กฏาหกชาตกํ - ว่าด้วยคนขี้โอ่
"พหุมฺปิ โส วิกตฺเถยฺย, อญฺญํ ชนปทํ คโต;
อนฺวาคนฺตฺวาน ทูเสยฺย, ภุญฺช โภเค กฏาหกาติฯ
ผู้ใดไปสู่ชนบทอื่น ผู้นั้นพึงกล่าวอวดแม้มากมาย, ดูกรกฏหกะเจ้าของเงินจะติดตามมาประทุษร้ายเอา เชิญท่านบริโภคอาหารเสียเถิด."
อรรถกถากฏาหกชาดกที่ ๕
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเขตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ่รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า พหุมฺปิ โส วิกตฺเถยฺย ดังนี้.
เรื่องของภิกษุนั้น เช่นกับเรื่องที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. แปลกแต่ว่า
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเศรษฐีผู้มีสมบัติมาก ภรรยาของท่านคลอดกุมาร แม้ทาสีของท่านก็คลอดบุตรในวันนั้นเหมือนกัน เด็กทั้งสองนั้นเติบโตมาด้วยกันทีเดียว เมื่อบุตรท่านเศรษฐีเรียนหนังสือก่อน แม้ลูกทาสของท่านก็ถือกระดานชนวนตามไป พลอยศึกษาหนังสือกับ บุตรเศรษฐีนั้นด้วยได้เขียนอ่านสองสามครั้ง
ลูกทาสนั้นก็ฉลาด ในถ้อยคำ ฉลาดในโวหารโดยลำดับ เป็นหนุ่มมีรูปงาม โดยนามชื่อ กฏาหกะ เขาทำหน้าที่เป็นเสมียนคลังพัสดุ ในเรือนของท่านเศรษฐี ดำริว่า „คนเหล่านี้คงจะไม่ใช้ให้เรากระทำหน้าที่ เป็นเสมียนคลังพัสดุตลอดไป พอเห็นโทษอะไร ๆ เข้าหน่อยก็คงจะเฆี่ยน จองจำ ทำตราเครื่องหมายแล้วก็ใช้สอยทำนองทาสต่อไป ก็ที่ชายแดนมีเศรษฐีผู้เป็นสหายของท่านเศรษฐีไปในอยู่ ถ้ากระไร เราถือหนังสือด้วยถ้อยคำของท่านเศรษฐีไปในที่นั้น บอกว่า เราเป็นลูกท่านเศรษฐี ลวงเศรษฐีนั้นแล้วขอธิดาของท่านเศรษฐีเป็นคู่ครอง พึงอยู่อย่างสบาย“
เขาถือหนังสือไปด้วยตนเอง เขียนว่า „ข้าพเจ้าส่งลูกชายของข้าพเจ้าชื่อโน้น ไปสู่สำนักของท่านขึ้นชื่อว่าความสัมพันธ์ฐานเกี่ยวดองกัน ระหว่างข้าพเจ้ากับท่านและระหว่างท่านกับข้าพเจ้า เป็นการสมควร เพราะฉะนั้น ขอท่านไปโปรดยกธิดาของท่านให้แก่ทารก นี้แล้วให้เขาอยู่ในที่นั้นแหละ แม้ข้าพเจ้าได้โอกาสแล้วจึงจะมา“ ดังนี้ เเล้วเอาตราของท่านเศรษฐีนั่นแหละประทับถือเอาเสบียงและของหอม กับผ้าเป็นต้นไปตามชอบใจ ไปสู่ปัจจันตชนบท พบท่านเศรษฐี ไหว้แล้วยืนอยู่ครั้งนั้น
ท่านเศรษฐีถามเขาว่า „มาจากไหนเล่า พ่อคุณ ?“ ตอบว่า „มาจากพระนครพาราณสี“ ถามว่า „พ่อเป็นลูกใคร ?“ ตอบว่า „เป็นบุตรของพาราณสีเศรษฐีขอรับ“ ถามว่า „มาด้วยต้องการอะไรเล่า พ่อคุณ ?" ในขณะนั้น กฏาหกะก็ให้หนังสือ พร้อมกับกล่าวว่า „ท่านดูหนังสือนี้แล้วจักทราบ“ ท่านเศรษฐีอ่านหนังสือแล้ว ดีใจว่า „คราวนี้เราจะอยู่อย่างสบายละ“ จัดแจงยกธิดาแต่งให้.
บริวารของท่านเศรษฐีมีเป็นอันมาก ในเมื่อมีผู้น้อมนำยาคูและของเคี้ยวเป็นต้นเข้าไปให้ หรือน้อมนำผ้าที่อบด้วยของหอมใหม่ ๆ เข้าไปให้ ก็ติเตียนข้าวยาคูเป็นต้นว่า „โธ่เอ๋ย คนบ้านนอก ต้มยาคูกันแบบนี้ ทำของเคี้ยวก็อย่างนี้ หุงข้าวกันแบบนี้เอง“, ติเตียนผ้าและกรรมกรเป็นต้นว่า „เพราะเป็นคนบ้านนอกนั่นเอง พวกคนเหล่านี้จึงไม่รู้จักใช้ผ้าใหม่ ๆ ไม่รู้จักอบของหอม ไม่รู้จักร้อยกรองดอกไม้.“
พระโพธิสัตว์ เมื่อไม่เห็นทาส ก็ถามว่า „กฏาหกะ เราไม่พบหน้าเลย มันไปไหน ช่วยกันตามมันทีเถิด“ ดังนี้แล้ว ใช้ให้คนเที่ยวหาโดยรอบ บรรดาคนเหล่านั้นคนหนึ่งไปที่นั้นเห็นเขาแล้วจำเขาได้ เขาไม่รู้ว่า ตนมา ไปบอกแก่พระโพธิสัตว์.
พระโพธิสัตว์ฟังเรื่องนั้นแล้วคิดว่า „มันทำไม่สมควรเลย ต้องไปจับมา“ กราบทูลพระราชา ออกจากบ้านไปด้วยบริวารเป็นอันมาก ข่าวปรากฏไปทั่วว่า ได้ยินว่า ท่านเศรษฐีไปสู่ปัจจันตชนบท. กฏาหกะฟังว่า ท่านเศรษฐีมา คิดว่า „ท่านคงไม่มาด้วยเรื่องอื่น ต้องมาด้วยเรื่องเรานั่นแหละ ก็ถ้าเราจักหนีไปเสีย จักไม่อาจกลับมาได้อีก ก็อุบายนั้นยังพอมีเราต้องไปพบกับท่านผู้เป็นนายแล้วกระทำกิจของทาส ทำให้ท่านโปรดปรานให้จนได้“
จำเดิมแต่นั้น เขากล่าวอย่างนี้ในท่ามกลางบริษัทว่า „พวกคนพาลอื่น ๆ ไม่รู้คุณของมารดาบิดา เพราะตนเป็นคนพาล ในเวลาที่ท่านบริโภค ก็ไม่กระทำความนอบน้อม บริโภครวมกับท่านเสียเลย ส่วนเราในเวลามารดาบิดาบริโภค ย่อมคอยยกสำรับเข้าไป ยกกระโถนเข้าไป ยกของบริโภคเข้าไปให้ บางทีก็หาน้ำดื่มให้ บางทีก็พัดให้ เข้าไปยืนอยู่ใกล้ ๆ“ ดังนี้แล้ว ประกาศกิจที่พวกทาสต้องกระทำแก่นายทุกอย่าง ตลอดถึงการถือกระออมน้ำไปในที่ลับในเวลาที่นายถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ. ครั้นให้บริษัทกำหนดอย่างนี้แล้ว เวลาที่พระโพธิสัตว์มาใกล้ปัจจันตชนบท ก็บอกกับเศรษฐีผู้เป็นพ่อตาว่า „คุณพ่อครับ ได้ยินว่า บิดาของผมมาเพื่อพบคุณพ่อ คุณพ่อโปรดให้เขาเตรียมขาทนียโภชนียาหารเถิดครับ ผมจักถือเอาเครื่องบรรณาการสวนทางไป" พ่อตาก็รับคำว่า „ดีแล้วพ่อ.“
กฏาหกะถือเอาบรรณาการไปเป็นอันมาก เดินทางไปพร้อมด้วยบริวารกลุ่มใหญ่ ไหว้พระโพธิสัตว์แล้วให้บรรณาการฝ่ายพระโพธิสัตว์รับบรรณาการ กระทำปฏิสันถารกับเขา ถึงเวลาบริโภคอาหารเช้า ก็ให้ตั้งกองพักแล้วเข้าไปสู่ที่ลับเพื่อถ่ายสรีรวลัญชะ กฏาหกะให้บริวารของตนกลับแล้ว ถือกระออมน้ำ ไปสำนักพระโพธิสัตว์ เมื่อเสร็จอุทกกิจแล้ว ก็หมอบที่เท้าทั้งสองกล่าวว่า „ข้าแต่ท่านผู้เป็นนาย กระผมจักให้ทรัพย์แก่ท่านเท่าที่ท่านปรารถนา โปรดอย่าให้ยศของกระผมเสื่อมไปเลย ขอรับ“
พระโพธิสัตว์เลื่อมใสในความสมบูรณ์ด้วยวัตรของเขา ปลอบโยนว่า „อย่ากลัวเลย อันตรายจากสำนักของเราไม่มีแก่เจ้าดอก“ แล้วเข้าสู่ปัจจันตนคร สักการะอย่างมากได้มีแล้วฝ่ายกฏาหกะก็กระทำกิจที่ทาสต้องทำแก่ท่านตลอดเวลา. ครั้งนั้น ปัจจันตเศรษฐีกล่าวกะพระโพธิสัตว์ผู้นั่งอย่างสบายในเวลาหนึ่งว่า „ข้าแต่ท่านเศรษฐี พอผมเห็นหนังสือของท่านเข้าเท่านั้นก็ยกบุตรสาวให้แก่บุตรของท่านทีเดียว“ พระโพธิสัตว์ก็กระทำกฏาหกะให้เป็นบุตรเหมือนกัน กล่าวถ้อยคำเป็นที่รักอันคู่ควรกันให้เศรษฐียินดีแล้ว ตั้งแต่นั้นก็ไม่มีใครสามารถมองหน้ากฏาหกะได้เลย
อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์เรียกธิดาเศรษฐีมาหากล่าวว่า „มานี่เถิดแม้คุณ ช่วยหาเหาบนศีรษะของเราหน่อยเถิด“ ดังนี้แล้ว กล่าวถ้อยคำอันเป็นที่รัก กะนางผู้มายืนหาเหาให้ถามว่า „แม่คุณ ลูกของเราไม่ประมาทในสุขทุกข์ของเจ้าดอกหรือ เจ้าทั้งสองครองรักสมัครสมานกันดีอยู่หรือ ?“ นางตอบว่า „ข้าแต่คุณพ่อมหาเศรษฐี บุตรของท่านไม่มีข้อตำหนิอย่างอื่นดอกนอกจากจะคอยจู้จี้เรื่องอาหารเท่านั้น“
ท่านเศรษฐีกล่าวว่า „แม่คุณ เจ้าลูกคนนี้ มีปกติกินยากเรื่อยมาทีเดียว, เอาเถิด พ่อจะให้มนต์สำหรับผูกปากมันไว้แก่เจ้า เจ้าจงเรียนมนต์นั้นไว้ให้ดี เมื่อลูกเราบ่นในเวลากินข้าวละก็เจ้าจงยืนกล่าวตรงหน้า ตามข้อความที่เรียนไว้“ แล้วให้นางเรียนคาถา พักอยู่สองสามวัน ก็กลับพระนครพาราณสีตามเดิม. ฝ่ายกฏาหกะ ขนขาทนีย โภชนียาหารมากมาย ตามไปส่งให้ทรัพย์เป็นอันมากแล้วกราบลากลับ ตั้งแต่เวลาที่พระโพธิสัตว์กลับไปแล้ว เขายิ่งเย่อหยิ่งมากขึ้น. วันหนึ่ง เมื่อธิดาเศรษฐีน้อมนำโภชนะมีรสเลิศต่าง ๆ เข้าไปให้ ถือทัพพีคอยปรนนิบัติอยู่ เขาเริ่มติเตียนอาหาร เศรษฐีธิดาจึงกล่าวคาถานี้ ตามทำนองที่เรียนแล้ว ในสำนักของพระโพธิสัตว์ว่า :-
„ผู้ใดไปสู่ชนบทอื่น ผู้นั้นพึงกล่าวอวด แม้มากมาย, ดูก่อนกฏาหกะ เจ้าของเงินจะติดตาม มาประทุษร้ายเอา เชิญท่านบริโภคอาหารเสียเถิด.“
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พทุมฺปิ โส วิกตฺเถยฺย อญฺญํ ชนปทํ คโต ความว่า ผู้ใดไปสู่ชนบทอื่น จากชาติภูมิของตนในที่ใดไม่มีคนรู้กำเนิดของเขา ผู้นั้นพึงจู้จี้ คือกล่าวคำข่มแม้มากก็ได้. บทว่า อนฺวาคนฺตฺวาน ทูเสยฺย ความว่า เพราะย้อนทางไปทำกิจของทาสให้แก่นายแล้ว เจ้าจึงพ้นจากการถูกเฆี่ยนด้วยหวาย อันจะถลกหนังสันหลังขึ้นและการตีตราทำเครื่องหมายทาสไปคราวหนึ่งก่อน ถ้าเจ้าขืนทำไม่ดี ในคราวหลังเขาย้อนกลับมา นายของเจ้าพึงตามประทุษร้ายได้ คือมาตามตัวถึงเรือนนี้แล้วประทุษร้ายทำลายเจ้าอีกได้ ด้วยการเฆี่ยนด้วยหวาย ด้วยการตีตราเครื่องหมายทาสและด้วยการประกาศกำเนิดก็ได้ เหตุนั้น กฏาหกะเอ๋ย เจ้าจงละความประพฤติไม่ดีนี้เสีย บริโภคโภคะทั้งหลายเถิด อย่าทำให้ความเป็นทาสของตนปรากฏแล้วเป็นผู้ต้องเดือดร้อนในภายหลังเลยนี้แลเป็นอรรถาธิบายของท่านเศรษฐี.
ส่วนธิดาเศรษฐี ไม่รู้ความหมายนั้น กล่าวได้คล่องแต่พยัญชนะ ตามข้อขอดที่เรียนมาเท่านั้น กฏาหกะคิดว่า „ท่านเศรษฐีบอกเรื่องโกงของเราแล้ว คงบอกเรื่องทั้งหมดแก่นางนี้แล้วเป็นแน่“ ตั้งแต่นั้นก็ไม่กล้าติเตียนภัตรอีก ละมานะได้ บริโภคตามมีตามได้ ไปตามยถากรรม.
พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า กฏาหกะในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุผู้มักโอ้อวด ส่วนพาราณสีเศรษฐีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. จบอรรถกถากฏาหกชาดกที่ ๕
ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: