงำ ย่อมน้อมไปเพื่อการทำกรรมชั่วทั้งหลาย มีการฆ่าสัตว์เป็นต้น ได้โดยง่าย ความว่า มีผู้ปกติประพฤติทุศีลทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้ไม่รู้จักสำรวมในท้อง ส่วนความประพฤติเป็นไปเกี่ยวกับการสำรวมในท้อง เป็นเหตุให้ตรัสรู้ธรรมได้นั้น บัณฑิตพึงทราบโดยประการตรงข้าม ความว่า แม้ชีวิตก็มีความเยื่อใยเสน่หาน้อยนัก ไม่เห็นมีสาระที่น่าปรารถนา จนถึงกับต้องคอยปรนเปรอ บริโภคอาหารตามที่ปรารถนา ทว่า บริโภคเพียงเพื่อให้กายนี้พอจะตั้งอยู่ได้ต่อไปเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น แค่ไหนจะเกิดความเยื่อใยเสน่หาในวัตถุภายนอกเสียมากมาย จนกระทั่งยอมประพฤติทุศีลทั้งหลายเล่า ก็มีแต่ว่าจะตั้งตนอยู่ในความเป็นคนมีศีลดี เท่านั้น ซึ่งข้อนั้นย่อมเป็นเหตุให้เจริญกุศลได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนแม้ตรัสรู้ธรรมเป็นต้น ได้ เพราะว่ากุศลทั้งหลาย มีศีลเป็นที่ตั้งอาศัย แล

เรื่อง นกแขกเต้าผู้สำรวมในท้อง ปรากฏอยู่ในอรรถกถาชาดก มีเรื่องว่า ในกาลที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกแขกเต้า ได้บำเพ็ญตบะโดยการอธิษฐานการอยู่ประจำ ณ สถานที่เดียว ไม่หลีกไปที่อื่น ตลอดกาลที่ได้กำหนดไว้ นกแขกเต้านั้น ได้อาศัยอาหารเท่าที่พอหาได้ ที่มีอยู่รอบๆ ตัวเท่านั้น ไม่ยอมไปแสวงหายังที่อื่นๆ แม้เมื่ออาหารนั้นหมดไปก็ยอมอดอยากอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแหละ ไม่ยอมทำลายอธิษฐาน ตบะข้อนี้ เป็นเหตุ ทำพระทัยของท่านท้าวสักกะให้หวั่นไหว จนต้องเสด็จลงมาทะนุบํารุง

ความว่า คำว่า ควรเป็นผู้สำรวมในท้อง นี้ เป็นคำตรัสไปตามสภาวะความเป็นจริง ที่เป็นสาธารณะแก่บุคคลผู้ยังไม่ตรัสรู้ธรรม เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นปัจจัยแห่งการตรัสรู้ธรรม ส่วนคำว่า บางคราวเราฉันบิณฑบาตเสมอขอบปากบาตร เป็นต้น มิได้เป็นคำตรัสเพื่อประโยชน์แก่ความเป็นปัจจัยแห่งการตรัสรู้ธรรม แห่งบุคคลผู้ยังไม่ตรัสรู้ ทว่า เป็นคำตอบที่แสดงปฏิปทาของพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้ไม่ทรงมีกิจที่ต้องทำอะไรเพื่อการตรัสรู้ธรรม ซึ่งแม้ไม่ทรงมีตัณหาความอยากในพระกระยาหารเลย โดยประการทั้งปวง ก็เสวยเต็มขอบปากบาตร บ้าง เกินบาตรหนึ่ง บ้าง ราวกับว่าเสวยตามความพอพระทัย ตราบเท่าที่ทรงต้องการ ฉะนั้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่การอนุเคราะห์เวไนยสัตว์ เพื่อประโยชน์แก่การจะทรงทำชนผู้ยังไม่เกิดศรัทธา ให้เกิดศรัทธา ทำชนผู้เกิดศรัทธาแล้ว ให้มีศรัทธาตั้งมั่นอยู่ได้ ฉะนี้ แล.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒.   จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๓๗

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: