มีพุทธอุทานในทุติยสัตตสูตรว่า
“สัตว์ทั้งหลายมืดมนเพราะกาม ถูกข่ายรัดรึงไว้แน่น ถูกเครื่องมุงบังคือตัณหาปกคลุมไว้ ถูกเครื่องผูกคือความประมาทผูกพันไว้ เหมือนปลาในข้องสัตว์เหล่านั้น จึงไปสู่ความแก่และความตายเหมือนลูกโคที่ยังไม่อดนม วิ่งตามแม่โค ฉะนั้น”
อธิบายความ
ปลาในข้อง คือปลาที่ติดเบ็ดของนายพราน เพราะถูกนายพรานใช้เหยื่อล่อ อวิชชาคือความไม่รู้บังตาไว้ไม่เห็นเบ็ด จึงกินเหยื่อพร้อมเบ็ดเข้าไป ด้วยความประมาท ถูกจับใส่ไว้ในข้องอันมืดมล ไปสู่ความตาย
ตัณหาเป็นประดุจมารดา เพราะตัณหาเป็นความติดข้อง เป็นความพอใจ เหมือนมารดา (แม่โค) รักลูกให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ในเวลาที่ทุกคนมีความอยากได้หรือมีตัณหาซึ่งต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวตัณหาเป็นตัวต้องการและนำมาซึ่งความติดข้อง เมื่อได้มาแล้วก็ต้องติดข้องด้วย ส่วนอวิชชาคือความไม่รู้เปรียบเหมือนลูกโค เมื่อไม่รู้ก็วิ่งไปตามอำนาจของตัณหา แสวงหาตามอำนาจของตัณหา ติดข้องอยู่ในรูปนามขันธ์ ๕ ตามอำนาจของตัณหา เหมือนลูกโคที่ยังไม่อดนม วิ่งตามแม่โค ฉะนั้น.
เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาเห็นด้วยปัญญาจริงๆ ก็จะยืนอยู่ตรงกันข้ามกับตัณหาอันเป็นธรรมฝ่ายอกุศล จึงจะพ้นทุกข์ได้จริงๆ เพราะว่า ปัญญารู้อะไร เข้าใจอะไร ย่อมสำคัญเห็นว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา” จึงไม่ไปสู่อำนาจแห่งตัณหานั้น
สาระธรรมจากทุติยสัตตสูตร
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
28/7/64
0 comments: