วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

จิตของผู้บรรลุแล้วส่วนมากจะระลึกอยู่กับพระพุทธเจ้า ธรรม และภิกษุสงฆ์

จิตของผู้บรรลุแล้วส่วนมากจะระลึกอยู่กับพระพุทธเจ้า ธรรม และภิกษุสงฆ์

[ณ นิโครธาราม ใกล้นครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เจ้าศากยะนามว่ามหานามะได้ถามพระพุทธเจ้าว่า]

ม:  ภันเต อริยสาวกที่บรรลุแล้ว ส่วนมากแล้วจิตจะอยู่กับอะไรในแต่ละขณะ (วิหารธรรม) ?

พ:  มหานามะ อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้แจ้งได้ด้วยตัวเอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้ไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนได้โดยไม่มีใครจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

เมื่อใดที่ระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ (เจริญพุทธานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น?  อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงพระธรรมเนืองๆว่า เป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวไว้ดีแล้ว บุคคลพึงเห็นได้เอง ใช้ได้ตลอดกาล เป็นธรรมที่ควรชวนกันให้มาดู น้อมเข้าไปในตน เป็นสิ่งที่วิญญูชนพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตัว

เมื่อใดที่ระลึกถึงพระธรรมเนืองๆ (เจริญธัมมานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น? อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงพระสงฆ์เนืองๆว่า?  พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติธรรม ซึ่งได้แก่ คู่แห่งบุรุษสี่รวมเป็นบุรุษแปด (โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค และอรหัตตผล) เป็นผู้ควรแก่การสักการะบูชา ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่การให้ทาน ควรแก่การกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลกซึ่งไม่มีที่ใดยิ่งกว่า

เมื่อใดที่ระลึกถึงพระสงฆ์เนืองๆ (เจริญสังฆานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น? อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงศีลของตนอยู่เนืองๆที่ไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย ไม่มีตัณหาและทิฏฐิมาครอบงำ พร้อมเพื่อสมาธิ

เมื่อใดที่ระลึกถึงศีลของตนเนืองๆ (เจริญสีลานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น?   อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงการสละละของตนอยู่เนืองๆที่เรามีใจที่ไม่ตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยละแล้ว ยินดีในการเสียสละให้ทาน

เมื่อใดที่ระลึกถึงการสละละของตนเนืองๆ (เจริญจาคานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น?  อริยสาวกนั้นย่อมระลึกถึงเทวดาเนืองๆว่า มีเทวดาเหล่าจาตุมมหาราชอยู่ มีเทวดาเหล่าดาวดึงส์..ยามา..ดุสิต..นิมมานรดี..ปรนิมมิตวสวัตดี..พรหมกายิกา..และเหล่าที่สูงกว่าพรหมอยู่ เทวดาเหล่าใดมีศรัทธา..ศีล..สุตะ (การได้ฟังธรรม)..จาคะ (การสละละ)..และปัญญาเช่นใด ละจากโลกนี้ไปอุบัติเป็นเทวดาในชั้นนั้นๆ แม้ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาเช่นนั้นของเราก็มีอยู่

เมื่อใดที่ระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาทั้งของตนและของเทวดาเหล่านั้นเนืองๆ (เจริญเทวตานุสติ) เมื่อนั้น จิตจะไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะครอบงำ จิตดำเนินไปได้ตรง เกิดความปราโมทย์ ปีติ เมื่อใจมีปีติ กายจะสงบ เมื่อกายสงบก็จะเป็นสุข เมื่อเป็นสุข จิตจะตั้งมั่น

มหานามะ อริยสาวกที่บรรลุแล้ว ส่วนมากแล้วในแต่ละขณะ จิตจะอยู่กับการระลึกถึงสิ่งดังกล่าวนี้

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 36 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ภาค 3 อาหุเนยยวรรค มหานามสูตร ข้อ 281), 2559, น.521-525



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: