วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระสารีบุตรทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้

พระสารีบุตรทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้

“นรชนมีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร เพิ่มพูนการทำอะไรบ้าง ? จึงชื่อว่า “พึงดำรงตนอยู่อย่างถูกต้อง และบรรลุประโยชน์สูงสุดได้”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้

(๑) นรชนควรเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ไม่ริษยา และควรรู้จักกาลที่จะเข้าไปหาครูทั้งหลาย รู้จักขณะที่จะฟังธรรมีกถาที่ท่านกล่าว และตั้งใจฟังสุภาษิตอื่นๆ จากท่านโดยเคารพ

(๒) ควรลดมานะ นบนอบอ่อนน้อม เข้าไปยังสำนักของครูตามเวลาเหมาะสม ตั้งใจระลึกถึงอรรถ ธรรม สังยมะ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งยึดถือปฏิบัติตามนั้น

(๓) ควรเป็นผู้พอใจธรรม ยินดีในธรรม ดำรงอยู่ในธรรม รู้จักพิจารณาธรรม ไม่ควรกล่าววาจาที่ประทุษร้ายธรรม ควรให้เวลาสิ้นไปกับสุภาษิตที่แท้

(๔) การละความสนุกรื่นเริง การพูดกระซิบ ความร่ำไรรำพัน ความโกรธง่าย การหลอกลวงเสแสร้งทำความดี ความยินดีในปัจจัย ความถือตัว การชิงดีชิงเด่น ความหยาบคาย และความหมกมุ่นอยู่ในกิเลสดุจน้ำฝาดย้อมใจ ควรเป็นผู้ปราศจากความมัวเมา ดำรงสติมั่นคงอยู่

(๕) นรชนใดเป็นผู้ประพฤติรีบด่วน เป็นผู้ประมาท เพียงแต่รู้สุภาษิตอันเป็นสาระ และได้สดับสมาธิอันเป็นสาระในธรรมที่รู้เท่านั้น ปัญญาและสุตะย่อมไม่เจริญแก่นรชนนั้นเลย

(๖) ส่วนนรชนผู้ยินดีในธรรม ที่พระอริยะประกาศแล้ว เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนนอกนี้ ด้วยกาย วาจา และใจ ดำรงมั่นอยู่ในสันติ โสรัจจะ และสมาธิ จึงได้บรรลุถึงธรรมอันเป็นสาระแห่งสุตะและปัญญา

อธิบายในอรรถกถา

๑. ผู้ใหญ่ มี ๔ คือ (๑) ปัญญาวุฒิ ผู้ใหญ่โดยปัญญา (๒) คุณวุฒิ ผู้ใหญ่โดยคุณความดี (๓) ชาติวุฒิ ผู้ใหญ่โดยชาติ (เกิดในชาติกำเนิดฐานะอันสูง) (๔) วัยวุฒิ ผู้ใหญ่โดยวัยคือเกิดก่อน ในที่นี้หมายถึงปัญญาวุฒ  ๒. สังยมะ หมายถึงศีล  ๓. สุภาษิตที่แท้ หมายถึงสุภาษิตที่ประกอบด้วยสมถะและวิปัสสนา  ๔. ประพฤติรีบด่วน ในที่นี้หมายถึงไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ตกไปในอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น

๕. ความหมายในคาถานี้ คือ นรชนผู้ถูกราคะเป็นต้นครอบงำ ไม่พิจารณาไตร่ตรอง ประมาท ไม่บำเพ็ญเพียรอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับโอวาท ฟังสุภาษิตมากมายก็ตาม แต่ปัญญาของเขาก็ไม่เจริญ เพราะไม่รู้ความหมาย และสุตะก็ไม่เจริญเพราะไม่มีการปฏิบัติตาม  ๖. ธรรม ในที่นี้หมายถึงสมถวิปัสสนา  ๗. สันติ หมายถึงนิพพาน, ส่วน โสรัจจะ หมายถึงมัคคปัญญาอันมีนิพพานเป็นอารมณ์, และ สมาธิ หมายถึงมัคคสมาธิ

สาระธรรมจากกิงสีลสูตร

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

24/7/64


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: